เราควรเริ่มต้นด้วยการไปให้พ้นจากพระเอกและนางเอกในภาคแรก ไปจากเรื่องของ ‘จาลอด’ หนุ่มไทบ้านทำนาที่เรียนรู้การจีบสาวจากบักเซียง เพลย์บอยประจำหมู่บ้านผู้เป็นเพื่อนสนิท หลังจากจาลอดจีบติดไปหลายสิบ ทั้งสาวไฮโซ ลูกสาวเจ้าของปั๊ม ยันหมออนามัย จาลอดก็มาพ่ายให้แก่สาวครูฝึกสอนที่มีแฟนตำรวจอยู่แล้ว แต่ในที่สุดพลังใจไทบ้านก็ชนะใจสาวครูแก้วมาได้

เราจะไปพ้นจากเรื่องนั้นแล้ว ดึงคนทั้งสองลงไปเป็นเพียงตัวประกอบของชีวิตคนอื่นๆ ดูบ้าง

เราจะเริ่มจากบักเบิร์ดที่วิ่งเข้าไปไม่ทันบ้านที่ไฟลุกท่วม เห็นแม่ตัวเองตายตกในกองไฟจนกลายเป็นคนบ้าประจำหมู่บ้าน ที่วันดีคืนดีก็จะแก้ผ้าเดินโทงๆ ไปทั่ว จากอดีตหัวหน้าแก๊ง ก็กลายเป็นคนที่สามทหารเสือรถพ่วงต้องคอยดูแลเวลาโดนชาวบ้านไล่ตีหรือไปทำอะไรลามกอุจาดตา ไปสู่เรื่องเบื้องหลังของบักเซียงเพลย์บอยที่ที่แท้แล้วเสียความรักไปจนต้องทำตัวเป็นคนไร้ใจ จนเมื่อสาวเจ้าแต่งงานไปจริงๆ ก็ไม่อาจทนได้ ในที่สุดก็ต้องไปบวชให้ลืมเธอ โดยมีสาวปริมสาวมอเตอร์ไซค์ใจรักเดียวคอยดูแลทั้งพระทั้งแม่ให้พระ แม้จะต้องเจ็บปวดสักเพียงไหน  

ไปยังเรื่องของบักป่องที่เคยพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าทำนาได้แต่อยากเปิดเซเว่น เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่าทำสโตร์ผักในฝันได้แม้ไม่มีเงินซักบาท ถูกพ่อไล่ตะเพิดออกจากบ้านเพราะไม่ยอมบวชให้ยายจนต้องมานอนวัด มีโทรศัพท์คู่ใจ มี wi-fi วัด และมีข้าวก้นบาตรให้วัดกลายเป็นเป็น working space ในการหาทุนมาทำที่น้ำท่วมให้กลายเป็นแลนด์มาร์กของอำเภอ ไปยังเรื่องของบักมืด น้องชายจาลอดที่โตวันโตคืนจนไปหลงรักสาวหัวหน้าห้องและต้องขบถให้สุดเพื่อให้จาลอดซื้อมอโตอร์ไซค์ให้ไว้ไปจีบสาว

ไปจนถึงเรื่องของเจ๊สวยร้านชำขาประจำที่ตกล่องปล่องชิ้นกับบักเฮิร์บ ไอ้ฝรัั่งนักเดินทางที่โผล่มาในภาคแรก เจ๊สวยกำลังท้องแก่ โดยมีบักเฮิร์บฝรั่งคนมีอดีตคอยดูแล และเป็นคนห้ามทัพระหว่างเจ๊สวยกับกีโน น้องสาวที่เรียนไกลอยู่ในเมืองและอยากไปอยู่หอเพื่อจะได้มีเวลากับบักแชมป์หนุ่มส่งพิซซ่าที่มาจีบอยู่

แม้นี่จะเป็นชั่วโมงที่สามของหนังแล้ว (ภาคแรกยาวสองชั่วโมงเต็ม) แต่เราก็พบว่าเราไม่ได้รู้จักตัวละครมาแล้วทุกแง่มุม เราเพียงโผล่เข้ามากลางชีวิตของพวกเขาและเธอซึ่งมีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง มีเรื่องที่ไม่ได้เล่า เล่าไม่ได้ เรื่องที่เป็นบาดแผล หรือเป็นความกังวลในอนาคต เรื่องที่มีอยู่ก่อนหนังเริ่มขึ้นและเดินหน้าต่อไป หนังไหลเรื่อยออกจากเรื่องหนุ่มจีบสาว สาวจีบหนุ่ม ไปสู่น้ำเนื้อชีวิตของหนุ่มสาวครึ่งหมู่บ้าน  ความกระจัดกระจายของเรื่องเล่าที่ทำตัวแบบหนึ่งมุกหนึ่งฉากถูกร้อยเข้าไว้ด้วยกันอย่างละเอียดลออและไม่รีบร้อน ข้างหลังมุกตลกหยาบเถื่อนตรงไปตรงมา หนังค่อยๆ สร้างชีวิตให้กับตัวละครที่ในหนังเรื่องอื่นหรือในมโนสำนึกของผู้ชมโดยมาก เป็นเพียงตัวตลกตามพระ

