Burning เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสั้นของนักเขียนคนสำคัญผู้เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย แม้ภาพของ ฮารูกิ มูราคามิ ในตลาดวรรณกรรมปัจจุบันคือนักเขียนที่มีแบรนด์ความเหงา แต่งานเขียนของเขาก็เต็มไปด้วยมิติทางสังคมที่แสดงโครงสร้างปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างแนบเนียน

เพื่อที่จะแปลงเรื่องสั้นนี้เป็นภาพยนตร์ อีชางดง ผู้เป็นผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของวงการหนังเกาหลีทศวรรษ 90 ใช้ศิลปะแขนงที่เจ็ดปรับวรรณกรรมเป็นภาพเคลื่อนไหวที่แหลมคมขึ้น ยิ่งกว่านั้นคือเขาย้อนไปหารากของงานที่เชื่อมร้อยสามนักเขียนอย่างมูราคามิ, ฟอล์คเนอร์ และ ฟิตซ์เจอรัลด์ แล้วแปรเป็นภาษาหนังอย่างอัศจรรย์

แม้ Burning จะฉายในไทยแบบจำกัดโรง หนังกลับถูกพูดถึงจนเป็นวาระแห่งชาติของนักวิจารณ์ไปแล้ว หนังสไตล์รักสามเศร้าเรื่องนี้สะกดคนดูให้พิศวงไปกับเส้นทางของเรื่องจนไม่มีวินาทีไหนสูญเปล่า พลังของหนังทำงานจนสมควรอย่างที่สุดที่จะถูกพูดถึงว่า เป็นหนึ่งในหนังดีที่สุดซึ่งฉายในประเทศในรอบปี

สำหรับผู้ชมที่ดูหนังเพื่อความบันเทิง Burning ตรึงคนดูให้อยู่กับหนังแบบละสายตาไม่ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ รากที่มาจากวรรณกรรมซึ่งอิงสามนักเขียน ทำให้เนื้อในของหนังที่ดูง่ายนี้สนุก ส่วนผู้ชมที่ดูหนังเพื่อยังให้เกิดปัญญาก็จะพบว่า หนังเรื่องนี้มีประเด็นที่ควรค่าแก่การใช้เวลา

บทความนี้จะพูดถึงสองประเด็นใหญ่ในหนัง นั่นคือ ความเหงา และชนชั้นในสังคม

จากเศรษฐศาสตร์แห่งความเหงาสู่การโดดเดี่ยวทางสังคม

โดยปกติแล้วความเหงาเป็นอารมณ์ที่ไม่มีใครอยากดูดดื่มลุ่มหลงเหมือนความรัก แต่ทันทีที่ความเหงาถูกแปรรูปเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ก็ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผู้บริโภคจนเกิดคำว่า ‘เศรษฐศาสตร์แห่งความเหงา’ ซึ่งเริ่มมีการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราวในปัจจุบัน

ถ้านิยามความเหงาแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ เหงาคือห้วงภวังค์ที่ไม่มีใครจนเราโหยหาอะไรบางอย่าง ในแง่นี้ ‘เศรษฐศาสตร์แห่งความเหงา’ ศึกษาว่า การทำให้มนุษย์เกิดปฏิสัมพันธ์กับ ‘อะไร’ นั้นทำอย่างไร และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจแค่ไหน หรือพูดง่ายๆ คือ ศึกษาสถาบันสังคมที่เกิดจากอิทธิพลซึ่งความเหงามีต่อผู้คน

ทันทีที่ความเหงาถูกแปรรูปเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ก็ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผู้บริโภคจนเกิดคำว่า ‘เศรษฐศาสตร์แห่งความเหงา’

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเมืองส่วนใหญ่มีรายได้ที่ทำให้การยังชีพในพื้นที่ราว 30 ตร.ม.เป็นมาตรฐานชีวิต แต่ข้อเท็จจริงคือ มนุษย์อยู่โดดเดี่ยวในบริเวณนั้นตลอดไปไม่ได้ ร้านกาแฟ โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือห้างสรรพสินค้า จึงเป็น ‘สถาบัน’ ที่เฟื่องฟู เพราะคนพร้อมจ่ายเงินเพื่อรู้สึกถึงปฏิสัมพันธ์เป็นการชั่วคราว

คำถามคือ ความเหงาทำให้เกิดสถาบันอะไรบ้างในสังคม?

