“คนรุ่นผมคือคนที่เป็นมิลเลนเนียล ผมเกิดปี 2541 พอถึงปี 2549 มีม็อบเสื้อเหลืองเดินผ่านหน้าโรงเรียน จู่ๆ อ้าว ไม่ต้องไปโรงเรียน ทำไมมีทหารออกมา มีรัฐประหาร ผ่านไป อ้าว มีม็อบเสื้อแดง พอช่วงมัธยมต้นกำลังจะขึ้นมัธยมปลาย เราก็เห็นการชุมนุมของ กปปส. ผมโตมากับบรรยากาศอะไรอย่างนี้ คนรุ่นผมโตมากับการเมืองที่มัน f*ck up
“ช่วงที่ผมอยู่มัธยมปลาย ผมอยากจะทำอะไรสักอย่างให้กับสังคม มีกลุ่มหนึ่งชื่อกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่ทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เราก็เริ่มต้นทำงานจากช่วงนั้น ช่วงแรกๆ ผมเรียกร้องให้ปฏิรูปวิชาหน้าที่พลเมืองซึ่งเป็นวิชาที่เพิ่มขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาล ผมเห็นการครอบงำทางความคิด เห็นการขีดกรอบ เห็นการโฆษณาชวนเชื่อ พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ผมเรียกร้องให้รักษาสิทธิ์ของนักเรียนที่จะได้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็คือ ม.ปลาย
“เวลาพูดเรื่องเรียนฟรี เราไม่ได้เห็นแค่เรื่องที่ว่า เด็กจะได้เรียนหรือไม่ได้เรียน แต่เราเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องสวัสดิการ เรื่องอำนาจต่อรองของประชาชน นี่คือสารพัดสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำว่าการศึกษา เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่รากของปัญหาก็คือสังคมที่ไม่เป็นธรรมสร้างการศึกษาที่ไม่ดี
“ผมคิดว่าใน พ.ศ. นี้ ไม่มีใครปฏิเสธพลังคนรุ่นใหม่ แต่ในโครงสร้างจริงๆ แล้ว หน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ใส่ใจฟังเด็กจริงๆ เขาแค่ต้องการเสียงของเด็กไปเพื่อบอกได้ว่า นี่ไง ฉันฟังเด็กแล้ว ผมรู้สึกว่าการจะก้าวข้ามอะไรอย่างนี้ไป แทนที่เด็กจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันของผู้ใหญ่ เราต้องสร้างสถาบันการเมืองของคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเอง ถ้าเราอยู่ในสถาบันการเมืองของคนรุ่นเก่า สุดท้ายด้วยวัฒนธรรมอะไรบางอย่าง เราก็ต้องเข้าสู่ระบบไต่เต้าเหมือนเดิม
“ผมเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ว่าผมใช้ชีวิตในช่วงเด็กๆ ในช่วงประถมฯ ที่ลำปาง แล้วผมก็กลับลำปางปีละ 3-4 ครั้ง เพื่อนของผมมีทุกรูปแบบ ทั้งเพื่อนที่เรียนอาชีวะ หรือเพื่อนที่ไม่ได้เรียนอะไรเลย พื้นเพคนในสังคมมันแตกต่างกัน แต่คำถามคือ ทำอย่างไรตัวเราเองถึงจะเข้าใจ ผมถือปรัชญาในการทำงานว่า เมื่อเราสมาทานในประชาธิปไตย เชื่อในพลังของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องมาก่อน เราต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมวลชน นักศึกษาจะต้องทำงานกับสหภาพแรงงานมากขึ้น ทำงานกับคนทั่วๆ ไป เพราะการต่อสู้เคลื่อนไหวในรูปแบบของพรรคการเมือง มันคือการทำงานเชิงนโยบาย คือการทำความคิดของเราให้ออกมาเห็นเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ปฏิบัติจริง
“ปรัชญาในการทำงานของผมอย่างหนึ่งคือ ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า และมันไม่ยากที่เราจะหาแนวร่วม ในเมื่อเรากำลังทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น แต่เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เดินไปเดินมารอบๆ เนี่ย เขาจะเป็นแนวร่วมพรรคเราได้หรือไม่ เขาจะเป็นแนวร่วมให้กับความคิดที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของเราได้หรือไม่ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเรากล้าที่จะออกจากความเป็นตัวเอง เพื่อไปเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นเขาคิด เขาอยากได้ เพื่อที่จะไปเป็นมิตรกับทุกๆ คน ถ้าเราอยู่ด้วยหลักการนี้ เราอยู่ด้วยหลักการของความพร้อมที่จะเจอคนที่แตกต่างจากเรา ความพร้อมที่จะยอมรับว่า เราไม่ใช่คนที่ถูกต้องที่สุด ความพร้อมที่จะฟังทุกคน ผมคิดว่าถ้าเราพร้อมที่จะฟังทุกคน ทุกคนก็พร้อมที่จะฟังเรา
“คำถามว่าทำอย่างไรให้สังคมทั้งสังคมเห็นและเชื่อมั่นในพลังของเรา ผมคิดว่าพลังของคนรุ่นใหม่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้เฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่พลังของคนรุ่นใหม่คือโอกาสของทุกคน”
หมายเหตุ: พริษฐ์ ชิวารักษ์ เข้าร่วมกับกลุ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้สนับสนุนคนหนึ่ง ยังไม่ใช่ผู้ก่อการ เนื่องจากอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์
อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอก) อายุ 39 ปี นักธุรกิจ นักกิจกรรม
- ไชยวัฒน์ วรรณโคตร (อิง) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นลัทพร ไกรฤกษ์ (หนู) อายุ 25 ปี ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thisable.me
- กันต์พงศ์ ทวีสุข (กันต์) อายุ 27 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศ ก้อปันกัน
- อลิสา บินดุสะ (ฝน) อายุ 23 ปี นักศึกษาปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (จุ๊ย) อายุ 34 ปี นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์
- กฤตนัน ดิษฐบรรจง (ปังปอนด์) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
Fact Box
พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อายุ 20 ปี อดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์