When Philo Met Sophia 10
Non-Memory: เมื่อลืมไม่เท่ากับลบ
1
ในเรื่องสั้น Funes the Memorious ของ ฆอร์เก หลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) กล่าวถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งผู้มีนามว่า ฟูเนส ที่ภายหลังจากประสบอุบัติเหตุตกจากม้าแล้วทำให้เขาสามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในการรับรู้ได้อย่างละเอียดลออ ฟูเนสสามารถพรรณนาถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ขาดหกตกหล่นแม้แต่น้อย พูดให้ง่ายเข้า เขา ‘ไม่ลืม’ อะไรอีกเลย
ในทางหนึ่ง ‘การไม่ลืม’ ถือเป็นพรสวรรค์ เมื่อฟูเนสใช้ความสามารถนี้กับโลกตัวอักษร การค้นคว้าหาความรู้ที่หลายอย่างต้องใช้ความจำ ดังที่เราเห็นในเรื่องว่าเขาสามารถอ้างข้อความต่างๆ ใน Naturalis Historia ของ พลินีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักเขียนชาวโรมันผู้มีชีวิตอยู่ศตวรรษแรกของคริสตกาล ซึ่งเป็นหนังสือขนาดมหึมาที่ประพันธ์ขึ้นในภาษาละติน ราวกับตัวของฟูเนสคือ ‘หนังสือเสียง’ ที่มีชีวิต และเมื่อความทรงจำไม่ใช่ปัญหา ระบบสัญลักษณ์หรือจำนวนนับที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการจำหรือเรียกความทรงจำ จึงไม่มีความจำเป็นต่อฟูเนสอีกต่อไป ด้วยพรสวรรค์ด้านความจำนี้ เขาสามารถประกอบสร้างระบบการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ ระบบที่มีความซ้ำซ้อนและแตกต่างไปจากความเข้าใจของเราโดยทั่วไป
หากในอีกทาง ‘การไม่ลืม’ นี้ก็เปรียบเหมือนเป็นคำสาป เพราะทำให้ชีวิตของฟูเนสเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อรายละเอียดทุกอย่างในชีวิตถมทับเข้ามาในความทรงจำ ฟูเนสก็ไม่สามารถหลับและฝันได้อย่างคนทั่วไป เรื่องราวของ Funes the Memorious จบลงด้วยการที่ฟูเนสในวัยหนุ่มเหน้ากลายสภาพเป็นเฒ่าชราและอำลาจากโลกนี้ไปพร้อมกับความทรงจำอันพิสดารของเขา
2
‘การรู้คือการระลึกในสิ่งที่เราลืมไป’ หรือ Anaemnesis เป็นทฤษฎีสำคัญที่ปรากฏให้เห็นในบทสนทนา Phaedo ของ เพลโต (Plato) ที่ว่า “หากเรามีความรู้นั้นมาก่อนที่เราจะเกิดและสูญเสียมันไปหลังเกิดมา แต่ให้หลังจากนั้นเราได้ใช้ผัสสะของเราในการกอบกู้ความรู้นั้นกลับมาใหม่ ความรู้ซึ่งเราเคยครอบครองมาก่อนแล้ว กระบวนการที่เราเรียกว่าเรียนรู้ที่แท้แล้วจึงเป็นการฟื้นความรู้ที่เป็นของเรามาก่อนใช่หรือไม่? และเช่นนั้นก็ถูกแล้วถ้าเราจะเรียกมันว่าการระลึกได้มิใช่หรือ?”[1] และรวมถึงบทสนทนาเรื่อง Phaedrus ที่เพลโตวิจารณ์ ‘การเขียน’ ผ่านตำนานของ เทพเธอุส (Theuth) ผู้ประดิษฐ์คิดค้นจำนวนนับ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ตั๋วแลกเงิน ลูกเต๋า จนไปถึงการเขียน
ตำนานเล่าว่า หลังจากเธอุสคิดค้นสิ่งต่างๆ เขาก็เดินทางไปหา เทพธามุส (Thamus) ผู้ปกครองนครธีบส์ (Thebes) เพื่อเสนอสิ่งประดิษฐ์ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวอียิปต์ทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือตัวอักษร หรือ Grammata ที่เธอุสเชื่อว่า ยาวิเศษ หรือ Pharmakon
