สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดเดิมใกล้หมดอายุ ส.ว.ชุดใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ ด้วยกติกาใหม่เอี่ยมในรัฐธรรมนูญเก่า อธิบายง่ายๆ คือ คนที่จะมีสิทธิเลือก ส.ว.ต้องเป็นบุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แจ้งความจำนงสมัครเป็น ส.ว.ด้วยการจ่ายเงิน 2,500 บาท หากผ่านเข้ารอบต้องไปเลือกในระดับอำเภอและระดับประเทศ ด้วยกติกาสูตรพิสดารร้อยแปดพันข้อ เลือกไขว้กันไปมา ประหนึ่งจับสลากแข่งขันฟุตบอล 

แน่นอน นี่ไม่ใช่การ ‘เลือกตั้ง’ เพราะคนที่มีสิทธิเลือกคือคนที่สมัครด้วยกันเอง สำทับด้วยข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ห้าม ‘หาเสียง’ ห้ามพูดว่ามีนโยบายอย่างไร พูดได้แต่เรื่องอดีต และห้ามพูดเรื่องอนาคต

เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่แปลกประหลาดที่สุด

“อย่าเรียกว่าการเลือกตั้ง ส.ว. พูดว่าเลือก ส.ว.ก็พอ” เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เกริ่นกับเราขณะเริ่มต้นสนทนาด้วยระบบ ‘การเลือก’ ส.ว.ที่จะมาถึง 

นี่ไม่ใช่ความ ‘ปกติ’ ในระบอบประชาธิปไตย แต่ใช่ว่าจะไม่สำคัญ เหตุเพราะ ส.ว.ยังเปี่ยมพลังและมีอำนาจมากพอที่จะเบี่ยงเข็มทิศการเมืองไทย เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และการตรวจสอบรัฐบาล ยังคงต้องหนุนอิงพิงเสียงของ ส.ว. ดังนั้นนี่จึงเป็นการเลือกเพื่อชี้ชะตาอนาคตการเมืองไทย ไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไป 

เราชวนยิ่งชีพนั่งสนทนาถึงระบบการเลือก ส.ว.สุดพิสดาร ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้นภายในเดือนนี้ ประเมินความพยายามของหลายฝ่ายในการ ‘แฮ็ก’ ระบบสุดแสนซับซ้อน  ไม่ว่าจะเป็น ‘คณะก้าวหน้า’ หรือ iLaw ด้วยการดึง ‘ประชาชน’ เข้าไปต่อสู้ผ่านการลงสมัคร ส.ว.ให้ได้มากที่สุด มี ‘ตัวเลือก’ ให้มากที่สุด เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในสภาสูง และผ่านเป้าหมายแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทำไมคุณปรามในช่วงต้นว่า อย่าเรียกว่านี่คือการ ‘เลือกตั้ง’ แต่ให้เรียกว่า ‘เลือก’ แทน

เพราะประชาชนไม่ได้มีสิทธิ เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อให้คนจำนวนน้อยเลือกกันเอง ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วมก็เลยเรียกว่าเลือกตั้งไม่ได้ 

นอกจากไม่ใช่ระบบเลือกตั้ง มีอะไรที่ต้องรู้ในระบบที่มาของ ส.ว.ครั้งนี้

เป็นระบบที่ประชาชนทุกคนไม่ได้มีสิทธิ เป็นระบบที่ผู้มีสิทธิคือผู้สมัครเท่านั้น กกต.พยายามอธิบายเจตนารมณ์ของระบบการเลือก ส.ว.แบบนี้ว่า เป็นการคัดเอาเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปในระบบ ส.ว. แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญที่ว่าเลือกกันเองว่า ใครเชี่ยวชาญที่สุด แต่โดยระบบแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ระบุว่า ‘ให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด’ แต่ระบบการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามนั้น 

การพิสูจน์ว่าผู้สมัคร ส.ว.ทำอาชีพกลุ่มไหนก็ง่ายเกินไป แค่ระบุว่าคุณทำอาชีพอะไรมาแล้วให้เพื่อนเซ็นรับรองคนหนึ่งก็สมัครได้แล้ว ระบบการเลือก ส.ว.ครั้งนี้จึงไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคัดความเชี่ยวชาญอะไรเลย กลับกันผมมองว่า ระบบการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ออกแบบมาเพียงเพื่อต้องการทำลายการจัดตั้ง เช่น ผู้มีอิทธิพลเอาเพื่อนตัวเองไปลงสมัครสัก 50-100 คน เพื่อให้เขาเลือกตัวเอง ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า คนที่เขาตั้งจะเลือกเขา เนื่องจากการระบบเลือก ส.ว.มีทั้งการจับสลาก โหวตไขว้ และมีการโหวตถึงสามระดับ ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด และประเทศ การจัดตั้งจึงเป็นเรื่องยาก 

