5 กิโลเมตร คือระยะห่างจากท่าเรืออ่าวฉลอง ท่าเรือใหญ่ประจำจังหวัดภูเก็ตสู่เกาะโหลน 

15-20 นาที คือระยะเวลาโดยสารเรือจากบกสู่ฝั่งเกาะ 

เกาะที่พูดง่ายๆ ว่าตั้งอยู่ใกล้ความเจริญมากที่สุด แต่ระยะทางที่ใกล้ใช่ว่าจะช่วยรับประกันถึงความเจริญได้ เพราะบนเกาะแห่งนี้ปราศจากไฟฟ้า แม้ว่าสถานที่ดังกล่าวจะมีชุมชน โรงเรียน มัสยิด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตั้งอยู่ก็ตาม 

หลายคนขนานนามเกาะโหลนว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้เรียนรู้วิถีประมง และวิถีชีวิตชาวเกาะ ควรรักษาเอกลักษณ์นี้ไปนานๆ 

เป็นสิ่งที่คนมาเที่ยวปราถนา แต่ผู้อาศัยอยู่ไม่ต้องการ

เดิมทีเกาะโหลนมีผู้อาศัยหลายร้อยหลังคาเรือน แต่ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่กี่สิบหลัง เพราะขาดความสะดวกสบายหลายๆ ด้านในการใช้ชีวิต แม้ชาวบ้านบนเกาะได้พยายามเรียกร้องไฟฟ้า และได้รับคำมั่นสัญญาจากนักการเมืองและผู้มีอำนาจในพื้นที่มาตลอดหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม

แต่จนแล้วจนรอดเสาไฟฟ้าสักต้นก็ไม่เคยปรากฏขึ้นบนเกาะโหลน

บ้านหลังเล็กใหญ่ถูกปล่อยทิ้งร้าง บางหลังเหมือนเพิ่งสร้าง แต่ส่วนมากตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม ซอมซ่อ ผุพัง ไร้ผู้อยู่อาศัย ซากของตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ได้รับความนิยมในอดีต และโรงเรียนเกาะโหลนเป็นเครื่องสะท้อนว่า เมื่อก่อนเกาะนี้เคยคึกคักไปด้วยผู้คนมาก่อน

คล้ายกับว่าชุมชนเกาะโหลนกำลังถูกลบเลือนจากหน้าประวัติศาสตร์ เพราะพื้นที่แห่งนี้กำลังถูกเปลี่ยนมือสู่นายทุนเป็นระยะอย่างเงียบๆ แต่ดูเหมือนกลุ่มทุนจะรุกคืบเด็ดขาดเกือบจะครอบครองบริเวณหาดทั้งหมด จนมีคนบนเกาะกล่าวว่า “ต้องรอให้ชาวบ้านขายที่หมดก่อน พอนายทุนมาปลูกรีสอร์ตเกาะโหลนถึงจะมีไฟฟ้าใช้ เพราะถ้ามีตอนนี้ค่าที่ก็จะแพงขึ้น”

บ้านหลังเล็กใหญ่บนเกาะโหลนต่างประกาศขาย

อาคารบ้านเรือนจำนวนมากถูกทิ้งร้างบนเกาะ

1

โรงเรียนแห่งเดียวในภูเก็ตที่ไม่มีไฟฟ้า

ปี 2552 ศูนย์ข่าวภูเก็ตรายงานว่า จังหวัดภูเก็ตได้มอบเครื่องปั่นไฟให้โรงเรียนเกาะโหลนเพื่อแก้ปัญหาการไม่มีไฟฟ้าใช้ และระบุต่อว่า โรงเรียนเกาะโหลนเป็นโรงเรียนแห่งเดียวในจังหวัดภูเก็ตที่ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ 

15 ปี ต่อมา โรงเรียนเกาะโหลนกลับเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่า 15 ปีที่แล้ว เพราะแม้แต่เครื่องปั่นไฟที่โรงเรียนก็ไม่มีใช้ แต่หากคุณลองเดินเลียบหาดห่างจากโรงเรียนไปไม่กี่ร้อยเมตร ก็จะพบโรงแรมและรีสอร์ตที่มีไฟฟ้าใช้สอย พร้อมเครื่องปรับอากาศและน้ำแบบสะดวกสบาย

อาคารเรียนหลังเก่าที่ล้มพังตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะนี้รอการขนย้ายเศษซากปรักหักพัง

