เวลาล่วงเลยมาจนเกินครึ่งปีแล้ว จำกันได้ไหมว่าเมื่อต้นปีเรามีปณิธานอะไรกันไว้บ้าง มีข้อไหนที่ทำสำเร็จกันไปบ้าง เดินหน้าไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว หรือยังคงยืนย่ำอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน เชื่อว่าหนึ่งในเป้าหมายยอดฮิตของหลายคนน่าจะมีการอ่านหนังสืออยู่ในนั้นด้วย ฉันจะอ่านหนังสือให้ได้ 60 เล่มต่อปี ฉันจะอ่านหนังสือให้มากกว่าเดิมสองเท่า หรือฉันจะอ่านหนังสือบางประเภทให้มากกว่าเดิม

นักอ่านหลายคนเป็นกันไหม? ถ้าเราชอบอ่านวรรณกรรมมากๆ เราก็จะอ่านหนังสือประเภทเดิมเรื่อยๆ จนไม่คิดจะอ่านอย่างอื่น หนึ่งในเป้าหมายส่วนตัวของผู้เขียนปีนี้ก็คือ การอ่าน Non-fiction ให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ในเชิงข้อมูลและความรู้แล้ว หนังสือ Non-fiction หลายๆ เล่มก็ยังเป็นเชื้อเพลิงหรือแรงบันดาลใจได้ดีเมื่อเรารู้สึกหมดไฟ มันอาจจะไม่ได้มีมิติแบบวรรณกรรม แต่ก็มีชั้นเชิงและสนุกสนานไม่แพ้กัน แถมยังเป็นการต่อเติมความรู้และเปิดโลกให้กว้างมากขึ้น ดังนั้นถ้าหากใครมองหา Non-fiction สักเล่มอยู่ หนังสือ 1 ใน 5 เล่มนี้อาจจะโดนใจคุณเข้าสักเล่ม บางทีมุมมองของเราก็อาจเปลี่ยนไปจากหนังสือเพียงเล่มเดียว

ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบ ฮายาโอะ คาวาอิ

ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ

ผู้แปล: มุทิตา พานิช

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบ ฮายาโอะ คาวาอิ

เคยเป็นไหม บ่อยๆ ที่เราไม่ยอมเล่าเรื่องบางเรื่องให้คนใกล้ชิดฟัง แต่กับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน ในการสนทนาครั้งแรกนั้นกลับเต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่คิดจะเล่าให้คนรอบตัวฟัง อยู่ๆ ทุกอย่างก็เหมือนพรั่งพรูออกมาไม่หยุด เพราะอะไรกัน? อาจเพราะคิดว่าเราคงไม่เจอกันอีก เรื่องราวทั้งหมดจะอันตรธานไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น หรือเพราะเขาคนนั้นมีบุคลิกบางอย่างที่เรายอมไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ไม่ว่าะด้วยเหตุผลอะไร เราก็ยอมมอบเรื่องราวของเราให้เขาไปแล้ว

ฮายาโอะ คาวาอิ อาจไม่ใช่คนแปลกหน้ากับฮารูกิ มูราคามิ พวกเขาคล้ายเป็นเพื่อนกัน เพื่อนนักเล่า เพื่อนนักฟัง  และเพื่อนผู้เยียวยากันด้วยเรื่องเล่า มูราคามิกล่าวว่าการได้คุยกับคาวาอิทำให้เขารู้สึกสบายใจอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่ทำให้ประทับใจที่สุดคือการที่เขาไม่พยายามเปลี่ยนแปลงอีกฝ่ายด้วยความคิดของตัวเอง

พวกเขาคุยกันไปเรื่อยๆ หลายเรื่องหลากประเด็น ตั้งแต่บาดแผลในจิตใจ ความเป็นปัจเจก การสื่อสาร ศาสนากับจิตบำบัด การเยียวยาตัวเองด้วยการเขียนหนังสือ ความเจ็บปวด การเมือง สงคราม และสังคม แม้ว่าบทสนทนานี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1995 แต่หลายประเด็นก็ยังร่วมสมัย และถูกพูดถึงอยู่ในปัจจุบัน มันทำให้เราได้คิดตาม รู้สึกตาม และทบทวนตัวเองตามไปด้วย

คาวาอิเป็นจิตแพทย์ที่น่าสนใจ ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Psychology)ในญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนาวิธีบำบัดโดยกระบะทราย เขาน่าสนใจทั้งแนวคิดและวิธีการบำบัด การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงไม่เป็นเพียงการอ่าน แต่เป็นการต่อเติมส่วนที่แหว่งเว้าบางอย่างเข้าไปในจิตใจ และเมื่ออ่านจบแล้วอาจทำให้บางคนอยาก (กลับไป) อ่านหนังสือความยาวกว่า 700 หน้าอย่าง บันทึกนกไขลาน ก็เป็นได้