แต่ระบบการเลือก ส.ว.แบบนี้ จะทำให้ ส.ว.ที่ได้มาไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร เป็นเพียงตัวแทนของดวงจากการจับสลาก ได้เป็น ส.ว.แล้วก็เป็นไป ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพใด เพราะสุดท้ายเขาจะถูกตัดสินโดยกลุ่มอาชีพอื่นที่จับสลากมาโหวตเขา ผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพที่มีสิทธิโหวตเขาก็จะโหวตมั่ว เขาไม่ได้เป็นตัวแทนของอำเภอ จังหวัด หรือเป็นตัวแทนประเทศ​ แม้จะเป็นคนมีชื่อมีเสียงได้รับการยอมรับในพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดเขาจะถูกตัดสินโดยคนทั่วประเทศอยู่ดี​ เขาจึงไม่ได้เป็นตัวแทนของพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

ยุ่งยากไปหรือไม่ 

ยุ่งยากไปนะ

แล้วระบบการเลือกควรเป็นอย่างไร?

แบบไหนก็ได้ 

ระบบการเลือก ส.ว.มีหลายวิธีคิด และมีอยู่เป็นร้อยโมเดลบนโลกนี้ จะใช้การเลือกตั้ง 100% ก็ได้ แต่ผมค่อนข้างเห็นด้วยว่า การเลือก ส.ว.ควรใช้ระบบคนละแบบกับการเลือก ส.ส. เพราะเรามี ส.ส.จากจังหวัดมาก หากจะเลือกตั้ง ส.ว.ด้วย แล้วใช้จังหวัดเป็นหลักในการเลือกตั้ง เราคงได้คนในทำนองเดียวกันกับ ส.ส. อีกทั้งสองสภาฯ (ส.ว.และ ส.ส.) มีหน้าที่ต่างกัน แต่ต้องตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เราจึงไม่ควรใช้ระบบเลือก ส.ส.มาเลือก ส.ว.

เช่น มีคนนามสกุลหนึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งลง ส.ส.ไปก่อนหน้า เมื่อมีการเลือกส.ว.ก็มีคนนามสกุลเดียวกันลงสมัครอีกรอบ นามสกุลเดิมก็จะได้อีกรอบ มันจึงควรมีระบบการได้ ส.ว.ในรูปแบบอื่น

เมื่อไม่ใช่การเลือกตั้งแบบปกติ แล้วจะสะท้อนเสียงประชาชนได้อย่างไร 

ก็ไม่สะท้อน สุดท้าย ส.ว.ที่ได้มาจะไม่เป็นตัวแทนของใครเลย เขาตั้งใจออกแบบให้ ส.ว.เป็นผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มอาชีพ แต่ว่ารายละเอียดมันไม่สนับสนุนสิ่งนั้น ผู้สมัคร ส.ว.สามารถเลือกลงกลุ่มอาชีพได้เยอะมาก เช่น ถ้าคุณเป็นข้าราชการครูที่ขายของออนไลน์ไปด้วย แปลว่าคุณสามารถลงกลุ่มราชการก็ได้ ลงกลุ่มครูหรือกลุ่ม SME ขายของก็ได้ และหากคุณเป็นผู้หญิงคุณจะลงกลุ่มสตรีก็ได้ หรือหากคุณอายุ 60 แล้ว คุณจะลงกลุ่มผู้สูงอายุก็ได้ สุดท้ายถ้าคุณไม่พอใจ 5 กลุ่มนี้ คุณจะเลือก ‘กลุ่มอื่นๆ’ ก็ได้  ทำงานหลายอย่างก็ลงได้หลายกลุ่ม ด้วยระบบตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครที่ยังหลุด ยังหลวม ระบบการเลือก ส.ว.ครั้งนี้จึงไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญ และถือเป็นระบบที่ ‘ล้มเหลว’ 

อาจพอรับได้หากมีกลุ่มผู้สมัครชาวนากับชาวไร่อยู่ด้วยกัน แต่การเอากลุ่มคนทำสวน ประมง กับกลุ่มเลี้ยงสัตว์อยู่กลุ่มเดียวกัน นี่ไม่ใช่แล้ว เขาไม่ได้เชี่ยวชาญสิ่งเดียวกัน แต่คุณกลับเอาเขาไปอยู่กลุ่มเดียวกัน หรืออย่างกลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน สิ่งแวดล้อมเดินหน้าปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่วนพลังงานเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม มันไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้

ผู้สูงอายุ ชาติพันธ์ุ คนพิการ LGBTQ+ อัตลักษณ์กลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเลือกกันได้ ผู้สูงอายุไม่ได้รู้ว่าผู้พิการคนไหนกันที่ควรแก่การได้รับเลือกเป็น ส.ว. ผู้พิการไม่ได้รู้ว่าใครกันที่เป็นชาติพันธ์ุที่ตนควรเลือก การแบ่งกลุ่มแบบนี้แล้วบอกว่า ต้องการตัวแทนผู้เชี่ยวชาญมันเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณเอาคนที่ไม่เหมือนกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน 