นิศารัตน์ พรมแก้ว กำลังสอนวิชาศิลปะให้ชั้นอนุบาล ขณะที่มูฮำหมัดเรียนวิชาภาษาไทย

โรงเรียนเกาะโหลนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ได้เล็กเพียงขนาด แต่หมายถึงจำนวนนักเรียนด้วย สถานศึกษาแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมดสามคน คือ มูฮำหมัด นักเรียนชั้น ป.6 และเจนน่า นักเรียนชั้นอนุบาล 3 พ่วงมากับอัยฟา เด็กเล็กอายุ 3 ขวบ ที่คนในชุมชนมาฝากเลี้ยงก่อนถึงเกณฑ์เข้าชั้นอนุบาล และทั้งโรงเรียนมี นิศารัตน์ พรมแก้ว อายุ 28 ปี เป็นครูเพียงคนเดียว ที่แม้จะเรียนจบครุศาสตร์เอกปฐมวัย แต่เธอต้องควบตำแหน่งเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาด้วย รวมถึงพรรณี หนูรุ่น อายุ 52 ปี เป็นผู้อำนวยการ รวมแล้วเพียงห้าชีวิตเท่านั้นในโรงเรียนแหงนี้

“เคยมีคนถามไหมว่ามีนักเรียนอยู่แค่นี้ ทำไมไม่ยุบโรงเรียนไปเลย”

“บ่อยค่ะ เวลาเราบอกคนอื่นว่าโรงเรียนมีเด็กนักเรียนอยู่สองคน เขาก็จะตอบกลับมาว่าทำไมไม่ยุบ แต่ถ้ายุบแล้วเด็กจะไปเรียนที่ไหน บางคนบอกก็ให้ขึ้นไปเรียนบนฝั่งข้างบน คนพูดอาจจะง่าย แต่ผู้ปกครองและเด็กที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ได้ง่ายขนาดนั้น หรือเด็กต้องตื่นตั้งแต่กี่โมงเพื่อลงเรือ และต้องเสียค่าโดยสารบนฝั่งเพื่อไปโรงเรียนอีก ขนาดเรานั่งเรือมาสอนทุกวันยังเมาเรือเลย” นิศารัตน์อธิบาย

ในทุกวันที่โรงเรียนเปิดสอน ครูทั้งสองคนจะลงเรือเล็กที่ขับโดยพ่อของมูฮำหมัด โดยเหมาจ่ายราคาพิเศษเดือนละ 2,500 บาท เรือเล็กที่ว่าคือเรือหาปลาไม่มีหลังคาหลบแดดฝน นั่งได้อย่างมากไม่เกิน 5 คน และต้องกางร่มเพื่อกันน้ำทะเลสาดขณะเรือแล่น 

พรรณี หนูรุ่น ผู้อำนวยการ กำลังกางร่มเพื่อกันน้ำทะเลกระเด็น

ในเช้าวันศุกร์ก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ เรามีโอกาสนั่งเรือพร้อมกับครูทั้งสองคนที่เดินทางไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเกาะโหลน ในวันนั้นโชคดีที่ฝนไม่ตก คลื่นไม่แรง และแดดดี

“ถ้าวันไหนฟ้าฝน ลมทะเลแรง บางครั้งครูก็ลงเรือไปโรงเรียนไม่ได้นะ คิดดูถ้าเด็กบนเกาะจะขึ้นไปเรียนบนฝั่งจะเป็นอย่างไร หลายคนอาจมองว่าทำง่าย มันอาจจะทำได้ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีโรงเรียนก็ไม่มีชุมชน ถูกไหม เพราะถ้าไม่มีคนอยู่เลยเราจะไม่เถียงเลยว่ายุบได้ แต่ที่นี่ยังมีเด็กที่ต้องการโรงเรียน” นิศารัตน์เสริม

เรือเล็กเริ่มเคลื่อนตัวใกล้ถึงชายฝั่ง ปรากฏภาพคนอยู่ไกลลิบๆ เด็กทั้งสามคนกำลังยืนโบกมือรอรับครูอยู่ริมหาด 

