เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Time Higher Education ซึ่งจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ได้เผยแพร่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก และอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชียในปี 2024 โดยพบว่า อันดับมหาวิทยาลัยในไทยนั้นไม่ติดแม้กระทั่ง 100 อันดับแรกของเอเชีย โดยมหาวิทยาลัยที่อันดับสูงสุดของประเทศไทย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ก็หลุดท็อป 100 ไปอยู่ในอันดับที่ 117 ของเอเชีย และเกือบหลุดท็อป 10 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่อันดับ 10 พอดี ข้อน่าสังเกตคือในปีนี้ มหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมากกว่า 7 อันดับ เป็นมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย

บทวิเคราะห์ของ Times Higher Education ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่า มหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีนที่มีการทำงานวิจัยมากขึ้น และมีการทำงานใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น สะท้อนชัดว่า ในภูมิภาคเอเชียมีการปรับปรุง-พัฒนาโครงสร้างการศึกษาเป็นอย่างดี

สำหรับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย คือ มหาวิทยาลัยซิงหวา (Tsinghua University) อยู่ที่อันดับ 12 ของโลก มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) อยู่ที่อันดับ 14 ของโลก ตามมาด้วย 2 แห่งจากสิงคโปร์ คือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) อยู่ในอันดับที่ 19 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) อยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก

บทวิเคราะห์ของ Times Higher Education ระบุว่า ตัวชี้วัดสำคัญในการจัดความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเหล่านี้คือ งานวิจัย โดยวัดว่างานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมีอิทธิพล และได้รับการยอมรับไปทั่วโลกมากแค่ไหน นั่นหมายความว่ายิ่งมีงานวิจัยคุณภาพสูงมากเท่าไร ก็ส่งผลต่ออันดับมหาวิทยาลัยมากเท่านั้น

สำหรับท็อป 100 มหาวิทยาลัยของเอเชียพบว่าอยู่ในจีนมากถึง 33 แห่ง ตามด้วยเกาหลีใต้ 16 แห่ง คิดเป็นเกือบครึ่งของมหาวิทยาลัยในเอเชียทั้งหมด ขณะที่หากลงลึกลงไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า มหาวิทยาลัยที่อยู่ในท็อป 100 นั้น มีทั้งสิ้น 6 มหาวิทยาลัย โดยนอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 3 และอันดับที่ 4 ของเอเชียแล้ว อีก 4 มหาวิทยาลัยที่ติดท็อป 100 ที่เหลือเป็นของมาเลเซียทั้งหมด ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเปโตรนาส (Universiti Teknologi Petronas) ในอันดับที่ 52 มหาวิทยาลัยมลายา (University of Malaya) ในลำดับที่ 65 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย (Universiti Teknologi Malaysia) ในอันดับที่ 85 และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia) อยู่อันดับที่ 99

นอกจากนี้ หากมองท็อป 10 ของมหาวิทยาลัยในอาเซียน พบว่า เป็นมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ทั้งสิ้น 2 อันดับ เป็นมหาวิทยาลัยของมาเลเซียทั้งสิ้น 7 อันดับ โดยมีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับเดียวคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 10 ของอาเซียน และอันดับที่ 117 ของเอเชีย 

สำหรับอันดับมหาวิทยาลัยไทยในเอเชีย นอกจากจุฬาฯ อยู่ในลำดับที่ 117 แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในอันดับที่ 139 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 192 และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในอันดับที่ 201-250 ของเอเชีย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์รัฐบาลไทยเพิ่งเผยแพร่ข่าวการจัดอันดับของ Times Higher Education โดยอ้างอิง ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ระบุว่า การจัดอันดับในปีนี้สะท้อนว่า การที่มีมหาวิทยาลัยมีอันดับสูงขึ้น 8 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมถึงมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับเป็น 200 มหาวิทยาลัยแรกของเอเชีย ได้แก่ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเรื่องสะท้อนศักยภาพ ความเข้มแข็งทางวิชาการและความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยไทย

 

Tags: , , ,