ทุกคนมีลากเลื่อนติดตัวสำหรับใส่สัมภาระและอาหารไปได้คนละ 100 กิโลกรัม ที่ต้องคำนวณแผนให้อยู่รอดได้ใน 45 วัน เพื่อเดินเท้าจากขอบทวีปแอนตาร์กติกาสู่ใจกลางขั้วโลกใต้ รวมระยะทางกว่า 1,400 กิโลเมตร ในสภาพอากาศหนาว -50 องศาเซลเซียส เป็นการผจญภัยแบบเอ็กซตรีมที่เขานำทีมนักผจญภัยอีกเก้าชีวิตไปทดสอบขีดจำกัดของตัวเอง ว่าจะสามารถวางแผนและตระเตรียมตัวเองให้เดินทางบนเส้นทางที่ยากลำบากเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้หรือไม่

นั่นคือบทบาทของนักผจญภัย ที่ ‘เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ นำทีมเดินทางเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุดในเดือนมีนาคมปีนี้ เขาปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกครั้ง แต่ด้วยภาพที่เปลี่ยนไป ประกาศจับมือกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าจดแจ้งชื่อเพื่อตั้งพรรคการเมือง

ย้อนไปราว 20 ปีก่อน ธนาธรเคยฝันว่าเมื่อเรียนจบจะทำงานเป็นเอ็นจีโอ ในฐานะนักศึกษาและนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาและเพื่อนเคยร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน เครือข่ายสลัมสี่ภาค ฯลฯ

แต่ธนาธรก็เผชิญกับทางแพร่งของชีวิต เมื่อครอบครัวดึงเขา-ลูกชายคนโตของครอบครัวเชื้อสายจีน ให้กลับไปช่วยกิจการที่บ้านหลังจากพ่อเสียชีวิตในปี 2545 ขณะเขาอายุ 23 ปี เขาต้องละจากฝันที่ตั้งไว้ กลับไปประคองธุรกิจใหญ่ในนาม ไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้ประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์

ปัจจุบัน ในวัย 39 ปี ธนาธรมากับเป้าหมายใหม่ คือการตั้งพรรคการเมือง และเพิ่งขอจดแจ้งชื่อพรรคกับ กกต. ในชื่อ ‘อนาคตใหม่’ ไปเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

ภาพลักษณ์สำคัญของกลุ่มการเมืองนี้ คือการฟอร์มทีมที่มาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่

ตามกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดให้การจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองจะต้องมีผู้ก่อการอย่างน้อย 15 คน แต่ละคนต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สำหรับทีมงาน ‘อนาคตใหม่’ มีสมาชิกชุดแรกจำนวน 27 คน – ส่วนหนึ่งอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดไว้ที่ 25 ปี และส่วนใหญ่อายุไม่ถึงเกณฑ์การเป็นเจ้ากระทรวงที่กำหนดไว้ที่ 35 ปี

เปิดตัวไปสัปดาห์แรก แม้เสียงของคนเบื่อการเมืองแบบเก่าๆ จะให้กำลังใจล้นหลาม แต่คำถามใหญ่ที่ทิ่มแทงไม่แพ้กันคือ ในนามคนรุ่นใหม่ที่ดูจะเป็นหนอนหนังสือหรือนักทฤษฎี แต่ขาดประสบการณ์งานภาคสนาม จะสามารถพลิกทฤษฎีสังคมการเมืองให้แปรสภาพมาเป็นนโยบายในทางปฏิบัติและต่อสู้กับระบบราชการที่ฝังรากลึกได้มากน้อยแค่ไหน

รวมถึงก้อนอิฐอีกหลายก้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศักยภาพของทีมงาน ความคลางแคลงใจว่าเขาเป็นหลานอดีตรัฐมนตรีในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาสู่ข้อสงสัยว่า กลุ่มอนาคตใหม่จะกลายเป็น ‘พรรคอะไหล่’ ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ รวมถึงความไม่ไว้วางใจในคราบ ‘นายทุนหมื่นล้าน’ ที่อาจจะมาฉวยประโยชน์ทางการเมือง

The Momentum คุยกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และส่วนหนึ่งของผู้ก่อการและทีมงานชุดแรกจำนวน 7 คน ไล่เรียงไปทีละคน เรานัดกันก่อนหน้าวันยื่นขอจดชื่อพรรคไม่กี่วัน

