เรื่องตำรวจแต่งงานกับผู้ชาย ไม่ใช่แค่เรื่องตำรวจแต่งงานกับผู้ชายได้หรือไม่เท่านั้น

แต่เรื่องนี้เป็น ‘อาการ’ ที่ส่อแสดงถึงสมุฏฐานของ ‘โรคเรื้อรัง’ ที่ยังฝังลึกอยู่ภายในสังคมไทยหลายระดับ

เคยมีนักต่อสู้ทางการเมืองคนหนึ่งในอินโดนีเซียที่ไม่ยอมเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยให้เหตุผลว่า ลัทธิทหาร หรือ Militarism นั้น ไม่ได้แค่เกี่ยวพันกับการสร้างอคติและมายาคติทางเพศในแบบผู้ชายเป็นใหญ่เท่านั้น แต่ยังคือ ‘ใจกลาง’ ของแนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่ด้วย เพราะ Militarism สร้างตัวเองบนฐานชายเป็นใหญ่ และ ‘ผลิตซ้ำ’ วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่เพื่อธำรงรักษาโครงสร้างของตัวเองเอาไว้เสมอมา ดังนั้นจึงพูดได้ว่า Militarism (ไม่ว่าจะในระดับไหน) มีอาการของ Sexism ผนึกแน่นอยู่ในตัว

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ยอมเกณฑ์ทหาร เพราะไม่อาจยอมรับวิถีปฏิบัติที่มีอาการ Sexism ได้

 

ผมคิดว่าวงการตำรวจนั้น แม้จะไม่ใช่ทหารโดยตรง แต่ก็ยังมีลักษณะของการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยแนวคิดที่มีฐานคล้ายๆ Militarism อยู่ไม่น้อย

คำว่า Militarism คือความเชื่อหรือความคิดของรัฐบาลหรือกลุ่มบุคคล ที่เห็นว่ารัฐหนึ่งๆ ควรต้องสามารถและเตรียมตัวปกป้องหรือเสริมสร้างผลประโยชน์ของประเทศตัวเองได้ด้วยวิธีที่ก้าวร้าว พูดอย่างหยาบๆ Militarism ก็คือแนวคิดแบบเกาหลีเหนือนั่นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้านำ Militarism มาจับกับเรื่องเพศสภาพหรือ Gender จะเห็นว่ามีการตีความลึกลงไปอีกหลายชั้น โดยเฉพาะในการดูว่า Militarism ถือกำเนิดขึ้นมาบนฐานคิดแบบไหน พบว่าแม้กระทั่ง Militarism ในดีกรีที่อ่อนๆ ก็ยังมีลักษณะของการ ‘เหยียดเพศ’ (อื่นๆ) อยู่เสมอ เพราะนี่คือวิธีหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ ระเบียบ ความแข็งแกร่ง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้น

เมื่อมองแบบนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจเลย ที่ตำรวจหนุ่มผู้แจกการ์ดแต่งงานกับผู้ชาย จะต้องถูกสอบสวน โดยผู้สอบสวนบอกว่าเป็นการ ‘ตรวจสอบความจริง’ ว่าเป็นอย่างไร และการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อระเบียบวินัย ข้อบังคับ และ ‘ประมวลจริยธรรม’ อันดีของข้าราชการตำรวจหรือไม่

เข้าใจว่า ผลการตรวจสอบน่าจะใช้เวลาราว 7 วัน ซึ่งขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ ผลการตรวจสอบยังไม่ออกมา

คำถามถัดมาก็คือ แล้วถ้าดูในระดับของ ‘กฎหมาย’ เรื่องนี้เป็นอย่างไร

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้น ที่ผมพอจะรู้ มีอยู่สามกฎหมายใหญ่ๆ ด้วยกัน

กฎหมายแรกคือรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่บอกว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ฯลฯ จะกระทำมิได้

รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้มีคำว่า ‘เพศสภาพ’ (ซึ่งหมายถึง Gender) อยู่ด้วย แต่มาถูกตัดคำว่า ‘สภาพ’ ออก ให้เหลือแต่คำว่า ‘เพศ’ และก่อนหน้าที่จะมีคำว่า ‘เพศ’ ก็มีประโยค ‘ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ ซึ่งหากมองโลกในแง่ร้าย ก็อาจตีความได้ว่า คำว่า ‘เพศ’ (ที่ไม่ใช่ ‘เพศสภาพ’) นั้น, มีความหมายถึงเฉพาะ ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ เท่านั้น ที่จะมี ‘สิทธิ’ เท่าเทียมกันได้ คนเพศอื่นๆ อาจไม่มีสิทธินั้น

การตัดคำว่า ‘เพศสภาพ’ ออก เท่ากับการย้อนกลับไปคิดในกรอบแบบเดิม ว่าเพศในโลกนี้มีเพียงสองเพศเท่านั้น เพศอื่นๆ เพียงแต่มี ‘การแสดงออกที่แตกต่าง’ ไปจากเพศดั้งเดิมของตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นอีก ‘เพศ’ ที่มีสิทธิเท่าเทียมกับเพศชายและหญิงไปด้วย