เกาะโหลนที่ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์

เด็กนักเรียนยืนรอรับคุณครูอยู่ริมหาด

ในคาบแรก เจนน่าและอัยฟาเรียนวิชาศิลปะวาดรูป ส่วนมูฮำหมัดยกโต๊ะมานั่งเรียนภาษาไทยตากอากาศหน้าห้องเรียนเนื่องจากทนอากาศร้อนไม่ไหว โดยปกติแล้วเด็กทั้งสามคนจะเรียนรวมในห้องเรียนเดียวกัน

ถัดจากห้องเรียนของเด็กๆ มีซากปรักหักพังกองอยู่ข้างๆ ครูใหญ่อธิบายว่า ตึกเรียนหลังเก่าล้มพังตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้รอคนมาช่วยขนย้ายเศษซากปรักหักพังออกไป ถัดไปด้านหลังจะพบอาคารไม้ขนาดสามห้อง ประกอบด้วยห้องครัว และอีกสองห้องที่ลงกลอนประตูไว้ หนึ่งในนั้นมีป้ายระบุว่า ‘ห้องสมุด’ 

ห้องสมุดที่ถูกลงกลอนปิดตาย ภายในปรากฏภาพคล้ายฉากหนังสยองขวัญ ขี้ค้างคาวกระจัดกระจายทั่วทั้งห้อง เปรอะเปื้อนบนชั้นหนังสือ ภาพติดผนัง ฝ้าเพดาน และพื้นห้อง

ห้องสมุดที่ถูกปิดตายเต็มไปด้วยสีดำของขี้ค้างคาว

ผนัง พื้น เต็มไปด้วยสีดำ คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นขี้ค้างคาว

“ไม่ค่อยได้ใช้แล้วค่ะ ห้องสมุด” ชนิษฐา หาทรัพย์ อายุ 48 ปี นักการภารโรง อธิบาย

โรงเรียนเกาะโหลนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เปิดสอนในระดับปฐมวัยไปจนถึงประถมศึกษา เท่าที่เรากวาดสายตาดูหนังสือบนชั้น จะพบว่า หนังสือในห้องสมุดสำหรับเด็กเล็กและเด็กประถมศึกษาอัดแน่นไปด้วยสารนุกรมไทยสำหรับเยาวชน และหนังสือพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ตอนนี้เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบสีดำ เหนียวแข็ง มีกลิ่นของขี้ค้างคาว ถัดไปไม่กี่ก้าวเป็นห้องปั่นไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ 

“ไฟฟ้าใช้ไม่ได้เสียมาเป็นปีแล้วค่ะ” ชนิษฐาอธิบายต่อ

แม้ว่าโรงเรียนเกาะโหลนจะมีคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ พัดลม ไปจนถึงกล้องวงจรปิด แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงสิ่งประดับ แม้มีอยู่แต่ใช้งานไม่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มี หรือบางที การไม่มีเสียเลยอาจจะดีเสียดีกว่า…

2

เด็กนักเรียนชั้น ป.6 ที่ชอบหาปลา

มูฮำหมัดกำลังฝึกอ่านออกเสียงนิทานอีสป โดยมีครูใหญ่ประกบคู่สอนสะกดคำอยู่ข้างๆ และแน่นอนว่าเขายกโต๊ะมานั่งเรียนอยู่หน้าห้องเช่นเคย

“วันนี้เรียนวิชาภาษาไทยเหรอครับ” เราสอบถาม

“วันนี้เรียนภาษาไทยครับ” 

“เรียนทุกวิชา บูรณาการเลยวันนี้ เรียนภาษาไทย พละ สังคม ศิลปะ” ครูใหญ่ช่วยขยายความ

บนโต๊ะเรียนของมูฮำหมัดปรากฏชิ้นงานศิลปะ เขาวาดรูปโรงเรียนที่สนามฟุตบอล แมวหนึ่งตัวชื่อบ๊อบบี้ และมีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่อากาศ ส่วนข้างผนังห้องเรียนติดแสดงผลงานศิลปะภาษาอังกฤษของเขา เป็นใบงานเติมคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับร่างกายในช่องว่าง เช่น Head – หัว และ Mouth – ปาก

“ดวงตาภาษาอังกฤษ อ่านว่าอะไร” เราถาม

“ไม่รู้ครับ” 

สิ่งที่มูฮำหมัดชอบมากคือการตกปลา เขาออกหาปลากับพ่อทุกวันหรือออกไปตกเบ็ดเองหลังเลิกเรียน ครูใหญ่นำความชื่นชอบของเขามาประกอบการสอน โดยให้มูฮำหมัดเขียนบันทึกรายรับรายจ่ายการขายปลา