นี่เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อคการเมือง ห้ามพูดเรื่องนโยบายเพราะอาจดูเป็นการหาเสียง ห้ามทำกิจกรรมลงพื้นที่ใดๆ และห้ามรวมตัวทางการเมืองเกิน 5 คน

แต่ข้อห้ามเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความอยากรู้อยากเห็นของสังคมไทย ว่าคนกลุ่มนี้มากับอุดมการณ์ชุดไหน มีความหวังความฝันอย่างไร และมีอะไรบ้างที่เป็นเดิมพันในชีวิต

 

 

หลายคนที่รู้จักคุณมาก่อน คงพอเห็นแววว่าสักวันหนึ่งคุณจะลงสนามการเมือง คำถามคือ ทำไมต้องเป็นจังหวะนี้ ปีนี้

ผมคิดว่า เราอยากเห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่มีพื้นที่สำหรับคนทุกคน สังคมที่ก้าวไปข้างหน้า ที่แม้มีความขัดแย้ง สังคมก็มีวิธีหาข้อสรุปได้โดยไม่ต้องใช้การทำรัฐประหารมาแก้ไขปัญหา แต่เรามองไม่เห็นว่าเราจะฝากความหวังนี้ไว้กับใครได้ นึกง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งมาถึงพรุ่งนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่าจะเลือกใคร และผมว่ามีประชาชนเยอะมากที่คิดแบบผม จึงคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีความหวังใหม่ที่จะพาสังคมไทยไปในอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) และผมถึงตัดสินใจทิ้งการใช้ชีวิตของเรามาทำเรื่องนี้

 

กับคนอายุย่างเข้าเลข 4 ที่ผ่านรัฐประหารมาสี่ครั้ง ทำไมยังมีความหวังพอที่จะมาสนใจการเมืองไทย

ผมไม่อยากเห็นรัฐประหารครั้งที่ห้า รัฐประหารแต่ละครั้ง ต้นทุนมันสูงมาก เมื่อใดก็ตามที่คุณใช้เวลา ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ทรัพยากรเงิน ใช้ทรัพยากรของรัฐ ไปในการแย่งชิงอำนาจ นั่นหมายความว่าคุณเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ ผมไม่อยากเห็นแบบนั้นอีก ผมเชื่อว่าความขัดแย้งแก้ไขได้ในระบบรัฐสภา ผมถึงบอกให้คนกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ผมจะทำให้ดูว่าระบบรัฐสภาสามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งปัญหาคอร์รัปชันและปัญหาลุแก่อำนาจ

 

ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง และไม่เกิดรัฐประหารครั้งที่ห้า

นิติรัฐ — ผมอยากเสนอว่า การทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือ สามารถเป็นตัวตัดสินปัญหาของสังคมได้ ที่ผ่านมา ปัญหาคือเมื่อสถาบันต่างๆ ถูกเอามาใช้เอาชนะทางการเมือง มันหมดความน่าเชื่อถือไป ไม่ว่าองค์กรอิสระต่างๆ สำนักงานอัยการ ระบบศาล ประชาชนไม่เชื่อใจองค์กรเหล่านี้ นี่แหละคือต้นทุนของการเอาองค์กรต่างๆ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

 

แล้วพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น จะไปแก้ปัญหาเดิมๆ ได้อย่างไร

ต้องทำให้องค์กรเหล่านี้ยึดโยงกับประชาชน ทำให้ที่มาและการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ นี่คือการแก้ปัญหา

 

ที่มาที่ไปของการฟอร์มทีมคนรุ่นใหม่ในพรรคของคุณ เป็นมาอย่างไร

ถ้าคุณเห็นรายชื่อของผู้ร่วมอุดมการณ์ของเราในการตั้งพรรค จะเห็นว่ามีความหลากหลายมาก เรามีครู มีเกษตรกรรุ่นใหม่ นักสื่อสารมวลชน นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Open Data ตัวแทนจากกลุ่ม LGBT (กลุ่มความหลากหลายทางเพศ) ฯลฯ มันหลากหลายมาก แต่สิ่งเดียวที่ยึดโยงเราคือความฝันความหวังที่อยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น ความฝันความหวังว่าประเทศจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ออกไปได้ นี่เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ยึดโยงคนที่หลากหลายขนาดนี้ได้ และเรายังมีจินตนาการ ยังเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างอนาคตใหม่