ต้นปีที่ผ่านมา แอป Momo และ Xiaozhu ซึ่งให้บริการนัดเดทและแชร์ที่พักแบบ Airbnb เปิดเผยผลสำรวจว่า คนจีนอายุต่ำกว่า 47 ปี จำนวน 10,000 คนที่อยู่ห้องพักแบบนี้ 49% คลายเหงาโดยเล่นเกม 46% ไปบาร์ 39%  เข้ายิม และ 25% คาราโอเกะ ซึ่งทั้งหมดคือเศรษฐศาสตร์แห่งความเหงาที่โตตามวิถีชีวิตนี้โดยตรง

ด้วยข้อค้นพบแบบนี้ สิ่งที่นักการตลาดพิจารณาต่อไปก็คือ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการต่างๆ เพื่อให้เกิดธุรกิจที่เติบโตบนเศรษฐศาสตร์แห่งความเหงาให้ได้มากที่สุด  โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มจะอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือวิถีชีวิตก็ตาม

คนเมืองส่วนใหญ่มีรายได้ที่ทำให้การยังชีพในพื้นที่ราว 30 ตร.ม.เป็นมาตรฐานชีวิต แต่ข้อเท็จจริงคือ มนุษย์อยู่โดดเดี่ยวในบริเวณนั้นตลอดไปไม่ได้ ร้านกาแฟ โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือห้างสรรพสินค้า จึงเป็น ‘สถาบัน’ ที่เฟื่องฟู

ไม่มีใครมีตัวเลขว่า แต่ละประเทศมีคนที่มีวิถีชีวิตแบบนี้เท่าไร แต่ในสังคมที่เมืองใหญ่เป็นศูนย์รวมของคนวัยทำงาน ซึ่งอพยพมาจากภูมิภาคอื่นๆ โอกาสที่จะมีคนซึ่งโหยหาปฏิสัมพันธ์นี้ย่อมมีมากขึ้น เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีศักยภาพซื้อสินค้าและบริการเพื่อทดแทนความเหงา ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในลักษณะเดียวกัน

‘เศรษฐศาสตร์แห่งความเหงา’ เป็นประเด็นที่พูดถึงในจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีการขยายตัวของประชากรวัยทำงานที่ดำรงชีวิตโดยแยกจากภูมิลำเนาและครอบครัวมาอยู่เป็นเอกเทศสูงเหมือนๆ กัน

ขณะที่มีความเข้าใจว่า ความเหงาเป็นห้วงภวังค์ที่เกิดจากความแปรปรวนทางอารมณ์ของปัจเจก แต่นักประสาทวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการรับรู้และประสาทวิทยาศาสตร์ทางสังคมแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกอย่างศาสตราจารย์ จอห์น ที. คาซซีโอโป (John T.Cacioppo)  ระบุว่า ความเหงาเป็น ‘โรค’ ที่เกี่ยวพันกับสังคม

คาซซีโอโประบุว่า ความเหงาคือความโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) ซึ่งมาจากความรับรู้เรื่องการสูญเสียสายสัมพันธ์ทางสังคม ความเหงาจึงเป็นความโดดเดี่ยวที่เกิดจากการรับรู้ (Perceived Isolation) ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่อย่างลำพังในความเป็นจริง

สำหรับผู้บุกเบิกศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ทางสังคม หรือ Social Neuroscience รายนี้ สายสัมพันธ์ทางสังคมหรือ Social Connection คือแก่นของความเป็นมนุษย์ ความเหงาเป็นโรคที่บอกให้มนุษย์สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายเพื่อดูแล ‘ร่างกายทางสังคม’ ในสภาวะสมัยใหม่ คล้ายความหิวทำให้มนุษย์ปกป้องร่างกายทางกายภาพของตัวเอง

มองในแง่นี้ ความรับรู้ว่าตัวเองโดดเดี่ยวคือแรงขับให้มนุษย์ซื้อหาสินค้าและบริการเพื่อรู้สึกถึงสายสัมพันธ์เสมอ คนซึ่งที่จริงอยู่ตัวคนเดียว (objective isolation) ทว่าเข้าถึงสถาบันที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย จึงอาจไม่เหงาเลยก็ได้ ตรงข้ามกับคนผู้ที่อยู่กับคนมากมายโดยไม่สัมพันธ์กับใครในความหมายที่แท้จริง ดำรงอยู่โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก ยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่มีความดื่มด่ำว่าตัวเองมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความหมายกับใครเลยแม้แต่นิดเดียว

ความเหงาเป็นโรคที่บอกให้มนุษย์สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายเพื่อดูแล ‘ร่างกายทางสังคม’ ในสภาวะสมัยใหม่ คล้ายความหิวทำให้มนุษย์ปกป้องร่างกายทางกายภาพของตัวเอง