“วันนี้ผมขายปลาตะมะและปลาข้างไฝ ได้เงินมา 100 บาท และวันนี้ขายปลาตะมะได้เพิ่มอีก 120 บาท รวมผมขายปลาทั้งหมดได้กี่บาท ตอบ 220 บาท”

บันทึกรายรับรายจ่ายของเขามีภาพประกอบเป็นปลาข้างไฝ และปลาตะมะ ระบายสีสวยสด มูฮำหมัดเล่าว่า เขาออกหาปลากับพ่อทุกวัน บางครั้งเริ่มตั้งแต่สองทุ่ม วันไหนจับปลาได้มาก กว่าจะกลับถึงบ้านก็ตีสาม ตีสี่ นอนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ตื่นมาโรงรียน

“เหงาไหม บนเกาะไม่ค่อยมีเพื่อนเล่นเลย”

“ผมไม่เหงาครับ ผมว่างก็ไปตกปลา” 

มูฮำหมัดบอกว่า ถ้าเรียนจบชั้น ป.6 เขาจะไปเรียนต่อโรงเรียนประจำสอนศาสนาเหมือนพี่ชาย แต่ตอนนี้ขออยู่กับพ่อแม่และเรียนอยู่ที่นี่ก่อน

มูฮำหมัดออกหาปลาทุกวันหลังเลิกเรียน

ลูกปลาที่จับได้ขณะเก็บหอย

มูฮำหมัดช่วยแม่หาหอย เก็บปูหลังเลิกเรียน

3

ครู เรือหาปลา โรงเรียน

“มาเป็นคุณครูบรรจุอยู่โรงเรียนเกาะโหลน ต้องสอนวิชาอะไรบ้าง”

“ทุกวิชาค่ะ ถ้าตามตารางหนึ่งวัน ตอนเช้าจะสอน 3-4 วิชา แต่พอมาสอนจริงมันยืดหยุ่น เพราะเราต้องสอนมูฮำหมัดก่อนถึงจะไปดูแลน้องๆ ตัวเล็กได้ ก็ยากเหมือนกันนะ” นิศารัตน์เล่า

เธอเล่าต่อว่า ช่วงแรกที่มาสอนโรงเรียนเกาะโหลน เธอแทบจะปรับตัวไม่ได้ เพราะเหนื่อยกับการเดินทางขึ้นรถลงเรือ เวลากลับถึงห้องพักเมื่อไรเป็นต้องนอนสลบทุกที แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว

“ครูคิดว่าโรงเรียนเล็กๆ แบบนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม”

“เราคิดว่าจำเป็นมาก เด็กเขาเกิดที่นี่ ถ้าสมมติคนในชุมชนเขาไม่มีเงินพอที่จะพาลูกหลานไปเรียนข้างบน เขาจะต้องไปเรียนที่ไหน ถ้าเกิดว่าโรงเรียนแห่งนี้ยุบไป หรือไม่มีคนมาสอน เพราะบางคนรายได้ครอบครัวไม่ได้อยู่ในระดับที่จะพาลูกนั่งเรือไปเรียนทุกวัน และต้องต่อรถโดยสารไปโรงเรียนอีกเพราะโรงเรียนไม่ได้ติดท่าเรือ และบางคนก็ไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะเช่าบ้านอยู่ข้างบน”

แผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ที่ใช้งานไม่ได้

ห้องเครื่องปั่นไฟที่ใช้งานไม่ได้

นิศารัตน์อธิบายต่อว่า การที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ส่งผลต่อชีวิตและคุณภาพของเด็กในโรงเรียนไม่น้อย เช่นเมื่อก่อนตอนที่ยังใช้งานไฟฟ้าได้ ก็สามารถเปิดโทรทัศน์ดูการเรียนการสอนทางไกลได้ เพราะเธอเรียนครุศาสตร์เอกปฐมวัย แต่ต้องมาสอนเด็กชั้นประถมศึกษาด้วย ทำให้ช่วงแรกจับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะแผนการเรียนต่างกัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ป.6 ที่เธอมองว่ายาก 

“โซลาร์เซลล์พังมาตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว คอมพิวเตอร์อะไรก็ไม่ได้เรียน เมื่อก่อนยังพอจะได้เรียนบ้าง”

