หลังจากมีกระแสข่าวว่ากรมสรรพสามิตกำลังจะรื้อโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ อาจทำให้นักดื่ม รวมทั้งผู้ประกอบการหลายรายรู้สึกตื่นตกใจราวกับว่าเงินในกระเป๋ามีมูลค่าลดลงในชั่วพริบตา เนื่องจากสำนักข่าวหลายแห่งตีข่าวไปไกลถึงขั้นว่า จากราคาสุรา เบียร์ และไวน์ที่เคยซื้อเท่านี้ จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

ท่ามกลางความสับสน งุนงง จนถึงขั้นโกรธแค้น The Momentum พยายามค้นหาคำตอบว่าประเด็นดังกล่าวจริงเท็จแค่ไหน นับจากนี้หากใครจะดื่มสุรา เบียร์ และไวน์ จะต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงขึ้นหรือไม่ และรัฐบาลกำลังถังแตกจนถึงขั้นต้องขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า?

ความผิดพลาดของข่าวที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่คนไม่เข้าใจว่าอัตราเพดานภาษีคืออะไร

รื้อเพดานภาษีใหม่ แต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราภาษีที่จะเก็บจริง

จากการสอบถามไปยังสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธเนศพงศ์ ช่วงประยูร เศรษฐกรปฏิบัติการ ผู้มีหน้าที่ดูแลนโยบายภาษีระบุกับ The Momentum ว่า กระแสข่าวดังกล่าวที่มีการระบุราคาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่อย่างชัดเจนไม่ใช่อัตราภาษีที่รัฐกำลังจะเก็บจริง

เพราะจริงๆ แล้ว พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้เป็นเพียงการขยายเพดานภาษีที่กำหนดว่ารัฐสามารถเก็บสูงสุดได้เท่าใด และมีการปรับเปลี่ยนฐานภาษีจากเดิมที่เคยจัดเก็บในราคาขายส่งช่วงสุดท้าย เปลี่ยนเป็นจัดเก็บจากราคาขายปลีกแนะนำเพียงเท่านั้น

ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเริ่มต้นใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 นับจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 33 ปีแล้ว ส่วน พ.ร.บ.สุรา ที่กำหนดวิธีการคำนวณภาษีแอลกอฮอล์ก็ถูกใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 หรือผ่านมา 67 ปี โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่อย่างใด และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่กรมสรรพสามิตจะรื้อโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งหมด

“ผมคิดว่าความผิดพลาดของข่าวที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่คนไม่เข้าใจว่าอัตราเพดานภาษีคืออะไร แล้วในเนื้อข่าวยังยกตัวอย่างโดยนำอัตราเพดานภาษีสูงสุดไปคำนวณ เช่น เคยซื้อเบียร์ในราคาเท่านี้ พอมีกฎหมายใหม่ออกมาจะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 2 เท่า จึงกลายเป็นความผิดพลาด ทั้งที่จริงๆ แล้วเพดานภาษีเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่กำหนดว่ากรมสรรพสามิตจะสามารถเก็บภาษีได้มากที่สุดแค่ไหน และเก็บเกินกว่านี้ไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย

“ข่าวที่ออกมาเขาเอาตัวเลขสูงสุดของเพดานภาษีใหม่ไปคิดคำนวณ ซึ่งบอกได้เลยว่ารัฐยังไม่เคยบอกว่ารัฐจะจัดเก็บในอัตราไหน ซึ่งทางกระทรวงการคลังเองก็ยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บเช่นเดียวกัน แต่โดยหลักการแล้วอัตราภาษีใหม่จะใช้หลัก Revenue Neutral คือรัฐจะได้ภาษีเท่าเดิม เพียงแต่การคิดอัตราใหม่จะเป็นการคิดแบบเฉลี่ย ดังนั้นสินค้าบางรายการที่เคยเสียภาษีมาก ก็อาจจะเสียน้อยลง ส่วนสินค้าบางรายการที่เคยเสียภาษีน้อย ก็อาจจะเสียมากขึ้น แต่สุดท้ายผลการจัดเก็บโดยรวมรัฐจะได้รายได้เท่าเดิม”

