การจัดซื้อคาร์บอนเครดิตที่กำลังระบาดอย่างหนักในชุมชนชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้ เพราะนั่นคือการทำสัญญาซื้อขายระหว่าง ‘นายทุน’ ที่มุ่งหวังใช้ผลประโยชน์จากวาทกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับ ‘ชาวบ้าน’ ที่อาจไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับหลักคิดเรื่อง ‘คาร์บอนเครดิต’

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 เดือนก่อน หากยังจำกันได้ มีการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่จัดขึ้นในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร้อนถึงหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนที่ตั้งอยู่ละแวกใกล้เคียง จำต้องประกาศให้บุคลากรในองค์กรหยุดงานชั่วคราว ส่งผลให้การจราจรตลอดสัปดาห์ในเมืองหลวงดูไหลลื่นผิดแปลกจากเดิม จนนำมาสู่ที่มาของประโยคไวรัลจิกกัดบนโลกโซเชียลฯ ว่า “โปรดมาประชุมที่เมืองของฉัน!” 

การประชุมดังกล่าวนั้น คือ ‘ประชุมสุดยอดผู้นำผู้นำเอเปก 2022’ (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2022 ที่ประเทศไทยมีบทบาทในการนำเสนอโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) 

สิ่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปหรือแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยเกิดขึ้น คือม็อบค้างคืนของกลุ่ม ‘ราษฎรหยุดเอเปก 2022’ ที่รวมตัวเรียกร้องโอกาสยื่นหนังสือถึงผู้นำชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมเอเปก เหตุการณ์ครั้งนั้น กลุ่มม็อบพยายามเคลื่อนขบวนจากหน้าศาลาว่าการ กทม. มุ่งตรงสู่สถานที่จัดการประชุม แต่ไม่สำเร็จเพราะระหว่างทางถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสกัด

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มราษฎรฯ คือการคัดค้านนโยบาย BCG ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากจะไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ ซ้ำร้ายกลับถูกประชาชนส่วนหนึ่งบนโลกออนไลน์ติเตียน เพราะไม่เห็นด้วยกับการเข้าไป ‘ขัดขวาง’ การประชุมระดับโลก

ถึงกระนั้น สถานการณ์ในปัจจุบันปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของนโยบาย BCG มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการที่หน่วยงานรัฐออกประกาศผลการจัดสรรพื้นที่ดำเนินปลูกป่าชายเลนกว่า 44,712 ไร่ ให้กับให้ 17 กลุ่มทุนใหญ่

The Momentum ติดต่อหา สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) หรือ ‘บังแกน’ ผู้ทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) มาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อพูดคุยถึงประเด็นความมิชอบมาพากลที่ว่า ในฐานะที่เมื่อ 10 เดือนก่อน เขามีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งม็อบราษฎรหยุดเอเปก 2022 ร่วมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่

พื้นที่ ‘ป่าชุมชน’ ที่อาจไม่ใช่ของชุมชนอย่างแท้จริงอีกต่อไป

ประกาศจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เรื่อง ‘การจัดสรรพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตแก่บุคคลภายนอก’ ที่แชร์กันบนโซเชียลฯ นั้น ได้รับการลงนามไปเมื่อช่วงปลายปี 2022 สรุปใจความได้ว่า ป่าชายเลนรวมเนื้อที่ทั้งหมด 44,712 ไร่ จะถูกแบ่งสรรปันส่วนให้กับโครงการปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตของบริษัทมหาชน 17 แห่งด้วยกัน

(ภาพ: เฟซบุ๊ก Somboon Khamhang)

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าทั้ง 17 บริษัท ได้รับการจัดสรรพื้นที่ป่าไปอย่างครบถ้วนตามประกาศแล้วหรือไม่ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันในกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่า มีการเข้าไปทำสัญญาระหว่างบริษัทกับชุมชนแล้วในหลายพื้นที่

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประกาศเนื้อหาสัญญาที่บริษัททำกับชุมชนป่าชายเลน ซึ่งสมบูรณ์ก็เป็นหนึ่งในแนวหน้าที่ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการตั้งข้อสังเกต ‘เงื่อนไขในสัญญา’ ที่ดูไม่เป็นธรรมหลายประการ 