ไม่ใช่ระบบคัดผู้เชี่ยวชาญ และ ส.ว.ที่ได้ก็ไม่เป็นตัวแทนของใคร แล้วจะเกิดอะไรขึ้น 

เขาก็จะถูกซื้อได้  

หากการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ต้องการดันผู้เชี่ยวชาญเข้าสภาจริง กลุ่มกฎหมายต้องตรวจแบบละเอียดเลยว่า ผู้สมัครในกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจริงๆ และโหวตระดับประเทศครั้งเดียว 500 คนไปเลย นี่สิถึงจะได้ผู้เชี่ยวชาญ หากผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นในสภามีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย ก็อาจหันไปถามผู้เชี่ยวชาญกฎหมายให้ได้คำตอบ ซึ่งมีประโยชน์ แต่การเลือกลักษณะนี้ก็มีข้อเสียเยอะ และอาจมีการจัดตั้ง สำหรับผมไม่ได้จะเอาระบบนี้หรอกนะ  

สมมติว่า ในกลุ่มชาวนาคัดเอาคนที่ทำนามาตลอดสมัครเป็น ส.ว. 2,000 คน โหวตกันเองเหลือ 10 คนสุดท้าย เมื่อไหร่ที่สภาวินิจฉัยปัญหาของชาวนา ฟังชาวนา 10 คนนี้ให้มากยังพอไหว แต่บ้านเมืองเราไม่ได้มีอาชีพเพียง 20 กลุ่ม ยังมีอาชีพอีกเป็นพันเป็นหมื่น เลยมีการจัดกลุ่มแบบนี้ แต่พอจัดกลุ่มแบบนี้ก็จัดมั่วอีก ผู้สมัคร ส.ว.คนหนึ่งจึงไม่เท่ากับตัวแทนกลุ่มอาชีพ เมื่อไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพแล้ว คุณไปนั่งอยู่ในสภา คุณก็ไม่จำเป็นต้องแคร์อะไร 

คุณเป็นชาวนา คุณก็รอกฎหมายชาวนาเข้าสภา แต่ถ้ากฎหมายที่เข้ามาเป็นกฎหมายไรเดอร์จะทำอย่างไร ชาวนาก็หันไปฟังไรเดอร์ว่า จะให้โหวตกฎหมายนี้อย่างไรดี จะได้โหวตตาม อันนี้ยังพอได้ แต่ถ้าชาวนาก็ไม่ใช่ชาวนาจริง คนขับไรเดอร์ก็ไม่ใช่ไรเดอร์จริงๆ พอกฎหมายชาวนาเข้าสภาฉบับหนึ่ง กฎหมายไรเดอร์เข้ามาอีกฉบับหนึ่ง ไม่รู้จะโหวตอย่างไร ก็รอกล้วยไง ง่ายนิดเดียว ใครให้กล้วยก็โหวตตามนั้น ซึ่งเราไม่ชอบ เราเห็นว่า สุดท้ายระบบนี้มันทำให้ผู้ชนะมีโอกาสสูงที่จะไม่เป็นตัวแทนของใครเลย เมื่อไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลยก็โหวตมั่ว โหวตแบบไม่รู้อะไรเลย หลับหูหลับตาโหวต 

ระบบกลุ่มอาชีพค่อนข้างยุ่ง แบบนี้จะตรวจสอบทันหรือ 

ตามจริงแล้ว คนตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ว. คือผู้อำนวยการระดับอำเภอ ซึ่งก็คือนายอำเภอ ขณะนี้ผมยังไม่รู้วันรับสมัคร อาจจะประมาณ​ 10-20 พฤษภาคม แล้วเลือก 9 มิถุนายน เมื่อรับสมัครสมมติว่าเสร็จวันที่ 20 พฤษภาคม ก็จะมีเวลาอีก 10-15 วัน ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว.ก่อนจะมีการเลือกจริงในวันที่ 9 มิถุนายน การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครด้วยระยะเวลาเท่านี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทัน 

เมื่อคุณสมบัติผู้สมัครมีปัญหาจากการตรวจสอบที่หละหลวม สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร

ก็จะมีปัญหาตามมามากมาย เอาโดยหลักการก่อนว่า ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ว. แต่โดยปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ที่ กกต.จะตรวจทัน จึงมองว่าพอวันถึงวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเลือก ส.ว. กกต.อาจจะยังไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ หรืออาจตรวจเฉพาะบางคนที่ขาดคุณสมบัติชัดมากๆ เช่น ผู้สมัครเป็นเพศหญิงแต่ระบุว่าเป็นเพศชาย ผู้สมัครไม่ได้เป็นคนพิการแต่ระบุว่าเป็นคนพิการ 

