ก่อนอื่น TOP LIST นี้เลือกจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเท่านั้น โดยเลือกจากหนังที่สร้างในช่วงปี 2016 – 2018 ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ทั้งในโรงปกติ เทศกาลภาพยนตร์ แกลเลอรี่ต่างๆ รวมถึงเว็บสตรีมมิ่งในประเทศไทย โดยลิสต์นี้เป็นจัดทำขึ้นจากความชอบส่วนตัวของผู้เขียนมากกว่าการชี้วัดคุณงามความดีของภาพยนตร์เรื่องใดๆ
1. Bangkok Nites (2016, Katsuya Tomita, Japan)
Bangkok Nites ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของคัตสิยะ โทมิตะ (ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาเคยถูกฉายแบบใต้ดินในหลายพื้นที่ของไทยเมื่อหลายปีก่อน) หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหนุ่มขี้แพ้ชาวญี่ปุ่น กับคนรักสาวชาวไทยของเขาที่เป็นหญิงขายบริการในซอยธนิยะ หนังลากยาวตั้งแต่การกลับมาพบกัน การเริ่มต้นชีวิตคู่ในกรุงเทพ การกลับไปยังบ้านของหญิงสาว ไปสู่ดินแดนลี้ลับที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผล ทะลุเข้าไปถึงประเทศลาว พญานาค สงครามอินโดจีน สงครามเวียดนาม ดนตรีหมอลำ การล่าอาณานิคม จิตร ภูมิศักดิ์ และบรรดาเซ็กส์ทัวร์ในสังคมไทย
หนังทั้งทะเยอทะยานพอๆ กับสะเปะสะปะ บ้าบอพอๆ กับจริงจัง เล่าเรื่องในเชิงลึกของผู้คนพอๆ กับวาดภาพกว้างของประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับ ลืมเลือน ในภาคอีสานของไทย หนังมีพลังของวัยหนุ่มอันคุ้มคลั่ง พ่ายแพ้ และพยายามทำความเข้าใจกับโลกที่เขาไม่รู้จัก การแสดงอันประดักประเดิดกลับไปกันได้ดีกับพลังของหนัง
เราไม่อาจบอกได้ว่านี่คือหนังที่สมบูรณ์ที่สุด แต่นี่คือหนังที่มีสายตาของคนนอกอันสดใหม่ ท้าทาย ไม่ตัดสิน ขณะเดียวกันก็ไม่สมเพชเวทนา พอๆ กับที่ยอกอกสะท้อนความพ่ายแพ้ของตนเอง ซึ่งทำให้หนังเป็นทั้งบทวิพากษ์สังคมแร้นแค้นของไทยกับสังคมที่พังทลายลงมาของญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กัน
2. ฉากและชีวิต (2018, บุญส่ง นาคภู่, ไทย)
ฉากสั้นๆ สิบฉากของชีวิตซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เชื่อมร้อยกันอยู่ในหมู่บ้านชนบทของไทย เด็กหนุ่มหาปลา แม่ค้าขายผัก นักเรียนทำรายงาน เด็กสาวที่ต้องไปกรุงเทพฯ ผู้ชายที่ตามหาเมียจนน้ำมันหมด กล่าวอย่างสัตย์จริง ฉากเหล่านี้อาจแทบไม่มีเรื่องเล่าเกิดขึ้นเลย เป็นเพียงการเหลือบแลไปในชีวิตที่มีมาก่อนหนังจะเริ่มเพียงชั่วครู่ ไม่ได้รู้อะไร หรือได้นิทานสอนใจใดๆ ติดมือกลับบ้าน และชีวิตเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าหนังจบลงไปแล้ว