 

ผู้ก่อการบางคนอายุยังไม่เข้าเกณฑ์ลงสมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่จะหาตัวแทนไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดได้แค่ไหน

เราต้องพูดชัดๆ ว่า เราจะส่ง ส.ส.ลงทุกเขต เราตั้งใจ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม มีคนที่มาคุยกับผม มาคุยกับอาจารย์ปิยบุตร เยอะแยะไปหมดที่อาสามาช่วยเราทำงาน ผมมั่นใจมากว่าเราทำได้ 350 คนไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณเห็นเสียงตอบรับที่ส่งมาถึงพวกเราที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าเรามีศักยภาพพอที่จะระดมคนมีคุณภาพลง 350 เขต

 

สมาชิกพรรค ดูแล้วส่วนใหญ่อายุค่อนข้างน้อย

คุณเห็นอะไร คุณเห็นพลังและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไหม มันเยอะแยะไปหมดเลย ถ้าคุณไม่เอาคนกลุ่มนี้มาเสนอนโยบาย คุณจะให้ใครเสนอ เพราะเขาต้องอยู่กับมัน

ผมคิดว่าการทำนโยบาย ในคณะกรรมการนโยบายจะประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม กลุ่มที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการศึกษา และเราอยากให้มีคนรุ่นใหม่อยู่ในทุกคณะกรรมการนโยบายของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ

 

พอไปอยู่ในองค์กรจริงๆ จะไม่มีปัญหาเรื่องระบบอาวุโสหรือ

ผมยังนั่งคุยกับพวกเขาอยู่เลยว่า ถ้าพรรคของเราเกิดได้เมื่อไร ในพรรคของเราอยากให้เลิกใช้คำว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา อยากให้เลิกใช้คำพวกนี้ให้หมด สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างที่ผมบอก อะไรก็ตามที่อยากให้เกิดก็ต้องทำในพรรคก่อน เราต้องการยกเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งกีดกันโอกาส กีดกันความคิดสร้างสรรค์ของคน เรียกคนอื่นเป็นพี่ ป้า น้า อาเมื่อไร  มันเป็นการเข้าไปอยู่โครงสร้างอำนาจนั้น เราจึงคิดว่า ใช้คำว่า คุณ ผม ดิฉัน สามคำเพียงพอแล้ว ให้เกียรติกันมากพอแล้ว ไม่มีพี่ ไม่มีท่าน คนทุกคนจะกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเป็นตัวของตัวเอง การจะไม่ยอมรับความคิดเห็นเพราะอายุ เพราะเพศสภาพ เพราะการศึกษา ตกไปเลย…not this party ต้องไม่ใช่ที่นี่ หรืออย่างน้อยที่สุด ตราบใดที่ผมยังอยู่ที่นี่ เราจะไม่ปฏิบัติต่อกันแบบนี้

 

ตอนนี้ทางพรรควางหลักเกณฑ์และคุณสมบัติคนที่มาเป็นสมาชิกพรรคอย่างไร

เรายังไม่ได้กำหนดอะไรมาก เราจดจัดตั้งพรรคเสร็จ ต้องรอกระบวนการของทาง กกต.และการขออนุญาต คสช. อนุมัติให้เรา เพื่อให้เราจะสามารถดำเนินการตามรูปแบบการเมืองได้ หมายความว่า เราจดจัดตั้งพรรคเสร็จแล้ว ยื่นความประสงค์เสร็จแล้ว ยังไม่สามารถทำกิจกรรมเสมือนพรรคการเมืองได้

 

คุณมองว่าสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของพรรคอนาคตใหม่ในตอนนี้คืออะไร

ความไม่เข้าใจของประชาชนเป็นจุดอ่อนมาก ความคาดหวังก็มีมาก ตกลงคุณยืนเพื่ออะไร คุณจะจัดการพรรคอย่างไร นโยบายคุณเป็นอย่างไร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เรามีความคิด เราอยากสื่อสาร แต่ปัญหาคือเราสื่อสารไม่ได้ ผมอยากจะฝากบอกทุกพรรคการเมืองว่า สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ ไปคุยกับ คสช. ถ้าคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี) ไม่กลับคำครั้งนี้ เลือกตั้งจะเกิดกุมภาพันธ์ปีหน้า (2562) เราเหลือเวลาเพียง 11 เดือน แต่เรายังพูดเรื่องนโยบายไม่ได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ประชาชนจะตัดสินใจได้อย่างไร พรรคการเมืองจะสง่างามได้อย่างไร ถ้าพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายของตัวเองไม่ได้