แต่การตรวจคุณสมบัติอาชีพกลุ่มค้าขายที่ต้องค้าขายมา 10 ปี ข้อเท็จจริงผู้สมัครอาจทำไม่ถึงตามคุณสมบัติ แต่ใครจะตรวจได้? เพราะฉะนั้นเสียงที่จะโหวต ส.ว.ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ จึงยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ หากมีผู้สมัครคนหนึ่งชนะ ผมมองว่ามีโอกาสสูงที่ผู้ชนะคนดังกล่าวจะผิดคุณสมบัติ  ตามมาด้วยการถูกร้อง และถูกสอยทีหลัง แต่ระหว่างทางเขาออกเสียงมาตลอดนะ ตั้งแต่ระดับอำเภอถึงสองรอบ ระดับจังหวัดสองรอบ และระดับประเทศอีก​สองรอบ ออกโหวตไปแล้วอีก 42 โหวต เสียงของเขามีผลต่อผู้แพ้ ผู้ชนะมาแล้ว การถูกตัดสิทธิในตอนหลัง เสียงโหวตของเขามันเอาคืนมาไม่ได้นะ 

ส.ว.ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง และยังเปิดให้ประชาชนสมัครได้ นี่เป็นความอ่อนแอลงของกลุ่มอำนาจเก่าหรือไม่ 

อ่อนแอลงแน่นอน เขาจะไม่สามารถยึด ส.ว.ชุดนี้ได้ เหมือนกับ ส.ว.ชุดก่อนหน้านี้ เพียงแต่ใครจะยึดได้ก็ไม่รู้

คิดไหมว่า อาจมีนักการเมืองใช้ความมั่งคั่งซื้อตัวผู้สมัคร และแม้ผู้สมัครหลายคนจะแนะนำตนเองผ่านเว็บไซต์ แต่ท้ายที่สุดอาจเป็นเพียง ‘กลหลอกเอาคะแนน’ ไม่ได้มีความตั้งใจนั้นจริงๆ 

มีแน่นอน เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าใครชนะ การจัดตั้งมีหลายแบบ คงมีกลุ่มการเมืองที่พยายามส่งคนของตัวเองไปสมัคร หรือมีคนที่ไม่สังกัดพรรคไหน แต่อยากจะเป็น ส.ว.ก็อาจจะมีการจัดตั้งคนไปเลือกตัวเองเช่นกัน

ผมรู้ว่าตอนนี้มีกลุ่มไลน์หลายสิบกลุ่ม แต่กลุ่มที่พยายามจัดตั้งอาจมีเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติการจัดตั้งมันมีอยู่แล้ว ถ้าคุณจัดตั้งโดยเอาคนหลายสิบคนมานั่งคุยกันในห้องไลน์มันไม่ได้ผิดอะไร เพราะคนที่อยู่ในนั้นจะไม่เลือกคุณก็ได้

แต่เมื่อไรที่คุณจ่าย นั่นแปลว่าคุณทำ ‘ผิด’ กติกา เราก็หวังว่าคนหลายสิบคนที่ถูกดึงเข้าไปในไลน์ หากเริ่มมีการจ่าย เขาจะเอามาบอกผม (หัวเราะ)

เมื่อ ส.ว.ไม่ใช่การ ‘แต่งตั้ง’ เพื่อเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ เหมือนครั้งก่อน แล้วการมาของ ส.ว.ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เปลี่ยนไปอย่างไร

เพื่อคานอำนาจ ส.ส.ครับ 

ทั้งระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งการเลือก ส.ว. ถูกออกแบบในปี 2559 มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวที่เราคิดได้ คือตัดตอนเพื่อไทย ตัดตอนทักษิณ​ ต่อให้พรรคของทักษิณชนะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ก็ยังมี ส.ว.ที่ไม่ขึ้นตรงกับทักษิณ​ เขาก็ยังพอมีเครื่องมือที่จะกำจัดทักษิณได้ ระบบที่เกิดขึ้นในปี 2559 นำมาสู่อะไรในแบบที่เราเห็นกันอยู่นี้

แต่ตอนนี้โจทย์ไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ทักษิณกับคนเขียนรัฐธรรมนูญกลายเป็นพวกเดียวกัน สิ่งที่เขาต้อง ‘กำจัด’ คือพรรคส้ม และเมื่อโจทย์เปลี่ยน ระบบ ส.ว.ที่ถูกสร้างขึ้น จึงไม่ตอบโจทย์เดิมของคนเขียน พรรคส้มมีที่เล่นง่ายกว่าที่เขาออกแบบไว้ใน 7-8 ปีก่อน โดยไม่ผิดกฎหมาย ระบบนี้จึงไม่มีใครชอบ 

มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่ระบบนี้จะไม่ถูกใช้

ไม่มีทาง เพราะไม่ทัน มีการประกาศวันเลือก ส.ว.เรียบร้อยแล้ว พวกเขาต้องเดินตามนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ว.เป็นหนึ่งในตัวแปรในการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วประชาชนอย่างเราหวังได้แค่ไหน

ผมเชื่อว่า ถ้าผมไม่ทำอะไร อยู่ดีๆ จับสลากมั่วๆ เอาคนไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป 200 คนที่สมัคร ส.ว.มาเรียงต่อกัน มีมากกว่า 67 คนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ​แบบที่เราไม่ต้องทำอะไร เขาก็แก้ เพียงแต่ว่า มนุษย์พวกนี้ที่จับสลากมาถูกซื้อได้ ไม่ได้มีอุดมการณ์เข้มแข็ง เพราะเขาจับพลัดจับผลูมาได้มาเป็น ส.ว. 