 

วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ

ผู้เขียน: จอห์น ซัตเทอร์แลนด์

ผู้แปล: สุรเดช โชติอุดมพันธ์

สำนักพิมพ์: บุ๊คสเคปวรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ

วรรณกรรมเป็นแหล่งบันเทิงขนาดใหญ่ เป็นจินตนาการที่ไม่มีวันจบสิ้น และมักมีสิ่งใหม่ให้กับเราเสมอเมื่อหยิบมาอ่านซ้ำแม้ว่าจะเป็นเรื่องเดิม แล้ววรรณกรรมคืออะไรกันเล่า? คำตอบที่จอห์น ซัตเทอร์แลนด์ ให้ไว้คือ “วรรณกรรมเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์” หน้าที่ที่ดีที่สุดของวรรณกรรมไม่ใช่ความบันเทิง แต่มันคือการที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจสังคม เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราไม่ได้เชื่อในสิ่งที่วรรณกรรมบอก เพราะเมื่อเราแยกแยะและตีความ แม้กระทั่งหยิบฉวยบางอย่างมาจากมัน นั่นคือความเข้าใจความเป็นมนุษย์

หนังสือเล่มนี้อาจจะเต็มไปด้วยชื่อนักเขียนและวรรณกรรมมากมาย หรือแม้คุณจะไม่ใช่คอวรรณกรรมเลยด้วยซ้ำ แต่หนังสือเล่มนี้จะมอบทั้งความรู้และความสนุกให้กับเรา มันจะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงในโลกแห่งตัวอักษรได้อย่างมหัศจรรย์ และเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย เพราะความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมนั้นดำเนินไปคู่กับความเปลี่ยนแปลงโลก

นอกจากนั้นในหนังสือเล่มนี้ เราจะยังได้สำรวจความจริงของนักเขียนบางคนอีกด้วย อาทิ ทอมัส ฮาร์ดี ตายไปก่อนที่จะมีชีวิตอยู่เสียอีก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ได้รับแรงขับเคลื่อนมหาศาลจากกลุ่มบลูมส์เบอรี ฟรันซ์ คาฟคา ผู้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตจากวันแย่ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า

วรรณกรรมอาจไม่ใช่สถานที่หลบหนีจากความจริง แต่มันคือโลกอีกใบต่างหากเล่า

หมายเหตุ: อ่านรีวิวเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ปัญญางาน จัดการตน

ผู้เขียน: ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์

ผู้แปล: ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

สำนักพิมพ์: โอเพ่นบุ๊คส์ปัญญางาน จัดการตน

จำเป็นแค่ไหนและบ่อยแค่ไหนที่เราได้นั่งใคร่ครวญกับตัวเองว่าอาชีพการงานที่เราทำอยู่นั้นเป็นอย่างไร ความถนัด ทักษะ และความเชี่ยวชาญของเราคืออะไร และเราได้ใช้มันไปกับอาชีพที่เราทำไหม หรือใช้มันไปกับการทำอะไรหรือยัง

หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้ให้คำตอบ ไม่สามารถฟันธงได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำหรือไม่ควรทำ แต่มันจะทำให้เราฉุกคิด และตอบบางคำถามที่เราจำเป็นจะต้องตอบตัวเองให้ได้ เพื่อช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และจัดการกับตัวเองได้อย่างมีประสิทธภาพมากกว่าเดิม

การวิเคราะห์และทบทวนตนเองจะนำไปสู่การปฏิบัติที่สัมฤทธิ์ผล “คนเรานั้นสร้างผลงานจากจุดแข็งเท่านั้น เราไม่สามารถสร้างผลงานจากจุดอ่อนของเราได้” เราต้องส่งเสริมตัวเองในจุดนั้น เพื่อความสุขและความก้าวหน้า ในหนังสือยังยกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมอีกมากมายสำหรับการพิจารณาตนเอง เราจะเห็นภาพตามได้ง่ายที่สุด แม้ว่าการการหาคำตอบสำหรับตัวเองนั้นจะยาก แต่เราไม่ต้องหาให้เจอภายในทันทีก็ได้ ค่อยๆ ขบคิดกับมันไป ตกตะกอน และทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราอาจตอบได้อย่างเต็มปากว่าเรามีวิธีการทำงานอย่างไร

จงเรียนรู้ที่จะอยู่และตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ใช่แค่เพื่อเรา แต่เพื่อคนรอบข้างของเราด้วย

 

เทคโนโยนี: ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์ ฮิสทีเรีย และออร์กัสซั่มของผู้หญิง

