นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของไทยที่เหมือนว่ารัฐบาลกำลังตอกหมุดการทำลายสิทธิดั้งเดิมและสิทธิชุมชนในการอยู่ร่วมกับป่า เพื่อเอาผลประโยชน์ให้กับนายทุนผ่านโครงการซื้อขาย ‘คาร์บอนเครดิต’

ก่อนหน้านี้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ประชาสัมพันธ์ผลงานที่ชื่อว่า ‘ยุทธศาสตร์ การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก ระบุว่ารัฐบาลกำลังผลักดันการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่ โดยมีเอกชนสนใจรับซื้อ สอดคล้องกับแผนการเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศไทยเปิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 กันยายน 2565

เงื่อนไขการแบ่งปันคือผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชนเพื่อดูแลพื้นที่ป่า

“ผมเห็นด้วยกับการทำให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่วิธีการที่นายวราวุธกำลังผลักดันคือการติดกระดุมผิดเม็ด นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนแล้ว ยังจะนำไปสู่การช่วงชิงทรัพยากรเพื่อใช้สร้างภาพรักษ์ป่า รักโลก ฟอกเขียวให้นายทุน โดยเอาประชาชนที่ควรจะเป็นเจ้าของทรัพยากรและได้สิทธิในการบริหารจัดการป่าและได้ประโยชน์จากการซื้อขายนี้ ต้องกลายเป็นขี้ข้ารับประโยชน์จากค่าแรงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น” นิติพลระบุ

นิติพลยังย้ำว่าโครงการสวยหรูนี้แลกมากับคราบน้ำตาและความทุกข์ยากของประชาชน และทำกันเป็นขบวนการกันมาหลายปี เริ่มจากนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องคดีถึง 46,600 คดี เป็นกระบวนการไล่คนออกจากป่าอย่างแนบเนียน ด้วยการให้มีคดีทางกฎหมายติดตัวและมีที่ติดคุกจริง ทั้งที่กฎหมายหลายฉบับออกมาทีหลังแล้วทับไปบนที่ของประชาชน แต่ในทางกลับกันหากเป็นที่ของนายทุนกลับทำเป็นมองไม่เห็น แทบไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อทวงคืนเหมือนที่ทำกับประชาชน

“กระดุมเม็ดแรกที่กระทรวงทรัพย์ฯ ควรเป็นแม่งานใหญ่ในการทำ ไม่ใช่การทำตัวเป็นนายหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยดีลกับเจ้าสัวนายทุนไว้หมดแล้ว แต่คือการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนและสิทธิชุมชนด้วยการทำแผนที่ One Map ให้เสร็จสิ้น เพื่อไม่ให้หน่วยงานรัฐอ้างกฎหมายคนละทีสองที ไปเล่นงานประชาชนและเพื่อพิสูจน์สิทธิกันให้ชัดว่าที่ดินตรงไหนเคยมีประชาชน ชุมชนหรือชนเผ่าพื้นเมืองอยู่มาก่อนหรือไม่ เพื่อคืนสิทธิเหล่านั้นให้เขาไป แต่เรื่องนี้นายวราวุธกลับไม่ทำ

“การเพิ่มผืนป่าหรือพื้นที่สีเขียวในนิยามใหม่ของสหประชาชาติ หรือแม้แต่พื้นที่มรดกโลก ล้วนให้ความสำคัญกับวิถีดั้งเดิม ยอมรับว่าคนอยู่กับป่าได้ และพวกเขามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้พิทักษ์ป่าดีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องคืนสิทธิเหล่านี้และเครื่องมือที่โลกกำลังใช้เป็นแรงจูงใจในการเพิ่มผืนป่าให้พวกเขา ไม่ใช่ยึดเอาไปทำผลงานบนแผนที่อย่างไม่จีรังยั่งยืน พอหมดงบหมดฤดูเสนอผลงานก็ปล่อยให้เสื่อมโทรม

“ถามว่าทุกวันนี้โครงการปลูกป่าทั้งหลายที่บอกว่าปลูกกันเป็นล้านๆ ต้น หลายสิบปีมานี้มีที่ไหนเหลือบ้าง เหลือกี่ต้น กลายเป็นสวนยางไปหมดแล้วกี่ต้น ทำกันบังหน้า แต่ความทุกข์ยากและความขัดแย้งทิ้งไว้ให้ประชาชน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้ นอกจากประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ยังเป็นการกดหัวประชาชนไว้ใต้อุ้งเท้าของนายทุนอีกด้วย”

ภาพ: พรรคก้าวไกล

Tags: , , , ,