“ผมสนใจเรื่องความเสี่ยงทางสังคม ชีวิตคนมีความเสี่ยงหลายๆ ด้าน เศรษฐกิจ สังคม กระทั่งความเสี่ยงในการทำงาน ผมศึกษานโยบายสังคมที่จะไปช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งจริงๆ ก็สัมพันธ์กับคณะที่ผมศึกษาอยู่

“คณะนี้ (สังคมสงเคราะห์) ชื่อภาษาอังกฤษคือ Social Administration คือการบริหารสังคม แต่ชื่อไทยกลายเป็นสังคมสงเคราะห์ คณาจารย์ที่อยู่คณะนี้ พูดตรงๆ หลายคนไม่เข้าใจคณะนี้อย่างจริงจัง คณะนี้ถูกออกแบบมาจากอังกฤษ เป้าหมายคือสร้างสวัสดิการเชิงสถาบันให้สังคม ไม่ใช่ Social Assistance หรือการช่วยเหลือสังคมเป็นครั้งคราว ผมอยากบอกกับคณะสังคมสงเคราะห์ว่า สิ่งที่ทำมันยังไม่ใช่คอนเซ็ปต์ของ Social Administration จริงๆ ผมศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมคลั่งไคล้ใน welfare state มาตั้งแต่ประถมฯ ด้วยซ้ำ ตอนเด็กผมไม่ดูการ์ตูน ชอบเปิดช่องรัฐสภาดูเขาเถียงกัน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะช่อง 11 พอได้ยินคำนี้ก็สนใจ ดูสารคดีของพวกนอร์ดิกแล้วรู้สึกประทับใจกับคุณภาพชีวิตของเขา แล้วจับแกนได้ว่า เป็นเพราะเขาใช้ระบบรัฐสวัสดิการ มีสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน จึงสนใจตั้งแต่ตอนนั้นเรื่อยมา

“สำหรับประเทศไทย ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือระบบสวัสดิการด้านสุขภาพปัจจุบันนั้นเหลื่อมล้ำกันอยู่ อย่างที่ทราบกันดี กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่ารักษาพยาบาลนั้น ข้าราชการได้มากที่สุด รองลงมาคือประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องสร้างฉันทามติใหม่ให้คนอยู่ร่วมกันแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เราต้องไม่มองว่าเราไปช่วยเหลือเขา แต่มองว่าเราต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ในสังคม

“สำหรับปัญหาสามกองทุน ผมคิดว่าเริ่มแรกอาจจะต้องประนีประนอมเรื่องการบริการ เพิ่มการบริการให้กับกองทุนที่ได้น้อยที่สุด เพิ่มไปเรื่อยๆ ให้ใกล้เคียงกองทุนอื่น แล้วค่อยรวมกันในท้ายที่สุด เราคงไม่สามารถยุบได้ทีเดียว

“สิ่งหนึ่งที่เราห้ามมองข้ามคือทัศนะมุมมองของผู้คน คนชอบคิดว่าเราต้อง ‘ช่วยเหลือ’ เพื่อนมนุษย์ แต่ไม่ค่อยคิดว่าเราอยู่ในสังคม เราต้อง ‘รับผิดชอบ’ ต่อเพื่อนมนุษย์ สองคำนี้ต่างกันมาก ถ้าเรายึดคำว่า ‘ช่วยเหลือ’ เราก็จะช่วยตอนที่เรามีเงินหรือตอนที่เรารอดแล้วแน่ๆ แต่ถ้ายึดกับคำว่า ‘รับผิดชอบ’ หมายความว่าทุกช่วงชีวิตของเรา เราจะเฉลี่ยไปสู่คนอื่นๆ ด้วย ถ้าเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ มันจะไม่ได้แก้เฉพาะเรื่องสามกองทุน แต่ทุกเรื่องก็สามารถเป็นไปได้

“นี่เป็นไอเดียคร่าวๆ และสิ่งที่ผมสนใจ ผมชอบศึกษานโยบาย ตอนแรกที่ได้ยินเรื่องพรรคนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรแปลกใหม่กว่าที่เคยมีในสังคม แต่พอมาทำแล้วรู้สึกว่าตัวผมเองมีค่าทัดเทียมกับทุกคนที่อยู่ที่นี่ ในสังคมไทยปกติ คุณอายุน้อย คุณไม่มีสิทธิพูดมากนัก ไม่มีสิทธิร่างนโยบาย แต่ที่นี่เวลาคุยกับคนก่อการทั้งหลาย ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน

“ผมยังมีความหวังกับระบบการเมือง ถ้าเราพูดว่าไม่มีหวังก็เท่ากับเราไม่อยากเดินไปข้างหน้า การเกิดรัฐประหารสองครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2459 และ พ.ศ. 2558) เป็นเพราะคนในสังคมเสื่อมศรัทธากับระบบที่มีอยู่ ประชาธิปไตยขณะนั้นมันอาจทำให้คนรู้สึกว่าไม่เวิร์ก แต่รัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมานั้นน่าจะตอบคนที่เบื่อหน่ายกับประชาธิปไตยแล้วว่ารัฐประหารไม่ได้ดีกว่าเลย มันแย่กว่า ถ้าอยากเดินไปข้างหน้าก็ต้องเอาคำตอบของรัฐประหารสองครั้งมาคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้กลับไปเป็นอย่างเดิม และแม้มีรัฐประหารก็ไม่มีค่าอะไร ต้องทำการเมืองให้ใหม่ ให้ตามโลกทัน การเมืองใหม่ของทั้งโลกมันทำให้คนไม่หันไปโหยหาอดีต ไม่โหยหารัฐประหารอีก

“การเมืองเก่าของสังคมไทยคือคุณจะแอคทีฟต่อเมื่อใกล้เลือกตั้ง ใกล้เลือกตั้งค่อยหาเสียง แต่อยากยกตัวอย่างพรรคแรงงานในอังกฤษของ เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) เขาทำงานตลอดเวลา แม้จะแพ้ครั้งที่แล้ว แต่เขาทำงานตลอด จัดรับฟังปัญหากับกลุ่มต่างๆ เรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ นี่คือพรรคการเมืองแบบใหม่ สังคมไทยยังขาดตรงนี้

“ผมเอง แม้จะอายุ 20 ไม่สามารถลงเลือกตั้งในระบบ แต่จะไปอยู่ในส่วนของการทำนโยบาย คิดว่าจะแอคทีฟตัวเองหลังจากการเรียน ลงพื้นที่ไปสำรวจปัญหา หรือเสนอแคมเปญอะไรที่พรรคสามารถทำได้ ผมว่าสังคมไทยไม่ได้ต้องการคำสัญญา แล้วพรรคการเมืองแบบใหม่ก็จะไม่ให้คำสัญญากับสังคม พรรคแบบใหม่ต้องทำงานตลอดเวลาไปจนถึงการเลือกตั้ง

“ถามเรื่องความเสี่ยงเมื่อลงมาในสนามการเมือง ผมคิดว่าความเสี่ยงในสังคมมันเยอะอยู่แล้ว ถ้าจะเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองอีกสักนิดคงไม่เป็นไร อย่างมากคงแค่ติดคุก ผมว่าไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยในสังคมที่ความเป็นธรรมมีน้อยนิด”

อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’

Fact Box

ไชยวัฒน์ วรรณโคตร (อิง) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Tags: , ,