“จากประสบการณ์ที่ทำงานปริญญาเอก จุ๊ยวิจัยครูที่อยู่นอก กทม. โรงเรียนต่างจังหวัด เราก็พบว่ามันมีลำดับชั้นมากมาย ครูถูกบอกให้ต้องทำหลายสิ่งมาก ไม่ว่าจะเป็นการประเมิน หรือจากข้อสอบที่ต้องทำตาม แทนที่ครูจะได้สร้างสรรค์บทเรียน หาวิธีทำให้นักเรียนสนุก มันมีธงว่าจะต้องทำให้เด็กสอบได้ จะต้องทำให้โรงเรียนผ่านประเมิน จะต้องทำให้ครูผ่านประเมิน แล้วความคิดสร้างสรรค์หรือการจะมาสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ มันก็หายไปหมด เพราะมันจำเป็นต้องมาทำเรื่องพวกนี้มากกว่ามาทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนสร้างสรรค์

“เราอยากเห็นเด็กนักเรียนไปโรงเรียนโดยที่ทั้งนักเรียนและพ่อแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไร นั่นหมายถึงโรงเรียนต้องไม่มีค่าใช้จ่าย ไปถึงแล้วต้องมีข้าวกิน สบายใจ นี่ยังไม่พูดถึงคุณภาพการศึกษา เอาเรื่องพื้นฐานก่อน

“จุ๊ยเป็นครูมาแล้ว เป็นนักวิจัยมาแล้ว ยังเรียนไม่จบปริญญาเอกดี เราก็กลับมาทบทวนตัวเองว่า ตลอดหลายปีมานี้ มันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนาดไหน เราก็รู้สึกว่า เราไม่พอใจกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งรู้สึกว่ามันช้าไป หรือบางเรื่องมันพัฒนาถอยกลับด้วยซ้ำ

“ก็เลยคิดว่าถ้าสมมติอย่างน้อยที่สุดเราได้ร่วมกับเพื่อนๆ คิดดูว่าเราจะทำอะไรเกี่ยวกับบรรยากาศการศึกษาได้บ้าง นำเสนอไอเดียอะไรได้บ้าง มันก็น่าจะเป็นกลไกที่จะพาไอเดียของเราไปสู่วงกว้าง

“สิ่งพื้นฐานที่สุดที่จะต้องแก้ไขกันในแบบวงกว้างคือ คนไทยเข้าใจหรือยังว่าการศึกษาเป็นเรื่องของคนทุกคน มันไม่ได้เป็นเรื่องของแค่พ่อแม่ลูกนะ มันคือเรื่องชุมชน มันคือเรื่องของโรงเรียน โรงเรียนจะต้องทำงานชุมชน คือทุกคนเป็นเจ้าของการศึกษา แต่ตอนนี้เราทำงานแบบแยกกันเป็นก้อนๆ ไม่มีใครร่วมมือกันจริงจังสักที มันเป็นการเปลี่ยน mindset หรือเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคมมากกว่า มันต้องเข้าใจก่อนนะว่าเราเป็นเจ้าของการศึกษาที่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข ต้องช่วยกันจริง ๆ ต้องมีไอเดีย ต้องแอคทีฟ

“ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน จุ๊ยเจอครูรุ่นใหม่เยอะ หรือได้คุยกับครูที่เขาพยายามที่จะทำความเข้าใจไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับการศึกษา แล้วก็อยากจะเปลี่ยนแปลงห้องเรียน เราได้เจอคนที่พยายามเหลือเกินที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ เพียงแต่เสียงเหล่านั้นมันถูกนำมาขยายให้ได้ยินในสังคมหรือเปล่า

“ในขณะเดียวกัน เราก็ยอมรับว่า มันมีปัญหาที่เราปวดหัวและปวดใจ ซึ่งเป็นที่มาของการที่เราอยากจะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ทำให้ทั้งครูทั้งนักเรียนทำหน้าที่ของตัวเองได้ง่ายขึ้น หรือทำให้เกิดกระบวนการเชิงสังคม ชุมชนสามารถมีสิทธิ์มีเสียง ทุกฝ่ายสามารถมาคุยกันได้มากขึ้น มันเหมือนงานสร้างแพลตฟอร์มที่จะพาคนมาคุยกัน”

อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’

Fact Box

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อายุ 34 ปี เป็นนักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์

Tags: ,