“จะมีคนมาซ่อมให้เมื่อไร” เราถาม

“มันจะเสียหลายบาทมากเลยค่ะ ไม่ซ่อมแล้ว เพราะต้องจ่ายเอง”

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้คือ โรงเรียนเกาะโหลนหันมาใช้เครื่องสำรองไฟแทน โดยราคาอยู่ที่ห้าพันบาท อย่างน้อยเธอจะสามารถชาร์จแบตเตอรี่ และใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กประกอบการสอนเด็กๆ ได้

ส่วนงบฯ สนับสนุนจากทางหน่วยงานรัฐ หรือสำนักทดสอบทางการศึกษา (สพฐ.) กลับน้อยมาก เช่น ค่าอาหารกลางวันเด็กได้เฉลี่ยหัวละ 36 บาท สองคนตกอยู่ที่ 72 บาทต่อวัน

“เด็กต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ถูกไหม ต้องมีผลไม้ด้วย เมื่อก่อนครูก็จะเก็บค่าอาหารกลางวันกันเอง เดือนละ 300 บาท เพื่อซื้อของกินมาให้เด็ก”

ทั้งนี้ครูใหญ่ได้อธิบายในประเด็นอาหารกลางวันเพิ่มเติมว่า 

“แม้โรงเรียนจะมีเด็กต่ำกว่า 20 คน ทำให้ได้ค่าอาหารกลางวันมากกว่าโรงเรียนอื่น เราได้คนละ 36 บาท แต่โรงเรียนอื่นได้ 21 บาทต่อคน ถามว่าพอไหม ถ้าทำอาหารเองมันไม่พอ ซื้ออาหารกลางวันก็ไม่พอ บางวันมูฮำหมัดตกปลาได้เราก็ซื้อปลาเขามาทอดกิน ส่วนข้าวสารก็ขอบริจาคมา”

ครูทั้งสองลงความเห็นว่า ถ้าหากโรงเรียนมีไฟฟ้า หลายสิ่งหลายอย่างจะดีกว่านี้ 

“สิ่งที่อยากจะขอ จะว่าอย่างไรดีล่ะ ตอนนี้อยากให้โรงเรียนมีไฟฟ้าแล้วกัน ถ้ามีไฟฟ้าทุกอย่างมันก็ง่าย มันยากเหมือนกันนะคำถามนี้ เพราะเราอยากได้หลายอย่างมาก” นิศารัตน์ตอบแกมขำ

จากบทสนทนาและการลงพื้นที่เกาะโหลน ทำให้เราเกิดคำถามใหญ่ๆ อยู่หลายข้อ คำถามแรกทำไมระยะห่างเพียง 5 กิโลเมตรจากเมืองที่มีความเจริญติดอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงกีดกันความเจริญ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของคนในพื้นที่ได้ถึงเพียงนี้ รวมถึงคำสัญญามั่นหมายตลอดหลายชั่วอายุคน 

และบทสนทนาเล็กๆ เหล่านี้ได้ขยายไปสู่ภาพใหญ่ของปัญหาระบบการศึกษาไทย

ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของโรงเรียน หรือมาตรฐานการศึกษาในประเทศ กับคำถามที่ถกเถียงกันมาหลายสิบปีว่า โรงเรียนขนาดเล็กควรยุบหรือไม่ คำตอบของปัญหาที่กำหนดอนาคตของเด็กคนหนึ่ง และอนาคตของประเทศชาติ ควรหรือที่จะมีทางเลือกเพียงแค่ ยุบ หรือ ไม่ยุบ? 

นอกจากนี้ การดูแลที่ไม่ทั่วถึงจนถึงขั้นปล่อยปะละเลยตามสภาพดังกล่าว เราจะยังสามารถเรียกว่าเป็นการศึกษาตามมาตรฐาน ตามพื้นฐานได้อยู่หรือไม่? 

หากมองว่าการยุบโรงเรียนคือทางออก แต่ทางออกเหล่านี้ไม่ควรผลักภาระไปที่เด็กหรือครอบครัวที่ต้องแบกรับ 

ผู้มีหน้าที่ดูแลระบบการศึกษารวมถึงนโยบายเหล่านี้ เคยมีคำตอบและทางออกที่เหมาะสมให้กับ ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ บ้างไหม?