วันแรกคุณอาจจะแน่วแน่ แต่เมื่อคุณได้เป็น ส.ว. คุณเดินเข้าสภาแล้ว เมื่อถึงเวลาโหวตมีกล้วยมาวางอยู่หน้าบ้านใน 67 คนนี้ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า เขาจะโหวตอะไร และใน 200 คนนี้ก็ไม่มีอะไรมาการันตีเช่นกัน ดังนั้นผมไม่ได้ซีเรียสว่าใครจะชนะบ้าง ผมเชื่อว่า 67 คนยังจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะความคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีปัญหา มันสถิตอยู่ในสังคมแล้ว คนเข้าใจไปแบบนั้น จะเอาอะไรมาดีเฟนด์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจนต้องปกป้องไว้ ล่าสุดยังเห็นคนพูดว่า รัฐธรรมนูญนี้ดีเพราะมีโทษประหารชีวิต ใครทุจริตมีโทษขั้นประหารชีวิต แต่มันไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ ลองค้นหาคำว่าประหารชีวิตในรัฐธรรมนูญ มันไม่มี มันไม่มีเหตุผลอะไรมาดีเฟนด์แล้วว่า รัฐธรรมนูญนี้มันดีอย่างไร 

เพราะฉะนั้น คุณจะเลือกอย่างไรก็ได้ แต่ 67 คนที่จะแก้รัฐธรรมนูญมีแน่นอน ในความเห็นผม แต่กลัวจะได้คนที่สามารถซื้อได้ ถ้าการเลือก ส.ว.มีจุดเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองบ้าง ไม่ได้เชื่อมโยงเพียงการจับสลากหรือเพราะดวง ก็มีโอกาสที่จะได้คนใจแข็งเข้ามาในสภา

ผู้สร้างระบบคิดอย่างไร ถึงได้สร้างระบบที่ทำให้อำนาจของตนสั่นคลอน เขาทำพลาดหรือ

เขาทำพลาดตลอด ตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง 2562 จนระบบเลือกตั้ง 2566 เขาคิดว่าเขาทำแบบนี้แล้วเขาจะชนะ กลับกันเขาแพ้มาตลอด แต่เขาก็มีแผนสำรองเยอะ อย่างไรเสีย เดิมที ส.ว.ชุดเดิมเป็นคนของเขา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนของเขา มีกลไกอีกมากมายที่เขาพลาดแล้วเขายังอยู่ หล่นอยู่บนฟูก ระบบการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ก็เหมือนกัน แม้ ส.ว.ชุดนี้ จะเป็นคนที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ แต่เขาก็ยังอยู่บนฟูก 

ฉะนั้นแล้ว ชะตาการเมืองไทยยังถูกชี้นิ้วโดย ส.ว.ต่อไปไหม 

ยังเป็นแบบนั้น ส.ว.ยังมีอำนาจมากเกินไปในการอนุมัติว่า ใครจะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กกต. และตำแหน่งสำคัญ เช่น อัยการสูงสุด, ประธานศาลปกครอง และอีกมากมาย หาก ส.ว.ยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวเคาะเลือกคนในทิศทางเดียวกันเสมอ เขาก็ยังยึดประเทศได้อยู่เหมือนเดิม เหมือนที่ผ่านมา 

คณะก้าวหน้าและ iLaw เดินหน้าเชื้อเชิญคนลงสมัคร ส.ว.แบบนี้ จะไม่นำมาสู่ ‘ความผิด’ หลักเกณฑ์จนนำสู่การล้มระบบเลือก ส.ว.ที่จะมาถึงหรือ

ไม่ผิด ผมประสานติดต่อขอคุยกับ กกต.มาสักพัก เพื่อนำเสนอว่าเราจะทำอะไรบ้าง และหาทางออกแบบร่วมกันเพื่อทำให้มันถูกต้อง ซึ่ง กกต.ยังไม่ว่างคุยกัน ทั้งนี้ iLaw มีเจตนาที่จะทำให้ทุกอย่างอยู่บนดิน ไม่ได้มีเจตนาทำอะไรที่หลบๆ ซ่อนๆ หรือแอบทำ ผมยังคิดไม่ออกว่ามันจะล้มการเลือก ส.ว.ได้อย่างไร ถ้ามีคนจัดตั้ง ซื้อเสียง แล้วชนะ ก็ต้องล้มไป แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรแบบนั้น 