ผมอยากพูดถึงนโยบายของพรรคเรา ผมอยากทำกิจกรรมพรรคการเมือง ผมอยากออกไปพบปะผู้คนเพื่อชี้แจงว่าเรายืนอยู่เพื่ออะไร นโยบายเราเป็นอย่างไร จะพาสังคมไทยออกไปจากวิกฤตอย่างไร ผมอยากพูดเรื่องนี้ แต่พูดไม่ได้ ผมนัดรวมตัวคนเกิน 5 คนไม่ได้ นี่แหละคือจุดอ่อน และไม่ใช่ของเราคนเดียว ของทุกคนด้วย คนไม่เข้าใจเรา เราสื่อสารไม่ได้ เพื่อความสง่างามของการเลือกตั้ง คสช.ต้องปลดล็อคเรื่องพวกนี้เร็วที่สุด แล้วมันตลกมาก คุณประกาศเรื่องการเลือกตั้ง แต่คุณไม่ให้คนพูดถึงการเลือกตั้ง ไม่ให้คนทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

 

แล้วโครงสร้างพรรคจะเป็นอย่างไร คุณธนาธรจะอยู่ตรงไหน

(หัวเราะ) ผมคิดว่าผมอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ ไม่ว่าจะตรงไหนของพรรค ตราบใดที่พรรคกับผมเห็นอนาคตตรงกัน มีจุดยืนทางอุดมการณ์ตรงกัน อยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ ตำแหน่งไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับผม

ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าใครอยู่ตรงไหน ก็ต้องปลดล็อคก่อน ก็ต้องให้ กกต. คสช. อนุมัติให้พรรคเราเป็นพรรคการเมืองก่อน ถึงจะจัดประชุมสามัญได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ผมคิดว่านานเกินไป ตามปฏิทินที่คำนวณ กว่าจะมีพรรคการเมืองก็อาจล่วงเลยไปถึงมิถุนายนหรือกรกฎาคมปีนี้ ทำให้เราเหลือเวลาเตรียมตัวเพียง 6-7 เดือนก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เราเสียเปรียบพรรคใหญ่มาก เราอยากทำงาน แต่เราทำไม่ได้

 

ภาพเด่นของกลุ่มก็คือ ‘ธนาธรและปิยบุตร’ ซึ่งบรรดาคนที่เชียร์ก็ให้ความสนใจกับตัวบุคคลเป็นพิเศษ เรื่องนี้เป็นกับดักในตัวเองไหม

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ในการบริหารองค์กร คุณต้องมีผู้นำ อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าองค์กรไหน ต้องมีคนตัดสินใจ ไม่มีผู้นำแล้วจะตัดสินใจอย่างไร ปัญหาคือกลไกที่จะทำให้ผู้นำยึดโยงกับอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราจะทำพรรค ก็อย่างที่อาจารย์ปิยบุตรเขียน ทุกอย่างมันต้องตอบกันด้วยการประชุมสามัญพรรค ซึ่งเป็นส่วนที่มีอำนาจสูงสุดในพรรค ไม่ใช่ธนาธรหรือปิยบุตร แต่เป็นที่ประชุมสามัญใหญ่ของพรรคที่จะมีอำนาจเหนือทุกคนในพรรค และผมคิดว่า ถ้าเราอยากให้สังคมไทยเป็นแบบไหน ก็ต้องเอารูปแบบนั้นมาใช้ที่พรรคเราก่อน และต้องใช้ให้สำเร็จ

 

หมายความว่าการตัดสินใจใดๆ จะเป็นรูปแบบของประชาธิปไตย

แน่นอน ที่มาของอำนาจ ที่มาของการทำงานของพรรคต้องมาจากที่ประชุมสามัญ ไม่ใช่มาจากธนาธรหรือปิยบุตร

 

แต่ตอนนี้หัวใจหลักก็ยังมีกันอยู่สองคน

ก็เพราะมันทำอย่างอื่นไม่ได้ ใครเห็นด้วยก็มาร่วมกันจดจัดตั้งพรรคการเมือง

 

ชีวิตของคุณธนาธรคงต้องเปลี่ยนไปเยอะ ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

