เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา สื่อออนไลน์ Mirror Thailand ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์กับ ‘อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ’ สื่อมวลชนและนักเขียนรุ่นใหม่ เจ้าของรางวัล ‘Writers that Matters: นัก (อยาก) เขียน เปลี่ยนโลก’ จากเวทีประกวดแอมเนสตี้ (Amnesty) โดยพัชญ์สิตาได้พูดถึงประเด็นการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับทรานสเจนเดอร์โดยเฉพาะ (Transgender Specific Healthcare) เอาไว้ว่า

“ทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนเพศและการเทคฮอร์โมนควรเป็นสวัสดิการรัฐ อย่างที่ฝรั่งเศส การเข้ารับฮอร์โมนเป็นสวัสดิการสุขภาพของเด็กข้ามเพศเลย นั่นเพราะเขามองว่าเด็กควรจะได้เลือกเพศตั้งแต่วัยรุ่น มันเลยเป็นไปได้ และเราก็รู้สึกว่า ประเทศไทยควรจะไปถึงขั้นนั้นได้แล้ว

“ณ ตอนนี้ คนที่สามารถข้ามเพศมาได้ จะต้องใช้เงินระดับหนึ่งเลย มันต้องเสียเงินตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงตายเลยก็ว่าได้ เพราะเราต้องเทคฮอร์โมนไปตลอด แล้วเราลองคิดดูว่า คนที่ฐานะทางบ้านไม่ดี เขาก็จะไม่ได้เป็นตัวเองเลยหรือ”

คำบอกเล่าเกี่ยวกับประเด็นนี้ของเธอ ถูกนำมาใช้พาดหัวบทความสัมภาษณ์ ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านในโลกโซเชียลได้เป็นอย่างดี ทว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่ผู้คนมีต่อประเด็นนี้กลับเป็นไปในเชิงลบ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ควรค่าแก่การนำมาขบคิดและแลกเปลี่ยนกันต่อไป ว่าเหตุใดท่าทีของผู้ใช้โซเชียลฯ จำนวนมาก จึง (ดูเหมือนจะ) เป็นไปในทิศทางที่ต่อต้านแนวคิดนี้อย่างเอกฉันท์ 

การแปลงเพศ = ศัลยกรรมความงาม?

สงสัยต่อไป ร้อยไหม ไฮฟู โบท็อกซ์ก็ต้องเป็นสวัสดิการของรัฐด้วย

อยากสวย อยากมีกี ก็สนองตัณหาส่วนตนด้วยเงินส่วนตัวสิ ไม่ใช่มาใช้งบประมาณรัฐ

การแปลงเพศไม่ใช่ Priority ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญให้เรียกร้องกว่านี้มาก ใครอยากผ่าก็ไปตั้งกองทุนกันเอาเอง

เหล่านี้คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งซึ่งมุ่งเป้าไปที่พัชญ์สิตา เห็นได้ชัดว่าการผ่าตัดแปลงเพศ การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ รวมไปถึงบริการสุขภาพสำหรับทรานสเจนเดอร์ในรูปแบบอื่นๆ ยังคงถูกมองว่าเป็นหัตถการเพื่อความงามที่สิ้นเปลืองและฟุ้งเฟ้อ เหมือนการทำศัลยกรรมเสริมความงามตามรสนิยมส่วนบุคคลที่ ‘ไม่ทำก็ไม่ตาย’

เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มทรานสเจนเดอร์ยังถูกมองเป็น ‘ปัญหา’ มิหนำซ้ำยังเป็น ‘ปัญหาระดับปัจเจก’ ที่เจ้าของปัญหาควรหาทางแก้ไขเอาเอง ไม่สำคัญต่อส่วนรวม ไม่ควรค่าแก่การสิ้นเปลืองเงินภาษี จึงเป็นการยากที่หลายคนจะจินตนาการออกว่า มีเหตุผลใดที่เราควรสนับสนุนให้การแปลงเพศเป็นสิทธิสุขภาพแบบถ้วนหน้า

ในความเป็นจริง การผ่าตัดหรือใช้ฮอร์โมนส์บำบัดเพื่อข้ามเพศนั้น สามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพในการใช้ชีวิตของคนข้ามเพศหลายประการ เช่น

– ช่วยหลีกเลี่ยงการปะทะกับความเกลียดชังและความรุนแรงต่อคนข้ามเพศ

– ช่วยลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ทั้งจากการถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าสังคม และจากภาวะ ‘Gender Dysphoria’ หรือภาวะทุกข์ทรมานใจจากความไม่เข้ากันของเพศที่สังคมกำหนดให้และอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริง

– ช่วยลดโอกาสที่เยาวชนทรานสเจนเดอร์จะถูกเบียดขับให้หันไปพึ่งพายาเสพติด หรือเข้าสู่เส้นทางการขายบริการทางเพศ ก่อนถึงวัยที่สามารถยินยอมมีเพศสัมพันธ์ (Age of Consent) ได้