เล่าให้ฟังหน่อยนึง อุดมการณ์ของเรา เรามองว่าผู้สมัครเมื่อเข้าไปแล้วจะโหวตมั่ว และในวันโหวต กกต.จะแจกกระดาษห้าบรรทัดให้ทุกคนอ่านและตัดสินใจ ในกลุ่มอำเภอเดียวกันมันเป็นไปได้ แต่เมื่อมีการจับสลากและโหวตไขว้ โดยเฉพาะจับสลากโหวตไขว้ ส.ว.ในระดับประเทศ นักกฎหมายไม่มีทางที่จะรู้จักกับชาวนา นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา คนชาติพันธ์ุ ไม่มีทางรู้จักตำรวจ ข้าราชการ เพราะฉะนั้นทุกคนจะโหวตมั่ว 

เราอยากให้ทุกคนที่จะพาตัวเองเข้าไปโหวต ส.ว.ทำการบ้านก่อน อย่าโหวตมั่ว คุณมีเวลาเป็นเดือนๆ ใครจะสมัครเป็นแคนดิเดต ส.ว.ให้คนเลือก ก็มาประกาศตัวตั้งแต่วันนี้ที่เว็บไซต์ Senate67  และใครว่างๆ อยากสมัครเข้าไปเป็น ‘ผู้เลือก’ ส.ว.ก็อยากให้นั่งไถ ทำความรู้จักกับผู้สมัครแต่ละคนก่อน 

ใครจะเขียนประวัติแนะนำตัวเองกี่หน้าก็เขียนไปเลย กกต.ให้เขียนแค่ 5 บรรทัด แต่ Senate67 เราให้เขียนเต็มที่ ยังเห็นความตั้งใจว่าผู้สมัครอยากทำอะไรให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ ทั้งยังมีจุดยืนของผู้สมัคร รัฐธรรมนูญจะแก้ไขไหม โหวตทุกมาตราหรือไม่ เห็นอย่างไร เรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคมอย่างสมรสเท่าเทียม กัญชาเสรี กระจายอำนาจ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร คุณสามารถบอกได้ในเว็บไซต์ดังกล่าว ผู้สมัครลงคะแนนเสียงจะได้นั่งดูว่า คนไหนประวัติดี มีความตั้งใจ มีอุดมการณ์ตรงกัน พอวันโหวตมาถึงเขาจะได้ไม่โหวตมั่ว จากการทำการบ้านมาก่อน และมั่นใจว่าจะโหวตคนนี้ นี่คือสิ่งที่อยากจะเห็น 

เราก็เชิญชวนประชาชนเข้าไปสมัคร สมมติมีคนสมัครสักสองแสน สามแสน หรือล้านหนึ่ง และผู้สมัครมีคุณสมบัติที่สมัคร ส.ว.ได้ สมัครเองไม่ได้ มาจากการจัดตั้ง ซื้อเสียง หรือชักชวน ไม่ได้อยู่หรือสังกัดกลุ่มไหน เพียงแต่สมัครเพราะอยากมาใช้เสียง ก่อนวันเลือกก็ไปนั่งอ่านรายชื่อผู้สมัครในเว็บทั้งวันเลยว่าคุณจะเลือกใคร แบบนี้มันจะทำให้คนที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.เป็นตัวแทนของ ‘อุดมการณ์’ กับคนที่คิดเห็นทางการเมืองเหมือนๆ กัน ไม่ใช่ตัวแทนของอาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของอำเภอ หรือจังหวัด 

อยากบอกอะไรกับ กกต.ถึงการเลือก ส.ว.ที่จะถึงนี้

เรียนท่าน กกต.ที่เคารพ ผมกับท่านไม่ได้คุยกันเลย ก่อนหน้าช่วงเลือกตั้ง 66 มานี้ เราคุยกันเยอะมาก 

เรื่องแรกที่อยากจะเรียนจริงๆ ผมเห็นใจ กกต.มาก โปรดได้ยินผมหน่อยเถอะ ผมไม่ได้รังเกียจท่านเลย ระบบการเลือกครั้งนี้มันซับซ้อน และใหม่แกะกล่อง เมื่อมันใหม่แกะกล่อง มนุษย์แค่หนึ่งคนก็เข้าใจยากแล้ว กกต.ยังจะต้องไปพูดให้เจ้าหน้าที่เป็นหมื่นๆ คน มาจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย และให้มันเหมือนๆ กัน ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ถ้าเป็นผมก็คงทำไม่ได้ มันเป็นงานที่ยากมาก และชีวิตท่านก็ยืนอยู่บนเส้นด้าย โอกาสผิดพลาดมีตลอด เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจะไม่เข้าใจว่ามันทำอย่างไร ลงเอยด้วยการทำผิด เมื่อทำผิด กกต.ก็โดนฟ้อง อันนี้ผมเห็นใจจริงๆ แต่ท่านก็คงทำให้ดีกว่านี้ได้อยู่ ท่านสามารถพยายามพูดกับสาธารณะมากกว่านี้ได้ แต่ตลอดเวลาท่านพูดน้อยมาก มีแถลงข่าวหนึ่งครั้งในการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อต้นเดือนเมษา แล้วก็ไม่มีอีกเลย 