หนึ่งในนักเขียนที่พูดถึงปัญหานี้ได้แหลมคมคือมูราคามิ ผู้ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของวรรณกรรมความเหงายุคปัจจุบัน แต่ภายใต้การสร้างเรื่องเล่าและบรรยากาศแห่งความเดียวดาย งานเขียนของเขาแสดงให้เห็นการบริโภคสินค้าประเภท ‘เศรษฐศาสตร์แห่งความเหงา’ ซึ่งตัวละครป่วยไข้ด้านสายสัมพันธ์ทางสังคม

เมื่องานของมูราคามิถูกแปลงเป็นศิลปะแขนงที่เจ็ดในหนังเรื่อง Burning อารมณ์เว้าแหว่งของหนุ่มสาวถูกเชื่อมต่อกับการวิพากษ์สังคมที่สายสัมพันธ์ของมนุษย์ล่มสลายอย่างถึงที่สุด ความโดดเดี่ยวของปัจเจกภาพมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่ย่อยยับ และความสัมพันธ์ที่ย่อยยับก็ส่งผลสู่การพังทลายของเอกบุคคล

(ต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

ชนชั้น เงื่อนไขทางสังคมของความเหงา

แม้โครงเรื่องของ Burning จะเป็นการชิงรักหักสวาทของหนึ่งหญิงสองชาย ซึ่งฝ่ายหนึ่งทิ้งอีกฝ่ายไปหาคนที่รวยกว่า ภาพยนตร์กลับออกแบบให้ลักษณะทางชนชั้นกำกับความสัมพันธ์ของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ กระฏุมพีผู้รสนิยมดีมีเนื้อแท้ที่พังพินาศ และในที่สุดคนทั้งสองชนชั้นสัมพันธ์กันแบบบดขยี้กันตลอดเวลา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครฝ่ายชนชั้นล่างอย่างจงซูและแฮมี คือคนหนุ่มสาวซึ่งอีกนิดก็เข้าข่าย Scumbag หรือสวะสังคม เพราะคนหนึ่งคืออดีตทหารเกณฑ์ที่พ้นประจำการ ทำงานเป็นเด็กรับจ้างส่งของเล็กๆ น้อยๆ ส่วนอีกรายคือพริตตี้ตลาดล่างที่หากินโดยรับงานเต้นเรียกแขกเข้าเต็นท์ขายของริมถนนลดราคา

เมื่อชนชั้นกำกับความสัมพันธ์ของตัวละคร การปรากฏตัวของชนชั้นสูงย่อมทำให้โลกของชนชั้นล่างวุ่นวายไปหมด เกลนจาก The Walking Dead แสดงเป็นเบนผู้รวยชนชั้นปอร์เช่ อยู่เพนท์เฮ้าส์ นั่งร้านกาแฟฮิป  วันๆ ไม่ต้องทำงานทำการ แต่ในที่สุดเป็นตัวละครที่ทำให้ชีวิตของจงซูและแฮมีเปลี่ยนไปตลอดกาล

สองคนชั้นล่างในหนังล้วนมีสถานะปลายแถวของชนชั้นลูกจ้างในระบบทุนนิยม รายได้ไม่แน่นอน หาเงินไม่พอรายจ่าย เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ ไม่มีองค์ประกอบไหนในชีวิตที่เข้าใกล้ความเป็นชีวิตที่ดี

ตัวละครฝ่ายชนชั้นล่างอย่างจงซูและแฮมี คือคนหนุ่มสาวซึ่งอีกนิดก็เข้าข่าย Scumbag หรือสวะสังคม

เพื่อดันประเด็นนี้ให้ชัดเจน อีชางดง ผู้กำกับถึงกับให้แฮมีพูดตรงๆ ว่าชอบทำงานใช้แรงงาน อพยพมาหางานในกรุงโซลจากชายแดนที่ได้ยินเกาหลีเหนือโฆษณาชวนเชื่อไม่รู้จบ เป็นหนี้บัตรเครดิตจนแม่พี่ไม่ให้เหยียบบ้าน อยากท่องโลกกว้าง แต่ชีวิตจริงมีงานรับจ้างเรียกแขกเฉพาะวันที่นายจ้างให้ไปทำงาน

แม้อาชีพนักเขียนจะเป็นความฝันของจงซูผู้พ้นประจำการทหารเกณฑ์แล้วรับจ้างแบกหามเลี้ยงชีวิต แต่ในความเป็นจริงคือหมอนี่ไม่เคยมีผลงานอะไร ย้ายจากกรุงโซลกลับไปบ้านที่สภาพคล้ายรังหนูติดชายแดนเกาหลีเหนือ มีทรัพย์สินแค่ลูกวัวกับรถกระบะเน่าๆ และอยู่ในสภาพไม่มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว

เพื่อให้เห็นชีวิตที่ไม่มีอะไรและไม่มีใครของตัวละครทั้งคู่มากยิ่งขึ้น ผู้กำกับทำให้สองตัวละครหลักยากไร้ขั้นแม้แต่บ้านก็ไม่ใช่ ‘บ้าน’ ในความหมายเคร่งครัด แฮมีอยู่ห้องเช่าชั้นบนสุดของตึกแถวที่เป็นเหมือนโลกซึ่งไร้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ทุกราย ส่วนจงซูอยู่บ้านนอกที่พ่อแทบไม่มีเพื่อนบ้านสุงสิงด้วยเลย

ภายใต้ตัวละครที่หนีความยากจนแบบชาวนาชนบทแล้วถูกย่ำยีด้วยชีวิตหาเช้ากินค่ำในเมือง ความใฝ่ฝันถึงชีวิตแบบใหม่ในรูปอาชีพใหม่ๆ และโลกใบใหม่เป็นแรงขับในการมีชีวิตของคนกลุ่มนี้ แม้ที่สุดหนังจะขยี้ต่อว่า ความหวังเป็นเหมือนแสงจากเงาสะท้อนที่ริบหรี่จนต้องเพ่งจึงมองเห็น ก่อนจะวูบหายในวาบเดียว

ท่ามกลางพื้นผิวที่อุดมด้วยเงื่อนไขในการเล่าเรื่องโหลๆ ประเภทสองหนุ่มสาวโดดเดี่ยวในเมืองใหญ่ รายละเอียดในเรื่องเล่า แสง องค์ประกอบด้านภาพ หรือการเปรียบเปรยด้วยอุปมาต่างๆ ทำให้ผู้ชมเห็นว่า ความจนและสถานะทางชนชั้น กำกับให้ตัวละครทั้งคู่มีชีวิตที่เหมือนถูกเผาไหม้ให้เป็นเถ้าถ่านตลอดเวลา

เพื่อให้เห็นชีวิตที่ไม่มีอะไรและไม่มีใครของตัวละครทั้งคู่มากยิ่งขึ้น ผู้กำกับทำให้สองตัวละครหลักยากไร้ขั้นแม้แต่บ้านก็ไม่ใช่ ‘บ้าน’ ในความหมายเคร่งครัด แฮมีอยู่ห้องเช่าชั้นบนสุดของตึกแถวที่เป็นเหมือนโลกซึ่งไร้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ทุกราย ส่วนจงซูอยู่บ้านนอกที่พ่อแทบไม่มีเพื่อนบ้านสุงสิงด้วยเลย

ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอภาพตัวละครที่พยายามสัมพันธ์กับสังคมเพื่อไปจากภวังค์แห่งความโดดเดี่ยวจากการรับรู้ (Perceived Isolation) ด้วยวิธีต่างกัน  แฮมีเลือกเส้นทางติ่งคนรวย จนกลายเป็นของเล่นไฮโซซึ่งพยายามทุกทางให้ตัวเองโดดเด่นที่สุด ส่วนจงซูเลือกกลับบ้านไปเป็นนักเขียนเพือเชื่อมต่อกับโลกโดยตรง

อย่างไรก็ดี ผู้ชมจะรับรู้ผ่านสายตาของจงซูและกลุ่มคนรวย ที่มองความพยายามของแฮมีในการขโมยซีนซึ่งเข้าขั้นน่าสมเพช แฮมีลุกขึ้นเต้นแบบชนเผ่าในอัฟริการาวตัวตลกกลางร้านอาหารหรูที่ไม่มีใครสนุกไปด้วย ส่วนความสุดเหวี่ยงในผับก็เต็มไปด้วยสเต็ปแบบผู้หญิงที่กระหายจะให้โลกเห็นจนน่าเวทนา

สำหรับจงซูนั้น ความปรารถนาจะเป็นนักเขียนของเขาแทบไม่มีอะไรคืบหน้า คนรวยแดกดันจงซูต่อหน้าธารกำนัลว่า นักเขียนเป็นอาชีพที่ใครแค่เขียนอะไรก็อ้างว่าเป็นได้ วิธีพูดแบบนี้สร้างความเจ็บปวดที่จุกจนเถียงไม่ออกแน่ๆ กับจงซูผู้ที่ยังไม่เคยเขียนอะไรเสร็จ  และน่าจะยังไม่มีผลงานตีพิมพ์แม้แต่ชิ้นเดียว

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ความพยายามของคนชั้นล่างในการสร้างสายสัมพันธ์กับสังคมล้วนปิดฉากด้วยความล้มเหลว แฮมีหายไปแบบไร้คนสนใจ จงซูตามหาแฮมีผู้เป็นสายสัมพันธ์เดียวในโลกจนพบว่าโลกไม่สนคนอย่างเขายิ่งขึ้นไปอีก และกระทั่งห้องเช่าของแฮมีก็ถูก ‘Big Cleaning’ จนไม่เหลือร่องรอยของความทรงจำ