แต่เทพธามุสกลับเห็นต่างและวิจารณ์ว่า “สำหรับสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้จะสร้างความหลงลืมในจิตของผู้เรียนรู้ที่จะใช้มัน เพราะพวกเขาจะไม่ได้ฝึกฝนความทรงจำ พวกเขาจะเชื่อในการเขียนที่สร้างขึ้นจากคุณลักษณะภายนอกที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งเดียวกับตัวของพวกเขา และทำให้พวกเขาไม่อยากใช้ความทรงจำภายในของตัวเอง เจ้าไม่ได้สร้างยาวิเศษสำหรับความทรงจำแต่ เพื่อการเตือนความจำ และเจ้าหยิบยื่นให้อนุชนทั้งหลายก็แต่เพียงภาพลักษณ์ของปัญญา ไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง ทำให้พวกเขาต้องอ่านสิ่งต่างๆ มากมายโดยไม่ได้รับคำแนะนำ และทำให้ดูคล้ายไปว่าได้รู้จักสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งที่โดยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ หรือยากเกินกว่าจะตามทัน เพราะพวกเขาไม่มีปัญญา หรือมีแค่ดูเหมือนว่ามีปัญญาก็เท่านั้น”[2]
พูดให้ง่ายแล้วก็คือ ตัวอักษรของเธอุสจะทำให้ความทรงจำเสื่อมประสิทธิภาพลง เพราะผู้คนไปยึดมั่นกับความรู้ที่ปรากฏในรูปของสัญญะต่างๆ ที่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเราทั้งสิ้น ข้อวิจารณ์ของธามุสถือว่าสอดคล้องกับ โสเครติส (Socrates) หรือเพลโตที่เห็นว่า ความรู้ที่แท้จริงมาจากการระลึกได้ เช่นทฤษฎีของแบบ (Theory of Forms) เป็นรูปแบบหนึ่งของความรู้ที่มีมาก่อนประสบการณ์ และการเข้าถึงความจริงในโลกของแบบเปรียบได้กับการเข้าถึง ‘ความจำ’ ที่เราหลงลืมไป หลังจากตื่นลืมตาขึ้นมาบนโลก
‘ความทรงจำ’ กับ ‘ความรู้’ กลายเป็นรากฐานสำคัญในระบบความคิดของโลกตะวันตกที่เมื่อผสมรวมกับความเชื่อแบบ รหัสยนิยม (Mysticism) และลัทธิเฮอร์เมติก (Hermeticism) ที่แพร่หลายในหมู่นักคิดนักปราชญ์จำนวนมากก็นำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์พิสดารที่มีชื่อว่า โรงละครแห่งความคิด (L’Idea del Theatro) ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 16
3
ต้องขอบคุณ ฟรานเซส เยตส์ (Frances Yates) ที่ภายหลังจากอ่านต้นฉบับไม่กี่สิบหน้าที่ อี. เอช. กอมบริช (E. H. Gombrich) ยื่นให้เธออ่าน เธอใช้เวลา 15 ปีเขียน The Art of Memory (1966) หนังสือว่าด้วยศาสตร์แห่งความทรงจำความยาวหลายร้อยหน้าออกมา ทำให้โลกรู้จักกับ กุยลิโอ คามิลโล (Giulio Camillo) และสิ่งประดิษฐ์ของเขาที่เรียกว่าโรงละครแห่งความคิด
คามิลโลถือเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในฐานะของนักปราชญ์คนสำคัญ อาจเทียบเท่าหรือมากกว่าอีราสมุส (Erasmus) นักเขียนมนุษยนิยมคนสำคัญชาวดัตช์ ผู้เป็นมิตรสหายทางปัญญาของคามิลโล ก่อนที่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนจะเสื่อมคลายลงในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยเหตุผลหลักที่ทำให้มิตรภาพของทั้งคู่จบลงก็มาจากโรงละครแห่งความคิด สิ่งประดิษฐ์ของคามิลโลนั่นเอง
คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า โครงการของคามิลโลทำให้แวดวงปัญญาชนในเวลานั้นแตกออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ฝ่ายแรกที่ประกอบไปด้วยจิตรกรเอก ทิเชียน (Titian) ฟรานเซสโก ซัลวาทิ (Francesco Salviati) จนถึงฌ็อง กาลแว็ง (Jean Calvin) นักเทววิทยาชาวฝรั่งเศสคนสำคัญต่างเชื่อมั่นในตัวของคามิลโล บางคนถึงกับเห็นว่า เขาเป็นบุคคลที่พระเจ้าส่งมาเลยทีเดียว
ในขณะที่อีกฝ่ายมองเขาเป็นคนลวงโลก พยายามหลอกเอาเงินจากกษัตริย์ฝรั่งเศสมาเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์กำมะลอ[3] ได้แก่ วิเกลียส ซุยเชมัส (Viglius Zuichemus) เนติบัณฑิตชาวดัตช์ มิตรสหายของอีราสมุสที่พูดคุยกับคามิลโลและเห็นสิ่งประดิษฐ์กับตาตัวเอง แน่นอนว่ารวมถึงอีราสมุสด้วยเช่นกันที่แม้จะเป็นเพื่อน หากก็หมดความนับถือต่อกันเพราะโครงการพิลึกพิลั่นของคามิลโลนี้
