มันก็คือเรื่องรักธรรมดาของ ‘โอซาวะ’ ไอ้หนุ่มนักเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ตกหลุมรัก ‘ลักษณ์’ สาวขายบริการชาวไทยในซอยธนิยะ

ทั้งคู่เคยเป็นแฟนกันมาก่อน แต่ไอ้หนุ่มหายหน้าไป สาวเจ้ายังคงทำงานบริการ และส่งเงินไปที่บ้านเพื่อดูแลน้องชาย น้องสาว ยาย และป้าที่แก่เฒ่า กับแม่ขี้ยาที่เข้ากันไม่ได้ ส่วนเขาเป็นคนหนุ่มไร้หลักแหล่ง อดีตกองกำลังป้องกันตนเอง หาเงินเล็กๆ น้อยๆ จากเกมออนไลน์หรือรับจ้างลูกพี่ทำโน่นนี่นั่น

เขาและเธอกลับมาพบกันอีกครั้งก็ในสถานบริการอีกเช่นเคย ด้วยเยื่อใยแต่ก่อนเก่า เธอเลยตามเขาไปถึงห้องเช่ารังหนูที่ไกลห่างจากคอนโดของเธอแบบคนละโลก และก็ด้วยเยื่อใยแต่ก่อนเก่าอีกนั่นแหละ ที่ทำให้เธอตัดสินใจตามเขาที่ได้รับคำสั่งให้ไปหาลู่ทางเปิดธุรกิจในลาว โดยแวะกลับบ้านที่หนองคายก่อน

ทั้งคู่แวะเที่ยวเล่น พบปะมิตรสหายในละแวกบ้านของเธอ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยว่างเปล่าในหมู่บ้าน และก็เป็นอีกครั้งที่เขาหายหน้าไป ส่วนชีวิตต้องดำเนินต่อ

จากซอยธนิยะถึงหมู่บ้านเล็กๆ ในหนองคาย ลอดไล่ไปจนถึงโลกพิสดารในเมืองวังเวียง Bangkok Nites คือหนังที่เล่าเรื่องโดยเริ่มจากอะไรพื้นๆ อย่างความรักของคนขี้แพ้กับโสเภณีท้องถิ่น แต่ด้วยสายตาอันละเอียดลออ หนังได้พาเรื่องเล่านี้เข้าไปสู่การสำรวจตรวจตราปัจจุบัน ขณะของชีวิตที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ทั้งในเมืองและชนบท

หนังยังทะเยอทะยานมากพอที่จะเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับของพื้นที่ สิ่งซึ่งเลือนรางเหมือนภูติผี พาผู้คนย้อนไปถึงยุคการล่าอาณานิคม ทั้งในรูปแบบของการล่าอาณานิคมจริงๆ ไปจนถึงสงครามเย็น ไล่มาถึงยุคสมัยของการล่าอาณานิคมผ่านระบบเศรษฐกิจ ด้วยอาการของการล่องไหลไปราวกับอยู่ในฤทธิ์กัญชา ด้วยสายตาแบบคนในของคนนอก ในฐานะเขยญี่ปุ่นในหมู่บ้านเล็กๆ

นี่คือหนังที่นุ่มนวลในการสำรวจตรวจสอบสังคมไทยในสายตาของคนอื่น ที่มองได้ชัดกว่าคนในด้วยกันเองเสียอีก

คัตซึยะ โทมิตะ (Katsuya Tomita) ใช้เวลาในการทำหนังเรื่องนี้ถึงหกปี หนังเป็นเหมือนภาคต่อกลายๆ จาก Saudadae (2011) ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยคนหนุ่มชนชั้นแรงงานในญี่ปุ่นที่รับจ้างทำงานก่อสร้างอยู่ในเมืองเล็กๆ ร้างๆ ใกล้พังพินาศริมขอบประเทศ ตกเย็นความเพลิดเพลินเดียวที่มีคือการนั่งบาร์สาวไทยในญี่ปุ่น