ชีวิต ‘ไทบ้าน’ ในหมู่บ้านโดนคูณ ชวนให้ระลึกถึงวาทกรรม ‘หมู่บ้าน’ ที่เคยอ่านพบจากบทความชิ้นหนึ่งของ ชนกพร ชูติกมลธรรม* ( ที่วิเคราะห์บ้านผีปอบและผีหัวขาดเอาไว้อย่างน่าสนใจ) ซึ่งอธิบายการก่อรูปของความพาฝันเกี่ยวกับหมู่บ้านในสังคมไทย  จากสภาพอัตคัดแร้นแค้นไปสู่ดินแดนยูโทเปีย ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า กระบวนการโรแมนติไซส์หมู่บ้านนี่เกิดขึ้นแบบคลื่นสองลูก ลูกแรกเกิดในยุคที่ อ.เบน แอนเดอร์สัน เรียกว่า “American Era” กล่าวให้จำเพาะเจาะจงก็อาจจะเรียกว่ายุคสมัยที่อเมริกามาร่วมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในไทย (ควบคู่กับการจัดตั้งฐานทัพ) ยุคสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำให้หมู่บ้าน น้ำไหลไฟสว่าง สร้างถนน น้ำประปาไฟฟ้า ในยุคสมัยนั้น หมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่อันเข้มข้นที่แขนขาของรัฐเข้าไปจัดการสาธารณูปโภค ขณะเดียวกัน ก็ใช้หมู่บ้านเป็นหูเป็นตาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และสร้างสโลแกนพาฝันความเป็นยูโทเปียอย่าง ‘แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง’ มีการประกวดหมู่บ้านดีเด่น (ดีเด่นในสายตารัฐส่วนกลาง) หมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดสรรให้สะอาด สวยงาม และชวนฝัน

กระบวนการโรแมนติไซส์หมู่บ้านนี่เกิดขึ้นแบบคลื่นสองลูก ลูกแรกเกิดในยุคที่ อ.เบน แอนเดอร์สัน เรียกว่า “American Era” คลื่นลูกที่สอง เกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจในวิกฤตต้มยำกุ้งหลังปี 1997

ผลสืบเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจนานนับทศวรรษ ทำให้เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย คนรุ่นใหม่ในขณะนั้นรับเอาวิธีคิดแบบอเมริกันสไตล์เข้ามาปรับใช้ในการจัดการกับปัญหาสังคม ยกตัวอย่างก็เช่นการที่นักศึกษาในเมืองผู้มีจิตใจข้างมวลชนเดินทางไปยังหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเหล่าชาวนาผู้ยากจนและแร้นแค้นและนำมาสู่ งานศิลปะ วรรณกรรม ดนตรีสาย ‘เพื่อชีวิต’ ที่ได้ช่วยกันกล่อมเกลาให้หมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่อันสวยงาม สงบ เรียบง่ายน่าใฝ่ฝันถึงต่างกับความวุ่นวายฉ้อฉลในเมืองหลวง หรือในอีกทางหนึ่งคือความเป็นตะวันตก ซึ่งก็ย้อนแย้งกันอย่างน่ารักน่าใคร่กับการที่ตะวันตก (หรืออเมริกาที่คนรุ่นต่อมารังเกียจนี้เอง) ได้มีส่วนในการ ‘พัฒนา’ หมู่บ้านดังกล่าว

คลื่นลูกที่สองของการเปลี่ยนหมู่บ้านเป็นภาพฝันแช่แข็ง เกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจในวิกฤตต้มยำกุ้งหลังปี 1997 วาทกรรมว่าด้วยทุนนิยมนั้นสามานย์และเราควรกลับไปสู่สังคมการเกษตรพอเพียงกลับไปสู่สวรรค์บ้านนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัจจัยสองประการคือการ การโทษว่าเป็นเพราะชาติตะวันตกและโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้เกิดวิกฤติ และสิ่งนี้ปลุกเอาผีของชาตินิยมต่อต้านโลกาภิวัฒน์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ประกอบเข้ากับภาพฝันตกค้างจากคลื่นลูกแรกในจากการจินตนาการเอาถึงหมู่บ้านแสนสุข คนไทยที่แท้คือชาวไร่ชาวนาที่มีความสุขกับสังคมเกษตรอันยากจนแต่มีน้ำใจ สอดรับกับการต่อต้านความชั่วร้ายของสถาบันการเงิน บริษัทข้ามชาติที่ทำลายล้างผู้คนจำนวนมากให้ลุ่มหลงงมงายในเงินตรา