เนื่องจากผมอยู่ในแวดวงคนทำงานหลายกลุ่ม ผมเห็นว่าหลายกลุ่มเชิญ กกต.มาให้ความรู้ และ กกต.ก็ไปบรรยายดี บรรยายดีกว่าผมบรรยายอีก แต่เป็นบ้าอะไรไม่ยอมพูดต่อสาธารณะ พูดกับสาธารณะมันกลัวผิดมั้ง เหมือนกับการพูดต่อที่สาธารณะมันเป็นเรื่องยากสำหรับ กกต. และเขาก็พูดต่อสาธารณะจำกัดเกินไป ระบบใหม่เป็นอย่างไร ตัวเองมีส่วนร่วมได้ไหม เมื่อสมัครไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ อะไรเป็นข้อห้าม ถือหุ้นสื่อแบบไหน เป็นข้าราชการแบบไหนถึงจะสมัครได้ หรือแบบไหนสมัครไม่ได้ คำถามพวกนี้มันล่องลอยเต็มไปหมด แล้ว iLaw ต้องทำหน้าที่ตอบแทน กกต.เหนื่อยมาก แล้วเราก็ตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร 

ถ้า กกต.มีความรับผิดชอบต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่านี้ เขาควรจะทำ เช่น การฟันธงให้ชัดว่า ใครบ้างถือเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองที่ลงสมัคร ส.ว.ไม่ได้ มีคนออกจดหมายไปถาม กกต. จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร กกต.ตอบมาเหมือนไม่ตอบ ตอบมาทำนองว่า อันนี้เป็นดุลพินิจของคนนั้น อันนี้เป็นดุลพินิจของคนนี้ คือ ‘กูไม่รู้อะ’ พูดง่ายๆ ว่าตัวแทนประจำจังหวัด ตัวแทนประจำอำเภอถือเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองหรือเปล่า ลงสมัครได้ไหม 

อย่างกรณีถือหุ้นสื่อ เรารู้ว่าใครถือหุ้นสื่อบ้าง แต่ศาลฎีกากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่เหมือนกัน แล้ว กกต.จะวินิจฉัยอย่างไร คุณต้องออกแนวทางอะไรบางอย่างที่เป็นมาตรการมา เมื่อผิดแล้วคุณก็ต้องแบกรับ คุณต้องโดนด่า แต่นี่คุณเล่นไม่ออกอะไรมาเลย ทุกคนก็ทำตัวไม่ถูก อะไรคือข้าราชการ อะไรคือลูกจ้างของรัฐที่ต้องห้ามลงสมัคร ส.ว. ถ้าคุณไม่นิยาม แล้วคนจะไปรู้ได้ไง สุดท้ายคุณก็ไปตัดสิทธิเขาเอาตอนหลัง มันแย่มาก คุณสามารถทำเรื่องพวกนี้ให้มันชัดเจนได้ แต่คุณก็ไม่ทำ 

คิดบ้างหรือไม่ว่า นี่เป็นความ ‘ตั้งใจ’ ของ กกต.ที่ไม่ต้องการให้คนสนใจการเลือก ส.ว.ที่จะมาถึง 

คิดว่าเขาไม่ได้อยากให้การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้มีคนมาร่วมกันเยอะๆ เป็นความต้องการของเขาอยู่แล้ว แต่ยังคิดว่าน้ำหนักที่หนักที่สุดในใจของเขา คือการที่เขาเงียบเพราะเขา ‘ขี้กลัว’ เขาไม่อยากรับผิดชอบอะไร 

เราจะมีโอกาสมากน้อยขนาดไหนกับ ส.ว.หัวก้าวหน้า

ไม่รู้เลย วันนี้ที่เราคุยกันมีคนมาประกาศตัวในเว็บไซต์ senate67 ประมาณ 1,200 คน อาจจะถึงครึ่ง ส่วนนี้ยังไม่ชัวร์ ครึ่งหนึ่งที่ว่านี้อาจไม่ได้คิดเหมือน iLaw นะ ซึ่งไม่เป็นไร เราเป็นพื้นที่ให้กับทุกความคิดเห็น ดังนั้นเราก็ไม่รู้ว่าถึงวันจริงคนคิดแบบไหนจะสมัครเข้ามามากกว่ากัน 

ในประเด็นที่ 1 ซึ่งถามว่าเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ผู้สมัครเห็นด้วย 83% คำถามที่ว่าเห็นอย่างไรกับรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีคนเห็นด้วยถึง 68% ส่วนใหญ่ในเว็บข้อมูลผู้สมัครในเว็บไซต์ Senate67 อยู่ข้างเรา เห็นอย่างไรกับการแก้ไขที่มา ส.ว. 84% เห็นด้วย เห็นอย่างไรกับสภาเดี่ยว 40% นะ ตีเป็นจำนวนก็ 448 คน จาก 1,200 คน มาสมัครส.ว.แต่เห็นด้วยกับสภาเดี่ยว 

การเลือก ส.ว.ครั้งนี้คือความก้าวหน้าหรือถอยหลังของประชาธิปไตย มีอะไรแปลกใหม่หรือพิเศษในการเลือก ส.ว.