ตัวละครชั้นล่างทั้งหมดในหนังล้วนอยู่โดดเดี่ยว และภายใต้ความโดดเดี่ยวนั้น ทุกคนเผชิญชะตากรรมที่ทำให้รับรู้ว่า โลกเห็นพวกเขาเป็นแค่ควัน วูบเดียวก็ลับหายจนกลายเป็นมนุษย์ที่ไม่ต่างอะไรจากธุลี

ความพยายามของคนชั้นล่างในการสร้างสายสัมพันธ์กับสังคมล้วนปิดฉากด้วยความล้มเหลว

เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ผู้เขียนนวนิยายซึ่งสำคัญต่อหนังเรื่องนี้อย่าง The Great Gatsby เคยพูดว่า ห้วงยามที่โดดเดี่ยวที่สุดในชีวิตของใคร ก็คือห้วงเวลาซึ่งโลกของเขาล่มสลาย โดยเขาได้แต่เฝ้ามอง เพราะทำอะไรไม่ได้ และใน Burning ห้วงเวลานี้คือ Magic Moment ที่ทำให้จงซูคิดล้างแค้นคนที่รื้อสลายโลกของเขาไม่มีชิ้นดี

สำหรับคนที่ถูกโลกประกาศเจตนารมณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ให้ไม่เหลือซาก ‘โลก’ ย่อมไม่ต่างจากสภาวะธรรมชาติอันโหดร้าย ที่ควรถูกวางเพลิงให้มอดไหม้เป็นจุล

 

ปัญญาชน : เส้นทางที่ชนชั้นล่างไม่มีวันเป็นได้

อันตรายของการใช้เรื่องชนชั้นอธิบายสังคมในกรณีไหนๆ ก็คือการเหมารวมว่า คนที่ภูมิหลังคล้ายกันย่อมเป็นพวกเดียวกันจนมีพฤติกรรมเหมือนกัน แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครชั้นล่างล้วนเป็นปัจเจกชนซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยมาก “ชนชั้น” ในที่นี้จึงไม่ได้เกิดจากสำนึกรวมหมู่เท่าสถานะทางสังคมของบุคคล

ด้วยภูมิหลังที่เป็นลูกชาวนาซึ่งถูกเกณฑ์ทหารแล้วตกงานหลังปลดประจำการ จงซูคือตัวละครที่มีคุณสมบัติเป็นคนชั้นล่างสายแรงงานอย่างที่สุด แต่ความซับซ้อนคือผู้กำกับออกแบบให้ชนชั้นล่างในกรณีนี้จบปริญญาตรี เรียนการเขียนสร้างสรรค์ และอ่านวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ จนตัวละครมีคุณสมบัติของปัญญาชนพร้อมกัน

ถ้าเทียบเคียงกับบริบทไทยเพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น จงซูก็เปรียบได้กับเด็กจบอักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ที่ชอบอ่านชูศักดิ์ (ภัทรกุลวณิชย์) ดูหนังฝรั่งเศส ตามฟังธเนศ (วงศ์ยานนาวา) อินพรรคอนาคตใหม่ มีปิยบุตร (แสงกนกกุล) เป็นไอดอล แต่ถูกรัฐบังคับให้ไปเกณฑ์ทหาร ยังชีพด้วยการรับจ้างแบกหาม และจบด้วยการไปยืนเข้าแถวแย่งงานกับกรรมกรโรงงาน

ในแง่นี้  Burning พูดถึง โลกสังคม หรือ Life-World ของคนจบปริญญาตรีซึ่งความจริงทางเศรษฐกิจทำให้ตระหนักถึงความปลายแถวของชีวิตที่ต่ำตม เมื่อเทียบกับความเข้าใจต่อตัวเองที่เคยมีในจินตนาการ

จงซูก็เปรียบได้กับเด็กจบอักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ที่ชอบอ่านชูศักดิ์ (ภัทรกุลวณิชย์) ดูหนังฝรั่งเศส ตามฟังธเนศ (วงศ์ยานนาวา) อินพรรคอนาคตใหม่ มีปิยบุตร (แสงกนกกุล) เป็นไอดอล แต่ถูกรัฐบังคับให้ไปเกณฑ์ทหาร

ในฉากที่จงซูยืนต่อแถวสมัครงานโรงงาน ผู้จัดการเรียกผู้สมัครแต่ละรายด้วยหมายเลขก่อนจะเลือกรับใครตามอำเภอใจโดยไม่มีเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น จากนั้นจงซูถูกเรียกว่าหมายเลข 3 เขาเดินออกไปในท่วงท่าหลุดโลกทันทีที่พบว่าตัวเองเป็นแค่แรงงาน ที่ตัวตนของเขาปราศจากความหมายในระบบอุตสาหกรรม