โรงละครความคิดของคามิลโลคืออะไร? ตามตำนาน คำบอกเล่า และข้อมูลที่ฟรานเซส รวบรวมมา โรงละครนี้ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของอัฒจันทร์ที่มีเสาโรมัน 7 ต้นเป็นฐาน แต่ละขั้นหรือแต่ละแถวตอนของบริเวณที่นั่งมีป้ายตัวอักษรและชื่อดวงดาวต่างๆ จารึกไว้ โรงละครนี้ออกแบบให้ผู้ชมยืนอยู่ตรงกลางลาน เพื่อมองย้อนกลับขึ้นไปเห็นสัญญะต่างๆ บนอัฒจันทร์ และด้วย ‘การมอง’ ทำให้เราค้นพบและเข้าถึงสรรพวิชาความรู้ต่างๆ ที่เป็นรากฐานของจักรวาลนี้[4]
แน่นอนครับว่า ฟังดูแล้วเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เกินกว่าจะเป็นจริงได้สำหรับผู้ยึดถือหลักเหตุผล วิทยาศาสตร์ และแม้แต่ความเชื่อทางศาสนา ณ เวลานั้น
อย่างในจดหมายของ วิเกลียส ซุยเชมัส ที่ส่งไปหาอีราสมุสก็พรรณนาถึงความไม่ชอบมาพากลของโรงละครแห่งความคิด รวมไปจนถึงตัวนักประดิษฐ์ที่กล่าวกับวิเกลียสว่า “ใครก็ตามที่ก้าวเข้าไปเป็นผู้ชมแล้วก็จะสามารถบรรยายในเรื่องต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ด้อยไปกว่าที่ซิเซโร (Cicero)”[5] แต่สำหรับวิเกลียสพบว่า คามิลโลกลับพูดจาตะกุกตะกัก หรือฟังดูแล้วไม่มีความรู้แม้สักกระผีกหนึ่งของซิเซโรเลยด้วยซ้ำไป
ว่าไปแล้ว โรงละครแห่งความคิดถือเป็นความคิดแห่งยุคสมัย เพราะก่อนหน้าของคามิลโลก็มีคนพยายามจะสร้างรวมถึงออกแบบมันมาแล้ว เพียงแต่สิ่งที่ทำให้โรงละครของคามิลโลแตกต่าง คือการปรับพื้นที่สำหรับผู้ชมเป็นที่ตั้งของเครื่องหมายต่างๆ และลานด้านล่างที่เปรียบเหมือนเวทีกลับกลายเป็นที่ยืนของผู้ชมและทำให้ผู้ชมกลายเป็นเหมือนนักแสดง
โรงละครแห่งความคิดพัฒนามาจากศาสตร์แห่งความทรงจำ (Ars Memoriae) ที่สามารถสืบย้อนกลับไปยัง ซีโมนิดีสแห่งซีออส (Simonides of Ceos) กวี-นักปราชญ์ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล เขาเป็นคนร่วมสมัยเดียวกับโสเครตีส กล่าวกันเป็นบุคคลแรกที่รับจ้างเขียนบทกวี และเป็นเจ้าของทฤษฎีที่ว่าภาพวาดคือบทกวีที่เงียบงัน และบทกวีคือภาพวาดที่เปล่งเสียง[6]
ซิเซโรหนึ่งในผู้ยกย่องซีโมนิดีสเห็นว่า แนวคิดในเรื่องการเทียบเคียงบทกวีกับภาพวาด เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ซีโมนิดีสให้ความสำคัญกับ ‘การมองเห็น’ เพราะถึงที่สุดแล้ว ทั้งจิตรกรรมและกวีนิพนธ์ต่างเป็นศิลปะที่ถูกคิดและแสดงออกผ่าน ‘จินตภาพ’
ดังนั้น ศาสตร์แห่งความทรงจำของซีโมนิดีสจึงจำเป็นต้องอาศัย ‘ภาพ’ และการมองเห็น และนี่จึงเป็นเหตุให้โรงละครของคามิลโลต้องอาศัยภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อดึง ‘ความรู้’ หรือ ‘ความทรงจำ’ นับจากการกำเนิดของเอกภพจนไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาโดยลำดับ[7]
หมายเหตุที่น่าสนใจประการหนึ่ง ข้อเขียนที่เยตส์ค้นคว้าและเขียนถึงคามิลโลรวมถึงผลงานของเขาส่งผลกระทบต่อนักอ่าน โดยเฉพาะสายของการออกแบบสถาปัตย์ ศิลปะ อย่าง โรเบิร์ต เอ็ดการ์ (Robert Edgar) และบิลล์ วิโอลา (Bill Viola) ผลงานศิลปะของพวกเขามีอิทธิพลต่อการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในยุคแรกเริ่ม สิ่งประดิษฐ์ที่ใกล้เคียงเป็นคอมพิวเตอร์ที่สุดในเวลานั้นมีลักษณะเป็นเครื่องคิดเลขขนาดใหญ่ และหากเยตส์มีโอกาสเห็นอินเตอร์เฟส (Interface) ของคอมพิวเตอร์ในยุคต่อมา เธอจะพบว่าหน้าตาของอินเตอร์เฟสมีความละม้ายคล้ายคลึงกับโรงละครแห่งความคิดของคามิลโล