ชายหนุ่มใน Saudadae เองก็ตกหลุมรักสาวไทยขายบริการนางหนึ่ง แต่ความรักนั้นกินไม่ได้ เขามีภรรยาที่เป็นพวกขายตรง มีเพื่อนเป็นแรปเปอร์ชาวบราซิลเลียนอพยพ อาศัยอยู่ในเมืองที่เศรษฐกิจกำลังล่มสลาย ประเทศไทยจึงกลายเป็นเหมือนโลกฝันที่ใช้หลบหนีจากความจริงที่ว่า เขาเป็นแค่ไอ้ขี้แพ้ยากจนในสังคมญี่ปุ่น

หนังเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับของพื้นที่ ย้อนไปถึงยุคการล่าอาณานิคม ทั้งในรูปแบบของการล่าอาณานิคมจริงๆ มาถึงยุคสมัยของการล่าอาณานิคมผ่านระบบเศรษฐกิจ

ด้วยตัวละครคนญี่ปุ่นแบบที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยมากนักอย่างพวกคนขี้แพ้ที่ล่องลอยไปวันๆ หนังของคัตซึยะประกอบขึ้นจากตัวละครคนญี่ปุ่นทำนองนี้ ใน Bangkok Nites เพื่อนๆ ของโอซาวะมีทั้งพวกคนเชียร์แขกญี่ปุ่นตามท้องถนน พวกขี้ยา นักสืบเอกชนที่ลอยไปลอยมา พวกคนทำธุรกิจสีเทา ไล่เลยไปจนถึงพวกฝรั่งที่หนองคาย

คนต่างชาติในเรื่องเกือบทั้งหมด ถ้าไม่เป็นพวกนักธุรกิจรวยๆ ตั้งใจมาหาความสำราญก็เป็นเพียงพวกคนขี้แพ้ที่มายังประเทศโลกที่สาม เพื่อจะธำรงความรู้สึกเหนือกว่าอันมีอยู่น้อยนิดในตัวเองไว้ แล้วถ่ายทอดความเอื้ออาทรปลอมๆ ให้กับคนที่ตนเห็นว่าต่ำกว่าเช่นสาวไทยขายบริการ แม้ในความเป็นจริงจะตรงกันข้ามก็ตาม

หนังเริ่มจากชีวิตใน ‘กลางคืนที่บางกอก’ จากการทอดไล่สายตาไปสู่โลกอันน่าทึ่ง ตู้กระจกของสาวๆ ในบาร์ ดูวิธีการที่เธอจับแขกรวยๆ ตามไปสำรวจตั้งแต่สาวหาบส้มตำที่หัวลำโพงไปจนถึงคอนโดของสาวๆ ในธนิยะ ผู้ที่ใช้ชีวิตยามว่างเดินสายทำบุญ และพูดคุยเรื่อยเปื่อย

บทสาวบริการในไทย ไม่ได้แสดงโดยนักแสดงมืออาชีพ แต่แสดงโดยคนธรรมดาที่อาจจะหรืออาจจะไม่ประกอบอาชีพนี้จริงๆ ความประดักประเดิดในบทภาษาไทยที่ดูสุภาพมากๆ และถูกนำเสนอเหมือนการท่องบทมากกว่าการแสดงให้ความรู้สึกทั้งบวกและลบ ในแง่หนึ่งหนังผลักความสมจริงออกไป ​(โดยที่คนทำอาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในบรรดาหนังข้ามชาติ) แต่ในอีกทางหนึ่งความประดักประเดิดนี้ก็คล้ายจะบอกว่า นี่คือหนังที่ใช้สาวขายบริการรับบทสาวขายบริการ ความจริงไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะบนความสมจริงในโลกของหนัง แต่มันอยู่ในความไม่สมจริงของหนังได้ด้วย