Burning คือโศกนาฎกรรมของชนชั้นล่างที่เจ็บปวดกว่าชนชั้นล่างทั่วไป เพราะถูกขยี้จากความเป็นปัญญาชนซึ่งเข้าสู่วิถีปัญญาชนไม่ได้ จงซูคือคนตกงานที่เป็นปัญญาชนจนไม่อาจทำใจขายแรงแบบกรรมาชีพ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นกรรมาชีพจนไม่อาจบริโภคความเป็นปัญญาชนที่แต่งตัวเก๋อ่านวรรณกรรมตามคาเฟ่ดีๆ

สภาวะอิหลักอิเหลื่อจากการไม่สามารถนิยามว่าตัวเองเป็นใครคือบุคลิกของตัวละครหลักรายนี้ตลอดเวลา

หากมองตัวละครผ่านเลนส์เรื่องความโดดเดี่ยวจากการไร้สายสัมพันธ์ทางสังคม จงซูคือตัวละครที่ความผิดหวังทั้งหมดทำให้ ‘โลกสังคม’ หดแคบจากโซลสู่หมู่บ้านชายแดน จนแทบไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ มิหนำซ้ำรอยต่อของเขากับสังคมก็ถูกคุกคามจนตอกย้ำว่า การดำรงอยู่ของเขาไร้ความหมายเกือบสิ้นเชิง

Burning คือโศกนาฎกรรมของชนชั้นล่างที่เจ็บปวดกว่าชนชั้นล่างทั่วไป เพราะถูกขยี้จากความเป็นปัญญาชนซึ่งเข้าสู่วิถีปัญญาชนไม่ได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมเห็นว่า จงซูกับพ่อห่างเหินจนไม่มีแม้แต่ความอาทร แฮมีจึงเป็นรอยต่อเดียวที่ทำให้เขาเชื่อมโยงกับมนุษย์ผ่านการเอากันที่ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ในที่สุด การปรากฎตัวของเบนผู้รวยแบบไร้ที่มาแต่รสนิยมดีจนค่อยๆ แย่งแฮมีไป จึงทำให้โลกสังคมของจงซูล่มสลายแบบไม่มีชิ้นดี

เฉพาะในส่วนนี้ ความเจ็บปวดที่สุดคือจงซูผู้คิดว่าตัวเองเป็นปัญญาชนนั้นสูญเสียผู้หญิงให้คู่แข่งซึ่งร่ำรวยกว่า มิหนำซ้ำยังใช้ชีวิตแบบปัญญาชนผู้เปี่ยมรสนิยมตลอดเวลา ส่วนจงซูมีชีวิตจริงเป็นกรรมกรจนๆ ทำได้แค่แดกดันว่า คนรวยรสนิยมดีอย่างเบนเป็นเหมือน The Great Gatsby ที่รวยแบบคนรุ่นใหม่แต่ไร้ที่มา

สิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้ปัญญาชนที่มุ่งสร้างงานเขียนเพื่อมนุษยชาติ คือการตอกย้ำว่ามึงคือขยะสังคม จงซูคือตัวละครที่ไม่มีอำนาจเหนือชีวิตตัวเอง ไม่รู้ว่าอัตลักษณ์ของตัวเองคืออะไร เรียกร้องความเป็นธรรมให้พ่อก็ไม่สำเร็จ ส่วนการโหยหาสายสัมพันธ์ ก็จบที่การแอบชักว่าวในห้องแฮมีซึ่งไปเที่ยวแล้วเจอผู้ชายอีกคน

นักเขียนและผู้กำกับ Burning ระบุว่า Barn Burning เรื่องสั้นของวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ มีอิทธิพลกับหนังโดยตรง แต่ขณะที่หนังใช้พฤติกรรมที่คนรวยเผาโรงนาเป็นสัญลักษณ์ของการแย่งชิงทุกสิ่งจากชนชั้นล่างตามใจชอบ เรื่องสั้นชิ้นนี้กลับให้คนจนเป็นมือเพลิงเผาโรงนาตอบโต้นายทาสผู้อยุติธรรม

ในเรื่องสั้นชิ้นนี้  โครงเรื่องหลักได้แก่พ่อซึ่งเป็นคนงานที่ก่อเหตุเผาโรงนาของเจ้าที่ดินซึ่งตัวเองเห็นว่าเอารัดเอาเปรียบ ส่วนตัวละครหลักคือลูก ที่เผชิญแรงกดดันจากพ่อให้ลูกต้องเข้าข้างตามวาทกรรมเลือดต้องข้นกว่าน้ำ  ทั้งที่มโนธรรมสำนึกของลูกบอกว่า พฤติกรรมมือเพลิงของพ่อไม่ใช่เรื่องถูกต้องในทุกกรณี

