“ผมทำธุรกิจแนะแนวไปศึกษาต่อต่างประเทศ มันมาจากความคิดที่มีอยู่ในหัวตั้งแต่ ม.3 ว่า เราไปเรียนหนังสือ เสร็จแล้วก็หยุดประมาณหนึ่งสัปดาห์เพื่อท่องจำ เสร็จแล้วก็ไปสอบ เราทำไปเพื่ออะไร ด้วยโชคและด้วยสถานะทางครอบครัว มันเกื้อหนุนให้ผมมีตัวเลือกที่เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงตลาดแรงงานมาก เราแค่ตั้งคำถามว่าอยากจะทำอะไรต่อ ก็เลยมีโอกาสได้ไปเรียนโรงเรียนดนตรีที่มหิดลดุริยางคศิลป์ แต่ว่าเรียนดนตรีแล้วมันก็ยังไม่ใช่อีก ผมเลยหยุดเรียนไปปีหนึ่ง เป็น gap year ก็ไปอยู่ที่อเมริกาประมาณเดือนหนึ่ง

“ต่อมาก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ กิจกรรมปีแรกที่ทำก็เป็นงานบริการดูแลสนับสนุนการเรียนรู้ของเพื่อนนักเรียนจากหลากหลายชาติ ปีที่สอง ผมลงเลือกตั้งเป็นประธานสภานักศึกษาของวิทยาลัย การที่เราเป็นคนต่างชาติแล้วเราไปทำตรงนั้น มันเป็นโอกาสมากๆ ที่ทำให้เห็นวิธีคิดและ โครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม เรามีโอกาสตัดสินใจเรื่องการจัดการงบประมาณของนักศึกษา การจัดการเรื่องการหาตัวแทนของนักศึกษามาอยู่ในกรรมการชุดต่างๆ มีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมในคณะกรรมการสรรหาที่จะเลือกผู้บริหาร มันเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างเปิดโลกมาก

“ปัญหาหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ การทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม แล้วทำให้คนรู้สึกว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมจัดการส่วนกลางได้ ตัวอย่างเช่นเรื่องภาษี การที่ผมทำกิจการ แล้วก็เป็นผู้ว่าจ้าง ผมก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย มันก็จะมีเสียงที่ผมได้ยินอยู่เรื่อยๆ ว่า ไม่หักได้ไหม หรือขอไม่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไหม ผมเข้าใจว่า เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร มันเป็นระบบที่ไม่ได้ส่งเสริมให้คนซื่อสัตย์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม คนก็พยายามมองว่า เอ๊ย แล้วมันจะหลบเลี่ยงได้อย่างไร

“ในทางกลับกัน ผมเข้าอยู่คอนโดฯ มีส่วนกลาง แนวคิดคล้ายๆ กันเลย เราอยู่ด้วยกัน เราแชร์ทรัพยากรส่วนกลางร่วมกัน เราก็จ่ายค่าส่วนกลาง แต่มันเป็นยูนิตที่ใกล้ชิดกว่าและเล็กกว่า สังเกตเห็นได้ว่าคนจะใช้สิทธิ์เสียงในการทักท้วงเมื่อมีอะไรเสียหาย เมื่อส่วนกลางของคอนโดฯ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น เขาก็จะเรียกร้อง จะพยายามมีส่วนร่วม เพราะเขาใกล้ชิดกับมัน เขารู้สึกว่ามันจับต้องได้กับสิ่งที่เขาจ่ายไป แต่ว่าเราปฏิบัติแตกต่างกันมากเลยครับ อันหนึ่ง เราใช้สิทธิ์เสียงเรียกร้องเพราะเราจับต้องได้ มันใกล้ชิด อีกทางหนึ่งคือเรื่องของสังคม เรื่องของภาษีที่เราจ่าย เราเลี่ยงที่จะจ่าย เราไม่ซื่อสัตย์ในการอยู่ร่วมกัน

“การที่ระบบในสังคมไม่ได้ส่งเสริมให้เราซื่อสัตย์ในการอยู่ร่วมกัน ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้อาจแก้ไขได้โดยการทำข้อมูลเปิดของรัฐ เป็น open data รัฐควรจะมีข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นข้อมูลเปิดที่คนสามารถทำความเข้าใจได้ ไม่ใช่แค่อะไรที่มันเป็น official มากๆ มาวาง และรัฐควรปรับตัว มองตัวเองในฐานะเป็นคนบริการของประชาชน บริการเพื่อประชาชน ทำให้มันโปร่งใสว่าเราใช้งบประมาณไปเพื่ออะไร ใช้อย่างไร คนจะได้รู้สึกกว่ามันจับต้องได้ สิ่งที่เขาจ่ายไป มันทำให้เขารู้สึกมั่นคงในชีวิต มันทำให้เขารู้สึกว่า สังคมนี้ดูแลเขาด้วย ไม่ใช่ขูดรีดเขาอย่างเดียว

“ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้คนที่หมดหวังทางการเมือง ทำอย่างไรให้คนที่รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก กลับมาเห็นว่าการเมืองมันมีความเป็นไปได้มากกว่าเดิม มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง แล้วเรามีส่วนร่วมได้ มันไม่ใช่เรื่องที่น่าขยะแขยง ผมก็อยากจะมีส่วนร่วมในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเหมือนกัน

“ผมหวังว่า รัฐหรือกลไกของรัฐจะมีระบบที่ใช้งานได้จริง เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรส่วนกลาง จัดการภาษีที่ประชาชนจ่ายมา อย่างน้อยที่สุดมันควรจะกลับไปเป็นสวัสดิการของคนที่แตกต่างหลากหลาย คนควรจะมีโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันมากขึ้น ถามว่าความฝันคืออะไร ผมคิดแค่ว่าอยากให้กลไกรัฐมันฟังก์ชัน แล้วก็ทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น

“ในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจมาเข้าร่วมในพรรคที่จะเกิดขึ้น ผมก็มีความกลัวว่ามันจะส่งผลต่อความเป็นส่วนตัว ส่งผลกับคนใกล้ตัวไหม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ผมเลือกที่จะทำเพราะผมไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ แต่เราก็ไม่รู้ว่าตัวเราเองจะอยู่กับสังคมนี้ได้ไหม ถ้าเราไม่ได้ fit in ถ้าเราไม่ได้รู้สึกว่าสังคมนี้มันน่าอยู่ ถ้ามีโอกาสแล้วเราไม่เลือกที่จะทำ เราคงจะเสียใจหรือผิดหวังกับตัวเองในอนาคต แต่มันมีความกลัวอยู่แล้ว มันก็คงจะมีอะไรที่เกินสิ่งที่เราจะควบคุมและจัดการได้ ก็คงต้องรอดูว่ามันจะเป็นอย่างไร “ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว เรามาด้วยเจตนาที่ดี แล้วเราทำสิ่งนี้ เพื่อที่อนาคตเราจะได้ไม่ผิดหวังกับตัวเอง ไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นนะครับ มันเป็นการตัดสินใจที่เราทำความเข้าใจกับตัวเองมาแล้ว”

อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’

Fact Box

กันต์พงศ์ ทวีสุข (กันต์) อายุ 27 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศ ก้อปันกัน

Tags: , , ,