ในอีกทางหนึ่ง การที่หนังใช้วิธีให้นักแสดงมองกล้องตรงๆ ประกอบกับการแสดงที่ไม่สมบูรณ์แบบ กล่าวคือ ตั้งใจให้คนดูรู้ว่านี่เป็นการแกล้งแสดงเป็นตัวละคร ทำให้นึกถึงเสน่ห์ประหลาดๆ ในงานของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับไทยที่คัตซึยะเองชื่นชมอย่างยิ่ง ราวกับว่าหนังสามารถซ้อนเอาโลกที่อยู่นอกเหนือจากโลกของหนัง ให้เข้ามาอยู่ในหนังได้ด้วย

หลังจากที่หนังออกจากกรุงเทพฯ ด้วยรถทัวร์ ก็ค่อยๆ พาผู้ชมเคลื่อนเข้าสู่การเดินทางไปพบความสัจจนิยมมหัศจรรย์ ด้วยสายตาของคนนอก เขาได้พบปะกับผีของจิตร ภูมิศักดิ์ จนถึงผีคอมมิวนิสต์ ขณะที่คนในมองไม่เห็น

การปรากฏของผีจิตรในเรื่อง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เป็นการเสียดเย้ยที่ร้ายกาจ เพราะผีของจิตรนั้นรับบทโดย สุรชัย จันทิมาธร แห่งวงคาราวานที่เคยเป็นนักศึกษาเข้าป่า เคยร้องเพลงเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ และตอนนี้ได้กลายเป็นอย่างที่เราท่านทราบดีไปแล้ว การปรากฏแบบอวดตัวของผีจิตรในเรื่องจึงเป็นสิ่งย้อนแย้งสิ้นดี

อันที่จริงแล้ว การที่โอซาวะเห็นผีจิตร อาจซ้อนทับได้กับการทวงสิทธิ์เหนืออินโดจีนของหนุ่มฝรั่งเศสขี้เหล้าและแก๊งแรปเปอร์นานาชาติเมาปุ๊นในวังเวียงได้อย่างหมดจด ทั้งหมดคือคนนอกที่รู้ประวัติศาสตร์ และอินกับมัน ทอดสายตามองเห็นบาดแผลจากยุคการล่าอาณานิคมและสงครามเย็นบนแผ่นดินนี้ แต่ก็เป็นพวกที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากฟูมฟายกับมัน

ขณะที่สาวๆ ชาวหนองคายคนขายตัว อาจจะเริ่มต้นประวัติศาสตร์นี้มาตั้งแต่คนรุ่นแม่เมื่อครั้งอเมริกามาตั้งฐานทัพและทำสัญญากับรัฐไทยให้เปิดพัทยาเป็นแหล่งเริงรมย์  พวกเธอคือลูกหลานของประวัติศาสตร์ เป็นบาดแผลที่ยังมีลมหายใจ ถูกกระทำโดยอเมริกา ไปจนถึงญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ ตามกาลเวลา

ลักษณ์และจิมมีผู้เป็นน้องชาย คือผีที่มีตัวตนและยังดิ้นรนมีชีวิตอยู่ต่อไป และแม้ว่าดูเหมือนหนังจะเบลนด์ประวัติศาสตร์แบบตัดข้ามเวลา เช่น การที่ตัวตนของจิตรอาจจะสับสนได้กับนายผี (นามปากกาของอัศนี พลจันทร นักเขียนและนักต่อต้านรัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม) หรือการที่จิมมี่น้องชายของลักษณ์นั้น ตามอายุแล้วไม่น่าจะเป็นลูกจีไอในพื้นที่ได้ แต่ที่สุดนั้น มันคือการเล่นสนุกที่น่าสนใจมากทีเดียว

ทั้งหมดคือคนนอกที่รู้ประวัติศาสตร์ และอินกับมัน แต่ก็เป็นพวกที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากฟูมฟายกับมัน

ประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ในเรื่อง เป็นเหมือนภาพร่างกว้างใหญ่ ที่ห่มคลุมลงบนชีวิตเล็กๆ อย่างน่าทึ่ง การพยายามเรียกตัวเองคืนกลับของชายคนขาว คนนอกไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการอวดอ้างสรรพคุณที่ไม่มีจริง ในขณะที่ชีวิตจริงเลือกทางที่ต่างออกไป การขายตัวจึงมีทั้งนัยยะทางประวัติศาสตร์ การเมืองและสังคม จากลูกปืนสู่เม็ดเงิน