มันเป็นหนังอีกเรื่องในจักรวาลหนังคนจนซึ่งประกอบขึ้นด้วย พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูงของบุญส่ง นาคภู่เอง บุญส่งฉายภาพสั้นๆ ของชีวิตที่เหมือนไม่ไปข้างหน้า และถอยหลังลงทีละก้าวจากแรงกดประดามีในชีวิต ฉากสั้นๆ ที่บรรจุชีวิตลงไปในนั้น ชีวิตที่ไม่ได้เปิดเผยทุกอย่างต่อหน้าผู้ชม ไม่ร้องขอความเห็นใจหรือเทศนาสั่งสอน ชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ ประกอบสร้างความสิ้นหวังล่มสลายในสังคมชนบทพอๆ กับที่บันทึกสิ่งที่กำลังสูญหายไปเอาไว้ก่อนที่มันจะสูญหายไปจริงๆ
3. Faces Places (2017, Agnes Varda +JR, France)
สารคดีที่จับใจที่สุดของปีนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่เริ่มต้นด้วยอะไรที่ดูกระฎุมพีมากๆ อย่างเช่นการที่คนทำหนังระดับครู เดินทางไปกับศิลปินคนดังเพื่อพบปะผู้คน ถ่ายรูปพวกเขาแล้วสร้างเป็นงานศิลปะติดรูปของผู้คนขนาดเท่าฝาบ้านในเมืองแต่ละเมืองที่ผ่านไป ฟังดูรื่นรมย์ รุ่มรวย และไม่เกี่ยวข้องอันใดกับคนเล็กคนน้อย เช่นแม่บ้าน คนงานในโรงงาน บุรุษไปรษณีย์ หรือเด็กสาวคนหนึ่ง งานศิลปะเป็นความรื่นรมย์ของคนร่ำรวย ที่ออกไปทำเก๋ๆตามเมืองต่างๆ
แต่นี่คือหนังของแอคเนส วาร์ดา คุณยายที่ได้ชื่อว่าเป็นมารดาของหนังฝรั่งเศสคลื่นลูกใหม่ วาร์ดาทำหนังมาก่อนการเกิดขึ้นของ French New Wave ภาพยนตร์ของเธอคือผลรวมของเรื่องเล่ากับสารคดีและภาพถ่าย ชีวิตที่ถูกเขียนขึ้น ถูกนำมาเล่าโดยปะปนไปกับชีิวิตจริงๆ ของชาวบ้านร้านตลาดที่เธอไปถ่ายทำ บ่อยครั้งผู้คนเหล่านั้นก็ปรากฏร่วมฉากกับนักแสดง วาร์ดาทำหนังเล่าเรื่องสลับกับหนังสารคดีมาตลอดชีวิต เธอทำสารคดีเรื่องคนไร้บ้านที่ต้องไปคุ้ยอาหารตามถังขยะจนเป็นเพื่อนกับพวกเขา ไปออกทีวีดีเบตในประเด็นนี้แทนพวกเขา เธอทำสารคดีเกี่ยวกับผู้คนแถวบ้านของเธอสามีของเธอ ลุงของเธอ ไปจนถึงสามีของเธอ เพื่อนของเธอ ชีวิตของเธอเอง
ในหนังเรื่องนี้ ภายใต้สายตาอันโอบอ้อมอารีของหญิงชราวัยเฉียดเก้าสิบ กับศิลปินหนุ่มที่ที่จริงแล้วเป็นคนอารมณ์ดี ฉลาดเฉลียวและไม่ได้มองตัวเองเป็นศิลปิน พวกเขาสองคนไม่ได้สร้างงานศิลปะสูงส่งอีกต่อไป วาร์ดาเดินเข้าไปในชีิวตผู้คนแบบเดียวกับคุณป้าที่เราบังเอิญเจอในบขส. หรือร้านอาหาร พูดคุยหยอกเล่นกับเรา เข้าใจเราและเป็นเพื่อนกับเรา และสิ่งที่พวกเขาทำคือการเล่นตลกกัน พวกเขาสร้างงานศิลปะที่เป็นเรื่องสามัญดาษดื่น งานน่ารักที่เรียกรอยยิ้มและปลุกปลอบใจผู้คน ชนชั้นล่างที่ถูกทำให้เป็นงานศิลปะแต่ถูกกีดกันออกจากศิลปะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่ทำเรื่องพวกเขา และเอาไว้ให้พวกเขาดูและยิ้มหัวกัน (แม้บางคนจะต้องซวยเพราะงานนี้ก็ตาม)
