“เราเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และเป็นผู้ประสานงานกลุ่มนักกฎหมายอาสา Law Long Beach ที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในเรื่องสิทธิชุมชน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เราเป็นคนสงขลา ผูกพันกับหาดและเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำกิจกรรมของเราตั้งแต่ ม.5 ที่เริ่มสนใจตั้งคำถามว่า การกัดเซาะชายฝั่งมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
“พอเริ่มทำกิจกรรม มันทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่สามารถทำให้คนรู้ปัญหานี้ได้ และเวลาไปเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการรัฐที่จะมาเกิดแล้วส่งผลต่อสาธารณะ เราไม่เห็นเยาวชนในนั้นเลย ทั้งๆ ที่มันกระทบต่อชีวิต เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแล้วมีผลต่อคนที่กำลังจะเติบโต ก็เลยขยายมาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเยาวชน 9 สถาบันในจังหวัดสงขลา ถามว่าเขาคิดอย่างไร อยากให้หาดเป็นแบบไหน อยากแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน แล้วก็ไปเซ็น MOU กับเทศบาล แต่ทำถึงขั้นนี้ก็ยังไม่สามารถนำข้อเสนอไปสู่การตัดสินใจได้ เพราะเราไม่มีอำนาจ ต่อให้มีความรู้ มีวิชาการ แต่จะเอาวิชาการมาทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ก็เลยเกิดความคิดที่ว่า เราต้องทำงานกับกลไกแล้วล่ะ จึงเลือกเรียนนิติศาสตร์
“เริ่มต้นปีแรกก็เซอร์ไพรส์เลย มีโครงการที่มาลงกับหาดชลาทัศน์ ด้วยข้อมูลที่กลุ่ม Beach for Life เก็บ เป็นบทเรียนที่สอนชัดว่า วิธีที่โครงการจะสร้างจะทำให้หาดยิ่งพัง ไม่ตอบวัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ เลยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา ผลคือพอเรื่องเข้าไปสู่กลไก โครงการมันเปลี่ยนโดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาเลยด้วยซ้ำ มันน่าสนใจตรงที่ว่า เสียงค้านได้รับการรับฟัง ได้รับการสนใจและสามารถหยุดโครงการดังกล่าวไว้ได้
“ที่ผ่านมา เราก็สู้ไปกับอะไรแบบนี้อยู่ตลอด ทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งเรื่องความคิดของคนในสังคม ที่เลือกเรียนกฎหมายก็ไม่ได้คิดว่ากฎหมายเป็นตัวแก้ปัญหา จากการทำงานมันชัดมากกว่า กฎหมายไม่ได้เป็นตัวแก้ไข แต่เป็นกลไกหนึ่งที่เราต้องใช้ เพราะกฎหมายมีผลบังคับรัฐ มีผลบังคับท้องถิ่น มีผลบังคับคนทุกคนให้อยู่ภายใต้กฎเดียวกันได้ ที่บอกว่ามันไม่ใช่ตัวที่จะแก้ปัญหาทุกอย่าง เพราะปัญหามันไม่ได้จบที่กฎหมาย อย่างตอนที่เราอยากจะทำนโยบายหาด เราดูแต่กฎหมาย รีวิวกฎหมาย แต่ปรากฏว่ามันสร้างนโยบายหาดไม่ได้ เพราะเรื่องทรัพยากรมันคือเรื่องชีวิต ถ้าคุณจะทำนโยบาย มันต้องดูว่าวิถีชีวิตคนเป็นอย่างไร ความต้องการคนเป็นอย่างไร แล้วข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับชายฝั่งมันเป็นอย่างไร กฎหมายที่จะทำได้ จะต้องเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ประกอบด้วยความรู้นิติศาสตร์ มันต้องมาจากสังคมด้วย และความรู้เฉพาะด้านนั้นๆ ด้วย มันต้องมีหลากหลายมิติ
“กับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ คือจริงๆ มันเป็นตัวเรา เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเพศอะไร ไอ้กรอบเพศหญิงเพศชายมันสร้างความไม่เท่าเทียมกัน สร้างความทุกข์ให้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย กรอบนี้กดทับใครหลายๆ คนอยู่ ยิ่งมีเรื่องศาสนาเข้ามาด้วยยิ่งทำให้คนโดนกด ตอนนี้มีหลายกลุ่มที่ออกมาขับเคลื่อนจน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังไม่มีกลไกที่คนที่ได้รับความเสียหายจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจะไปร้องทุกข์หรือได้รับการเยียวยาได้จริงและมีประสิทธิภาพ
“เรามีฝันอยู่สามเรื่อง หนึ่งคืออยากให้คนทุกคนในสังคมมองกันว่าเป็นคนจริงๆ เคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ทำให้ความหลากหลายเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ สองคือเราอยากอยู่ในสังคมที่มีกระบวนการมีส่วนร่วมที่รองรับทุกเสียง คนทุกคนเท่ากัน อยู่ภายใต้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวกัน แล้วสิ่งที่จะกระทบไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือกฎอะไรต่างๆ หรือโครงการที่จะกระทบต่อชุมชนหรือต่อวิถีชีวิตคน ก็ให้มันมาจากการตัดสินใจที่มาจากการรับฟังจริงๆ แล้วสุดท้ายก็คือ คนที่จะมาเป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารจัดการประเทศจะต้องมาจากประชาชน ต้องตรวจสอบได้”
อีก 7 เสียงคนรุ่นใหม่จากพรรค ‘อนาคตใหม่’
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอก) อายุ 39 ปี นักธุรกิจ นักกิจกรรม
- ไชยวัฒน์ วรรณโคตร (อิง) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นลัทพร ไกรฤกษ์ (หนู) อายุ 25 ปี ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thisable.me
- กันต์พงศ์ ทวีสุข (กันต์) อายุ 27 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศ ก้อปันกัน
- อลิสา บินดุสะ (ฝน) อายุ 23 ปี นักศึกษาปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (จุ๊ย) อายุ 34 ปี นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์
- กฤตนัน ดิษฐบรรจง (ปังปอนด์) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
Fact Box
อลิสา บินดุสะ (ฝน) อายุ 23 ปี นักศึกษาปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์