นอกจากเนื้อเรื่องชวนกรี๊ด จิ้น และฟิน แล้ว องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ซีรีส์วายสักเรื่องประสบความสำเร็จ คงต้องพูดถึง ‘รูปลักษณ์ที่ตรงตามมาตรฐานความงาม’ ของนักแสดง ที่สามารถดึงดูดแฟนคลับจำนวนมากได้ 

เรามักคุ้นเคยกับนักแสดงซีรีส์วายที่เป็นชายหนุ่มวัยรุ่นหน้าตาดี และที่สำคัญต้องมาแบบเป็นคู่จิ้น โดยแบ่งออกเป็นฝ่าย ‘เมะ’ ที่ต้องมีรูปลักษณ์สูงโปร่ง สมชาย มีความแมน เปรียบเสมือนพระเอก และฝ่าย ‘เคะ’ คือนายเอก ที่มักเป็นชายหน้าหวาน ผิวขาวละเอียด และรูปร่างที่เล็กกว่า ลักษณะร่วมเช่นนี้ของนักแสดงซีรีส์วายสามารถพบเห็นได้แทบทุกเรื่อง ไม่ต่างจากละครชายหญิง 

เพราะซีรีส์วายหลายๆ เรื่องล้วนถูกดัดแปลงมาจากนิยายอีกทีหนึ่ง เช่น Love Sick The Series (2014) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่สับสนกับความรู้สึกที่มีให้เพื่อนชายของตน จนเกิดกระแสคู่จิ้น ‘ปุณณ์-โน่’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างชื่อเสียงในวงการบันเทิงให้นักแสดงทั้งสองอย่าง ไวท์-ณวัชร์ พุ่มโพธิ์งาม และกัปตัน- ชลธร คงยิ่งยง  หรือซีรีส์ชื่อดังอย่าง เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (2020) ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของสองหนุ่มนักดนตรีที่ต้องแกล้งเป็นแฟนกันซึ่งความโด่งดังของซีรีส์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่สร้างชื่อให้คู่จิ้นตามเนื้อเรื่อง แต่ยังทำให้คู่ ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ วิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร กลายเป็นคู่จิ้นที่โด่งดังทั้งในและต่างประเทศ

สิ่งที่น่าสนใจคือการแคสต์ตัวละครของซีรีส์วายมักจะเป็นไปในลักษณะคล้ายกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาซีรีส์วายมักเกี่ยวกับเด็กหนุ่มวัยรุ่น มีพื้นหลังเป็นชีวิตในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ทำให้หลายเรื่องจึงไม่ได้ติดปัญหาในการแคสต์ตัวละคร เพราะเสน่ห์แบบเด็กหนุ่มที่นักแสดงแต่ละคนมีก็เหมาะสมกับบทบาทแล้ว  ยิ่งถ้าชายหนุ่มหน้าตาดีสองคนอยู่ด้วยกันแล้วดูมีเคมีสุดหวานชื่น ก็ยิ่งเป็นแต้มต่อให้ทำงานเป็นคู่ต่อไปได้อีกนานในวงการบันเทิง

แต่ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันสื่อชายรักชายโดยเฉพาะนิยายวายก็มีความหลากหลายในตัวเนื้อหามากขึ้น ขณะที่นักแสดงซีรีส์วายยังคงถูกจำกัดอยู่ในมาตรฐานแบบเดิม คือเน้นหน้าตาที่ดูดี และมักจะขายให้เป็นคู่จิ้นกัน หลายครั้งที่ผู้จัดละครซื้อลิขสิทธิ์นิยายไปทำซีรีส์ จึงพบว่ามีการเลือกนักแสดงออกมาไม่ตรงกับบทบาทในต้นฉบับ

การนำนิยายวายมาดัดแปลงแล้วแคสต์ไม่ตรงบทเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในวงการวายไทย ยกตัวอย่าง ซีรีส์เรื่อง SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (2016) ที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันในเว็บไซต์เด็กดี ซึ่งจริงๆ แล้วตัวละครที่เป็นพี่ว้ากจะต้องมีลักษณะที่ดูเคร่งขรึม ดุดัน ผมยาว แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไปของนักแสดงซีรีส์วายไทย สุดท้ายตัวละครนั้นก็ออกมาเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีตามสมัยนิยม แต่ถึงแม้จะแคสต์ไม่ตรงบท ผลงานนี้ก็ยังคงประสบความสำเร็จอยู่ดี และรูปร่างหน้าตาที่ดูดีตามมาตรฐาน รวมถึงเคมีของคู่นักแสดงที่แฟนคลับมองว่าเข้ากันของนักแสดง ก็ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ซีรีส์