ผู้เขียน: เรเชล พี. เมนส์

ผู้แปล: นภ ดารารัตน์

สำนักพิมพ์: พารากราฟเทคโนโยนี: ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์ ฮิสทีเรีย และออร์กัสซั่มของผู้หญิง

วงการแพทย์ตะวันตกถูกกำหนดและตีกรอบคิดจากคริสต์ศาสนามาอย่างยาวนาน จุดสุดยอดของผู้หญิงจึงไม่มีความจำเป็น รวมถึงมีอีกหลายคำถามและปัญหาต่างๆ ตามมา เช่นว่า ปุ่มกระสันของผู้หญิงมีหน้าที่อะไร? มีบทบาทสำหรับการตั้งท้องหรือไม่? ทำไมการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองจึงเป็นปัญหาและเป็นที่มาของ ‘Hysteria’

เมื่อมีโรค จึงต้องมีการรักษา โรคฮิสทีเรียมีวิธีการรรักษาหนึ่งคือให้แพทย์หรือหมอตำแยนวดคลึงอวัยวะเพศของผู้ป่วยจนถึงจุดสุดยอด โรคนี้เป็นผลพวงมาจากการมองเรื่องเพศโดยยึดเพศชายเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นความต้องการของเพศหญิงจึงผิดปกติและจำเป็นต้องรักษา

ไวเบรเตอร์เริ่มปรากฏในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา อุปกรณ์ชิ้นนี้ก็เป็นผลมาจากการคิดค้นเครื่องมือเพื่อตอบสนองการรักษาอาการฮิสทีเรียนั่นเอง เนื่องด้วยมันเป็นกิจกรรมที่ไม่มีใครอยากทำสักเท่าไร และบางครั้งก็ยังใช้เวลานานอีกด้วย

หนังสือจะพาเราสืบสาวไปจนถึงต้นตอของประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์อย่างละเอียดและครบถ้วน แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่นักประวัติศาสตร์มืออาชีพ แต่เธอก็ทำหน้าที่ของเธอได้ดี และเรียบเรียงเรื่องราวความเป็นมาได้อย่างเข้าใจง่าย ไวเบรเตอร์เคยเป็นอุปกรณ์สำหรับผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกระดูกทางการแพทย์ และค่อยๆ หายไป จนมันกลับมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1960 คราวนี้ไม่ใช่ในฐานะเครื่องมือทางการแพทย์อีกต่อไป แต่กลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

 

เงียบ

ผู้เขียน: อาลิงก์ คาเก้

ผู้แปล: วรรธนา วงษ์ฉัตร

สำนักพิมพ์: โอ้มายก้อดเงียบ อาลิงก์ คาเก้

ในชีวิตประจำวัน เราคงไม่ได้พบความเงียบกันบ่อยๆ แล้วความเงียบรอบตัวกับความเงียบภายในตัวเราเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่? มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ไหม? อย่างไร? มันมีความหมายอะไรหรือเปล่า? นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้นั่งเงียบๆ สงบจิตสงบใจ ทั้งที่ในส่วนลึกเราถวิลหามันไม่น้อยไปกว่าสิ่งใด ปัจจุบันเราไม่อาจอยู่ห่างโทรศัพท์ได้เกินสองชั่วโมง ห่างจากหน้าจอได้ไม่เกินสองวัน เรารู้สึกวุ่นวายกันอยู่ตลอดเวลาทั้งจากการงานและหน้าที่

เราหลีกเลี่ยงเสียงไม่ได้ เราจึงเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เพราะเราคิดว่าเราต้องอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเป็นสิ่งหนึ่งที่รบกวน และทำให้คุณภาพชีวิตเราลดลง บางคนจึงสร้างห้องกั้นเสียง ไม่ใช่เพื่อทำงานด้านดนตรี แต่เพื่อกีดกันเสียงรบกวนจากภายนอก

อาลิงก์ คาเก้ เขียนวิเคราะห์ถึงความเงียบในบริบทต่างๆ รวมถึงเสียงในแง่ของปรัชญา วิทยาศาสตร์ สังคม วิถีชีวิต บทเพลง ศิลปะ ศิลปิน และประสบการณ์การเดินทางของตัวเอง เขาเป็นนักเดินทางตัวยง การผจญภัยของเขามีความเงียบและเสียงเป็นส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ และเขายังเป็นอีกหลายอย่าง  ทั้งนักกฎหมาย เจ้าของสำนักพิมพ์ นักสะสมงานศิลปะ รวมถึงนักเขียน

แล้วเราจะหาความเงียบที่หายไปนี้ได้จากที่ไหน? หนังสือเล่มนี้จะพาเราตั้งคำถาม และอาจได้พบกับคำตอบ ในภวังค์แห่งความเงียบ เราอาจค้นพบความสงบได้อีกครั้ง

Tags: , , , , , ,