ชาตินิยมไม่ได้มาเดี่ยวๆ มันมาพร้อมกับท้องถิ่นนิยม การหันกลับไปเชิดชูอัตลักษณ์ดั้งเดิม กลับไปหารากเหง้าของอีสาน ของล้านนา ของปักษ์ใต้บ้านเรา วัฒนธรรมที่เคยเป็นสิ่งล้าสมัยเฉิ่มเชย บางครั้งก็ต่อต้านรัฐ ถูกดึงกลับมาเป็นจุดขายเป็นรากเหง้าให้เรากลับไปหา เสียงแคนทำให้คิดถึงบ้าน หมอลำ (แบบไม่หยาบคาย) คืออัตลักษณ์ของอีสาน  แต่แน่นอนว่านี่คือบ้านแสนสุขที่มีิอยู่จริงเฉพาะในจินตนาการของรัฐและชนชั้นกลางที่ไม่ได้เติบโตในหมู่บ้านเท่านั้น

จินตนาการเหล่านี้กลับไปกดทับ และแช่แข็งหมู่บ้านให้เป็นได้เฉพาะยูโทเปีย  ความอยากได้ใคร่มีคือศัตรูของคนจน  ผู้ซึ่งไร้การศึกษาไม่มีทางรู้เท่าทันทุนนิยม ต้องตกเป็นเหยื่อของนายทุน นักการเมืองไปตลอด หมู่บ้านต้องเป็นสวรรค์ที่ปราศจากทุน ซึ่งก็เท่ากับปราศจากความเจริญ ปราศจากการพัฒนา เป็นเพียงสถานที่ชุบชูจิตใจของคนที่อยู่ในเมืองเท่านั้น

กลับมาที่หนัง เรื่องน่าตื่นเต้นคือ หมู่บ้านของไทบ้าน เดอะซีรีส์ ไม่มอบสิ่งใดเหล่านั้นให้กับผู้ชมอีกต่อไป นี่คือหมู่บ้านในปี 2018 ที่ที่เมืองไม่ได้ไกลออกไปจนไปไม่ถึงอีกแล้ว ที่ที่ทุกคนมีสมาร์ตโฟน กินเคเอฟซี มีการสะสมทุน ที่ที่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ต่อหน้า คนอาจจะลุกขึ้นมาด่าทอหยาบคายกัน มีสาวมัธยมที่ออกจากบ้านมาอยู่หอกับแฟนโดยไม่ต้องถูกลงโทษให้ท้องไม่มีพ่อ (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) มีคนที่ไม่ได้บวชเพราะจะนิพพานแต่บวชหนีรัก  มีคนบ้าเดินแก้ผ้ากลางหมู่บ้าน และถึงที่สุด มีคนที่ตั้งใจจะเปิดสโตร์ผัก เปลี่ยนพื้นที่นาจมน้ำให้เป็นแหล่งแลนด์มาร์คสำหรับถ่ายรูปนั่งชิลล์ ขายผักออร์แกนิค ความฝันแบบคนเมือง คิดและทำโดยคนในพื้นที่ที่ตัวเองยังต้องนอนวัด ยืมตังค์เพื่อน —พวกไม่รู้จักพอเพียง

คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นท้องถิ่นนิยมแบบโรแมนติกที่กลับไปหารากอันงดงาม แต่พวกเขาพูดถึงตัวเองเรื่องรักผัวๆ เมียๆ ที่ไม่ได้มีความคับแค้น ของคนรุ่นพ่อแม่ ไม่มีดราม่าตกระกำลำบาก โลกเปลี่ยน อีสานเปลี่ยน

ในหมู่บ้านของไทบ้านเดอะซีรีส์ เป็นเหมือนด้านย้อนกลับของการโรแมนติไซส์หมู่บ้านแบบคลื่นลูกที่สอง เป็นผลผลิตแบบครึ่งๆ กลางๆ ของการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อต้านคอมมิวนิสต์จากยุคแรก มันเป็นทั้งพื้นที่ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้คนวัยทำงาน (รุ่นพ่อแม่ของจาลอด) แทบไม่ปรากฏในหนัง มันคือสังคมที่คนแก่อยู่กับเด็กๆ โดยจาลอดหรือบักเซียงคือลูกหลานของบรรดาตัวละครในเพลงของต่าย อรทัย ไมค์ ภิรมย์พร หรือ ศิริพร อำไพพงษ์

แต่พวกเขาและเธอก็สร้างเพลงของรุ่นตัวเองขึ้นมาแล้ว เราอาจจะเปรียบหนังเข้ากับการระเบิดออกของเพลงลูกทุ่งไทบ้านในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่ของใหม่แต่เป็นผลสืบเนื่องยาวนานของการปะทะกันของเพลงลูกทุ่ง ดนตรีหมอลำ เพลงฮาร์ดร็อกจากยุคจีไอเกลื่อนอีสาน มาจนถึงเพลงเพื่อชีวิต ไล่เรื่อยไปจนถึงเสก โลโซ