เช่นเดียวกับฟอล์คเนอร์ซึ่งหยิบประเด็นชนชั้นในอเมริกายุคทศวรรษ 1930 เป็นวรรณกรรมที่ตั้งคำถามคล้าย Les Miserables ว่าการกดขี่ทางชนชั้นไปสู่การตอบโต้ทางสังคม Burning ใช้ชั้นเชิงศิลปะให้ผู้ชมเห็นว่า จงซูทำถูกที่ฆ่าเบนผู้แย่งชิงแฮมี และเห็นโรงนาเป็นอุปลักษณ์ของคนจนซึ่งเผาทิ้งได้ยามไม่จำเป็น

ในเรื่องสั้นชื่อ Barn Burning คนจนผู้เป็นมือเพลิงถูกดำเนินคดีและไล่ล่าจนตอนจบคล้ายกับเสียชีวิต  ส่วน Burning ทำให้คนรวยอย่างเบนที่วางเพลิงเผาโรงนาและอาจฆ่าคนนั้นได้ไปต่อแบบคนรสนิยมดีที่ปกติสุข ทั้งที่การต่อยเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทำให้ชาวนาจนๆ ถูกศาลจับเข้าเรือนจำ

จากเส้นทางของเรื่องสั้นสไตล์ฟอล์คเนอร์สู่ภาพยนตร์  ตัวละครในการเล่าเรื่องคือลูกซึ่งอิหลักอิเหลื่อกับพ่อที่ตอบโต้ความอยุติธรรมด้วยวิธีล้างแค้นแบบดิบๆ ถึงแม้ลูกเองจะรับรู้ว่า ถึงความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจริงๆ แต่ก็ถูกหล่อหลอมด้วยมโนธรรมของปัญญาชนที่ไม่อาจเห็นด้วยกับการแก้แค้นเหตุแห่งความคับแค้นตรงๆ

วรรณกรรมที่ตั้งคำถามคล้าย Les Miserables ว่าการกดขี่ทางชนชั้นไปสู่การตอบโต้ทางสังคม Burning ใช้ชั้นเชิงศิลปะให้ผู้ชมเห็นว่า จงซูทำถูกที่ฆ่าเบนผู้แย่งชิงแฮมี และเห็นโรงนาเป็นอุปลักษณ์ของคนจนซึ่งเผาทิ้งได้ยามไม่จำเป็น

อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่อง Burning ไปไกลกว่าเรื่องสั้นในแง่ที่ปิดเรื่องโดยให้จงซูฆ่าเบนแล้วเป็นมือเพลิงผู้เผาศพเบนทิ้ง หนังทำให้จงซูผู้ล้มเหลวในเส้นทางปัญญาชนกลายร่างเป็นฆาตกรจิตหลุดเดินเปลือยคล้ายคนขาดสติลวงเบนไปฆ่าแล้วเผาทำลายหลักฐานก่อนขับรถหนีในสภาพชีเปลือยจนหนังจบลง

ในฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ จงซูผู้เริ่มต้นด้วยความใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนที่มีฟอล์คเนอร์เป็นต้นแบบ กลายเป็นมือเพลิงผู้ฆ่าแล้วเผาศัตรูหัวใจจนไม่มีทางอยู่ในโลกแบบปัญญาชนได้อีก ชนชั้นล่างจึงเป็นปัญญาชนไม่ได้ หรือพูดกลับกันก็คือปัญญาชนมีวิธีคิดที่ดัดจริตจนไม่อาจชดเชยความแค้นในใจมวลชนได้จริงๆ

ถ้าจงซูอยู่ไทย สื่อก็จะพาดหัวว่าเป็นฆาตกรโรคจิตให้โซเชียลประชาทัณฑ์โดยไม่มีคนสนที่มาที่ไป

จงซูผู้เริ่มต้นด้วยความใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนที่มีฟอล์คเนอร์เป็นต้นแบบ กลายเป็นมือเพลิงผู้ฆ่าแล้วเผาศัตรูหัวใจจนไม่มีทางอยู่ในโลกแบบปัญญาชนได้อีก ชนชั้นล่างจึงเป็นปัญญาชนไม่ได้ หรือพูดกลับกันก็คือปัญญาชนมีวิธีคิดที่ดัดจริตจนไม่อาจชดเชยความแค้นในใจมวลชนได้จริงๆ

ทำไมต้องเป็นมือเพลิง?

