เราเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี เมื่อห้าปีก่อน ตอนอายุ 15 เราติดเชื้อเอชไอวี และเจอปัญหาจากระบบบริการสาธารณสุขของเยาวชนและคนรุ่นใหม่

“เรื่องเอชไอวี มันยังคงมีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ เช่น เอาคลินิกเอชไอวีออกมาตั้งแล้วบอกว่านี่คือคลินิกเอชไอวี คนเขาไม่โอเค หรือปัญหาเรื่องการมีคลินิกเด็กแล้วข้ามไปคลินิกผู้ใหญ่เลย ทำให้เกิด gap ตรงกลาง ที่บางคนยังไม่พร้อมไปคลินิกผู้ใหญ่ แล้วแปลว่าเขาต้องไปอยู่คลินิกเด็กเหรอ เยาวชนจะเข้าถึงบริการตรงนี้ได้อย่างไร เยาวชนจะรับบริการได้ตรงไหน

“เราอยากให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ให้สามารถดำรงชีวิตได้เฉกเช่นคนทั่วไป ไม่ต้องการรับสมาชิกใหม่ ต้องการให้เอชไอวีเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก ก็พยายามทำกันอยู่ แต่เราพบว่า เวลาที่เราได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข มันไม่มีที่พึ่งเลย

“คนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีสิทธิด้านสุขภาพ ไม่รู้ว่าควรได้รับสิทธิ์แบบไหน ตอนนี้สิทธิ์มันเหลื่อมล้ำกัน เช่น ผมทำงานในบริษัทเอกชน ก็ต้องย้ายสิทธิ์จากบัตรทองไปใช้ประกันสังคม ต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล เปลี่ยนยา เปลี่ยนหมอ มันมีปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่ อย่างตัวยา แทนที่เราจะได้รับยาตัวที่เรากินแล้วไม่ดื้อยาหรือไม่มีผลข้างเคียง กลับกลายเป็นว่าพอเราย้ายสิทธิ์ปุ๊บ ได้รับยาอีกตัวหนึ่งซึ่งดื้อยา มันมีเรื่องปลีกย่อยมากที่ต้องเริ่มกระบวนการหลายๆ อย่างใหม่ เกิดความวุ่นวายและทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าเข้ามารับบริการ

“เราไม่ได้บอกว่า บัตรทองคือสิ่งที่ดีที่สุดหรือประกันสังคมคือดีที่สุด หรือระบบรักษาพยาบาลของข้าราชการคือดีที่สุด แต่เรามองว่า การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศนี้ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ก็ควรได้รับสิทธิ์การรักษาอย่างเท่าเทียมกัน

“จริงๆ เรามีข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้ ยังมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอีกจำนวนมาก ซึ่งนี่เป็นช่องโหว่ และเป็นปัญหา โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้รับการดูแลหรือไม่ได้รับการเปิดพื้นที่ให้เขาสามารถร่วมออกแบบบริการทางสุขภาพได้ แต่กลับเป็นที่คาดหวังด้วยตัวเลขหรือจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือนู่นนี่นั่น ปัญหาคือ พอมันมีตัวเลข แล้วคุณก็มองว่าเขาเป็นตัวปัญหา มันก็เลยทำให้คุณก็จัดการในรูปแบบของตัวปัญหา

“แต่ถ้าวันนี้เรามีสิทธิ์มีเสียง เข้าไปมีส่วนร่วมจัดตั้งหรือออกแบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับประชาชนทั่วประเทศ ผมเชื่อเสมอว่า สุดท้ายแล้วเราจะไม่ได้มองคนป่วย คนไข้ หรือคนที่มีความเสี่ยงว่าเป็นตัวปัญหา แต่จะมองว่าเขาคือหนึ่งในพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาให้ประเทศนี้เจริญเติบโตได้ ผมว่าระบบสุขภาพมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถ้าคุณไม่มี ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้หรอก”

อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’

 

Fact Box

กฤตนัน ดิษฐบรรจง (ปังปอนด์) อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

Tags: , , ,