ฯลฯ

หากจะจำแนกว่างบประมาณรัฐที่จัดเก็บมาจากภาษีประชาชน ควรหรือไม่ควรใช้ไปกับเรื่องใด ด้วยเกณฑ์ ‘ประโยชน์ต่อส่วนรวม’ อาจต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงนิยามของ ‘ส่วนรวม’ ว่าคนข้ามเพศถือเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมที่ว่าหรือไม่ ในเมื่อพวกเขาเองก็เป็นพลเมืองที่เสียภาษีให้กับประเทศด้วยเช่นกัน

ฝรั่งเศสกับ ‘การข้ามเพศ’ ในฐานะสวัสดิการรัฐ

หากพูดถึงประเทศที่คนข้ามเพศสามารถพึ่งพาระบบสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐเพื่อเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ หลายคนมักนึกถึงฝรั่งเศส โดยหนึ่งในผู้เข้ารับการผ่าตัดที่เรารู้จักกันดีคือ ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ ‘อั้ม เนโกะ’ นักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2557

เรื่องราวของเธอถูกพูดถึงในคอมเมนต์ใต้บทความสัมภาษณ์ของพัชญ์สิตาด้วยเช่นกัน แต่เป็นการหยิบยกขึ้นมาในฐานะกรณีที่เกิดขึ้นได้เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’ ต่างจากประเทศไทย ซึ่งยังล้าหลังนานาประเทศอยู่มากในด้านรัฐสวัสดิการ

ปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมแห่งชาติของฝรั่งเศส ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศทุกรูปแบบนอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและอัตลักษณ์ทางเพศได้ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนรับรองทางการแพทย์ที่ยุ่งยากเหมือนก่อนหน้า

ศูนย์ความเท่าเทียมของทรานสเจนเดอร์แห่งชาติ (National Center of Trangender Equality) ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือผลลัพธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและความเข้าใจของฝ่ายนิติบัญญัติว่ากระบวนการแปลงเพศของทุกคนย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย การบังคับให้คนข้ามเพศต้องรับรองเพศสภาพของตนด้วยหลักฐานทางการแพทย์ จึงเป็นกฎที่ไม่เป็นธรรม

ฝรั่งเศสมีทีมแพทย์หลายทีมที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดแปลงเพศและให้บริการสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะ มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970s บุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่าเหล่านี้ ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐของเมืองปารีส ลิยง บอร์กโดซ์ และมาร์กเซย โดยมีสถิติการผ่าตัดแปลงเพศอยู่ที่ราว 500-600 เคสต่อปี

ตัวเลขประชากรกลุ่มทรานสเจนเดอร์ที่ต้องการเข้าถึงการผ่าตัดแปลงเพศและการใช้ฮอร์โมนบำบัดนั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ ปี ทั้งในฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ที่มีสวัสดิการในทำนองเดียวกัน และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ สมาคมฝรั่งเศสเพื่อการศึกษาและสนับสนุนอัตลักษณ์ข้ามเพศ (SoFECT) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง เพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ

นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ประเทศเกาะเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่างมอลตา ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เพิ่งประกาศว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปลี่ยนระบบให้คนข้ามเพศสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

โดยก่อนหน้านี้ มอลตาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้คนข้ามเพศสามารถเข้ารับฮอร์โมนบำบัดเพื่อข้ามเพศได้ โดยไม่ต้องใช้ประวัติทางการแพทย์รับรองมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วเช่นเดียวกัน

อ้างอิง

Castagnaro, G. (2022). “Malta Announces Plans to Cover the Cost of Gender-Affirming Surgeries” Gender GP. https://www.gendergp.com/malta-offers-free-gender-affirming-surgeries/

Matouk, K.M. Wald, W. (2022). “Gender-affirming Care Saves Lives” Columbia University Department of Psychiatry. https://www.columbiapsychiatry.org/news/gender-affirming-care-saves-lives 

Liu, C. Christian, A. (2016). French Law Removes the Surgical Requirement for Legal Gender Recognition” National Center for Transgender Equality. https://transequality.org/blog/french-law-removes-the-surgical-requirement-for-legal-gender-recognition 

Revol, M. (2017). “Transgender Health Care in Europe: France” Contemporary Trans Health in Europe: Focus on Challenges and Improvements. http://programme.exordo.com/epath2017/delegates/presentation/170/#:~:text=view%20full%20abstract%20%5D-,In%20France%20all%20the%20SRS%20procedures%20are%20free%20of%20any,identity%20without%20any%20medical%20prerequisite

Transgender European Union (TGEU). (2022). “ Trans Rights Map 2022 reveals slow comeback of progress on trans rights” TGEU. https://tgeu.org/trans-rights-map-2022/

Tags: , , , , ,