เวลาต่อมาในทศวรรษ 1990 ลีอาห์ เอส. มาร์คัส (Leah S. Marcus) ผู้เขียน The Renaissance Computer พบข้อสังเกตนี้และพยายามเชื่อมโยงให้เห็นความเหมือนกันระหว่างโรงละครแห่งความคิดของคามิลโลกับงานออกแบบอินเตอร์เฟสของคอมพิวเตอร์ในเวลานั้นเป็นหนแรก[8]
หากไม่นับเรื่องของการออกแบบและอิทธิพลที่โรงละครแห่งความคิดมีต่อโลกของคอมพิวเตอร์แล้ว ประดิษฐกรรมของคามิลโลที่มีจุดมุ่งหมายเข้าถึงความรู้ในสรรพวิชาต่างๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นลางบอกเหตุ (Foreshadow) ของโลกในอีกหลายร้อยปีถัดมา ที่ผันแปรความรู้ในโลกจากสิ่งพิมพ์ไปสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีหรือโลกแห่งข่าวสารข้อมูล
4
นักปรัชญาที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้แลเห็นอนาคต แม้ไม่ทันอยู่แลดูอนาคตนั้นด้วยตัวเองอย่าง วิเลม ฟลุสเซอร์ (Vilém Flusser) คาดทำนายไว้ว่า อสรรพสิ่ง (Non-Thing) จะรุกเร้าเรารอบทิศทางและค่อยๆ ขับสรรพสิ่ง (Things) ออกไป หมายความว่าอย่างไร?
ฟลุสเซอร์กำลังบอกเราว่า สิ่งต่างๆ ที่เราเคยจับต้องหรือครอบครองในทุกวันนี้แปรสภาพไปเป็นสิ่งที่จับต้องและครอบครองไม่ได้ เพลงที่เราฟัง หนังที่เราดู หนังสือที่เราอ่านจำนวนมากกลายเป็นสิ่งที่เราเช่า ไม่เพียงเท่านั้น โลกที่เราอยู่ที่กลายสภาพเป็นกูเกิลแมป (Google Map) แม้กระทั่งความทรงจำของเราที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) กล่าวในอีกทาง เราจับต้องสิ่งต่างๆ ได้น้อยลง ด้วยเพราะ ‘สรรพสิ่ง’ ที่เรารู้จักค่อยๆ แปรสภาพเป็น ‘อสรรพสิ่ง’ มากขึ้นนั่นเอง
โรงละครแห่งความคิดที่เหมือนเป็นไปไม่ได้สำหรับศตวรรษที่ 16 กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เรา ณ ปัจจุบันเข้าไปค้นหา ‘ข้อมูล’ และ ‘ความรู้’ ภายในนั้น จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ บยุง-ชอล ฮาน (Byung-Chul Han) กลับเห็นว่า โลกที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ค่อยๆ เลือนลางลงจากการที่มันกลายเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร[9]
ฮานยกเอานวนิยายของ โยโกะ โอกาวะ (Yoko Ogawa) เรื่อง The Memory Police หรือ Kusuriyubi no hyohon (1994) มาอภิปรายเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ
The Memory Police เป็นเรื่องราวของเกาะนิรนามแห่งหนึ่งที่จู่ๆ วันหนึ่งสิ่งต่างๆ ค่อยๆ หายไป โดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมหรืออย่างไร เหมือนดังเช่นที่แม่ของตัวละครเอก/ผู้เล่าเรื่องกล่าวไว้ “นานมาแล้วก่อนที่ลูกจะเกิด มีสิ่งต่างๆ มากมายที่นี่ (…) สิ่งที่โปร่งใส สิ่งที่มีกลิ่นหอม… สิ่งที่ล่องลอย สิ่งที่สดใส… สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจที่ลูกไม่อาจจินตนาการถึง”
โยโกะผูกโยงเรื่องราวเข้ากับโลกเผด็จการที่ตำรวจความทรงจำเข้ามาควบคุมจัดการและลบล้างความทรงจำของผู้คนบนเกาะ เป็นสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จที่คล้ายคลึงกับ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) โลกดิสโทเปียใน The Memory Police อาจเทียบเคียงกับโลกของเราในแง่ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกใบนี้ค่อยๆ ถูกลบและเลือนหายไปอย่างไร้ร่องรอย แต่สิ่งที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่ฮานเน้นย้ำ คือในโลกปัจจุบัน การหายสาบสูญอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้กำลังบังคับเช่นอำนาจรัฐแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