ถ้าไปดูกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เราจะพบว่าในกฎหมายนี้ แม้มีเป้าหมายอยากสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ในมาตรา 3 ที่พูดถึง ‘การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ’ ก็บอกเอาไว้ชัดเจนว่า จะเลือกปฏิบัติ ‘เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด’ ไม่ได้

จะเห็นว่า ต่อให้เป็นพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ก็ยังมีฐานคิดอยู่ใน ‘กล่อง’ ของเพศสองเพศ ซึ่งเรียกว่า ‘เพศกำเนิด’ หรือ ‘เพศทางชีววิทยา’ คือชายกับหญิงอยู่ดี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายนี้ไม่มีความเข้าใจลึกซึ้งไปถึง Queer Theory หรือทฤษฎีว่าด้วยความหลากหลายทางเพศที่ก้าวไปไกลมากแล้ว

แต่โชคดีอยู่นิด ที่กฎหมายนี้ในมาตรา 13 ระบุให้มีคณะกรรมการที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ’ หรือ วลพ. ซึ่งทำหน้าที่หลักในการวินิจฉัยปัญหาว่าเรื่องไหนมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ รวมทั้งสามารถประสานงานเพื่อให้ความคุ้มครองเมื่อเกิดการเลือกปฏิบัติ แถมยังมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีที่เหมาะสมได้ด้วย

เพราะฉะนั้น ต่อให้ ‘ฐานคิด’ ของกฎหมายยังคงตามยุคสมัยและแนวคิดทางวิชาการในโลกสังคมศาสตร์ไม่ทัน แต่การมีคณะกรรมการ วลพ. ขึ้นมา ก็ต้องบอกว่า – ก็ยังดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ใครมาเป็นคณะกรรมการนี้ด้วย เพราะเอาเข้าจริง กฎหมายมากมายในสังคมไทยก็ขึ้นอยู่กับ ‘ข้อวินิจฉัย’ ของบรรดา ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นไปอย่างไรก็เหลือพ้นจะคาดเดา

 

อีกกฎหมายหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ ‘พระราชบัญญัติคู่ชีวิต’ ซึ่งยังอยู่ในระดับ ‘ร่าง’ เท่านั้น ยังไม่ได้ประกาศออกมาเป็นกฎหมายใช้จริง แม้มีการร่างกันหลายฉบับ แต่เมื่อยังไม่ได้มีการนำมาใช้จริง ก็แปลว่าตามกฎหมายไทย การแต่งงานของตำรวจกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง – ไม่อาจถือว่าเป็นการแต่งงานได้

ที่น่าสนใจก็คือ ในการสั่งการให้ตรวจสอบการแต่งงานนี้ มีการสั่งให้ตรวจสอบเชิงลึก (ซึ่งก็ไม่เห็นจะลึกตรงไหน) ด้วยว่า ตำรวจคนดังกล่าวมีครอบครัว มีภรรยา มีลูก ก่อนที่จะไปแต่งงานใหม่ (กับผู้ชาย) หรือไม่ ถ้ามี ได้หย่าร้างไปตามกฎหมายแล้วหรือยัง ผมเข้าใจว่าที่สั่งให้สอบเรื่องนี้ น่าจะเป็นเพราะถ้าแต่งงานแล้ว แต่ไป ‘จดทะเบียนสมรสซ้อน’ กับคนอื่นก็จะถือว่ามีความผิดตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการ สามารถเอาผิดได้

แต่เรื่องนี้น่าตลก เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ตำรวจคนนั้นไม่มีทางที่จะ ‘จดทะเบียนสมรสซ้อน’ กับผู้ชายในดินแดนไทยได้เป็นอันขาด เพราะเราไม่มีกฎหมายนี้

ทั้งการไม่มีกฎหมายนี้ และการเห็นคนอยู่ในกล่องของสองเพศเท่านั้น จึงเสมือนกับว่า ในทางกฎหมายแล้ว รัฐไทยไม่เคย ‘เห็น’ ว่าบนแผ่นดินนี้มีคนในกลุ่ม ‘เพศหลากหลาย’ อยู่จริง แต่เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้น กลับจะย้อนไปนำเอากรอบคิดแบบสองเพศมาจับ เพื่อหาข้ออ้างในการลงโทษคนที่มีเพศหลากหลาย จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องตลก เพราะไร้หลัก ย้อนแย้งกลับไปกลับมา ไม่ได้ใช้ตรรกะชุดเดียวกันในการพิจารณาเรื่องแบบเดียวกัน

 

การจะ ‘เอาผิด’ กับตำรวจคนที่แต่งงานกับผู้ชายนั้น หากจะเป็นไปได้ ก็แปลว่าตำรวจคนนั้นต้องทำผิดกฎหมายอะไรสักอย่าง แต่การแต่งงานกับผู้ชายไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย (เพราะไม่มีกฎหมายนี้) ดังนั้น ถ้าไปเริ่มต้นเอาผิดเพราะการแต่งงานกับผู้ชาย จึงเป็นการพยายามจับผิดที่ผิดฝาผิดตัว และสำแดงให้เห็นว่า ‘โรค’ ที่เราว่ากันมาตั้งแต่ต้น ฝังลึกอยู่ใน ‘ระบบคิด’ ระดับวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว (ยิ่งถ้าการแต่งงานกับผู้ชายทำให้ไปขุดคุ้ยความผิดอื่นๆ ขึ้นมา ก็ยิ่งน่าสนใจ – ว่าเพราะเหตุใดจึงมาเริ่มต้น ‘เห็น’ ความผิดด้วยเรื่องนี้)

