ตัวละครหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานของอินเดีย ที่มักถูกพูดถึงโดยชาวไทยพุทธในแง่ลบคือ อาทิศังกราจารย์ (Adi Shankaracharya) นักบวชและนักปรัชญาฮินดู ผู้ที่ชาวไทยเชื่อว่า มีส่วนทำให้พุทธศาสนาในอนุทวีปสิ้นสุดลง

ความเชื่อนี้ถ่ายทอดต่อกันมาในหมู่ชาวไทยพุทธ ผ่านทั้งงานเขียนและคำบอกเล่าของนักปราชญ์ทั้งสมณะและฆราวาส ซึ่งในทางหนึ่งข้อมูลเหล่านี้สร้างภาพลักษณ์อันเป็นลบให้กับตัวอาทิศังกราจารย์อย่างมาก

ความเข้าใจเชิงเดียวนี้ปิดกั้นความเข้าใจในภาพรวมต่อตัวศังกราจารย์ในฐานะตัวละครทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งพลวัตของศาสนาต่างๆ ในอินเดีย ที่เกิดขึ้นและเสื่อมลงไปตามวัฏจักร คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้น 2 ข้อ ได้แก่ 1. สรุปแล้วศังกราจารย์คือใคร และ 2. พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดียได้อย่างไร

อาทิศังกราจารย์: นักบวชผู้ถูกกล่าวหาว่าทำให้พุทธศาสนาเสื่อมถอย

‘ศังกราจารย์’ คือชื่อเรียกตำแหน่ง (คล้ายสมณศักดิ์) ของคุรุองค์ประธาน ซึ่งสืบทอดกันอยู่ในสำนัก (มัฐ) ที่ อาทิศังกราจารย์ ศังกราจารย์องค์แรกเป็นผู้ตั้งขึ้นในมุมทั้งสี่ของอนุทวีป ได้แก่ ชโยติมัฐ แห่งพัทรินาถ ทางตอนเหนือของอินเดีย, ศฤงเคริมัฐ ในแคว้นกรรณาฏกะ ทางตอนใต้, กาลิกามัฐ ที่เมืองทวารกา ทางตะวันตก และโควรธนะมัฐ ที่เมืองปุรี ทางตะวันออก

อาทิศังกราจารย์ กำเนิดในครอบครัววรรณะพราหมณ์ ในพื้นที่กาลาทิ (Kaladi) หรือรัฐเกราละปัจจุบัน พ่อแม่ของเขาเป็นคู่สามีภรรยาสูงอายุ และใช้ชีวิตอย่างมีศรัทธาในการรับใช้คนยากจน พวกเขาตั้งชื่อลูกว่า ศังกรา แปลว่า ผู้ประทานความเจริญรุ่งเรือง เด็กน้อยศังกราออกบวชเป็นสันยาสีตั้งแต่ยังเด็ก แม้ว่าแม่ของเขาจะคัดค้าน กระทั่งเกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นเมื่ออายุได้ 8 ขวบ เขาไปอาบน้ำกับแม่ที่แม่น้ำ แต่ถูกจระเข้จับ ศังกราจึงร้องเรียกกับแม่เพื่ออนุญาตให้เขาเป็นออกบวชเป็นสันยาสี เพราะมิเช่นนั้นจระเข้จะฆ่าเขา ด้วยความรักลูก แม่จึงกล่าวอนุญาต ทำให้จระเข้ปล่อยศังกราเป็นอิสระ และต่อมา เขาจึงออกจากบ้านไปเรียนหนังสืออย่างนักบวช

คำว่า สันยาสี มีความหมายว่า ผู้สละ เนื่องจากผู้เป็นสันยาสีจะสละบ้านเรือนและครอบครัวออกบวช เช่นเดียวกันกับนักบวชในศาสนาต่างๆ ของอินเดีย หลังออกจากบ้านแล้วสันยาสีศังกราเข้าเรียนในสำนักของ โควินทะ ภควัตปาทะ (Govinda Bhagavatpada) ณ ที่นั้นศังกราได้เรียนรู้พระเวท อุปนิษัท และพรหมสูตร เมื่อสำเร็จความรู้อย่างรอบด้านแล้ว สันยาสีศังกราจึงตื่นรู้ในปรัชญาหนึ่งที่เรียกว่า ‘อไทฺวตะ’ แปลว่า ไม่มีสอง