ประเด็นสำคัญคือในทางปฏิบัติ คนในพื้นที่อาจสูญเสียความเป็นเจ้าของพื้นที่ป่าชายเลนเหล่านี้ในฐานะ ‘ป่าชุมชน’ โดยสิ้นเชิง จากเงื่อนไขที่จำกัดการเข้าถึงพื้นที่ป่าของชาวบ้าน

“สัญญาที่ทำขึ้นมีอายุ 30 ปี แม้ในสัญญาจะเขียนระบุเงื่อนไขการใช้ประโยชน์เอาไว้ด้วยภาษาดูสวยหรูว่า ชาวบ้านยังสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าได้ในลักษณะของการท่องเที่ยว การสันทนาการ การเก็บหาของป่า หรือจับสัตว์น้ำที่อยู่ในป่าชายเลนได้เหมือนเดิม แต่ต้องไม่ ‘ทำลาย’ ความหลากหลายของระบบนิเวศ

“แต่ในทางปฏิบัติ ผืนป่าชายเลนส่วนนี้ได้ตกเป็นของกลุ่มนายทุนโดยปริยาย เพราะในฐานะ ‘ป่าชุมชน’ ตามความหมายเดิม ชาวบ้านต้องมีสิทธิใช้ประโยชน์มากกว่านั้น รวมถึงการตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นที่คณะกรรมการกลุ่มเห็นสมควร เนื่องจากเป็นผืนป่าที่ชุมชนร่วมกันดูแลทำนุบำรุงร่วมกันมาอย่างยาวนาน

“เมื่อพื้นที่ป่าถูกนำเข้าร่วมโครงการนี้ ชาวบ้านจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ส่วนนี้จากพื้นที่ป่าได้อีก และด้วยเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ หากต้องการเข้ามาดำเนินการใดๆ ต่อไปชาวบ้านก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตกลุ่มทุนที่เป็นนายหน้าคาร์บอนเครดิตก่อนทุกครั้ง ทั้งที่บริษัทเหล่านี้ไม่เคยเข้ามาดูแลจัดการหรือช่วยเหลือในการปลูกและฟื้นฟูป่า พวกเขาเพียงเข้ามาจับจองผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ในการค้าคาร์บอนเครดิตเท่านั้น” สมบูรณ์อธิบายถึงความอยุติธรรมในสัญญาดังกล่าว

แกนนำม็อบราษฎรฯ ยังเน้นย้ำถึงสัดส่วนการแบ่งสรรรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่ไม่มีใครทราบที่มา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นธรรมกับชุมชนอย่างยิ่ง นั่นคือ

บริษัทได้ 70%

ชุมชนได้ 20%

กรม ทช. ได้ 10%

หมายความว่า ในกรณีที่ราคาคาร์บอนเครดิตคงที่ตลอด 30 ปี หากชุมชนหนึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการกับหนึ่งในกลุ่มทุนเหล่านี้สัก 1,000 ไร่

บริษัทจะได้ 34 ล้านบาท 

ชุมชนจะได้ 9.4 ล้านบาท

กรม ทช. จะได้ 4.8 ล้านบาท 

แม้จะเป็นสมติฐานในการคำนวณตามราคาซื้อขาย TVERs ภาคป่าไม้ในปัจจุบัน ที่สมบูรณ์อ้างอิงข้อมูลจาก Greenpeace Thailand แต่เพียงเท่านี้ก็แสดงให้ชัดเจนแล้วว่า ใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์หลักจาก ‘ดีล’ นี้

คาร์บอนเครดิต = ทางออกของ ‘นายทุน’ ที่ไม่อยากรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม

สมบูรณ์แสดงทัศนะส่วนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักคิดของ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่ภาครัฐผลักดันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยระบุว่า

“ตามที่เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) ได้กล่าวไว้ว่า ‘ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และเรากำลังย่างเข้าสู่ภาวะโลกเดือด’ ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนเช่นนี้ ทำไมเราจึงไม่กดดันให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ที่เป็นตัวการหลักสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ แต่กลับไปเปิดทางให้เขาด้วยตลาดคาร์บอนเครดิตแทน

“นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกับหลักคิดเช่นนี้ คาร์บอนเครดิตคือกลไกที่จะสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มทุนต่างๆ ได้ทำลายโลกต่อไป โดยการเอาเงินมาฟาดหัวคนอื่น แล้วบอกว่า ฉันขอสร้างมลภาวะต่อไปนะ แต่เดี๋ยวจะจ่ายเงินให้แล้วกัน”