4

ดาวบนดิน

“อยู่มาสามรุ่น โดนขายฝันมาตลอดว่าจะมีไฟฟ้า พอชาวบ้านเสียงดังเรียกร้องที หน่วยงานต่างๆ ก็พากันมาลงพื้นที่ที พอชาวบ้านเงียบก็เงียบด้วย ที่ชาวบ้านทยอยออกไปจากเกาะเยอะก็เพราะเรื่องนี้แหละ พวกเขาต้องออกไปหางานข้างบน ถ้ามีไฟฟ้า ก็จะมีหลายอย่างเกิดขึ้น ชาวบ้านก็ยังอยู่” มะนก อายุประมาณ 55 ปี ประกอบอาชีพขายข้าวเอ่ยปาก

มะนกมองว่า หากไฟฟ้ามาถึงเกาะโหลน ความเจริญจะนำมาซึ่งอาชีพและคนก็จะกลับมาอยู่เกาะโหลนมากขึ้น แต่เพราะปัจจุบันไฟฟ้าไม่มา น้ำประปาไม่มี ทุกวันนี้คนในพื้นที่ต้องใช้น้ำบ่อดื่มกินและในกิจวัตรประจำวัน

น้ำบ่อที่บ้านของมูฮำหมัดใช้ในกิจวัตรประจำวัน

นกเงือก สิ่งมีชีวิตที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

เกาะโหลนและธรรมชาติ

“เมื่อก่อนใครมาหาเสียงบอกว่าจะเอาไฟฟ้ามาให้เราก็ดีใจ แต่ตอนนี้ถ้าใครจะมาพูด มะบอกเลยว่ามะขอไม่แหลง (พูด) ด้วย ตั้งแต่มะสาวจนแก่ ตอนนี้จะอายุ 73 จะจากโลกนี้ไปแล้วก็ยังไม่มี มะมองว่าถ้าที่นี่มีไฟฟ้านะ นายทุนคงมากว้านซื้อที่หมด ตอนนี้ที่บนเกาะจำนวนมากเป็นของนายทุน” จริยา คุ้มปาน วัย 72 ปี พูดเสริม

มะจริยาบอกต่อว่า ยังไม่ขายที่และไม่อยากขาย แต่เมื่อไรที่เธอเสียชีวิต ลูกหลานจะขายก็ตามแต่จะตัดสินใจ ปัจจุบันเธออาศัยอยู่คนเดียวบนเกาะโหลน ช่วงวันหยุดลูกหลานจะเดินทางกลับมาเยี่ยม เธอกล่าวว่าการที่บนเกาะนี้ไม่มีไฟฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากอาศัยอยู่ที่นี่ และส่วนใหญ่คนแก่ก็จะตามลูกหลานไปใช้ชีวิตบนฝั่ง

“บางคนส่งลูกไปเรียน เห็นลูกนั่งเรือเหนื่อยก็สงสารเลยตามลูกขึ้นไปอยู่บนฝั่ง พอไปปุ๊บมันสะดวกสบาย มีน้ำมีไฟใช้ อยู่ที่นี่มันลำบากนะ เช่นพอลูกหลานจะกลับบ้านทีก็ต้องนั่งเรือ 15 นาทีจากฝั่ง เวลามะจะไปไหน ก็ต้องติดเรือเขาไป”

จริยากับลูกสาวเปิดบ้านพักเป็นโฮมสเตย์ในชื่อ บ้านอันวา โฮมสเตย์

“มะเหงาไหม อยู่คนเดียว”

“โชคดีที่ทำโฮมสเตย์มีแขกมา ก็ไม่ค่อยเหงา”

“ที่ตรงนี้นายทุนก็ซื้อ ซื้อไปหมดแล้ว นี่ก็ซื้อ” จริยาพูดเสริมพร้อมชี้ให้ดูรายรอบบริเวณ

จากการพักอยู่ที่เกาะโหลนเป็นเวลาประมาณสามวัน และเดินสำรวจโดยรอบ เราพบว่าประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้สูงอายุ หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง และแทบจะไม่พบเด็กหรือวัยรุ่นเลย สำหรับเด็กที่ว่าก็คือนักเรียน 3 คน ในโรงเรียนเกาะโหลนตามกล่าวตอนต้น

“เหนื่อยมาก ปวดแข้งปวดขา เจ็บป่วยไข้ก็ต้องขึ้นเรือ” อรุณ ธนูสนธ์ อายุ 77 ปี เล่าว่าเมื่อวานต้องนั่งเรือไปฝั่งเพื่อไปหาหมอ

อรุณ ธนูสนธ์ อายุ 77 ปี อาศัยอยู่กับแมว 3 ตัว (อีกตัวไม่ยอมเข้ากล้อง)

แม้ว่าบนเกาะจะมีโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะโหลน (รพ.สต.เกาะโหลน) ที่เพิ่งสร้างใหม่ ใหญ่โตและโอ่อ่าก็ตาม แต่ รพ.สต.แห่งนี้ไม่มีแพทย์อยู่ประจำ การรักษาใหญ่ๆ หรือวินิจฉัยโรคจะต้องนั่งเรือ 15 นาทีเพื่อไปโรงพยาบาลบนฝั่งภูเก็ต 

เราไม่แน่ใจวันทำการของ รพ.สต.เกาะโหลนนัก แม้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจะแสดงว่าเปิดทำการทุกวัน แต่ช่วงเวลาที่เราอยู่เกาะโหลน ไม่มีวันไหนเลยที่ รพ.สต.แห่งนี้เปิดทำการ 

อรุณอาศัยอยู่ในกระต๊อบเล็กๆ เพียงคนเดียว เธอขึ้นลงหากิน เดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง และด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านบนเกาะ แม้เธอจะมีลูกหลาน แต่พวกเขาต่างอาศัยอยู่บนฝั่งและอยู่ต่างจังหวัด

“ไปโรงพยาบาลทีกลับมาก็เหนื่อยล้ามากเพราะนั่งเรือตากลมตากแดด เดือนหน้ายายก็ต้องไปอีก ครั้งก่อนปวดท้อง ท้องเสีย ยายต้องนั่งเรือหางยาวไปท่าเรืออ่าวฉลอง ทีนี้น้ำมันหมดกลางทาง ทุกคนต้องช่วยกันแจวเรือ ยายเกือบไม่รอดแล้ว เกือบตายแล้ว” 

ไม่รู้หรอกว่าวันข้างหน้าเกาะโหลนจะเป็นเช่นไร อาจเปลี่ยนโฉมเป็นเกาะสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสงบ อาจเต็มไปด้วยรีสอร์ต สปา ฯลฯ มากมาย แต่ภาพที่พอจะเห็นเค้าลางแน่ๆ คือเกาะแห่งนี้อาจะไร้ซึ่งชุมชน โรงเรียน และมัสยิดเช่นในอดีต

เด็กที่ยังอาศัยอยู่บนเกาะโหลน ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคนจนทุกวันนี้ ต่างเฝ้ารอและต้องการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่เพียงระยะ 5 กิโลเมตรของน้ำทะเลกั้น แต่คุณภาพชีวิตของผู้คนกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เกาะโหลนยามค่ำที่ไร้ซึ่งแสงไฟ

ขณะที่อีกฟากของน้ำทะเลกลับระยิบระยับไปด้วยแสงนีออน

“เห็นดาวบนดินไหม” มะนกร้านข้าวถาม

“ไหนคะ” เราพยายามมองหา

“นั่นไง ภูเก็ต มะเรียกว่าดาวบนดิน เพราะไฟฟ้าตรงท่าเรือดูสว่างเหมือนดวงดาว” 

มะชี้ให้ดูขณะที่พวกเรากำลังนั่งจุดตะเกียงกินข้าวท่ามกลางความมืดอยู่ริมหาด…ที่ที่แสงไฟในระยะ 5 กิโลเมตรกลับส่องสว่างยิ่งกว่าแสงตะเกียงในรัศมีไม่เกิน 5 เมตร…ตรงหน้าพวกเรา

Fact Box

  • เกาะโหลนตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านเกาะโหลน ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต อยู่ห่างจากท่าเรืออ่าวฉลองประมาณ 5 กิโลเมตร 
  • ป้ายไวนิลบริเวณมัสยิดเกาะโหลนระบุว่า จำนวนประชากรในพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 พบว่ามีผู้อาศัยอยู่จริงจำนวน 66 คน 
  • เกาะโหลนไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา
  • บนเกาะมีโรงเรียนเกาะโหลน มัสยิดดารุลอิสลาม บ้านเกาะโหลน และโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะโหลน

Tags: , , , , , , , , , , ,