สูดควันเข้าปอดเป็นเฮือกสุดท้าย แล้วดีดก้นบุหรี่ทิ้งให้ไกลตัว ให้มันหล่นลงกับพื้น เถ้าและเปลวไฟแตกกระจาย… ดูจะเป็นท่าทางที่คล้ายกันของคนสูบบุหรี่ทั้งโลก และด้วยความมักง่าย ไม่ใส่ใจนี่เอง ทำให้สภาพแวดล้อมของโลกพลอยถูกทำลายไปด้วย เพราะในแต่ละปี จากการคำนวณของหน่วยงานสถิติ Planetosope จะมีคนทิ้งก้นบุหรี่อย่างต่ำ 4.3 ล้านมวน และเป็นขยะราว 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกกวาดเก็บในเมืองและชายหาด

ปัจจุบัน ฝรั่งเศสกำลังต่อสู้กับผลลัพธ์ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จากยอดขายบุหรี่ถูกกฎหมายต่อปีราว 5.3 หมื่นล้านมวน จำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของมันจะกลายเป็นขยะให้เก็บกวาด ในกรุงปารีสพบก้นบุหรี่เกลื่อนพื้นตามสวน พื้นที่สาธารณะ และริมฝั่งแม่น้ำเซน เทศบาลเมืองรายงานว่ามีขยะที่เป็นก้นบุหรี่สูงถึง 315 ตันต่อปี ตกหล่นอยู่บริเวณริมถนนหน้าบิสโตร ทางเข้าโรงแรม หรือข้างอาคารสำนักงาน หากเก็บกวาดไม่ทั่วถึงหรือฝนตกเมื่อใด มันจะถูกชะไปตามร่องน้ำ และไหลลงไปอุดตันตามท่อระบายน้ำของเมือง

หากเก็บกวาดไม่ทั่วถึงหรือฝนตกเมื่อใด มันจะถูกชะไปตามร่องน้ำ และไหลลงไปอุดตันตามท่อระบายน้ำของเมือง

ชาวเมืองและชุมชนต่างๆ ในเขตเมืองพากันประกาศให้ ‘ก้นบุหรี่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง’ มีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ตามพื้นที่สาธารณะมานานนับปี จนบัดนี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครงเริ่มหันมาจริงจัง โดยจะโยนให้อุตสาหกรรมยาสูบมีส่วนในความรับผิดชอบ

เพราะบุหรี่ไม่ได้ก่อปัญหาแค่เพียงปริมาณขยะ หากยังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาอื่นด้วย มันต้องใช้เวลานานถึงสิบปีกว่าที่ตัวกรองและเซลลูโลสอะซีเตต (กระดาษ) จะย่อยสลาย นอกจากนี้ ค็อกเทลสารเคมีที่เป็นพิษสะสมอยู่ในตัวกรอง ได้แก่ นิโคติน ฟีนอล สารกำจัดศัตรูพืช และเศษโลหะหนักซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ยังก่อให้เกิดมลพิษในทะเลสาบและแม่น้ำ สมาพันธ์สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ (DNF) ออกมาเตือนว่า ก้นบุหรี่มวนหนึ่งสามารถทำให้น้ำปนเปื้อนได้ถึง 500 ลิตร

ระหว่างกิจกรรมการทำความสะอาดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กร Surfrider เปิดเผยว่าสามารถเก็บก้นบุหรี่จากลำคลองในกรุงปารีสได้ถึง 23,000 มวน และมีการเรียกร้องให้มีคำเตือน ‘บุหรี่ทำให้ตายได้’ และ ‘การสูบบุหรี่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม’ บนซองบุหรี่ของฝรั่งเศส

เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมืองต่างๆ เช่น เบียร์ริซ คานส์ หรือโคลมาร์ พุ่งเป้าไปที่ผู้สูบบุหรี่โดยตรง เพื่อให้ทั้งความรู้และยับยั้งไปในตัว ในกรุงปารีสนั้น มีการติดตั้งที่เขี่ยบุหรี่ไว้ด้านข้างถังขยะราว 30,000 ถังมาตั้งแต่ปี 2012 และตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 ได้เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น ตามกฎหมายมาตรา อาร์ 633-6 ระบุโทษปรับสำหรับการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ทิ้งของเหลวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการปัสสาวะบนถนน มีโทษปรับ 68 ยูโร (ราว 2,700 บาท) กฎหมายนี้นับรวมถึงการทิ้งก้นบุหรี่อย่างมักง่ายด้วย

ฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ผับ และอาคารสำนักงานมาตั้งแต่ปี 2008 แล้วก็จริง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีนวัตกรรมทดลองของกลุ่มสตาร์ตอัปด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำก้นบุหรี่ และเศษพลาสติกที่เหลืออยู่มารีไซเคิลเป็นเฟอร์นิเจอร์ อย่างเช่นบริษัท MeGo ในบริตทานี หรือ Eco-megot ในบอร์โดซ์  แต่ขั้นตอนต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง และยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จง่ายๆ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงคิดนโยบายที่จะให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่รับผิดชอบกับขยะก้นบุหรี่ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีมาครงสำหรับวงจรเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทางนิเวศวิทยา หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐมีไอเดียเพิ่มเติมให้ด้วยว่า การเก็บกวาดก้นบุหรี่บนพื้นผิวถนนมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงควรเรียกเก็บค่ารักษาสภาพแวดล้อมจากผู้ผลิตบุหรี่ซองละหนึ่งเซ็นต์

ข้อเสนอให้รับผิดชอบเรื่องขยะ ‘ก้นบุหรี่’ ดูจะสร้างความแตกตื่นให้กับอุตสาหกรรมยาสูบในฝรั่งเศสในทันควัน บริษัทฟิลิป มอร์ริส ฝรั่งเศส ออกตัวว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการเรียกเก็บ ‘ภาษีใหม่เพิ่ม’ ซึ่งไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ผิดของผู้สูบบุหรี่แต่อย่างไร ทางที่ดีแล้วควรรณรงค์ ‘ให้การศึกษาและการรับรู้’ แก่ผู้สูบบุหรี่มากกว่า และหากทำเช่นนั้นจริง ฟิลิป มอร์ริสและบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้คงจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่ต้องสงสัย

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐมีไอเดียเพิ่มเติมให้ด้วยว่า การเก็บกวาดก้นบุหรี่บนพื้นผิวถนนมีค่าใช้จ่าย จึงควรเรียกเก็บค่ารักษาสภาพแวดล้อมจากผู้ผลิตบุหรี่

คำว่า ‘ภาษีเพิ่ม’ ดูจะเป็นคำแสลงที่รัฐบาลจำต้องพึงระวัง เพราะมันอาจสร้างกระแสความขัดแย้งขึ้นในสังคมได้อีก ซึ่งทั้งมาครงและรัฐมนตรีของเขาก็เพิ่งถูกโจมตีอย่างหนักมา

กระทรวงพาณิชย์ของฝรั่งเศสต้องออกมาชี้แจงและยืนยันว่า ข้อเสนอของรัฐบาลไม่ได้หมายถึงการเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ให้กระทบถึงผู้บริโภคหรือราคายาสูบ แต่ครั้นจะปล่อยให้ผู้ผลิตบุหรี่พ้นภาระความรับผิดชอบไปเลยก็ไม่ใช่ เพราะคนในสังคมยังต้องเป็นทุกข์อยู่กับขยะบุหรี่ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จึงต้องส่งสัญญาณแบบนักการเมืองว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังจะต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสที่ต้องเสียภาษีบุหรี่เพิ่ม

“เราจะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมมือตามหลักการ ‘ผู้ใดก่อมลพิษ ผู้นั้นต้องจ่าย’”

 

อ้างอิง:

Fact Box

10 ประเทศที่สูบบุหรี่มากที่สุดในโลก (ข้อมูลจากปี 2015)

อันดับ 10 – ฟิลิปปินส์ รั้งอันดับสุดท้ายด้วยยอดผู้สูบบุหรี่จำนวน 15.8 ล้านคน

อันดับ 9 – เยอรมนี มีผู้สูบบุหรี่จำนวน 16.3 ล้านคน

อันดับ 8 – บราซิล มีผู้สูบบุหรี่จำนวน 18.8 ล้านคน

อันดับ 7 – ญี่ปุ่น เข้ารอบด้วยตัวเลข 20 ล้านคน และเป็นนักสูบเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า

อันดับ 6 – บังคลาเทศ ยอดผู้สูบบุหรี่ 25.1 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นเพศหญิง 1 ล้านคน

อันดับ 5 – รัสเซีย มีผู้สูบบุหรี่จำนวน 33.2 ล้านคน เป็นนักสูบเพศหญิง 1 ใน 3 ของจำนวน

อันดับ 4 – สหรัฐอเมริกา มีผู้สูบบุหรี่จำนวน 37.6 ล้านคน เป็นนักสูบเพศชายมากกว่าเพศหญิงเพียงนิดเดียว

อันดับ 3 – อินโดนีเซีย มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 53.7 ล้านคน

อันดับ 2 – อินเดีย มีผู้สูบบุหรี่มากกว่าอินโดนีเซียเกือบสองเท่า นั่นคือ 104.3 ล้านคน และเพศชายมากกว่าเพศหญิง 7 เท่า

อันดับ 1 – จีน จากจำนวนประชากรทำให้หลายคนเดาได้ไม่ยาก จำนวนผู้สูบบุหรี่ในจีนมีถึง 268.3 ล้านคน