ก็เช่นกัน ในอดีตเพลงเหล่านี้ถูกส่งผ่านกรุงเทพก่อน การมองโลกของผู้คนเป็นการมองโลกผ่านแว่นของกรุงเทพฯ แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน เพลงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้น เผยแพร่ และพูดกับผู้ฟังโดยตรงได้เลย ที่บ้านของพวกเขาเอง เด็กๆ รุ่นตัวเอกในไทบ้านเดอะซีรีส์ จึงสามารถเปล่งเสียงผ่านก้อง ห้วยไร่ หรือ แซค ชุมแพ ไปจนถึง บอย พนมไพร หรือ กวาง จิรพรรณ ศิลปินที่ผลิตงานจากพื้นที่ ฮิตอยู่ในพื้นที่ก่อนจะแพร่เข้าสู่กรุงเทพฯ

นี่อาจจะเป็นอาการท้องถิ่นนิยมแบบที่คนเมืองต้องการ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นท้องถิ่นนิยมแบบโรแมนติกที่กลับไปหารากอันงดงาม แต่พวกเขาพูดถึงตัวเองเรื่องรักผัวๆ เมียๆ ที่ไม่ได้มีความคับแค้น ของคนรุ่นพ่อแม่ ไม่มีดราม่าตกระกำลำบาก โลกเปลี่ยน อีสานเปลี่ยน มีแต่ความคิดแช่แช็งเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยน

ถึงที่สุดจาลอด บักเซียง หรือแม้แต่บักป่องคือผู้คนที่กรุงเทพไม่ใช่มิตรหรือศัตรู กรุงเทพฯ ไม่ใช่ความวุ่นวายหรือทุนนิยมสามานย์ กรุงเทพฯ เป็นเพียงแบบจำลองที่พวกเขาต้องมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยตนเอง กรุงเทพฯ ไม่ใช่เป้าหมาย และไม่จำเป็นต้องเป็นอีกต่อไป  ป่องอาจจะผ่านกรุงเทพฯ มา แต่เขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็น เด็กบ้านนอกหัวสูงในหนัง เขาไม่ได้เป็นศัตรูที่โดนความเป็นเมืองกลืนกิน แต่เขาก็ไม่ได้มีสมาทานเป็นสำนึกรักบ้านเกิดเดินได้ ที่กลับไปหารากเหง้า เขาอยากเป็นนักธุรกิจที่กลับมา ‘สร้างบ้านแปงเมือง’ ต่างหาก การสร้างบ้านแปงเมืองของป่องที่ในภาคนี้เริ่มจนจากติดลบ ใช้ทุกกลยุทธ์ในการระดมทุน แม้แต่ข้าววัด เป็นสิ่งที่งดงามที่สุดในการอธิบายถึงการดิ้นรนของคนรุ่นต่อมา

นี่คือหมู่บ้านที่ไม่ใช่แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง แต่เป็นชีวิตจริงผู้คนที่ไม่ได้มีน้ำใจหากประคับประคองกันไปในฐานะเสี่ยวมิตรสหาย สังคมเกษตรกรรมที่เกษตรกรต้องยืมเงินแฟนมาจ่ายค่าไฟ หมู่บ้านไร้นิทานสอนใจมีแต่การดิ้นรนในชีวิตส่วนตัว หมู่บ้านแบบที่เราอยากจะเห็นมันอยู่บนจอใหญ่โดยไม่ต้องแร้นแค้นดราม่า ไม่ต้องเป็นพื้นที่สรวงสวรรค์ของ สสส. หากแต่เป็นโลกรื่นรมย์ที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ ล้มเหลวอย่างรื่นรมย์

โดยไม่ได้ตั้งใจ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ เลยกลายเป็นงานที่ขบถต่อความเป็นหมู่บ้านในสายตาของคนเมือง ทั้งในแง่ของการแช่แข็งอดีต หรือการมองปัจจุบันเป็นความล้มเหลว มันฉายภาพง่ายๆ ตรงไปตรงมา รื่นรมย์  โลกที่เมือง และทุน ไม่ใช่ตัวร้าย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นโลกที่ไม่มีวีรบุรุษบ้านนา ไม่มีใครเป็นเพียงตัวประกอบของใคร เพราะทุกคนต่างก็มีเรื่องเล่าและชะตากรรม นี่คือตัวละครในแนวระนาบที่หนังบันทึกภาพชีวิตของพวกเขาและเธอเอาไว้อย่างงดงาม

 

 

เชิงอรรถ

*1 http://www.plarideljournal.org/issue/volume-12-issue-02/

Tags: , , ,