ตั้งแต่วัยเยาว์ เราได้ยินคำราชาศัพท์จากข่าวในพระราชสำนักอยู่ทุกวัน เวลา 20.00 น. และเมื่อเรียนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นที่สูงขึ้น เราก็ได้เรียนคำราชาศัพท์ แม้ว่าเราอาจจะไม่ใคร่มีโอกาสได้ใช้คำราชาศัพท์ในชีวิตจริงเท่าไรนัก แต่ในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังมีเรื่องคำราชาศัพท์อยู่ทุกปี

เราเรียนคำราชาศัพท์กันหลายเรื่อง เช่น คำกริยาราชาศัพท์ห้ามใช้ “ทรง” นำหน้า เช่น ต้องใช้ว่า “ประทับ, ทอดพระเนตร, เสด็จ” ไม่ใช่ “ทรงประทับ, ทรงทอดพระเนตร, ทรงเสด็จ” และอีกหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่เราไม่เคยเรียน ไม่เคยสอนกันเลยก็คือ การใช้ถ้อยคำแสดงความอาลัยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เราพร้อมใจกันเปล่งเสียงมาต่อเนื่องหลาย 10 ปี ว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งมีนัยความหมายว่าขอให้พระองค์มีพระพลานามัยแข็งแรง มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เราไม่เคยคิดว่าวันนี้จะมาถึง…เร็วขนาดนี้

 

นึกไปถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสต่อพระอานนท์ ดังที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ความว่า

“…ดูกรอานนท์ เราได้บอกเธอไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะจะมีได้…”

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมดาโลก เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้ แม้จะยากเกินกว่าทำใจได้ในเร็ววัน สิ่งหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่เราพสกนิกรชาวไทยพอจะแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ ก็คือการเขียนข้อความจากหัวใจเพื่อแสดงความอาลัย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเขียนออกมาได้ง่ายๆ เพราะนอกจากจะต้องข่มจิตระงับใจให้มีสติตั้งมั่นเขียนหรือพิมพ์ออกมาได้ อีกทั้งยังจะต้องรู้คำราชาศัพท์ที่เหมาะสมอีกด้วย

ไม่เคยมีตำราใดระบุว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จะต้องใช้คำราชาศัพท์เช่นไร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีประกาศออกมาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หน่วยงานและประชาชนจะได้มีหลักที่น่าเชื่อถือให้ยึดตาม แม้ว่าข้อความที่เราถ่ายทอดออกมานั้นเป็นความรู้สึกจากส่วนลึกของดวงใจ แต่ถ้าเราใช้ภาษาให้ถูกหลักก็ย่อมดีกว่า

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต มีบางหน่วยราชการออกระเบียบการใช้ภาษาดังนี้

กระทรวงมหาดไทยมีประกาศที่ มท 0201.3/ว5908 ว่าบนแผ่นรองปกในสมุดลงนามถวายอาลัยให้ระบุว่า

“ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย

ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

ด้านความคิดเห็นจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาไทยอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กแนะแนวทางการใช้ถ้อยคำดังนี้

1. คำลงท้าย “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

2. คำว่า “กราบบังคมลา/กราบบังคมทูลลา” ใช้ในเวลาที่ข้าราชการหรือข้าราชสำนักตาย แล้วทำหนังสือกราบบังคมทูลลาพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ไม่ใช้คำนี้กับพระองค์ท่าน

ถ้าจะกล่าวในทำนองว่าถวายความเคารพแด่พระองค์ท่าน ใช้ว่า “กราบถวายบังคม” หรือ “น้อมถวายบังคม” โดยไม่มีคำว่า “ลา/ทูลลา”

3. “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” หรือ “ส่งดวงพระวิญญาณ” ไม่มีธรรมเนียมใช้มาแต่เดิม