ความรื่นรมย์จึงเป็นสมบัติของทุกคน ไม่ใช่ความหรูหรา หรือสิ่งสูงค่า มันอยู่ในชีวิต และคงมีแต่คนที่มีสายตาแบบวาร์ดาเท่านั้นที่จะแสดงให้เราเห็นได้ว่าความงามนั้นง่ายเพียงใด
4. Leave No Trace (2018, Debra Granik , USA)
ภาพยนตร์ว่าด้วยพ่อกับลูกที่หนีไปเสียจากสังคม พ่อพาลูกไปอยู่ในป่าโดยไม่มีบ้าน ไม่พบปะผู้คนเว้นแต่มาหาซื้อของใช้จำเป็น หาของกินตามมีตามเกิด นอนในเต๊นท์ ไม่อาจทนต่อโลกใบนี้ได้ คนสองคนที่มีแต่พึ่งพากันและกันเท่านั้น แต่ถึงที่สุดแต่ละคนก็มีโลกที่เป็นของตัวเอง ไม่มีใครที่สามารถจะอยู่เพื่อคนอื่นไปได้ตลอดชีวิต
Leave No Trace ฉายภาพของรัฐที่ยื่นมือเข้าไปจัดการกับชีิวิตของผู้คน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของรัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่ในการควบคุมกำกับให้คนในรัฐอยู่รอดปลอดภัย ขณะเดียวกัน มันก็แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของเจตจำนงเสรีในการเลือกจะมีชีวิตของมนุษย์ หนังท้าทายค่านิยมที่ว่าเด็กต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากพ่อแม่ ครอบครัวคนนอกในหนังเป็นส่ิงตรงข้ามกับความคาดหวังชีวิตที่ดีแบบชนชั้นกลาง แต่การจำกัดสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบของแต่ละคนก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามด้วย
ลึกลงไปกว่านั้น เมื่อหนังพูดถึงโลกเฉพาะของพ่อกับลูกที่มีแค่กันและกัน และต้องพรากจากกัน หนังเลือกทางออกที่สง่างามและเคารพในกันและกันอย่างถึงที่สุดของมนุษย์สองคนที่มีให้กันและกัน ในขณะเดียวกันหนังยังพูดถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในโลกที่ต้องการความหลากหลาย เราอาจต้องการนักสิทธิมนุษยชนที่ออกไปต่อสู้เพื่อสิทธิผู้คน มากพอๆ กับคนธรรมดาที่มีชีวิตอยู่อย่างคนธรรมดา คนที่ไม่ได้เป็นคนนอกแต่ก็ไม่ได้เป็นคนใน คนที่ใช้ชีวิตไปเงียบๆ และคอยเป็นกำลังสนับสนุนให้กับคนที่อยู่ข้างนอก คนที่ไม่ยอมจำนน คนแขวนของหรือเจ้าของร้านชำ อาจไม่ใช่คนที่ถูกจดจำ เป็นเพียงคนขลาดเขลาที่อยูในพื้นที่ปลอดภัย แต่ก็ด้วยคนเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เหล่าคนนอกยังคงเดินต่อไปได้
5. Burning (2018, Lee Chang-Dong, South Korea)
จากเรื่องสั้นแบบชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงของมุราคามิ ที่ว่าด้วยนักเขียนหนุ่มกับเด็กสาวที่เขาเคยพบเจอครั้งหนึ่งและคู่ขาใหม่ของเธอที่เป็นคนรวยหรูหราที่เขาไม่รู้จักซึ่งมีกิจวัตรในการเผาโรงนา ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มยากจนลูกชาวนาชายแดนที่บังเอิญได้เจอสาวเพื่อนเก่าอีกครั้งหนึ่ง เธอขอให้เขาช่วยดูแมวที่ไม่เคยเห็นตัวจริงๆ ขณะเดินทางไกล