วัฒนธรรมที่ว่า ไม่ใช่ ‘วัฒนธรรมไทย’ ด้วยซ้ำนะครับ เพราะในวัฒนธรรมไทยแท้ๆ แต่โบราณมา เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตาย เราเป็นสังคมที่มีวุฒิภาวะเรื่องเพศมากขนาดนำเรื่องเหล่านี้มาล้อเลียนล้อเล่นเป็นความบันเทิงกันได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองกลับไปดูการละเล่นเพลงพื้นบ้านเก่าๆ ดูก็ได้ครับ หากมีการศึกษาเรื่องเพลงพื้นบ้านจริงๆ อยู่บ้าง ไม่ใช่แค่เพลงพื้นบ้านในระดับรัฐสั่ง ก็จะเห็นว่าเพลงพื้นบ้านโบราณของเราจำนวนมาก วนเวียนอยู่กับการล้อเล่นล้อเลียนเรื่องเพศทั้งสิ้น และไต่อยู่ตรงเส้นของความหยาบโลนไม่หยาบโลน สองแง่สามง่าม โดยนำศิลปะแห่งการรังสรรค์ถ้อยคำมาโอบอุ้มด้วยปฏิภาณอันสูงเยี่ยม มีไหวพริบที่จะพลิกถ้อยคำต่างๆ มาถกกันในชั่วเสี้ยววินาที (เพราะเป็นการแสดงสด) ดังนั้น วัฒนธรรมไทยแต่เดิมจึงไม่ได้ ‘บ้า’ ไปกับเรื่องเพศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เป็นการไปรับเอาชุดศีลธรรมแบบวิคตอเรียน เพื่อพยายามทำประเทศให้ทันสมัยในสายตามหาอำนาจตะวันตกต่างหาก ที่ทำให้เราเกิดอาการชิงชังรังเกียจเรื่องเพศฝังลึกลงไปในสำนึกอย่างที่เราเป็นอยู่ เราเคร่งครัดกับเรื่องเพศ โดยไม่เคยหลุดออกจากอคติทางเพศแบบวิคตอเรียนเลย ทั้งที่ในโลกตะวันตกได้หลุดออกมาจากกรอบคิดแบบนี้นานแล้ว

 

ทั้งหมดนี้บอกอะไรเราบ้าง?

 

สำหรับผม ทั้งหมดนี้นอกจากจะบอกว่าสังคมไทยมี ‘โรคเรื้อรัง’ ในเรื่องเพศที่ฝังลึกอย่างไรแล้ว ยังบอกเราด้วยว่าเราเป็นสังคมที่สมาทาน ‘อำนาจนิยม’ กันแบบฝังหัวขนาดไหน เพราะเรายอมรับอำนาจจากโลกตะวันตกยุควิคตอเรียนและการล่าอาณานิคมอำพราง ให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับเพศของเราไปอย่างหมดจดรวดเร็ว เราพยายามใช้อำนาจอย่างเป็นทางการที่มีอยู่ไปจัดการกับเรื่องที่เราไม่ได้มีอำนาจจัดการ (อย่างการแต่งงานที่ไม่ใช่การแต่งงานตามกฎหมาย) และเรายังใช้อำนาจของรัฐ อำนาจของสื่อ อำนาจของศีลธรรม เพื่อสำแดงความเหนือกว่าของตัวตนออกมาด้วย

ทั้งหมดนี้ถูกสรุปรวมไว้ในพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ด้วยวลี ‘ตำรวจนะยะ’ ที่เป็นการกวาดรวมทุกอคติและทุกอำนาจนิยมเอามาไว้ในคำสั้นๆ ได้อย่างน่าพิศวง เพราะวลี ‘ตำรวจนะยะ’ บอกเราถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ซ่อนอยู่ใต้เครื่องแบบและความคิดนิยมทหาร รวมไปถึงส่อนัยบอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำในเรื่องเพศ พร้อมกับใช้อำนาจทางวัฒนธรรมข่มขู่กลายๆ ภายใต้วลีเดียว – เพื่อบอกว่านี่คือเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ เป็นวลีที่สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจนิยมในอันที่จะจัดการกับความละเอียดอ่อนทาง ‘เพศวิถี’ และ ‘เพศสภาพ’ ด้วยวิธีที่หยาบกร้าน

เรื่องตำรวจแต่งงานกับผู้ชาย จึงไม่ใช่แค่เรื่องตำรวจแต่งงานกับผู้ชายเท่านั้น

แต่คือการบอกว่า เราอยู่ในสังคมที่ ‘ป่วย’ ด้วยโรคอะไรด้วย

 

ภาพประกอบ: คุณเค

Tags: , , , , , , , ,