สอดคล้องกับที่ สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ส่งผลให้ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุรา เบียร์ และไวน์ ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัวนั้นไม่เป็นความจริง เพราะอัตราดังกล่าวเป็นการคำนวณจากเพดานการจัดเก็บภาษีสูงสุด แต่การจัดเก็บจริงอาจไม่สูงเท่าเพดานที่ตั้งไว้ ส่วนจะจัดเก็บเท่าไรจะต้องกำหนดอีกครั้ง โดยยืนยันว่าจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาระของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแน่นอน

โดยหลักการแล้วอัตราภาษีใหม่จะใช้หลัก Revenue Neutral คือรัฐจะได้ภาษีเท่าเดิม
เพียงแต่การคิดอัตราใหม่จะเป็นการคิดแบบเฉลี่ย ดังนั้นสินค้าบางรายการที่เคยเสียภาษีมาก
ก็อาจจะเสียน้อยลง ส่วนสินค้าบางรายการที่เคยเสียภาษีน้อย ก็อาจจะเสียมากขึ้น
แต่สุดท้ายผลการจัดเก็บโดยรวมรัฐจะได้รายได้เท่าเดิม

เป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บภาษีแอลกอฮอล์เต็มเพดาน เท่ากับว่าราคาเหล้ายังไม่เพิ่ม

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่กรมสรรพสามิตจะทำการจัดเก็บภาษีแอลกอฮอล์ในอัตราสูงสุดของเพดานภาษี ธเนศพงศ์ ให้คำตอบว่า

“เป็นไปไม่ได้เลยที่กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุด อย่างตัว พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตเก่าเอง ก็มีสินค้าบางรายการที่ถึงเพดานแล้ว แต่บางรายการก็ยังไม่ถึงเพดานเลย ซึ่งย้ำอีกทีว่าเพดานนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 แล้ว และจนถึงวันนี้ก็ยังมีบางรายการที่ยังไม่ได้จัดเก็บเต็มเพดาน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เราจำเป็นต้องขยายเพดานภาษีให้สูงขึ้น

“ที่ผ่านมาสินค้าประเภทสุราจะมีการปรับขึ้นภาษีอยู่แล้วอย่างน้อย 2-3 ปีต่อครั้ง ซึ่งตามปกติจะปรับขึ้นประมาณ 3-5% หรือเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่เคยเพิ่มสูงขึ้นถึงขั้นช็อกตลาดอยู่แล้ว”

ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลกำลังถังแตกจนต้องพยายามปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต เศรษฐกรปฏิบัติการประจำสำนักนโยบายภาษีปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะเร็วๆ นี้น่าจะมีการประกาศการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย

นอกจากนี้เศรษฐกรปฏิบัติการประจำสำนักนโยบายภาษียังระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่กำลังรอการลงพระปรมาภิไธยอยู่ ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้จริงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะต้องใช้เวลาอีก 180 วัน เพื่อร่างกฎหมาย หรือบทบัญญัติอื่นๆ เช่น ประกาศกระทรวงตามออกมา ซึ่งอัตราที่รัฐจะจัดเก็บจริงจะถูกระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวที่จะตามมา

“เพราะฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมาจะให้เพียงแค่กรอบกว้างๆ ในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น ซึ่งเราจำเป็นต้องตั้งเพดานภาษีให้สูงขึ้น เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถปรับการจัดเก็บเพิ่มขึ้นได้ ส่วนรายละเอียดในการจัดเก็บจริงคงต้องรอกฎหมายลูกออกมาก่อน ซึ่งในนั้นก็จะระบุด้วยว่าจะเริ่มจัดเก็บจริงได้เมื่อไหร่”

ดังนั้นถ้าถามว่าจะต้องจ่ายเพิ่มเท่าไรในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขวดเดิมที่เคยซื้อ คงต้องรอเวลานับจากนี้ไปอีก 6 เดือนกว่าที่จะมีความชัดเจนตามมา

แล้วถึงตอนนั้นค่อยวิพากษ์วิจารณ์กันใหม่ก็ยังไม่สาย

Photo: t-maps.asia

Tags: