จากกรณีที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพแพขยะขนาดยักษ์กลางอ่าวไทย ในทะเลนอกชายฝั่งชุมพร ขนาดยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ลงในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat พร้อมเปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทย

ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำเจ้าหน้าที่ 40 นายลงพื้นที่ พร้อมผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว และกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 12 ลำ เพื่อร่วมเก็บกู้ขยะทะเลดังกล่าว และคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 10 วันในการเก็บกู้ขยะเหล่านี้ให้หมดไปได้ เนื่องจากแนวขยะมีการแตกตัวและกระจายออกเป็นวงกว้าง กินพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร

แพขยะครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตขยะที่กำลังลุกลามและบานปลายจนกลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เรายังไม่เคยพยายามจะลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากพอ
เพราะข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมบอกว่า
เราใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ใบ ขณะที่บางประเทศในยุโรปเขาใช้แค่ 3 ใบต่อเดือน

Photo: Sukree Sukplang

แพขยะขนาดยักษ์สะท้อนปริมาณขยะมหาศาลที่คนไทยทิ้งในแต่ละวัน

ดร.ธรณ์ ให้ความเห็นกับ The Momentum ว่า ปกติแพขยะในลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เพียงแต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่มีขนาดใหญ่เท่านี้ เมื่อถามว่าแพขยะครั้งนี้สะท้อนอะไรบ้าง ดร. ธรณ์ ตอบว่า

“สะท้อนว่าเรายังไม่เคยพยายามจะลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากพอ เพราะข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมบอกว่า เราใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ใบ ขณะที่บางประเทศในยุโรปเขาใช้แค่ 3 ใบต่อเดือน นั่นคือปัญหาสำคัญ”

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีขยะวันละ 40,000 ตันต่อวัน หรือประมาณ 15 ล้านตันต่อปี ซึ่งไม่น้อยกว่า 30% เป็นขยะพลาสติก ซึ่งโดยเฉลี่ยคนไทย 1 คนจะใช้ถุงพลาสติกประมาณ 8 ใบต่อวัน ถ้านำถุงพลาสติกดังกล่าวมาเรียงต่อกันจะสามารถนำมาพันรอบโลกได้มากถึง 4 รอบ

ขณะที่สถานการณ์ขยะทะเล จากข้อมูลการเก็บขยะทะเลในปี 2552-2559 รวบรวมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า มีจำนวนผู้ร่วมเก็บขยะจำนวน 25,656 คน มีจำนวนขยะที่เก็บได้ทั้งสิ้น 435,417 ชิ้น น้ำหนักขยะที่เก็บได้รวมแล้วประมาณ 75,906.17 กิโลกรัม หรือประมาณ 75 ตัน!

ส่วนประเภทขยะที่พบมากที่สุดอันดับ 1 คือ ถุงพลาสติก ที่คิดเป็นจำนวน 16.14% หรือ 70,292 ชิ้น รองลงมาคือ ฝา/จุก 9.43% หรือ 41,045 ชิ้น เชือก 8.41% หรือ 36,637 ชิ้น ส่วนที่เหลือเป็นหลอดหรือที่คนเครื่องดื่ม, บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่, กระดาษ/หนังสือพิมพ์/ใบปลิว, ขวดเครื่องดื่มแก้ว, ถ้วย/จาน/ช้อน/ส้อม/มีด, ห่อ/ภาชนะบรรจุอาหาร และอื่นๆ

เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นเร่งกฎหมายเรื่องการต้องซื้อถุงพลาสติกแทนที่จะแจกอย่างเช่นทุกวันนี้
โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ซึ่งกฎหมายเรื่องนี้มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ประกาศใช้สักที

ทางแก้ระยะยาวคือลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการเก็บเงิน

การลงพื้นที่เก็บกู้ขยะกลางท้องทะเลอาจช่วยบรรเทาปัญหาแพขยะลงไปได้บ้าง แต่นั่นไม่ใช่ทางออกในระยะยาวอย่างแน่นอน เพราะขยะสามารถลอยไปในระยะทางที่กว้างมาก แม้จะมีเจ้าหน้าที่มากแค่ไหน แต่การเก็บขยะในทะเลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี

“ทางแก้เราก็รู้กันอยู่แล้วทุกคน คือการลดใช้ถุงพลาสติก ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย การจัดการที่ปลายทางอย่างเดียวไม่สำเร็จหรอก เราจึงต้องกลับไปดูที่ต้นทาง แล้วทั้งหลายทั้งปวงมันก็มาจากเราทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นขยะตามเกาะ ตามชายฝั่ง หรือลอยมาจากแม่น้ำสายต่างๆ จนมาถึงอ่าวไทย

“เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นเร่งกฎหมายเรื่องการต้องซื้อถุงพลาสติกแทนที่จะแจกอย่างเช่นทุกวันนี้ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ซึ่งกฎหมายเรื่องนี้มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ประกาศใช้สักที เพราะยังไม่มีใครกล้า แต่ประเด็นนี้จะช่วยเร่งให้เห็นว่าเรามีปัญหาแสนสาหัสแล้วนะ ควรจะนำกฎหมายมาใช้อย่างจริงจังได้แล้ว”

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียวที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาขยะในทะเล ตามรายงานของสำนักข่าวบีบีซีที่เปิดเผยข้อมูลจากสมาคมอนุรักษ์ทะเลของอังกฤษระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลนำนโยบายให้ผู้บริโภคเสียเงินค่าถุงพลาสติกใบละ 5 เพนซ์ (ประมาณ 2 บาท) จะสามารถลดจำนวนขยะได้เกือบครึ่งหนึ่ง

โดยทางสมาคมฯ ได้ส่งอาสาสมัคร 6,000 คน ออกไปทำความสะอาดพร้อมรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะที่พบตามแนวชายหาด พบว่ามีขยะถุงพลาสติกไม่ถึง 7 ใบ ต่อแนวชายหาดที่ทำความสะอาดแล้ว ทุกๆ 100 เมตร หรือลดลง 40% จากที่เคยพบเฉลี่ย 11 ใบเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกนั้นได้ผลจริง

ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศชี้แจงถึงการดำเนินการและแนวทางแก้ไขปัญหานี้ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน และระยะยาว ซึ่งหนึ่งในทางแก้ปัญหาระยะยาว ทางฝ่ายวิชาการและเครือข่ายนักอนุรักษ์มีความเห็นร่วมกันว่าสมควรมีมาตรการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล โดยใช้มาตรการทางกฎหมายไม่ให้แจกถุงพลาสติกฟรีในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะ  โดยให้ขายถุงพลาสติกแทนการแจกฟรี

ไม่ว่ามาตรการนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งที่เราทุกคนช่วยกันได้ในเวลานี้คือลดปริมาณขยะในชีวิตประจำวันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ทะเลไทยจะกลายเป็นภูเขาขยะในอนาคต

Tags: