ภายหลังจากที่เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 ประกาศใช้ และจะเริ่มมีผลบังคับจริงจังกับนักศึกษาในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป ทำให้ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาต่างกังวลกับการก้าวเข้ามาจัดแจงสรรพสิ่งของสำนักงานคณะกรรมอุดมศึกษา หรือ สกอ. อันจะกระทบต่ออิสระและเสรีภาพทางวิชาการ ทั้งเรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิหรืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับ ป.โท-เอก ที่สูงเกินจริง และเกณฑ์ปลีกย่อยอื่นๆ ที่เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับอาจารย์มากกว่าการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอน

ปัญหาอุดมศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ ป.ตรี

แม้หลายคนจะแสดงความกังวลต่อเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ว่าจะมีผลกระทบต่อเฉพาะนักศึกษาระดับ ป.โท-เอก เท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว ในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ก็ระบุไว้ว่า ในระดับปริญญาตรี “อาจารย์พิเศษต้องมีชั่วโมงสอนไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของรายวิชา โดยมีอาจารย์ประจําเป็นผู้รับผิดชอบรายวิชานั้น” ซึ่งนั่นหมายความว่า หากวิชาใดหรือคณะไหนมีความจำเป็นต้องมีอาจารย์ผู้สอนจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในศาสตร์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาถ่ายทอดความรู้ซึ่งบางครั้งอาจกินชั่วโมงสอนมากกว่าการบรรยายของอาจารย์ที่รับผิดชอบรายวิชา ก็จะถือว่าเป็นการผิดต่อเกณฑ์มาตรฐานฯ

อ.ชาตรี ประกิตนนทการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง ‘เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษากับอนาคตอุดมศึกษาไทย’ ว่า เกณฑ์ฯ ตอนนี้ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญมาสอน ทั้งๆ ที่การเรียนการสอนของของคณะสถาปัตย์ฯ มักจะใช้ความรู้จากการลงมือปฏิบัติในวิชาสตูดิโอเฉพาะทางต่างๆ มากกว่าการบรรยายแค่ในห้องเรียน ทั้งนี้ อ.ชาตรี ยังให้ความเห็นอีกว่า เกณฑ์มาตรฐานฯ ที่ออกมาล่าสุดยังระบุให้ผู้รับผิดชอบหลักสูตรมาจากผู้เชี่ยวชาญจากทางสายวิชาการอย่างเดียว ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ว่า การฝึกนักศึกษาสถาปัตย์นั้นจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคการออกแบบต่างๆ มากกว่าการเรียนทฤษฎี

เกณฑ์ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก/ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สูงเกินจริง

สำหรับนักศึกษา ป.โท และ ป.เอก ประเด็นสำคัญที่เป็นที่กังวลกันในระดับกว้างก็คือเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับผลงานทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่จะมาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม หรือเป็นอาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ ที่ระบุว่าในระดับปริญญาโทจะต้อง “มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์หรือค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง” และในระดับปริญญาเอกจะต้องมีผลงานทางวิชาการดังกล่าวที่ตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อการศึกษาไม่น้อยกว่า 5 เรื่อง

เกณฑ์ข้อนี้ทำให้เกิดความยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเพื่อจะหา “ผู้เชี่ยวชาญ” เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการทำวิทยานิพนธ์นั้นๆ เพราะเราอาจตีความง่ายๆ ได้ว่า หากต้องการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง AAA แทนที่เราจะเข้าหาที่ปรึกษาที่พอจะพัฒนาความสนใจร่วมกันได้ ก็กลับต้องไปเสาะหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายที่ว่าข้างต้นที่ทำงานวิจัยในเรื่อง AAA มาอย่างต่ำ 5-10 เรื่อง

ซึ่งในความเป็นจริงนั้นทำได้ยากมาก โดยเฉพาะกับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีธรรมชาติของวิชาเป็นการต่อยอดความรู้หรือพยายามทลายกรอบการศึกษาเดิมๆ การกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์นั้น จะทำให้ไม่เกิดการศึกษาในประเด็นใหม่ๆ หรือมุมมองใหม่ๆ ได้เลย ซึ่งอาจทำให้การเลือกทำวิทยานิพนธ์ขึ้นอยู่กับว่า หัวข้อนั้นๆ จะสามารถหาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการประเมินความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลายฝ่ายที่กินเวลานานแสนนาน

“เกณฑ์แบบนี้จะทำให้หาอาจารย์มาคุมสอบวิทยานิพนธ์ยากขึ้น ซึ่งมันสวนทางกับการที่มหาวิทยาลัยพยายามรับเด็กมากขึ้น แต่กลับมีที่ปรึกษาน้อยลง”

“ยังไงเกณฑ์มาตรฐานฯ นี้มันก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่าถ้าใช้มันจะไม่มีใครเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ได้ อาจจะมีสักคน แล้วถ้าเป็นชิ้นนี้ได้ ชิ้นอื่นก็อาจจะไม่ได้… คนที่เขาเขียนกฎ ถ้าเขาเป็นนักสังคมศาสตร์ เขาจะเข้าใจว่ามันไม่มีใครทำวิจัยประเด็นเดียวซ้ำไปซ้ำมา แล้วพิมพ์เรื่องเดียวเป็นสิบชิ้นได้อยู่แล้ว ถ้าทำอย่างนั้นแปลว่าเขาจะเป็นกรรมการได้เรื่องเดียวเหมือนกัน เขาไม่ต้องเป็นกรรมการให้เรื่องอื่น” อาจารย์สังคมศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าว