เมื่อกลับมาเธอมีเพื่อนใหม่เป็นคนหนุ่มร่ำรวยหรูหรากว่าที่เขาเป็น เธอดูจะชอบเธอ และเขาก็ดูจะชอบคนทั้งคู่ ในความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความปรารถนา ความสวยงามและความตึงเครียด ชายหนุ่มร่ำรวยมีกิจกรรมอดิเรกเป็นการเผาเรือนเพาะชำ วันหนึ่งเพื่อนสาวของเขาเขาหายตัวไป และเขาสงสัยว่าหนุ่มร่ำรวยที่เขาอยากจะเป็นแต่เป็นไม่ได้ อาจจะมีส่วนร่วมในการหายตัวไปนี้
เมื่อเปลี่ยนบริบทจากสังคมอีลิทญี่ปุ่นไปสู่สังคมเกาหลี เปลี่ยนนักเขียนร่ำรวยเป็นเด็กหนุ่มต่างจังหวัดลูกหลานเกษตรกรที่แม่ทิ้งไป เพิ่งปลดทหาร ทำงานเป็นเด็กส่งของที่ดิ้นรนจะเป็นนักเขียนอย่างยากลำบากยิ่งเมื่อพ่อที่เขาเกลียดก่อเรื่องจนต้องย้ายกลับบ้านนอก สาวงามถูกเปลี่ยนเป็นเด็กสาวพริตตี้ตลาดล่างที่ไม่เหลืออะไรให้ยึดจับ อาจจะมีหนี้สินติดตัว มีครอบครัวที่มีเรื่องกันอยู่ การพยายามดิ้นรนตามความฝันเป็นเรื่องเกินตัว หนังจึงกลายเป็นเรื่องความใฝ่ฝันของคนเกาหลีสามัญที่มีต่อ ‘ภาพฝัน’ ของเหล่าอีลิทร่ำรวย ‘เบน’ กลายเป็นความฝันที่พวกเขาอยากจะไขว่คว้า เป็นทั้งสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เรื่องของความหมกมุ่นหลงตนความกลวงเปล่าในใจ โรคของทุนนิยมตอนปลายจึงกลายเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้น ความเคียดแค้นที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ โดยไม่มีใครรู้ตัว กัดกินผู้คนจากภายใน
หนังล้อเล่นกับความมีและไม่มีอยู่ ความคลุมเครือที่เคลือบคลุมไปทั่วตัวหนังทำให้หนังถูกตีความได้อย่างหลากหลาย ซึ่งนอกจากจะสะท้อนตัวหนัง ยังสะท้อนตำแเหน่งแห่งที่ของผู้ตีความเองในอีกระดับด้วย Burning จึงเป็นหนังที่ลึกลับ เย้ายวนและเต็มไปด้วยประเด็นทางชนชั้นที่น่าค้นหาที่สุดเรื่องหนึ่ง
6. ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.1 และ 2.2 (2018, สุรศักดิ์ ป้องศร, ไทย)
ภาพยนตร์ภาคสองของไตรภาคที่ตัวเองถูกแบ่งเป็นสองภาคอีกคำรบหนึ่ง ยังคงติดตามเรื่องของบรรดาผู้บ่าวไทบ้าน พวกคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตอยู่ในหมู่บ้านชนบท หากภาคแรกของหนังเป็นหนังตลกชวนหัวหนุ่มจีบสาวสาวจีบหนุ่มที่รื่นรมย์อย่างยิ่ง โดยไม่มีกรุงเทพมากำกับชีวิตผู้คนเลย ภาคต่อทั้งสองตอนก็กลับเลื่อนไหลลงไปเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมและการพังทลายของเพศชายในสังคมชนบท
จาลอดที่เปลี่ยนจากหนุ่มซื่อไปเป็นเสือผู้หญิงในภาคแรกลงเอยกับสาวครูโรงเรียนประถมแต่ยังไม่รู้จะประคองชีวิตครอบครัวยังไงดี บักเซียงจอมเจ้าชู้กลายเป็นคนซึมเศร้าจนต้องบวชพระเพื่อให้ลืมว่าคนรักของเขาไปแต่งงานกับคนอื่น บักป่องหนุ่มคนเดียวในหมู่บ้านที่ไปร่ำไปเรียนที่กรุงเทพต้องกลับมาต่อสู้กับโลกทั้งใบที่เขาอาศัยเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจอย่างที่เขาได้เรียนรู้มาและเชื่อมั่นว่ามันจะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนได้
ภายใต้ความล้มเหลวอันชวนหัวกับอาหารตาของผู้ชมหนุ่มๆ เพราะหนังทั้งเรื่องเต็มไปด้วยสาวงาม สิ่งที่หนังไปได้ไกลและไปได้งามคือการฉายภาพชีวิตผู้คนในหนังที่ราวกับว่าไม่มีใครเป็นตัวประกอบในชีวิตของใคร ทุกคนมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง มีความทุกข์ความสุขเป็นของตัวเอง เพื่อนพระเอก คนบ้า เด็กมัธยม เจ๊ร้านชำ หนังเกลี่ยให้ทุกคนอยู่ร่วมในชุมชนเป็นพระนางในเรื่องของตัวเอง และพระนางคนอื่นๆ ก็มาเป็นตัวประกอบให้บ้าง
ในขณะเดียวกันหนังยังเป็นภาพฉายของชนบทไทยร่วมสมัยที่ห่างไกลจากจินตนาภาพที่คนชั้นกลางมีต่อชนบทแบบแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง และความฮิตของหนังเรื่องนี้ทำรายได้ไปเกือบสองร้อยล้านบาท ก็ยิ่งท้าทายต่อโครงสร้างรวมศูนย์ของสังคมไทยอย่างน่าขันและรื่นรมย์ยิ่ง
7. Forget Me Not (2018, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ไทย)
จากข้างหลังภาพ นิยายของศรีบูรพาที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ถูกดัดแปลงมาขึ้นจออย่างบ้าคลั่ง ร้ายกาจ ตีความใหม่อย่างคมคาย ให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด โดยจุฬญาณนนท์ ศิริผลที่ทั้งทำหนังเองและแสดงเองเป็นทั้งนพพรและกีรติ!
อย่างจงใจ จุฬญาณนนท์ได้โหมใส่สัญญะทางการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างรุนแรงเข้าไปในตัวเรื่อง สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การประท้วงของนักศึกษา การปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างถูกเร้าอย่างล้นเกิน เรื่องเล่าเปลี่ยนจากความสงบงามของครึ่งแรกไปสู่พลังงานอันบ้าคลั่งของความโกรธแค้นและการเสียดเย้ย (จนเกือบจะเป็นภาพแทนตรงไปตรงมาของการเสียดสีการเมืองไทย) ก่อนที่เรื่องจะเบนเข้าสู่ช่วงสุดท้าย ซึ่งผนวกเอาภาพวาดจิตกรรมฝาผนังโบราณ ประติมากรรมไฟฟลูออเรสเซนต์สมัยใหม่ ให้กลายเป็นฝันหลอนแห่งการเจริญสติภาวนา นพพรที่เข้าทางธรรมแบบภาพสองมิติของไตรภูมิ ได้กลับคืนสู่อ้อมอกอันเป็นที่รักของกีรติผ่านทางการละทางโลก ทางการกลับไปเป็น ‘คนดี’ ของคุณหญิง