มาตรฐานความงามในหมู่ชายรักชายไทยดำเนินไปอย่างเข้มข้นเสีย จนมีศัพท์เฉพาะกลุ่มคำหนึ่งว่า ‘ปลาหมึกแถวบน’ ซึ่งเอาไว้ใช้เรียกเปรียบเปรยถึงเกย์ที่เป็นที่ต้องการ เนื่องจากมีหน้าตาที่ดูดี หุ่นดี ผิวเนียนใส ทั้งยังมีหน้ามีตาเป็นที่ยอมรับในสังคม ขณะที่ ‘ปลาหมึกแถวล่าง’ ก็จะเป็นกลุ่มที่ตรงกันข้าม คือเป็นเกย์หรือกะเทยที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา หุ่นอ้วนเกินไป ผิวไม่ดี ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ร่ำรวย รวมไปถึงกลุ่ม ‘เกย์ออกสาว’ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ถูกยอมรับและมักจะถูกเหมาให้เป็นกะเทยมากกว่าเกย์ จะเห็นได้ว่ามาตรฐานเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมวายเช่นกัน และต่อให้มีคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน ก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบๆ พื้นที่ของปลาหมึกแถวล่างจึงหาได้น้อยมากในอุตสาหกรรมวายและเป็นภาพสะท้อนถึงความจริงในชีวิตพวกเขา

“แคสต์ไม่ตรงปกเลย มีแต่แนวขาว ตี๋ บิวตี้สแตนดาร์ดฉ่ำ”

“นอยด์มาก สักแต่จะขายคู่จิ้นอย่างเดียว ทั้งที่เนื้อเรื่องดีมาก”

“ต้นฉบับทำไว้อย่างปัง เอามาแปลงซะเสีย

ล่าสุด กลุ่มแฟนคลับเว็บตูนเรื่อง ‘ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม’ ใช้แฮชแท็ก #ผู้จัดควรเคารพต้นฉบับ ใน X เพื่อเรียกร้องให้ผู้จัดทำซีรีส์วายเลือกนักแสดงซีรีส์ให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่ง ‘โกศล’ หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องนี้จะต้องมีรูปร่างใหญ่ กำยำ หน้าเข้ม ผิวสีแทนจากการต้องแดดจัด รวมถึงมีรอยสักแบบคนสมัยโบราณ เรียกได้ว่าถึงจะมีลักษณะที่ดูดีในแบบของตนเอง แต่ก็ห่างไกลจากมาตรฐานความงามแบบวายๆ ในปัจจุบัน ยังไม่ถูกนับว่าเป็นปลาหมึกแถวบนได้

สุดท้ายแม้ว่าตัวละครนี้จะเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่าน แต่ผู้จัดละครกลับเลือกนักแสดงที่มีใบหน้าหล่อหวาน ผิวขาวเกลี้ยงเกลา และเน้นขายคู่จิ้นตามแบบฉบับวาย ที่ในมุมของผู้จัดอาจส่งผลดีต่อผลกำไรมากกว่า ทว่าการใช้นักแสดงที่ไม่ตรงกับบทนี้อาจส่งผลต่อเส้นเรื่องหลักของต้นฉบับซึ่งมีการเสียดสีประเด็นเรื่องมาตรฐานความงามด้วย ทำให้ในครั้งนี้นักอ่านจำนวนมากไม่สนับสนุนวิธีการทำงานแบบไม่เคารพต้นฉบับเช่นนี้

อาจเพราะการขายคู่จิ้นยังคงได้ผลกับแฟนคลับจำนวนมาก ซีรีส์วายหลายเรื่องที่สร้างจากนิยายแล้วได้รับคำชื่นชมว่าเลือกนักแสดงได้อย่างเหมาะสม ไม่ขายคู่จิ้น เนื้อเรื่องสมเหตุสมผล หรือบทบาทมีความแปลกใหม่ เช่น นิทานพันดาว (2021) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของคุณครูอาสาและเจ้าหน้าที่อุทยาน กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร โดยมีเรตติ้งในหลายๆ ตอนรวมถึงตอนจบของละครอยู่ที่ 0.2% เท่านั้น 

ซีรีส์วายถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนมักจะหยิบยกเพื่อแสดงออกถึงการโอบรับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีปัญหาในตัวเองอยู่หลายอย่าง และยังส่งผลให้เกิดการยอมรับเกย์แบบมีเงื่อนไขในสังคม การเรียกร้องให้แคสต์ตรงปกในซีรีส์วายจึงไม่ใช่เพียงอรรถรสของผู้รับชมเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มภาพจำที่หลากหลายยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมซีรีส์วายที่หลายอย่างยังคงดูตายตัวอยู่มาก

ที่มา

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/series-y-from-novel 

https://www.sanook.com/movie/167419/ 

https://daradaily.com/news/96427



Tags: , , , ,