นักศึกษาปริญญาโทท่านหนึ่งยังเสริมว่า “เกณฑ์แบบนี้จะทำให้มีที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ได้น้อยลง หาอาจารย์มาคุมสอบวิทยานิพนธ์ยากขึ้น ซึ่งมันสวนทางกับการที่มหาวิทยาลัยพยายามรับเด็กมากขึ้น แต่กลับมีที่ปรึกษาน้อยลง ทำให้เด็กเข้ามาอยู่ในระบบแล้วมันไม่มีกลไกใดๆ ให้รันการเรียนการสอนต่อไปได้ สกอ. ออกกฎมาอย่างนี้ มหาลัยก็อาจจะทำอะไรมากไม่ได้ พอหาคนที่มีคุณสมบัติตามที่ สกอ. ระบุไว้ไม่ได้ ก็ไม่มีคนสอบจบให้ ไม่มีกรรมการ ไม่มีที่ปรึกษา เรียนมาแล้วก็อาจจะไม่จบ”

อุดมคติของสถาบันอุดมศึกษาไทย

อ.อนุสรณ์ อุณโณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า สถาบันอุดมศึกษาของไทยไม่เคยหลุดพ้นไปจากการแทรกแซง ดังนั้นอุดมคติของสถาบันอุดมศึกษาที่คาดหวังจะมีความอิสระในการเรียนการสอน ตลอดจนมีการปรับปรุงพัฒนาความรู้ของอาจารย์และตัวนักศึกษาให้เท่าทันโลกภายนอก จึงไม่เคยเป็นไปได้จริง นั่นเพราะเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ได้ก้าวล่วงอำนาจการบริหารระดับคณะและอาจารย์ประจำหลักสูตรที่เคยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาตามที่เห็นสมควร นอกจากนั้น เกณฑ์ฯ ปี 2558 นี้ ยังไม่เอื้อให้เกิดการต่อยอดในการสร้างสรรค์ทางวิชาการ แต่อาจจะเป็นการปิดกั้นการแสวงหาความรู้ของทั้งอาจารย์และตัวนักศึกษาเอง

ความอิสระในการเรียนการสอน ตลอดจนการปรับปรุงพัฒนาความให้เท่าทันโลกภายนอก ไม่เคยเป็นไปได้จริง นั่นเพราะเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ได้ก้าวล่วงอำนาจการบริหารระดับคณะ

ไม่เพียงเท่านั้น เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ดังกล่าว ยังยิ่งผลักให้ภาระงานไปตกอยู่ที่อาจารย์ที่จะต้องพยายามเอาตัวให้รอดจากระบบการประเมินคุณภาพอาจารย์ ที่นอกจากการสอนแล้วยังจะต้องเร่งทำรางวัลจากงานวิจัยรวมถึงเร่งตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ดังที่อาจารย์สังคมศาสตร์ท่านหนึ่งเสริมว่า “คุณภาพอาจารย์จะวัดจาก หนึ่ง รางวัล สอง ผลงานตีพิมพ์ ก็จะให้คะแนนไปตามลำดับ ตีพิมพ์ใน Scopus (วารสารระดับนานาชาติ) ได้เท่านี้ ตีพิมพ์ใน TCI (วารสารระดับประเทศ) ได้เท่านี้ ซึ่งวารสารในไทยคนมันไม่ค่อยอ่านไง ของต่างประเทศถ้าให้คะแนนเรื่องการตีพิมพ์เขาก็จะไปตีพิมพ์กัน แต่ของไทยเราใช้วิธีเปิดวารสารเพิ่ม ต้องตีพิมพ์ใช่ไหม ทำวารสาร ทุกคนทำวารสาร เพื่อจะได้มีที่ตีพิมพ์ มันเท่ากับว่าออกเกณฑ์อะไรมามันก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาการศึกษาอะไร อย่างอยู่ดีๆ ออกมาบอกว่า จะจบโทได้ ต้องตีพิมพ์หรือไปนำเสนอในเวทีที่มีการพิมพ์ proceeding ก็เลยหันไปจัดเวทีกันเยอะแยะ”

แน่นอนว่า หากคะแนนการประเมินคุณภาพของอาจารย์ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็อาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งของอาจารย์นั้นๆ และนั่นจะเท่ากับว่า นอกจากการโหมทำเอกสารการประเมินหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนภายใต้กฎเกณฑ์อันยิบย่อย อาจารย์ยังจะต้องหาทางตีพิมพ์ผลงานหรือเร่งทำรางวัล เพื่อให้ตนไม่ตกการประเมิน ส่วนมหาวิทยาลัยไทยก็ยังคงครองแชมป์ใน rank ระดับโลกไว้ได้อย่างภูมิใจตามอย่างที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นสมควร

Tags: , , , ,