คุณหญิงกีรติ จึงไม่ได้เป็นเพียงภาพฝันถึงอดีตอีนหอมหวานความอ่อนช้อยอันงดงาม เพราะอำนาจที่แท้ของความดีงามอันบริสุทธิ์นี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ภาพฝัน แต่ทำหน้าที่กำกับผู้ที่ฝันถึงมันด้วย การแผ่ลามของอำนาจแห่งกีรติไม่ได้มาพร้อมกับปืน การบังคับทางกฏหมาย การปราบปรามคนเห็นต่าง หรือการจับกุมคุมขัง แต่คือการฝังของภาพของคนธรรมดาลงไปในความทรงจำผู้คนให้กลายเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกันกับรูปปั้นในห้องจัดแสดง เมื่อสิ่งใดได้กลายเป็นความดีงามอันสมบูรณ์ ความจริงอันสัมบูรณ์สิ่งนั้นก็จะล่วงละเมิดมิได้อีกต่อไป ข้างหลังภาพของคุณหญิงกีรติ จึงไม่ใช่เพียงภาพเขียนที่มอบให้นพพรอีกต่อไป แต่เป็นภาพของกีรติเอง ซึ่งในตอนท้ายของเรื่องได้ปรากฏเป็นภาพที่มีทุกหนแห่ง เป็นภาพที่ศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้
8. Heartbound: A Different Kinds of Love Story (2018, Janus Metz+ Sine Plambech, Denmark)
นี่คือสารคดีสัญชาติเดนมาร์ก เป็นเรื่องของสมหมาย สาวอีสานที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในเมือง Thy เมืองทางตอนเหนือของเดนมาร์กมาแล้ว 24 ปี เธอเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่นี่ เวลาผ่านไปสองทศวรรษ ชุมชนเล็กๆ ในเมืองนี้มีคนไทยอยู่ ทั้งสิ้น 926 คน เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่แต่งงานกับหนุ่มโรงงานในเมืองนี้ผ่านทางการจัดหาของสมหมาย
เดิมสมหมายทำงานกลางคืนในพัทยา เธอได้พบกับแฟรงค์ เขาเคยแต่งงานแต่ก็อยู่คนเดียวมาแล้วเจ็ดแปดปี แรกทีเดียวเขาแค่ตั้งใจจะมาเซ็กส์ทัวร์ในเมืองไทย แต่เขามาพบสมหมาย ลงเอยด้วยการแต่งงานและพาสมหมายย้ายมาอยู่เดนมาร์ก โดยเธอไปๆ มาๆ ระหว่างเดนมาร์กกับบ้านเกิดของเธอในภาคอีสาน ซึ่งที่นั่นเธอมองหาญาติสาวของเธอ เด็กสาวในหมู่บ้าน คนที่อยากมาทำงานเก็บเงินที่เมืองนอก งานที่ว่าคือการแต่งงานกับชายชาวเดนมาร์ก ดูแลปรนนิบัติในฐานะภรรยา ไปทำงานในโรงงาน พอครบเจ็ดปีถ้าไม่เลิกรากันก็จะได้สัญชาติ ระหว่างนี้ก็ส่งเงินกลับไปสร้างบ้านในหมู่บ้าน
หนังไม่ได้ทำตัวเป็นหนังสารคดีสอนศีลธรรมหญิงไทยใจง่าย หนังยังไม่ได้เป็นสารคดีเปิดเผยซีวิตบัดซบ หรือมองซับเจ็กต์เป็นเพียงคนยากจนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ เป็นมนุษย์คนหนึ่งเทียบเท่ากับชายฝรั่งที่เธอแต่งงานด้วย คนที่ไม่ได้เป็นทั้งพวกคลั่งเซ็กส์ ตาแก่ตัณหากลับ และไม่ได้เป็นพระผู้ช่วยให้สาวยากจนรอดตาย แต่พวกเขาคือคนเหงาที่อีกโลกหนึ่ง คนที่ไม่ได้จะโชคดีไปเสียทุกเรื่อง และการต่างตอบแทนของโลกทุนนิยมในทางหนึ่งทำให้โลกเหงาน้อยลงมันจึงงดงามเมื่อหนังใช้เวลาสิบปีในการติดตามตัวละคร เราจึงได้เห็นว่าไม่มีจุดใดเป็นจุดจบของเรื่องถึงที่สุดทุกคนต่างมีชีวิตที่จุดที่สูงสุดที่ไม่ใช่ตอนจบ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้อื่นๆ
9. NUSANTARA: the sea will sing and the wind will carry us (2011-ongoing, Sherman Ong)
งานวิดีโอที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 และยังคงดำเนินต่อไปโดยเชอร์มาน อ็อง ศิลปินชาวมาเลเซีย-สิงคโปร์ที่ทำงานภาพยนตร์และวิดีโออาร์ตอยู่ทั้งใน มาเลเซีย สิงคโปร์ และที่อื่นๆ ทั่วเอเชีย
NUSANTARA เป็นวิดีโอสัมภาษณ์ตรงไปตรงมากับเหล่าคนอพยพที่มาลงเอยในมาเลเซียและสิงคโปร์ เฉกเช่นชื่อหนัง ทะเลจะเห่กล่อม และสายลมจะนำพาเราไป เชอร์มาานมองว่า แผ่นดินอุษาคเนย์คือดินแดนของการอพยพไปมา การเคลื่อนไหวไม่สิ้นสุดของประชากร ชาวมลายูดั้งเดิม คนจีนอพยพ ชาวทมิฬอพยพ การเคลื่อนย้ายไปมาของคนสิงคโปร์กับไต้หวัน อินโดนีเซียกับมาเลเซีย ไปจนถึงการหลั่งไหลมาของมุสลิมจากตะวันออกกลาง นี่คือแผ่นดินที่ไม่ได้เป็นของเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งแต่คือพลวัตรของการเคลื่อนไหวที่การมาถึงของลัทธิชาตินิยมพยายามจะตรึงมันให้หยุดนิ่งและเบียดขับคนอื่นๆ ออกไปยังชายขอบ
หนังสัมภาษณ์ตั้งแต่ทหารสิงคโปร์ที่ขายตัวเพื่อไปหาแฟนที่ไต้หวัน หญิงสาวลูกจีนอพยพที่เป็นคนที่พี่น้องเลือกให้ดูแลพ่อแม่จนไม่มีชีวิตเป็นของตนเอง หนุ่มมาเลย์ที่ไปเป็นยามในโรงแรมหรูของคนร่ำรวยกลางเกาะและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวของมิตรใหม่ชาวฟิลิปปินส์ นักแสดงจากอาเจะห์ที่หนีมาพร้อมกับพ่อที่เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน มาตั้งรกรากใหม่ในมาเลเซียอย่างคนนอก จนหลายสิบปีล่วงผ่าน พ่อกลับไปอาเจะห์และครอบครัวพลัดพรากสาบสูญตลอดกาลให้สึนามิ หรือหญิงสาวชาวอัฟกันที่หนีชีวิตแร้นแค้นจากการถูกทำลายโดยพ่อเลี้ยงของเธอและสังคมมุสลิมตะวันออกกลาง จนมาลงเอยในมาเลเซีย สาวอินโดที่มาเรียนในสิงคโปร์ และไม่คาดฝัน มีญาติที่ตายไปแล้วระหว่างการอพยพจากจีนไปอินโดนีเซียมาเข้าฝัน เพื่อให้เธอซื้อซาลาเปาไปให้ยายทวดของเธอ
ทั้งหมดเป็นงานสัมภาษณ์ซึ่งหน้า เพียงตั้งกล้องแล้วให้ผู้คนหลั่งไหลเรื่องเล่าออกมาเองโดยไม่เร่งร้อน ผู้คนเล่าสิ่งที่ตัวเองเป็น ค่อยๆ เคลื่อนคล้อยไปทีละน้อยสู่สิ่งที่หลุดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจเล่า ฉายภาพแผ่นดินที่เคลื่อนไหวไม่รู้จบ และการไปมาหาสู่ของผู้คนนอกเหนือที่เขตแดนใดๆ จะขีดกั้นกำหนดไว้ได้
โปรเจ็กต์นี้ยังดำเนินต่อไป และเราหวังว่าจะได้ฟังเรื่องเล่าใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ จากงานของเขา
งานฉายที่ BACC ชั้นเจ็ด เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Art Biennale
10. Hereditary (2018, Ari Aster, USA)
