ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงทราบกันดีว่าสภาพอากาศปีนี้ดูพิกล ทั้งเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ ทำเอาค่าไฟสูงจนต้องปาดเหงื่อ มิหนำซ้ำ อากาศยังร้อนต่อเนื่องยาวนานจวบจนปัจจุบันที่ย่างเข้าหน้าฝน ก็ยังรู้สึกว่าฝนตกน้อยผิดปกติ ประเทศไทยของเราไม่ได้เผชิญภาวะดังกล่าวเพียงลำพัง เพราะนี่คือรูปแบบทางภูมิอากาศที่ชื่อว่า ‘เอลนีโญ’ (El Niño) ซึ่งจะมาเยือนทุก 2-7 ปี โดยมีสัญญาณเตือน คือกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มวลน้ำอุ่นจากที่เคยไหลไปทางตะวันตกเคลื่อนกลับมาทางตะวันออก ทั้งส่งผลต่อการกระจายตัวของความร้อนและความชื้นทั่วโลก โดยในบางพื้นที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศไทย ส่วนบางพื้นที่ก็จะเผชิญกับอุทกภัย เช่น เปรู บางส่วนของทวีปแอฟริกา และจีน แต่ปีนี้นับว่าพิเศษกว่าเอลนีโญครั้งก่อนๆ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบมากกว่าในอดีต เพราะมาพร้อมกับภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลให้ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า และโรคระบาด รุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้ถูกปันส่วนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก โดยประเทศที่ยากจนจะได้รับผลกระทบมากกว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือราคาอาหาร ซึ่งอาจผันผวนหนัก ทั้งราคาวัตถุดิบสำคัญอย่างปลาป่นอาหารสัตว์ ข้าว ข้าวสาลี และปาล์มน้ำมัน สำหรับประเทศไทย ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประมาณการว่า เอลนีโญครั้งนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นมูลค่า […]