ฉากหนึ่งที่สั่นสะเทือนมากๆ คือการพบปะกันของโอซาวะกับเพื่อนญี่ปุ่นที่นั่งรถมาหนองคาย เพื่อมาเที่ยวผู้หญิงลาวที่ถูกพามาขายบริการตั้งแต่สิบขวบต้นๆ โอซาวะกล่าวเสียดเย้ยว่า ดีจังนะที่เกิดมาเป็นคนญี่ปุ่น ในสมัยหนึ่งอเมริกาใช้สงครามเป็นใบเบิกทางในการเริงกามสาวไทย ในตอนนี้คนญี่ปุ่นอย่างพวกเขาก็ใช้เงินทองทำสิ่งเดียวกัน โชคของคนจากประเทศร่ำรวยคือ คนขี้แพ้ได้อวดอุตริความเป็นเจ้านาย แบบเดียวกับเจ้าอาณานิคมที่ใช้เงินแทนปืน

ดังนั้นสิ่งที่งดงามที่สุดจึงเป็นการฉายภาพการต่อสู้ของลักษณ์ การที่เธอมีตัวตนสำรองในน้องสาวคนเล็กที่ชื่อเดียวกันกับเธอ นั่นคือชื่อ ‘หญิง’ เพราะเธอเองได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘ลักษณ์’ เฉพาะในกรุงเทพฯ กับทั้งเลิกพูดภาษาถิ่น

น้องสาวคนเล็กที่อยู่กับแม่ จึงเป็นเหมือนตัวตนของเธอที่ไม่ได้จากแม่ไป ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงพื้นถิ่นทุกคนดูจะเหมือนกันไปหมด เป็นเพียง ‘หญิง’ ภาพรวมพหูพจน์สำหรับคนนอก การเปลี่ยนชื่อของลักษณ์จึงไม่ใช่การละทิ้งรากเหง้า แต่คือการต่อสู้ด้วยการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่

และเมื่อหนังพาผู้ชมกลับไปพัทยา (ซึ่งเป็นที่ที่เคยเป็นสถานสัญญารักของเธอกับโอซาวะ) ลักษณ์ก็ทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง เพื่อจะไปให้พ้นจากอาณานิคมของคนขี้แพ้ไปสู่ชีวิตที่เธอเลือกเอง

บทสนทนาในช่วงท้ายคลุมเครือมาก ว่ามันเป็นความจริง (ซึ่งเป็นการลงโทษผู้หญิงอีกครั้งของคนทำหนัง) หรือเป็นคำโกหกที่ใช้เพื่อไปจากทุกอย่าง และภาพสุดท้ายของลักษณ์ เป็นชีวิตที่เธอเลือกหรือไม่ได้เลือกกันแน่ การเปิดกว้างในฉากท้ายเรื่องนี้เอง งดงามมากพอๆ กับการมีหรือไม่มีอยู่ของผีจิตรในป่าเขาลำเนาไพรภาคอีสาน

Bangkok Nites : กลางคืนที่บางกอก จึงไม่ได้เป็นเพียงหนังว่าด้วยรักร้าวของสาวไทย-หนุ่มญี่ปุ่น แต่มันทะเยอทะยานที่จะฉายภาพกว้างกว่านั้น ลึกกว่านั้น เสียดเย้ยตนเอง และให้ทางเลือกใหม่ๆ แก่คนเล็กคนน้อย สายตาคนนอกที่ทั้งโรแมนติกและไม่โรแมนติกนี้ได้กลายเป็นสายตาที่น่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งในการฉายภาพประเทศไทยบนจอภาพยนตร์ทีเดียว

Fact Box

หนังจะเข้าฉายที่ Bangkok Screening Room ในช่วงวันที่ 17 มี.ค.-1 เม.ย. นี้ และฉายที่ความยาวเต็ม 181 นาที

Tags: , , , , , ,