อไทฺวตะเป็นหนึ่งในปรัชญาที่มีอิทธิพลมากต่อสำนักปรัชญาทุกสาขาของอินเดีย โดยหลักการสำคัญของปรัชญาสำนักนี้คือ พรหมัน (ปรมสัจจะ) เป็นสิ่งจริงแท้หนึ่งเดียว โลกนี้เป็นมายา ชีวะมิได้แตกต่างจากพรหมัน ความแตกต่างหลากหลายที่ปรากฏในโลกเป็นเพียงความลวง และแม้โลกนี้ก็ไม่ใช่สิ่งจริงแท้ ภาพที่เราเห็นเป็น ‘มายา’ คือ ภาพลวงตาที่ทำให้เราสับสนจากความเป็นจริง เหมือนบ่วงเชือกที่เมื่อเห็นในที่มืดก็กลับกลายเป็นงูยักษ์นอนขดอยู่อย่างสงบ

ชีวะหรือชีวิตแต่ละดวงก็ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียง อาตมัน (Self) ที่แยกออกมาจากพรหมันหรือสัจธรรมเท่านั้น แต่การคิดว่าสองสิ่งนี้แยกกันเป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจาก ‘อวิทยา’ (อวิชชา ในภาษาบาลี) หรือความหลงผิด เพราะที่จริงตัวตนหรือภาวะแท้มีหนึ่งเดียวเท่านั้นคือ พรหมมัน แต่อวิทยาจึงทำให้เกิด ‘กามะ’ หรือความปรารถนา นำไปสู่กรรมะหรือการกระทำ และนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอันมีทุกข์ในที่สุด ซึ่งใกล้เคียงกับคำอธิบายตามปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสมุทวาร ในพุทธศาสนา

กลับมาที่เรื่องราวของอาทิศังกราจารย์ หากอ้างตามอัตชีวประวัติของอาทิศังกราจารย์ ฉบับศฤงเคริ มัฐ (Sringeri Matha) ซึ่งระบุว่า ศังกราจารย์องค์แรกเกิดในปีที่ 14 แห่งรัชกาลของพระเจ้าวิกรามาทิตยะ (Vikramaditya) โดย เค. เอ. นิลกันตะ ศาสตรี (K. A. Nilakanta Sastry) นักปราชญ์ชาวทมิฬ ผู้รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์และศาสนา โดยเฉพาะในอินเดียภาคใต้ ชี้ว่า พระเจ้าวิกรามาทิตยะพระองค์นี้ คือพระเจ้าวิกรามาทิตยะที่ 2 แห่งราชวงศ์จาลุกยะแห่งพาทามิ (Chalukya Dynasty of Badami) ครองราชย์ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งข้อเสนอของนิลกันตะ ศาสตรี ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิชาการด้านศาสนาฮินดูทั้งในและนอกอินเดีย

ขณะเดียวกัน นาตาเลีย ไอสเยวา (Natalia Isayeva) ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาอินเดีย ยังระบุว่า อรรถกถาว่าด้วยสำนักคิดต่างๆ ของวจัสปติ มิศระ (Vachaspati Mishra) หนึ่งในสำนักคิดต่างๆ เหล่านั้นมีการอ้างถึงอาทิศังกราจารย์ไว้อย่างชัดเจน อรรถกถานี้ถูกเขียนขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ด้วยเหตุนี้ไอสเยวาจึงเชื่อว่า อาทิศังกราจารย์ควรมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ตามข้อเสนอของนิลกันตะ ศาสตรี

กระนั้นยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านพยายามกำหนดอายุให้กับอาทิศังกราจารย์โดยอ้างอิงจากเอกสารหลักฐานที่แตกต่างกันไป บ้างกำหนดอายุให้เก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ 6 หรือบ้างก็ว่านักบวชผู้นี้มีชีวิตในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าตัวอาทิศังกราจารย์จะมีอายุอยู่ในช่วงเวลาใดก็ตาม แต่เอกสารต่างๆ ระบุตรงกันอย่างหนึ่งคือ อาทิศังกราจารย์ ‘มีตัวตนอยู่จริง’ ในทางประวัติศาสตร์

อาทิศังกราจารย์และเหล่าศิษย์ (ที่มา: Wikipedia)

‘ทิควิชยะ’ คือเหตุแห่งการสิ้นศรัทธาของชาวพุทธในอินเดีย?

สันยาสีในอินเดียมีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือการออกเดินทางไปตามเมืองศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั่วอินเดีย เพื่อสักการะเทพเจ้าหรือประกาศความคิดของตนเอง การเดินทางอย่างนี้เรียกว่า ‘ทิควิชยะ’ (Digvijaya) แปลว่า พิชิตทั้ง 4 ทิศ และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะนักบวชฮินดู เพราะในธรรมเนียมไชนะและพุทธศาสนาก็มีการพูดถึงสิ่งนี้ไว้ แม้จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่โดยรวมแล้วมีความหมายตรงกัน คือการแพร่ธรรมไปทั่วทุกทิศของชมพูทวีป

เส้นทางการทิควิชยะของอาทิศังกราจารย์  (ที่มา: kamakoti.org)

เช่นกันกับการเดินทางของศังกรา เขาจาริกไปทั้ง 4 ทิศของอินเดีย ซึ่งต่อมากลายเป็นสำนักทั้งสี่ของเขา ระหว่างการเดินทางศังกราพบเจอกับนักบวช คุรุ และนักปราชญ์มากมาย ได้เข้าร่วม ‘ศาสตรรถะ’ (Shastrartha) ประเพณีว่าด้วยการอภิปรายเชิงปรัชญาต่อหน้าสาธารณชนในทุกระดับ ตั้งแต่ตาสีตาสา นักปราชญ์ราชบัณฑิต ไปจนถึงเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ (บรรยากาศเช่นนี้ถูกบรรยายอย่างละเอียดในวรรณกรรมสำคัญในช่วงต้นยุคกลางของอินเดียอย่าง ‘หรรษจริต’) โดยในอัตชีวประวัติระบุชัดเจนว่า ศังกราพบปะกับปราชญ์จากสำนักศาสนาฮินดูมิมังสา (Mimamsa) ได้แก่ กุมารีลาและประภากระ (Kumarila and Prabhakara) รวมถึงภิกษุในพุทธศาสนา

การโต้เถียงทางปรัชญามักจบลงด้วยการยอมรับนับถือข้อคิดของฝ่ายที่ชนะการโต้แย้ง ศังกราเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทีละน้อยในฐานะผู้รู้รอบทางปรัชญา เกิดการส่งต่อความเข้าใจทางปรัชญาจากครูสู่ศิษย์ และสุดท้ายเป็นที่รู้จักอย่างทั่วไปในนาม ศังกราจารย์ ซึ่งในจุดนี้ผู้เขียนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาหลายท่านมักโจมตีว่า สิ่งที่ศังกราจารย์ทำ เช่น ตั้งอาราม สำนัก หรือปรัชญาแบบอไทฺวตะ เป็นการ ‘เลียนแบบ’ ระบบของพุทธศาสนา เป็นผลให้ชาวพุทธในอินเดียขณะนั้นเกิดความสับสน และนำไปสู่การค่อยๆ เสื่อมศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชน

อย่างไรก็ดี หากเรามองอย่างเปิดใจสักนิดจะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของวัฒนธรรมศาสนาในอินเดียมาอยู่แล้วแต่เดิม ในพุทธประวัติก็ระบุชัดว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงเคยวิวาทะกับพราหมณ์มาหลายต่อหลายครั้ง เช่น กรณีพราหมณ์ภารทวาชกล้าชี้หน้าต่อว่าพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะทรงเทศนาจนพราหมณ์ผู้นั้นเห็นธรรม วัฒนธรรมดังกล่าวปรากฏสืบมาเรื่อยๆ ในวรรณกรรมต่างๆ จนถึงในสมัยพระจักรพรรดิอักบาร์ (Jalal-ud-din Muhammad Akbar) การตั้งวงโต้เถียงทางศาสนาระหว่างผู้รู้ทางศาสนานิกายต่างๆ ก็ยังคงดำเนินอยู่ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว หรือแม้ในศาสนาเดียวกันก็มีวิวาทะกันอยู่เสมอ สิ่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ขณะเดียวกัน คมกฤต อุ่ยเต็กเค่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังระบุว่า น่าแปลกใจกว่านั้นเมื่อพบว่า คนที่โจมตีพุทธศาสนาอย่างเปิดเผยกลับเป็น กุมาริลภัฏฏาจารย์ เจ้าสำนักมีมางสา คนร่วมสมัยกับศังกราจารย์ ซึ่งพยายามทำลายสำนักของอาจารย์ชาวพุทธของตัวเอง (ว่ากันว่า กุมาริลภัฏฏาจารย์เคยแอบไปบวชเป็นภิกษุ) แต่กลับไม่ได้รับการเอ่ยถึงนัก ด้วยเหตุนี้สำหรับผมแล้ว การกล่าวอ้างว่า อาทิศังกราจารย์ตั้งใจโจมตีพุทธศาสนาเพื่อทำลายจึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม และเต็มไปด้วยอคติอย่างปฏิเสธไม่ได้

ปิดฉากพุทธศาสนา

แล้วพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมสลายลงไปได้อย่างไร?

การจางหายไปจากอินเดียของพุทธศาสนาเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงถึงเหตุอันแท้จริง กระนั้นนักวิชาการด้านพุทธศาสนา โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ชี้ตรงกันว่า การที่พุทธศาสนาสูญเสียความนิยมเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การแข่งขันทางศาสนา, การเปลี่ยนแปลงของราชวงศ์, การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้า รวมถึงสงครามอันเป็นปัจจัยภายนอก ทั้งนี้ปัจจัยภายในของพุทธศาสนาก็นับว่ามีส่วนอย่างมากในเช่นกัน

นักวิชาการแนวหน้าอย่าง ลาร์ส โฟเคลิน (Lars Fogelin) ผู้เขียนหนังสือ หลอมรวม/ล่มสลาย: ประวัติศาสตร์เชิงโบราณคดีของพระพุทธศาสนาในอินเดีย เสนอว่า ปัจจัยภายในพุทธศาสนาอย่างการหลีกหนีจากสังคมของกลุ่มนักบวชพุทธศาสนา (ภิกษุและภิกษุณี) มีผลอย่างมากต่อการเสื่อมของพุทธศาสนา โดยโฟเคลินพิจารณาว่า การตัดขาดที่ว่าเห็นได้ชัดเจนผ่านพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมของพุทธศาสนาที่ปิดทึบมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถูปกลางแจ้งขนาดใหญ่ไปสู่สถูปภายในถ้ำและวิหารที่มีกำแพงปิดล้อมมิดชิด ภิกษุก็เริ่มหันเข้าสู่วิธีคิดทางปรัชญาที่ซับซ้อนขึ้น เริ่มหมกมุ่นอยู่กับหลักการที่เข้าใจยาก เช่น กิริยาตันตระ ซึ่งมักเกิดขึ้นในที่ลับ ทำให้วรรณกรรมพุทธศาสนาในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 13 มุ่งเน้นแต่กิจกรรมภายในอาราม ซึ่งต่างไปจากชาดกและอวทานรุ่นเก่า (พุทธศตวรรษที่ 5-9) ที่มักจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับชาวบ้านและมีลักษณะเป็นนิทาน

อีกธรรมชาติหนึ่งของอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-13 คือการล่มสลายของราชวงศ์ขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการควบคุมพื้นที่ในวงกว้างและปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ เช่น ราชวงศ์โมริยะและราชวงศ์คุปตะ นำไปสู่การก่อตัวของราชวงศ์ขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วอินเดีย 