4. “ถวายความอาลัย” หรือ “น้อมเกล้าฯ ถวายความอาลัย” ไม่มีธรรมเนียมใช้มาแต่เดิม

5. คำที่ควรใช้-เรียบ งดงาม และรัดกุม มีแบบแผนที่ใช้กันมา “สำนึก/รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้”

6. คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” เป็นคำโบราณ ธรรมเนียมภายหลังการเรียกนาม
แผ่นดินเรียกตามพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในกรณีนี้ คือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ส่วนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ คำเรียกขานว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จนกว่าจะทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงจะเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

7. หากจะไปเฝ้าพระบรมศพขณะอัญเชิญจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง ควรใช้ว่า “เฝ้าถวายสักการะพระบรมศพ” ไม่ใช่ “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” เพราะธรรมเนียมโบราณ ราษฎรที่ไปจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปจุดบูชา/สักการะพระบรมศพ ซึ่งไม่ใช่การ “ส่งเสด็จ”

อย่างไรก็ดี สำนักพระราชวังก็ได้มีประกาศฉบับนี้ออกมา มีข้อความตอนหนึ่งว่า “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

ส่วนสำนักงานราชบัณฑิตยสภา (เดิมคือราชบัณฑิตยสถาน) ได้โพสต์ข้อความแสดงอาลัยในเพจ “ราชบัณฑิตยสภา” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ดังนี้

ก่อนที่จะมีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม 2559 มีใจความสำคัญว่าด้วย การใช้วลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย”

ตามประกาศฉบับนี้ได้อ้างถึงประเด็นการใช้วลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย” เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ โดยได้ระบุว่า “เสด็จไปสู่สวรรคาลัย” สื่อความหมายได้ว่า “(พระองค์) เสด็จสู่สวรรค์” และประชาชนทั่วไปก็เข้าใจว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” หมายถึง “การส่งพระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์”

ทว่าพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์แห่งราชบัณฑิตยสถาน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในราชบัณฑิตยสภามีความเห็นว่าพระองค์ทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จสู่สรวงสรรค์ได้ด้วยพระองค์เอง (ไม่ต้องมีประชาชน “ส่งเสด็จ”) ดังนั้นการใช้เพียง “เสด็จสู่สวรรคาลัย” หรือ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” จะทำให้ข้อความสละสลวยและถูกต้องเหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ดี ประกาศนี้ของราชบัณฑิตยสภาไม่ได้ระบุชัดเจนเรื่องการเขียนคำลงท้ายว่าต้องมีข้อความ “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” หรือไม่ แต่ราชบัณฑิตยสภาก็ได้แสดงตัวอย่างการใช้ข้อความให้เห็นอย่างชัดเจน โดยระบุหัวข้อว่า “ตัวอย่างการใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

                                    ข้าพระพุทธเจ้า…

 

เสด็จสู่สวรรคาลัย
ผองพสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์

                                    ข้าพระพุทธเจ้า…

 

ปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์

                                  ข้าพระพุทธเจ้า…

 

ปวงประชาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

                                 ข้าพระพุทธเจ้า…

 

เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย
พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล

                                 ข้าพระพุทธเจ้า…

 

สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

                                       ข้าพระพุทธเจ้า…

 

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

                                    ข้าพระพุทธเจ้า…

 

[*หลังคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” ให้ระบุชื่อบุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงาน เช่น ข้าพระพุทธเจ้า The Momentum]

ในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่งที่มีใจจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รู้สึกว่าถ้าหน่วยงานราชการเร่งหารือและประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าควรใช้ถ้อยคำอย่างไรจึงจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุดแก่การแสดงความอาลัยถวายแด่พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ก็คงจะดีไม่น้อย แต่ในเมื่อหน่วยงานราชการแต่ละหน่วยงานมีประกาศออกมาและใช้ไม่ตรงกัน ก็ยากเหลือเกินที่เราจะตัดสินใจเลือกใช้

สุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณากันเองว่าจะเลือกใช้ถ้อยคำใด ด้วยเหตุผลใด