ในเรื่องสั้นและในภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘ไฟ’ คือสัญลักษณ์ของสภาวะที่ตัวละครสามารถควบคุมโลกให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ ‘ไฟ’ จึงเป็นอุปมาของอำนาจที่ ‘มือเพลิง’ กระทำจนตัวละครอื่นรู้สึกถึงสภาวะไร้อำนาจจนจำเป็นต้องไล่ล่ามือเพลิง กระทั่งอาจจบด้วยการเป็นมือเพลิงอีกรายไปเอง

ปัญหาคือ แล้วทำไมตัวละครถึงต้องเป็น ‘มือเพลิง’?

ขณะที่หนังทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า เบนเป็นคนรวยที่มองคนจนเป็นขยะสังคมจนขจัดทิ้งได้เหมือนเผาโรงนา จงซูก็โจมตีว่า เบนเป็นคนรวยใหม่ที่เงินมหาศาลโดยไม่มีใครรู้สาเหตุ มุมมองที่คนสองฝั่งมีต่ออีกฝ่ายทำให้ทั้งคู่อยู่ในโลกใบเดียวกันได้ยาก ‘มือเพลิง’ จึงเป็นเสมือนประกายไฟของการเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นในสังคม

ในมุมของปัญญาชนผู้ถูกถีบให้กลับสู่ชนชั้นล่าง เบนคือส่วนหนึ่งของคนรวยสไตล์ Great Gatsby ที่ระบาดในเกาหลีใต้เยอะไปหมด  เบนเป็นหลักฐานว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความมั่งคั่งให้คนบางกลุ่มเป็นพิเศษ ส่วนคนมหาศาลไม่ได้อะไร เหมือนจงซูที่เรียนจบแล้วตกงานจนต้องกลับบ้านไปเป็นชาวนา

คนที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจย่อมรู้ว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่การเติบโตเริ่มถดถอยแล้วค่อยๆ ฟื้นตัวแบบขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจนปรากฎว่า GDP ซึ่งอยู่ที่ 5.46% ในปี 2007 เคยเหลือแค่ 0.71% ในปี 2009 แล้วพุ่งไปที่ 6.5% ในปี 2010 ก่อนจะค่อยๆ ดิ่งลงมาที่ระดับ 2-3% หลังปี 2012 เป็นต้นมา

คนรวยสไตล์ Great Gatsby ระบาดในเกาหลีใต้เยอะไปหมด เป็นหลักฐานว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความมั่งคั่งให้คนบางกลุ่มเป็นพิเศษ ส่วนคนมหาศาลไม่ได้อะไร

ขณะที่คนรวยแบบเบนรวยขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศ จงซูกลับเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้ไม่มีหยุด

พูดง่ายๆ ที่นั่นมีอัตราว่างงานหลังปี 2000 ราว 3-5% ซึ่งถือว่าสูงมาก มิหนำซ้ำ ประชากรที่ว่างงานสูงสุดคือคนหนุ่มสาว ทั้งที่เข้าและยังไม่เข้าตลาดแรงงาน

สรุปแบบเร็วๆ คนเกาหลีอายุระหว่าง 15-29 ปี มีอัตราการว่างงานจากปี 2000-2015 อยู่ที่ราว 9-12% ซึ่งสูงกว่าการว่างงานทั้งประเทศราว 2-3 เท่า ยิ่งกว่านั้นตัวเลขคนหนุ่มสาวว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้เศรษฐกิจประเทศปรับตัวขึ้น ส่วนยอดรวมคนว่างงานในเกาหลีใต้ตอนนี้พุ่งสูงเกิน 1 ล้านคนต่อเนื่องกันมาสองปี

แม้ผู้กำกับหนังเรื่องนี้จะไม่พูดตรงๆ บรรยากาศทั้งหมดในหนังเรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นโครงสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีรายละเอียดปลีกย่อยสุดแท้แต่กรณี

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คนธรรมดากลายเป็น ‘มือเพลิง’ เพราะต้องการควบคุมโลกให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ คนรวยสนองตัณหานี้โดยขจัดคนจนที่ถูกถือว่าเป็นขยะสังคมโดยวิธีเผาทิ้งเหมือนชนชั้นที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ขณะที่คนจนก็ไม่มีทางเลือก นอกจากวางเพลิงชนชั้นผู้ให้กำเนิดความอยุติธรรมในสังคม

ไม่มีทางให้คนปรองดองกันได้ ในโลกที่ฝ่ายหนึ่งมองว่า อีกฝ่ายเป็นขยะของแผ่นดิน จนการดำรงอยู่ของฝ่ายนั้นคือภัยคุกคามฝ่ายอื่นตลอดเวลา

Tags: , , , , , , , ,