ภาพยนตร์สยองขวัญที่พูดถึงความสำนึกบาปของผู้คนในครอบครัวหลังจากอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง ซึ่งค่อยๆ นำไปสู่ความจริงที่ว่าแม้แต่อุบัตเหตุก็เป็นการจัดวางให้เกิดขึ้น การสืบสายเลือดไม่ได้มีแค่ด้านสวยงามของควมเป็นครอบครัว แต่ยังไม่หมายถึงการต้องแบกรับความชั่วร้ายที่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกด้วย
ในขณะที่หนังของ เจมส์ วาน มีแกนอยู่สองอย่าง นั่นคือการเฉลิมฉลองให้กับหนังสยองขวัญอเมริกันในยุค 70’s ที่เต็มไปด้วยการใช้เทคนิคหลอกหลอน การสร้างพลอตที่เป็นทั้งเรื่องสยองขวัญและเรื่องครอบครัว หนังสยองขวัญอนุรักษ์นิยมซึ่งนำไปสู่ข้อสอง คือการที่หนังของของ เจมส์ วานเป็นเซฟโซนของคนดูหนังสยองขวัญ เพราะมันมอบความสยองขวัญและความอุ่นใจให้ เพราะสุดท้ายโลกยังดีอยู่ถ้าครอบครัวร่วมมือกันพวกเขาจะขับไล่ผีร้ายออกไปได้ ความเป็นครอบครัวคือแกนกลางทั้งหมด
ในทางตรงกันข้าม หนังสยองขวัญของแอรี แอสเตอร์ เรื่องนี้มีแกนกลางอยู่ที่สองอย่าง นั่นคือการเฉลิมฉลองหนังสยองขวัญสายเนี้ยบนิ่งช้า ทั้งจากอเมริกา และที่มากกว่าคือยุโรป หนังสยองขวัญที่ไม่อาศัยความโฉ่งฉ่าง แต่อาศัยการจัดวางภาพที่งดงาม และหนังสำรวจลึกลงไปในจิตใจมนุษย์ เราจึงเห็นร่องรอยทั้งหนังอย่าง Exorcist หรือ Don’t Look Now ไล่เรื่อยไปจนถึงงานของโรเบิร์ต อัลต์แมน (Robert Altman) หรืออิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman) ของประกอบฉากฉากหนึ่งในหนังแทบจะถอดออกมาจากฉากหนึ่งใน Cries And Whisper
หนังสยองขวัญกลุ่มนี้อัพเกรดความคลาสสิคให้กับหนังสยองขวัญ มันถูกจดจำในฐานะหนังที่สร้างความตื่นกลัวที่ลึกกว่าผิวเปลือก ภาพชิดใกล้ตาเหลือกลานขอตัวละครหญิง การเล่นกับเงาและความมืด การอยู่ในอาการกึ่งจริงกึ่งฝัน
ในขณะเดียวกันแกนกลางที่สองของหนังก็ตรงกันข้ามกันอย่างยิ่งเพราะหนังเรื่องนี้ยืนอยู่บนแกนกลางของความสัมพันธ์ของครอบครัว แต่ในความหมายที่ว่า ครอบครัวนั้นสร้างนรกขึ้นมา
HONORABLE MENTION
*กล่าวเฉพาะหนังไทย
Someone From Nowhere (2018, ปราบดา หยุ่น)
มะลิลา (2018, อนุชา บุญยวรรธนะ)
Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย (2018, บงกช เบญจรงคกุล)
Samui Song (2018, เป็นเอก รัตนเรือง)
เณรกระโดดกำแพง (2018,บุญส่ง นาคภู่)
Ten Years Thailand (2018, อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล)
Tags: ฉากและชีวิต, ไทบ้านเดอะซีรี่ส์, ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2, Heartbound: a different kind of love story, Bangkok Nites, Movie, Faces Places, ข้างหลังภาพ, Forget Me Not, Filmsick, Nusantara, Hereditary, Leave No Trace, Burning