พูดกันแบบสบายๆ เลยนะ ผมก็คงต้องทิ้งความเป็นตัวของตัวเองบางส่วน เช่น การจะออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผมรัก การจะออกไปให้สัมภาษณ์ การโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ก็ต้องพึงระวังว่ามันจะสะท้อนไปถึงบุคคลที่มีอุดมการณ์ร่วมกันและมาร่วมจัดตั้งพรรคกับเรา การกระทำของเราไม่ได้ส่งผลเฉพาะแต่กับตัวเราเองอีกต่อไป สิ่งที่ใหญ่กว่านั้นคือ วิถีชีวิตแบบเดิมคงไม่ได้ใช้แบบนั้นแล้ว สมดุลในชีวิตก็คงต้องเปลี่ยนไป

 

ครอบครัวของคุณสนับสนุนไหม

ถ้าจะมีอะไรที่ผมภูมิใจที่สุดในรอบสองเดือนที่ผ่านมา คือครอบครัวผม ผมเป็นคนที่โชคดีมาก พี่น้องของผมทุกคนให้การสนับสนุนในสิ่งที่ผมทำ ไม่ใช่เพราะเขาอยากจะเตะผมออกจากธุรกิจหรืออะไรนะ มันเป็นเพราะว่าพี่น้องของผมทุกคนคล้ายกับผม ที่อยากเห็นสังคมใหม่ อยากเห็นอนาคตใหม่ด้วยกัน ถามว่าอยากให้ผมออกจากธุรกิจไหม ทุกคนไม่อยาก ทุกคนเข้าใจว่าผมมีบทบาทหลักในธุรกิจของครอบครัว แต่ก็พร้อมและสนับสนุนให้ผมออกมา เป็นเรื่องที่ผมภูมิใจและดีใจมาก ผมไม่สามารถจะมีครอบครัวที่ดีไปมากกว่านี้ได้

 

การที่คุณมีโพรไฟล์เป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้า คนก็อาจตั้งแง่ว่า นี่ไง นักธุรกิจลงมาเล่นการเมืองอีกแล้ว

ยักไหล่ คุณจะให้ผมทำยังไง ผมทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ถ้านิยามตัวผมว่าผมคือใคร ผมคือนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่เกรงกลัวโลกาภิวัตน์ ผมคือนักผจญภัยที่กล้าเสี่ยง ผมคือคนที่มีใจรักความยุติธรรมแล้วลงมาทำด้วยตัวเอง ถ้าผมไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ การยอมรับจากสังคมก็คงไม่มีมากขนาดนี้ ดังนั้น ถามว่ามันเป็นข้อดีหรือข้อเสียในการเป็นนักธุรกิจมาก่อน ผมว่าเป็นข้อดี

แน่นอน คนอาจเคลือบแคลงต่อธุรกิจของผม แต่ผมบอกเลยว่าธุรกิจของผมเป็นธุรกิจที่เปิดเสรี ผมแทบจะนึกอะไรไม่ออกเลย ที่อำนาจรัฐจะทำให้ผมมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น มันเป็นธุรกิจที่เสรี ใครอยากจะตั้งโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ก็สามารถตั้งได้เลย กำแพงที่จะกีดกันผู้เล่นรายใหม่มันน้อยมาก ทุกวันนี้คู่แข่งของเราแทบจะไม่ใช่คู่แข่งในประเทศอยู่แล้ว แล้วในเวทีที่บริษัทเราไปตั้งในต่างประเทศ คู่แข่งของเราคืออินเดีย เวียดนาม จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นคู่แข่งระดับโลก กฎกติกาเป็นสากล ในธุรกิจนี้ไม่มี local content (ข้อบังคับว่าอุตสาหกรรมหนึ่งๆ ต้องใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ห้ามนำเข้า) ไม่สามารถปกป้องธุรกิจท้องถิ่นได้ ต่อให้พวกเราได้เป็นรัฐบาล แล้วรัฐบาลยก local content ขึ้นมาก็ผิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO)