สมบูรณ์อธิบายต่อว่า เพราะสาเหตุข้างต้น ม็อบราษฎรฯ จึงจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการชูนโยบาย BCG ของรัฐบาลประยุทธ์ 

“มันคือนโยบาย BCG ที่สอดไส้การเอื้อกลุ่มทุนซื้อขายคาร์บอนเครดิต เดิมที BCG คือโมเดลเศรษฐกิจที่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักคิดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ถูกรัฐบาลนำมาสอดไส้นโยบายการค้าคาร์บอนเครดิต โดยใช้วาทกรรม BCG ครอบเอาไว้

“สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายนี้อยู่มาก ในตอนนั้นเราต้องเผชิญกับแรงต้าน เพราะมันยากมากที่เราจะอธิบายกับสังคมถึงรายละเอียดอันเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น

“แล้วผลลัพธ์ของนโยบายเหล่านั้นก็ออกมาอย่างที่เราเห็นกัน โดยมีหลักฐานรูปธรรมแล้วในวันนี้ นั่นคือมีการอนุมัติ มีการแบ่งสรรปันพื้นที่ให้กลุ่มทุน มีการจับจองพื้นที่ป่าชุมชนจากชาวบ้าน เพื่อมาขายเป็นคาร์บอนเครดิต”

รัฐบาลใหม่และประชาชนต้องร่วมกันตั้งคำถาม

ต่อให้หลายคนจะยอมรับหลักการคาร์บอนเครดิตโดยทั่วไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังสมควรถูกตั้งคำถามและตรวจสอบอย่างยิ่ง

คำถามสำคัญประการแรก คือหน่วยงานราชการ (เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังที่ปรากฏในเอกสาร) ปลงใจยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนเช่นนี้ได้อย่างไร

คำถามถัดมา คือเหตุใดประชาชนจึงไม่มีสิทธิที่จะขายคาร์บอนเครดิตด้วยตนเองเหมือนสินค้าและทรัพยากรอื่นๆ ที่พวกเขามี เหตุใดจึงต้องขายผ่านทางกลุ่มทุนที่อ้างตนเป็น ‘นายหน้า’ บริษัทเหล่านี้มีสิทธิอะไรมาแย่งยึดเอาป่าชุมชนอันอุดมสมบูรณ์ที่ ‘พร้อมขายคาร์บอนเครดิต’ ในเมื่อพวกเขาต่างหากที่เป็นผู้ทำนุบำรุงตัวจริง

หรือต่อให้เป็นกรณีที่มีการจัดสรรพื้นที่ให้เอกชนไปปลูกป่าเอง ในลักษณะคล้ายสัมปทาน ทว่าก็เป็นปัญหาที่น่ากังวลใจอยู่ดี หากบริษัทเอกชนนั้นมีคอนเนกชันกับรัฐบาล

หลายครั้งพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชน ถูกนำไปปันส่วนให้กลุ่มทุนภายใต้เงื่อนไขที่ว่า กลุ่มทุนต้องไปจัดการกับปัญหาพิพาทกับชุมชนในพื้นที่ด้วยตัวเอง

วิธีการ ‘ดีล’ ของรัฐ-เอกชนในลักษณะนี้จึงพบมากในพื้นที่ป่าบก ภาครัฐมักฉวยโอกาสโยนปัญหาเหล่านี้ให้พ้นตัว พร้อมเปิดทางแก่ภาคเอกชนได้จัดการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 

และนำไปสู่อีกคำถามสำคัญ คือภาครัฐกำลังพยายามหาคู่พิพาทใหม่ให้กับคนในพื้นที่หรือไม่?

สมบูรณ์ยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่กลุ่มขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มกำลังกังวล เพราะมีมาตลอดและมีแนวโน้มสูงขึ้น ตนจึงอยากส่งสารไปถึงรัฐบาลใหม่ ว่าควรทบทวนนโยบายดังกล่าว พร้อมตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เปิดทาง ‘เอื้อ’ ให้กลุ่มทุนสามารถเอาเปรียบชุมชน

“นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง ตามที่ประชาคมโลกกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้ แต่เป็นการ ‘ฟอกเขียว’ ให้กับกลุ่มทุน เรากำลังจะกลายเป็น ‘ฆาตกร’ ที่ลงมือฆ่าโลกใบนี้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์” สมบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , , , , ,