“ไปเลยแม็กนัม! ลุยเลยโซนิก!”

ย้อนกลับไปในปี 1999 ทันทีที่การ์ตูนเรื่อง ‘Let’s & Go!! – นักซิ่งสายฟ้า’ ออกฉายทางช่อง 9 อสมท. กระแสความนิยมของ ‘รถ Mini 4WD’ หรือที่บ้านเราเรียกกันชินปากว่า ‘รถทามิย่า’ (TAMIYA) ก็ได้รับความนิยมทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่เด็กนักเรียน จนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่ต่างหลงใหลการประลองความเร็วบนสนามแข่งจำลอง 

บางคนปรับแต่งมอเตอร์ให้วิ่งไวขึ้น บางคนเปลี่ยนล้อรถให้เกาะพื้นสนาม บางคนตกแต่งโครงรถให้สีสันโฉบเฉี่ยวสะดุดตา ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นเสน่ห์ของรถทามิย่า ที่แม้เวลาจะล่วงเลยกว่า 20 ปี ก็ยังคงมีกลุ่มคนที่สะสม กลายเป็นไอเทมที่ผูกพันดุจเพื่อนสนิท

นอกจากการปรับแต่งรถทามิย่าตามความชอบ การแข่งขันประลองความเร็วในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ระดับจังหวัด สู่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก ท่ามกลางผู้เล่นที่พาทามิย่าคู่ใจลงแข่งขันชิงรางวัล ไม่ต่างกับวิถีแห่งนักกีฬามืออาชีพ

The Momentum มีโอกาสลงพื้นที่ไปยังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา สังเวียนการจัดทัวร์นาเมนต์ Mini 4WD Go to Japan เพื่อติดตามการฝึกซ้อมของเหล่านักแข่งทามิย่าก่อนถึงวันแข่งขันทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว และเหตุผลที่ทำให้พวกเขาหลงรักรถแข่งขนาดเล็กนี้จนหมดหัวใจ

เมื่อมาถึงสถานที่จัดงานแข่งขัน สิ่งแรกที่เห็นตรงหน้าคือรถทามิย่าถูกวางเรียงรายละลานตา พร้อมอุปกรณ์หลากชนิดสำหรับปรับปรุงตัวรถในกล่องเก็บอุปกรณ์ ทั้งไขควง ถ่านชาร์จไฟฟ้า มอเตอร์ดำ-แดงที่หลายคนคุ้นเคย กันชน และน้ำมันสำหรับหล่อลื่นฟันเฟือง

สำหรับการแข่งขัน Mini 4WD Go to Japan ผู้สมัครจะต้องส่งรถให้กรรมการตรวจสอบตามกติกา โดยจะมีการตรวจเช็กขนาดความกว้างและยาวของตัวรถ, ตัวรถต้องยกสูงจากพื้นมากกว่า 1 มิลลิเมตร, น้ำหนักของตัวรถต้องมากกว่า 90 กรัม, รถต้องขับเคลื่อนด้วยระบบ 4D และที่สำคัญคือ อะไหล่ทุกชิ้นจะต้องถูกลิขสิทธิ์ของทามิย่า โดยหน้างานจะมีคณะกรรมการคอยตรวจสอบตั้งแต่วันซ้อม

หลังจากสังเกตบรรดานักแข่งนับสิบชีวิต ที่กำลังขมักเขม้นปรับแต่งรถทามิย่าของตนด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เราพบชายวัยกลางคนรายหนึ่ง ท่าทางทะมัดทะแมง ใบหน้าฉาบไปด้วยรอยยิ้ม แววตาดูเปี่ยมสุขราวกับได้กลับไปเป็นเด็กน้อย เขาค่อยๆ บรรจงถอดโครงพลาสติกเพื่อตรวจเช็กรถทามิย่าคู่ใจ ขณะที่บนโต๊ะกองพะเนินด้วยอะไหล่หลากชนิด 

ตั้ม-สิทธิศักดิ์ กิ่งเพชรรัตน์ อดีตทนายความวัย 62 ปี ที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณมาเติมเต็มความสุขด้วยการลงแข่งทามิย่า ซึ่งปูมหลังของเขากับรถแข่งสายฟ้านี้ไม่ธรรมดาเช่นกัน

“ผมเริ่มเล่นรถทามิย่าเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เล่นก่อนที่การ์ตูนเรื่อง Let’s & Go จะได้ฉายในไทย สมัยนั้นทามิย่ายังมีลักษณะเป็นโครงก้าง 

“ยุคแรกสนามแข่งทามิย่าส่วนใหญ่จะอยู่ตามห้าง ก่อนที่ทามิย่าจะมีช็อปในไทยเป็นของตัวเองที่แถว RCA พอเสาร์-อาทิตย์ คนเล่นก็จะไปช่วยกันขนรางรถมาตั้งแข่งเล่นกัน จากนั้นก็ค่อยมีสนามแข่งที่อื่น ทั้งโรบินสัน สาขาลาดกระบัง, เซียร์ รังสิต และตึกธนิยะ สีลม” สิทธิศักดิ์เล่า

วิธีเล่นรถซิ่งสายฟ้าของคนทั่วไป คือแกะออกจากกล่องแล้วค่อยๆ ตัดชิ้นส่วนพลาสติกประกอบขนาดเล็กมาประกอบเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงติดตั้งมอเตอร์ และแปะสติ๊กเกอร์ปิดท้าย อย่างไรก็ดี สิทธิศักดิ์อธิบายว่าผู้ที่ลงแข่งจริงจังจะต้องมีอุปกรณ์นานาชนิดไว้ปรับปรุงสภาพรถตามความเหมาะสมของสนาม ไม่ว่าจะยางรถ กันชน มอเตอร์ ถ่านไฟฉายขนาด AA แม้กระทั่งน้ำมันเพิ่มความหล่อลื่นของมอเตอร์

“นี่อุปกรณ์ของผมยังน้อยนะ (หัวเราะ) บางคนเขามีอุปกรณ์เยอะจนต้องเอารถเข็นลากมาเลยก็มี และเขาจะมีทีมแบ่งหน้าที่ปรับแต่งมอเตอร์ ปรับแต่งล้อเบลด ของผมไม่ถึงขั้นมีลูกทีม แต่มีกลุ่มประจำที่เวลาแข่งก็จะมาช่วยกันให้คำปรึกษา ช่วยกันปรับแต่ง

“ทามิย่าก็คือของเล่น ไม่มีรูปแบบตายตัว คุณแค่ใช้จินตนาการ มีอะไหล่แบบไหนคุณก็จับใส่ปรับแต่งให้มันวิ่งได้ แต่ก็จะต้องทำตามกติกา อย่างทัวร์นาเมนต์นี้ก็จะมี 2 รุ่น คือ หนึ่ง Stock class ห้ามตัดแต่งหรือเจียโครงสร้างตัวรถ และ สอง Open class ที่สามารถปรับแต่งตัวโครงสร้างได้”

สิทธิศักดิ์ขณะกำลังเช็กความเร็วของรถก่อนเริ่มฝึกซ้อม โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘Speed Checker’ เพราะรถวิ่งเร็วไม่ได้หมายถึงชัยชนะเสมอไป หากวิ่งเร็วเกินไปก็มีความเสี่ยงที่รถจะส่ายจนหลุดออกนอกราง

หลังจากปรับแต่งรถเสร็จเรียบร้อย นักแข่งแต่ละคนจะเดินมายังจุดสตาร์ตเพื่อปล่อยรถทามิย่าคู่ใจ บางคันก็มาในสีสันฉูดฉาด บางคันก็คุมโทนสีดำทะมึนดุดัน

จังหวะปล่อยรถที่ชวนนึกถึงความสนุกในวัยเยาว์ โดยขนาดของสนามมีความยาวไม่ต่ำกว่า 2-3 เมตร และสามารถปล่อยรถได้รอบละ 3 คัน

ช่วงเนินวัดใจที่ในสนามมีอยู่ 2 จุด ผู้ที่จะเป็นแชมป์ต้องผ่านเนินดังกล่าวไปให้ได้ ความยากคือเพียงเสี้ยววินาทีรถอาจพุ่งทะยานข้ามเนินหรือเสียหลักพลิกคว่ำหลุดออกนอกรางได้ ซึ่งล้วนอยู่ที่ฝีมือในการปรับแต่งรถของผู้เล่น และอีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ ‘ดวง’ เพราะบางคันผ่านเนินได้ แต่กลับถูกคันที่เสียหลักชนออกนอกรางก็มี

หลังเฝ้าดูการฝึกซ้อม เรากลับไปที่โต๊ะของสิทธิศักดิ์ และเห็นลวดลายสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่หน้ากล่องเครื่องมือของนักแข่งวัยเก๋า เขาเล่าว่าสติ๊กเกอร์ดังกล่าว คือ ‘RETRO Z’ ชื่อกลุ่มคนรักทามิย่า ที่เล่นกันประจำอยู่ ณ เซียร์ รังสิต โดยสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่ต่างมีครอบครัว และมักจะชวนลูกหลานมาเล่นทามิย่าด้วยกัน รวมไปถึงตัวเขาเอง

“กลุ่มเรามีกันอยู่ประมาณสิบกว่าคน อยู่ด้วยกันนานจนบางคนมีครอบครัวก็พาลูกๆ มาเล่นทามิย่าด้วย ผมไม่แน่ใจว่ากลุ่มอื่นมีวัฒนธรรมกันอย่างไร แต่ของเราจะเล่นสนุกๆ ไม่เคร่งเครียด อยู่กันเหมือนครอบครัว 

“ผมเองก็เล่นกับลูกสาวตั้งแต่เขายังเด็ก จนตอนนี้เขาแต่งงานมีลูก แต่งานแข่งนี้ผมก็โทรชวนลูกสาวมาเล่นด้วยนะ (ยิ้ม) มีช่วงหนึ่งที่เขาห่างหายไม่ได้มาเล่น ผมก็โทรไปหาว่าสนใจมาช่วยพ่อแต่งรถไหม เขาก็ตอบตกลงแล้วก็จะมาแข่งในงานนี้ด้วย ทำให้คิดถึงเมื่อก่อน เพราะตอนเด็กๆ ลูกสาวจะชอบตามไปนั่งดูผมแข่งที่ร้านทามิย่าช่วงวันหยุด 

“ถ้าใครที่สนใจอยากเล่นทามิย่าก็ซื้อมาเล่นเลย (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้มีช็อปทามิย่าหลายร้านที่เขาสามารถให้คำแนะนำผู้เล่นใหม่และราคาก็จับต้องได้ ตอนแรกเล่นให้สนุกก่อน ส่วนอนาคตอยากลงแข่งก็ค่อยว่ากัน หรือใครอยากมาเล่นด้วยกัน ผมจะเล่นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เซียร์ รังสิต” สิทธิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันของเหล่านักซิ่งสายฟ้าในรายการ Mini 4WD Go to Japan จะมีการแข่งขันรอบคัดเลือกรอบ 2 ที่เซียร์ รังสิต ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2566 และรอบชิงชนะเลิศ ที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 โดยผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันในรายการ Tamiya Mini 4WD Japan Cup 2023 Shizuoka world championship ที่เมืองชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในปลายปีนี้

หลังจากได้ดูการแข่งตลอดครึ่งวันและพูดคุยกับนักแข่งฝีมือดีหลายราย ทำให้เรานึกอยากจะซื้อทามิย่ามาครอบครองไว้สักคัน เผื่อจะมีโอกาสได้เล่นหรือสมัครลงแข่งให้หวนคิดถึงวัยเด็กอีกสักครั้ง

แล้วคุณล่ะ สนใจอยากมาประลองทามิย่ากับเราสักตั้งไหม ถ้าพร้อมแล้วล่ะก็มาลุยกันเลย! 

Tags: , ,