ฉะนั้น ผมนึกอะไรไม่ออกเลยว่า ถ้าพรรคของผมเป็นรัฐบาลแล้ว จะเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มให้กับตัวเองได้อย่างไร ธุรกิจที่เปิดการแข่งขันเสรีอย่างที่ไทยซัมมิททำอยู่ คนที่จะพึ่งพาคือตัวเราเอง ในวันที่ผมทำงานอยู่ ผมไม่เคยคาดหวังหรือขออะไรจากภาครัฐ นอกจากสิทธิที่อุตสาหกรรมทั่วไปได้อยู่แล้ว ก็คือ BOI แต่สิทธิตัวอื่นที่เฉพาะเจาะจงนั้นไม่มี ที่ผ่านมาเรายืนบนขาตัวเองตลอด ทำอย่างไรจะผลิตสินค้ามีคุณภาพ ทำอย่างไรให้บริการเราฉับไวตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เต็มที่ ทำอย่างไรจะเพิ่มนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพในองค์ได้ ทุกวัน เราหายใจเข้าหายใจออกเป็นเรื่องเหล่านี้ มันเป็นข้อดีที่ทำให้ผมเป็นแบบผมได้ ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องขอสัมปทาน ต้องพึ่งพาหรือสัมพันธ์กับรัฐมาก ผมอาจไม่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบนี้ได้

 

หากมองไปที่สนามเลือกตั้ง คุณคาดว่าคู่แข่งในสนาม คือคนที่เคยมีใจให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่

คุณคิดว่าคู่แข่งเราคือใคร…ผมคิดว่าคู่แข่งของเราคือทุกพรรค ไม่ใช่แค่เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ แต่พรรคเกรียน พรรคสามัญชน พรรคอะไรต่อมิอะไรก็เป็นคู่แข่งของเราหมด เมื่อลงสนาม เราจะไม่เกรงใจใคร จะไม่บอกว่านี่เป็นฐานเสียงเพื่อไทย เราไม่เข้าไป นี่เป็นฐานเสียงของสามัญชน เราจะไม่เข้าไป no, เราจะเข้าไปทุกพื้นที่ เพื่อทุกคะแนนเสียง ไม่มีประนีประนอมกับพรรคไหนแน่นอน

 

วินาทีนี้มีอะไรบ้างที่คุณกลัวหรือกังวล

ผมพูดไปหลายครั้ง ถ้าไม่พอใจผม มาลงโทษผม อย่าไปลงโทษคนที่ผมรัก – พี่น้อง คุณแม่ ครอบครัวผม ผมตัดสินใจมาแบบนี้ ผมพร้อมระดับหนึ่งที่จะรับกับมรสุมข้างหน้า

 

อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’

 

Credit:

สัมภาษณ์: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา และ ณัฐกานต์ อมาตยกุล
เรียบเรียง: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา และ มุทิตา เชื้อชั่ง
ถ่ายทำและตัดต่อ: บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ภาพนิ่ง: ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย และ ภาณุทัช โสภณอภิกุล

Fact Box

เอก - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปัจจุบันอายุ 39 ปี เรียนจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเคยเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2542 และเป็นรองเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2543

สมัยเป็นนักศึกษา เขาคลุกคลีอยู่กับกลุ่มนักกิจกรรมตึกกิจกรรม ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มักเข้าร่วมการชุมนุมของชาวบ้านสมัชชาคนจน เครือข่ายสลัมสี่ภาค เข้าร่วมการประท้วงท่อก๊าซ ไทย-มาเลย์ และการเปิดประตูเขื่อนปากมูล

นอกกลุ่มนักกิจกรรม ผู้คนอาจจดจำเขาได้จากนามสกุล เพราะมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การประกาศลงเล่นการเมืองครั้งนี้เกิดเป็นข้อกังขาว่า เขาจะมาในนามตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่หรือไม่ ซึ่งธนาธรให้สัมภาษณ์ผ่าน the101.world ว่า ถ้าคุณใจแคบก็ดูที่นามสกุลผม แต่ถ้าคุณใจกว้างก็ขอให้ดูสิ่งที่ผมพูด และถ้าคุณใจกว้างขึ้นไปอีก ก็ขอให้ดูจากสิ่งที่ผมทำ ผมไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้มากกว่านี้"

อีกภาพลักษณ์ของธนาธรที่คนจดจำได้ คืองานอดิเรกจำพวกกิจกรรมการผจญภัยหรือเดินทางแบบผาดโผน เช่น ปีนเขา พายเรือคายัค วิ่งระยะไกล เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนไทยจำนวนสิบคนที่ไปปักธงชาติไทยที่ขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560

Tags: , ,