สิ่งที่ราชวงศ์เกิดใหม่เหล่านี้ต้องการเป็นอย่างมาก คือ ‘สิทธิธรรมทางการปกครอง’ ซึ่งศาสนาพุทธตอบสนองความต้องการนี้ได้จำกัดกว่าเมื่อเทียบกับศาสนาฮินดู ส่งผลให้การอุปถัมภ์จากกษัตริย์ที่อารามต่างๆ เคยได้รับ ลดลงอย่างช้าๆ ที่ดินซึ่งเคยเป็นของสังฆะถูกแปลงไปสู่ที่ดินของนักบวชกลุ่มอื่น ประเด็นนี้โฟเคลินอธิบายว่า ความเคร่งครัดทางปรัชญาที่มากขึ้น (น่าจะ) ส่งผลโดยตรงกับปรากฏการณ์นี้

อีกข้อเสนอที่น่าสนใจคือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-13 การค้าของอินเดียเปลี่ยนจากการค้าข้ามคาบสมุทรไปสู่การค้าภายในภูมิภาคที่ซับซ้อนขึ้น อันเป็นผลจากการสลายตัวของจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่ควบคุมการค้าทั้งหมด ไปสู่การเกิดขึ้นของเมืองขนาดเล็กและผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากที่ไม่อาจควบคุมโครงข่ายทางการค้าเดิมไว้ได้ สังฆะซึ่งเคยได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงข่ายทางการค้าขนาดใหญ่ในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่มพ่อค้าจึงเสื่อมถอยลง สร้างความอ่อนแอให้กับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เห็นได้จากอารามบางแห่ง เช่น ถ้ำอชันตา (Ajanta Cave) ถูกทิ้งร้างไปอย่างน่าใจหาย

สถูปสาญจี (ที่มา: อธิพัฒน์ ไพบูลย์)

กลุ่มวัดถ้ำอชันตา (ที่มา: Wikipedia)

เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาร้อยเรียงเข้าด้วยกันจะพบว่า พุทธศาสนามีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับพลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วนได้ไม่ดีเท่ากับศาสนาอื่นๆ ในอินเดีย พุทธศาสนาที่พึ่งพิงราชสำนักมากจึงมาถึงจุดเสื่อมถอยเมื่อราชสำนักเสียศูนย์ ต่างไปจากศาสนาฮินดูหรือไชนะที่ยึดโยงกับชาวบ้านมากกว่า แม้มีระบบวรรณะมากำกับก็ตาม

อย่างไรก็ดีการเสื่อมสลายของพุทธศาสนาในอินเดียเป็นประเด็นใหญ่มาก ที่ต้องพึ่งพิงหลักฐานหลายแขนง และสำหรับผมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธยุคหลังที่ต้องเรียนรู้ด้วยใจเปิดกว้าง เพื่อช่วยกันหาทางให้ศาสนาของพระพุทธเจ้ายังสามารถมีที่ยืนในสังคมร่วมสมัยได้อย่างสง่างามและเข้าถึงผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคม

รายการอ้างอิง

Chattopadhyaya, Brajadulal. (2012). The making of early medieval India, New Delhi: Oxford

University Press.

Fogelin, Lars (2015). An Archaeological History of Indian Buddhism. Oxford University Press.

Isayeva, Natalia (1993). Shankara and Indian Philosophy. Albany: State University of New York Press (SUNY).

Jaini, Padmanabh S. (1980): “The disappearance of Buddhism and the survival of Jainism: a study in contrast”. Studies in History of Buddhism. Ed. A. K. Narain. Delhi: B. R. Publishing. pp. 81–91.

Kanai Lal Hazra (1995). The Rise And Decline of Buddhism in India. Munshiram Manoharlal.

Nilakantha Sastry K.A. (1976). A History of South India, 4th ed., Oxford University Press, Madras.

Pande, G. C. (2011). Life and Thought of Sankaracarya. Motilal Banarsidass.

Ray, Himanshu Prabha. (1994). The winds of change: Buddhism and the maritime links of

early South Asia. Delhi: Oxford Press.

Sharma, R. S. (2023). Early Medieval Indian Society, Delhi: Orient BlackSwan.

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (2561). “ศังกราจารย์” คือใคร? ตัวร้ายของพุทธศาสนาหรือยอดนักปรัชญาฮินดู? มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 วันที่ 22 มีนาคม เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_89711

Tags: , , ,