“เป็นนักข่าวอยู่ที่เว็บไซต์ thisable.me เป็นสำนักข่าวคนพิการ ทำสกู๊ป สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง กีฬา ความรัก เพศสภาพ สังคม ศิลปวัฒนธรรม แต่มีตัวละครในข่าวเป็นคนพิการ เหตุผลหลักที่ทำเว็บไซต์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเป็นคนพิการด้วย อีกส่วนคือ วิธีมองคนพิการในสังคมยังเป็นไปในแนวที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนพิการอยู่ เลยคิดว่าพื้นที่ตรงนี้และการทำข่าวที่มี actor แบบนี้มีความจำเป็น และจะสร้างสรรค์อะไรได้มากขึ้น
“แรงจูงใจในการเข้ามาร่วมทีมสนับสนุนพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่นั้นก็เพราะมองว่า ไม่ว่าจะทำประเด็นไหน คนพิการ คนไม่มีสัญชาติ คนชายขอบทั้งหลาย ทุกประเด็นมันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกว่าแปลกแยกที่จะไปร่วมกับพรรคการเมือง และยิ่งทำงานในสายข่าวเยอะๆ ยิ่งเห็นว่าปัญหาหลายอย่างมาจากนโยบายของภาครัฐที่ออกแบบมาไม่ตอบสนองต่อทุกกลุ่มในสังคม ถ้ามีโอกาสมาทำงานในส่วนนี้ด้วยความเข้าใจและเห็นปัญหาจริงๆ มันอาจทำให้การออกแบบนโยบายต่างๆ ไม่ใช่แค่เหมาะสมกับคนพิการ แต่เหมาะสมกับคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย
“ถามว่าทำไมเป็นพรรคนี้ ตั้งแต่เริ่มทำงานในสายสื่อ เราได้เจอคนรุ่นใหม่มากมาย ไม่ว่าจะทำเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หลายคนชอบพูดว่าคนมีประสบการณ์เยอะๆ เท่านั้นถึงจะทำงานได้ดี แต่ความเข้าใจแบบนี้มันเปลี่ยนไปแล้วตามยุคสมัย ในยุคนี้ คนรุ่นยี่สิบกว่าปีถึงสามสิบห้า เขาอยู่ในช่วงวัยทำงานและน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานให้ประเทศ เราเจอคนรุ่นใหม่มากมายที่มี passion ในการแก้ปัญหาประเด็นปัญหาต่างๆ แล้วพรรคนี้ก็เปิดให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น พัฒนานโยบาย จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสเสนอนโยบายด้วยตัวเขาเอง
“ถามว่าเขาชวนเพราะเราเป็นคนพิการหรือเปล่า…ก็อาจจะส่วนหนึ่ง แต่โดยส่วนตัว เราก็ไม่ได้สนใจประเด็นคนพิการอย่างเดียว แต่ก็ยังสนใจเรื่องอื่นๆ อีก เช่น เรื่องศิลปะ เรื่อง gender ด้วยความที่เราเรียนจบด้านศิลปกรรม ภาควิชาทัศนศิลป์ เอกจิตรกรรม ช่วงที่เรียนก็มีความพยายามจะสื่อสารประเด็นคนพิการ แต่เราพบว่าประเด็นทางสังคมนั้นถูกแยกขาดจากงานศิลปะ หลายครั้ง คนที่ชมงานหรือคนที่สอนเองก็มักมองว่าประเด็นสังคมการเมืองไม่ควรมาอยู่ในงานศิลปะซึ่งบริสุทธิ์ สวยงาม พอเราพยายามเสนอไอเดียเหล่านั้น ก็มักถูกกันออก งานศิลปะเพื่อสังคมหรือสะท้อนสังคมไม่ได้ถูกนำเสนอมากนักในสังคมไทย หรือแม้เสนอได้ก็เสนอในวงจำกัด ไม่ใช่ในหอศิลป์ที่ทุกคนไปดูได้ เราก็อยากจะเปลี่ยนความคิดของคนในแวดวงศิลปะด้วยเหมือนกันว่าศิลปะอาจสะท้อนสังคมด้วยก็ได้
“ส่วนของประเด็น gender ช่วงแรกๆ ที่ทำงาน เราถูกมอบหมายให้ทำประเด็น gender เพราะยังไม่ได้มี passion อะไรเป็นพิเศษ เราเลยได้ทำหัวข้อนี้เยอะ ได้เจอเรื่องราวมากมาย ทั้งประเด็นผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศ เราพบว่าประเด็นพวกนี้น่าสนใจ ในสังคมยังมีการกีดกันและเลือกปฏิบัติ คล้ายคลึงกับประเด็นคนพิการ และเราเข้าใจมันได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นก็ได้