การสูญหายเกี่ยวโยงกับการที่สรรพสิ่งบนโลกทุกวันนี้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นโลกของข้อมูลที่เข้ามาแทนที่ความทรงจำของเรา สังคมแห่งข้อมูลไม่ได้ทำงานผ่านการลบ หากแต่เบี่ยงเบน การดึงดูดเราด้วยเรื่องแปลกใหม่ ซึ่งจะอยู่เพียงไม่นานและถูกเปลี่ยนแทนที่ด้วยเรื่องใหม่ๆ โลกที่เราอยู่คือโลกแห่งการเรียกร้องความสนใจ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เสพติดข้อมูล (Infomaniacs)
โลกที่เปลี่ยนแปลงทุกสรรพสิ่งเป็นข้อมูลนี้เอง ทำให้เราไกลห่างจากวัตถุจริงมากขึ้นเรื่อยๆ การไกลห่างนี้เปรียบได้กับการลบความทรงจำของเราต่อเรื่องต่างๆ ออกไป ทางรอดเดียวของเราในตอนนี้ จึงอาจหมายถึงการที่เรากลับกลายเป็นนักวัตถุนิยม หรือกลับมาเป็นผู้ลงมือสร้างและสะสมวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้อีกครั้ง
อ้างอิง
[1] “…if we acquired knowledge before we were born and lost it at birth, but afterwards by the use of our senses regained the knowledge which we had previously possessed, would not the process which we call learning really be recovering knowledge which is our own? And should we be right in calling this recollection?” (76a)
[2] “For this invention will produce forgetfulness in the minds of those who learn to use it, because they will not practice their memory. Their trust in writing, produced by external characters which are no part of themselves, will discourage the use of their own memory within them. You have invented an elixir not of memory, but of reminding; and you offer your pupils the appearance of wisdom, not true wisdom, for they will read many things without instruction and will therefore seem to know many things, when they are for the most part ignorant and hard to get along with, since they are not wise, but only appear wise.” (275a-275b)
[3] Matussek, Peter. “3. Inventing Interfaces: Camillo’s Memory Theater and the Renaissance of Human-Computer Interaction”. Renaissance Futurities: Science, Art, Invention, edited by Charlene Villaseñor Black and Mari-Tere Álvarez, Berkeley: University of California Press, 2019, pp. 41-64.
[4] Frances Yates, The Art of Memory, London: The Bodley Head, 2014, 145.
[5] Frances Yates, The Art of Memory, London: The Bodley Head, 2014, p. 135.
[6] Ibid., p. 42.
[7] Ibid., p. 145.
[8] Matussek, Peter. “3. Inventing Interfaces: Camillo’s Memory Theater and the Renaissance of Human-Computer Interaction”. Renaissance Futurities: Science, Art, Invention, edited by Charlene Villaseñor Black and Mari-Tere Álvarez, Berkeley: University of California Press, 2019, p. 59.
[9] Han, Byung-Chul, Non-Things, Cambridge: Polity Press, 2022, p. viii.
Tags: Funes the Memorious, Jorge Louis Borges, Naturalis Historia, The Art of Memory, The Memory Police, Yoko Okawa, ปรัชญา, ปรัชญาในชีวิตประจำวัน