ถ้าประชาชน มีเจตจำนงเสรี มีอุดมการณ์ ในเป้า 1,200 คนที่เดินไปสมัคร ส.ว. ไม่มีทางที่เราจะได้ผู้สมัครที่มีจิตใจเข้มแข็งทั้ง 67 เก้าอี้ นี่คือความถอยหลังของระบบประชาธิปไตยแน่นอน โดยปกติระบบมันถอยหลังอยู่แล้ว แต่หากประชาชนตื่นตัวเดินไปสมัคร ส.ว.เพราะอยากมีส่วนร่วม มีการเข้าไปดูข้อมูลผู้สมัครคนอื่นๆ ศึกษาว่าใครมีอุดมการณ์ตรงกันตัวเองบ้าง อาจไม่ต้องตรงกับ iLaw ก็ได้ โหวตจนเสียงที่มาจากการจัดตั้งทำงานไม่ได้ ผมว่ามันก้าวหน้านะ มันเท่ากับว่าแม้ระบบมันจะห่วยอย่างไรก็ชนะได้ รอดู 

ประชาชนจะมีส่วนร่วมอะไรกับการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ได้บ้าง 

สมมติว่า ท่านมีคุณสมบัติ ท่านไม่ต้องคิดอะไรเลย แค่เตรียมตัว เดินไปสมัคร เตรียมวันที่คุณว่าง จ่ายเงิน 2,500 และหากท่านท่องรายละเอียดกติกาไม่ได้ ท่านไม่ต้องท่อง ท่านเดินไปหาเจ้าหน้าที่เขาจะเป็นคนบอกท่าน แล้วทำตามนั้น แต่แค่นั้นยังไม่พอ ท่านมาทำการบ้านก่อนที่เว็บ Senate67 ท่านดูให้ดีว่า คนที่ท่านอยากจะเลือก มีใครที่อุดมการณ์แบบเดียวกับท่าน แล้วเดินไปเลือก ออกเสียงแบบมั่นๆ เลยว่า เรากำลังเลือกเพื่อให้ ส.ว.ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เราอยากจะเห็น  

แต่หากท่านเป็นประชาชนที่อายุไม่ถึง มีคุณสมบัติไม่พอ เช่น เพิ่งออกจากคุก เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง ท่านช่วยส่งต่อข้อมูลว่าการเลือก ส.ว.มันจะมาแล้ว ตอนนี้ผมเชื่อว่าคนไทยอีก 50 ล้านคนไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะมาแล้ว 

สองคือหาตัวแทนผู้สมัครบ้านละคน กติการอบนี้บอกว่า ห้ามพ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา คู่สมรส ลงสมัคร ส.ว.พร้อมกัน แปลว่าหนึ่งบ้านสมัครได้หนึ่งคน กลับไปคุยกันที่บ้านแล้วไปหาว่าในบ้านมีสักคนไหมที่ลงสมัคร ส.ว.ได้ หากมีก็ดันให้ไปสมัคร ที่สำคัญคือช่วยกันทำการบ้านในเว็บ Senate67 สมมติว่าบ้านคุณส่งพ่อไป คุณพ่ออายุเยอะแล้ว ใช้เว็บไม่เป็น ใช้ให้เขาหน่อย พาเขามากรอกข้อมูลประกาศตัว แล้วอ่านข้อมูลให้เขา และบอกเขาว่าคนไหนที่อุดมการณ์ตรงกับเขาแล้วให้เขาไปเลือก นี่คือสิ่งที่ทำได้ 

สุดท้าย คือช่วยกันจับตากระบวนการว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันจะเป็นไปโดยถูกต้อง โปร่งใสหรือเปล่า นี่เป็นหน้าที่หลักของผู้สมัคร ควรจะช่วยกันจับตากระบวนการ หากว่าตนสมัครไม่ได้ก็ให้จับตามองการเลือก ส.ว. ในหลายๆ จุดที่มีการเลือก ส.ว.จะมีการถ่ายทอดสด อาจจะถ่ายทอดสดเฟซบุ๊กไลฟ์ หรือถ่ายทอดเป็นจอออกมาด้านนอกตึก ก็ขอให้ไปดูกัน ดูว่ามันจะมีอะไรให้ดูบ้าง

Tags: , , ,