“ถ้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ มันมีทั้งส่วนของทัศนคติทางสังคมและเรื่องนโยบาย คนออกนโยบายที่ไม่เข้าใจหรือไม่ได้มีทัศนคติที่ดีต่อคนพิการหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ย่อมออกนโยบายที่ไม่สอดคล้องและไม่ส่งผลดีต่อคนเหล่านั้น ที่ผ่านมา การต่อสู้เรื่องคนพิการค่อนข้างโดดเดี่ยวและแปลกแยก เรื่องคนพิการมันถูกขับเคลื่อนโดยคนพิการ ต่อสู้โดยคนพิการเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้พลังมีน้อยลง แล้วคนก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องใส่ใจ เช่น คนที่ขับเคลื่อนเรื่องลิฟต์ก็จะมีแต่คนนั่งวีลแชร์ คนขับเคลื่อนเรื่องหวยก็มีแต่คนตาบอด มันถูกทำให้เป็นอย่างนี้มายาวนานแล้ว ต้องการอะไรก็เรียกร้องในสิ่งนั้น โดยไม่มองถึงภาพรวมว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้น ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ทำงานร่วมกับคนอื่นที่สนใจหลากหลายประเด็น และการออกแบบเรื่องหลายเรื่องที่คิดอย่างครอบคลุมทุกคนแต่ต้น มันน่าจะดีกว่าการมานั่งไล่แก้ทีละประเด็นว่าทำไมไม่คิดถึงคนนี้ ทำไมไม่ครอบคลุมคนนั้น
“แน่นอนว่า ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย ความไม่เชื่อมั่น กระทั่งการสบประมาทคงจะมีให้เห็น คงต้องยอมรับว่ามันอาจจะยังมีเรื่องพวกนี้ แต่คนเราต้องมีครั้งแรก ต้องมีวันแรกที่คนจะเข้าไปโดยที่ไม่มีประสบการณ์ ก่อนทำงานข่าวก็ไม่เคยเขียนข่าว ไม่เคยสัมภาษณ์คนมาก่อน เรื่องเหล่านี้มันพัฒนาได้ มันเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น…จริงๆ ก็กลัวเหมือนกัน เข้าใจว่าวงการการเมืองมันค่อนข้างโหดร้าย แต่เชื่อมั่นว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวไปได้
“ที่เรายังมีความหวังว่าตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ก็อาจเป็นเพราะเรายังต้องอยู่ในประเทศนี้อีกนาน ต้องทำงานที่นี่ ต้องฝากชีวิตกับประเทศนี้ มันก็จำเป็นที่เราต้องพยายามทำให้ความเป็นอยู่ของเราทุกคนดีขึ้น มีหลักประกันที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่อาจจะกล้าฝันมากกว่าคนที่อยู่มานานแล้ว เพราะเรายังอยู่มาไม่นานและน่าจะยังอยู่อีกนาน
“ส่วนที่บ้านก็รู้แล้วและคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เขาก็ถาม “เอ๊ะ เลือกตั้งอะไร” “พรรคการเมืองอะไร” (หัวเราะ) เข้าใจว่าเขาไม่ได้เลือกตั้งมานานแล้ว เขาดูงงๆ พอคุยกับเขาว่ามันเป็นพรรคที่ทำงานโดยคนรุ่นใหม่ นู่น นี่ นั่น อยากจะมีประเด็นคนพิการเพิ่มเข้าไปด้วย เขาก็โอเค ไม่รู้ว่าเขาเข้าใจที่เราพูดแค่ไหน เราก็แอบแซวว่า ‘แม่มาเป็นสมาชิกพรรคด้วยเนอะ’ แม่ก็ว่า ‘ได้ๆ’ คิดว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่นี่มันแค่เริ่มต้น”
อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอก) อายุ 39 ปี นักธุรกิจ นักกิจกรรม
- ไชยวัฒน์ วรรณโคตร (อิง) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กันต์พงศ์ ทวีสุข (กันต์) อายุ 27 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศ ก้อปันกัน
- อลิสา บินดุสะ (ฝน) อายุ 23 ปี นักศึกษาปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (จุ๊ย) อายุ 34 ปี นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์
- กฤตนัน ดิษฐบรรจง (ปังปอนด์) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
Fact Box
นลัทพร ไกรฤกษ์ (หนู) อายุ 25 ปี ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thisable.me