วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ประชากรบนหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกาจะจัดงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่า ‘Transfer Day’ หรือวันส่งมอบ มีวงดนตรีทหารบรรเลงเพลงกล่อม และการกล่าวสุนทรพจน์ของคนใหญ่คนดัง

วันเฉลิมฉลองแบบนี้ดูเหมือนจะถูกจริต ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เพราะเขาทำให้หวนนึกถึงปี 1917 ที่รัฐบาลอเมริกันใช้ทองคำมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ซื้อหมู่เกาะอินเดียตะวันตกจากเดนมาร์ก หลังจากนั้น มันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา

โดนัลด์ ทรัมป์เองอาจจะเรียกการซื้อขายนั้นว่า “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” เช่นเมื่อไม่นานมานี้ที่เขาแสดงความจำนงจะซื้อเกาะกรีนแลนด์ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กซึ่งปกครองเกาะกรีนแลนด์อยู่ได้ส่งสัญญาณตอบรับ “ความอยากซื้อ-อยากได้” ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาไปแล้ว ด้วยคำปฏิเสธแผนการไปเยือนเดนมาร์กอย่างไม่เกรงใจ

งานเฉลิมฉลอง ‘วันส่งมอบ’ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1917 บรรยากาศแตกต่างจากยุคปัจจุบัน ครั้งนั้น กองทัพเรือของเดนมาร์กได้ยิงปืนสดุดี เป็นการอำลาเกาะที่เคยเป็นอาณานิคม มีการบรรเลงเพลงชาติของเดนมาร์กเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะปลดธงชาติเดนมาร์กลงจากเสา และชักธงชาติอเมริกาขึ้นแทน กลุ่มผู้ปกครองชุดเก่าโยกย้ายออก กลุ่มผู้ปกครองชุดใหม่โยกย้ายเข้าแทนที่ รัฐบาลเดนมาร์กปิดดีลกับรัฐบาลอเมริกันครั้งนั้นโดยไม่สอบถามความเห็นของประชากรบนเกาะแม้สักคำ

ครั้งนั้น ชาวเดนิชรู้สึกโล่งใจที่ผละเกาะในทะเลแคริบเบียนให้พ้นตัว เกาะซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นที่กักกันและซื้อขายทาส ประเทศเดนมาร์กนับเป็นราชอาณาจักรแรกที่ออกกฎหมายห้ามซื้อขายแรงงานทาสเมื่อปี 1792 ทว่าอาณานิคมในทะเลแคริบเบียนนั้นยังมีการค้าทาสสืบเนื่องอีกนับทศวรรษ จนเดนมาร์กต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า

ย้อนไปเมื่อปี 1917 สหรัฐฯ เคยซื้อเกาะจากเดนมาร์กมาแล้ว นั่นคือ หมู่เกาะเวอร์จิน ครั้งนั้น รัฐบาลเดนมาร์กปิดดีลกับรัฐบาลอเมริกันครั้งนั้นโดยไม่สอบถามความเห็นของประชากรบนเกาะแม้สักคำ

อลาสการาคาถูก

แม้เรื่องราวเกี่ยวกับอาณานิคมจะเป็นความมัวหมองในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ แต่สหรัฐอเมริกาดูจะยังมีความสนใจด้านยุทธศาสตร์ของหมู่เกาะไกลโพ้น สหรัฐอเมริกาในขณะนั้นต้องการพื้นที่ที่จะตั้งฐานทัพเรือในทะเลแคริบเบียนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าเยอรมนีจะยื่นข้อเสนอขอซื้อจากเดนมาร์กระหว่างกำลังทำศึกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจากจุดนั้น จะเป็นการง่ายในการโจมตีสหรัฐอเมริกา อีกทั้งราคาซื้อขายตอนนั้นดูสมเหตุสมผล ในปี 1916 รัฐบาลอเมริกันใช้เงินงบประมาณเพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในการซื้อ

สหรัฐอเมริกามีหัวทางการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นทุนและเป็นธรรมเนียม ปี 1867 พวกเขาก็เคยซื้ออลาสกาจากรัสเซียในราคาเพียง 7.2 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าในครั้งนั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและคิดว่าราคาแพงเกินไปสำหรับ ‘ถิ่นอาศัยของหมีน้ำแข็ง’ หรือ ‘ตู้แช่แข็ง’ แต่คำประชดกลับเงียบหายไป เมื่อมีการค้นพบแหล่งน้ำมันในอลาสกา จวบถึงทุกวันนี้ชาวรัสเซียเองก็ยังรู้สึกเสียดาย ที่ปล่อยให้อลาสกาไปอยู่ในความครอบครองของชาวอเมริกัน แถมในราคาถูกเสียด้วย

ในปี 1867 สหรัฐฯ ก็เคยซื้ออลาสกาจากรัสเซียในราคาเพียง 7.2 ล้านดอลลาร์ ครั้งนั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและคิดว่าราคาแพงเกินไปสำหรับ ‘ถิ่นอาศัยของหมีน้ำแข็ง’ หรือ ‘ตู้แช่แข็ง’ แต่คำประชดก็เงียบหายไปเมื่อมีการค้นพบแหล่งน้ำมันในอลาสกา

แนวทางการซื้อขายแบบนี้เองที่โดนัลด์ ทรัมป์ต้องการจะทำในการซื้อเกาะกรีนแลนด์ แต่จะว่าไป แผนการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 1946 เจมส์ ไบรน์ส (James Byrnes) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลของแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ก็เคยยื่นข้อเสนอขอซื้อเกาะกรีนแลนด์กับรัฐมนตรีของเดนมาร์กในราคากว่า 100 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบัน 1.3 พันล้านดอลลาร์) สื่อในสหรัฐอเมริการายงานข่าวเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1977 หลังจากที่ข้อมูลราชการได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชน

ไบรน์สชี้แจงจุดประสงค์ของการซื้อครั้งนั้นว่า กรีนแลนด์ไม่ใช่ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่อีกต่อไป หากแต่จะมีความหมายทางยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกา สำหรับเดนมาร์กแล้ว กรีนแลนด์มีแต่จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ครั้งล่าสุดโดนัลด์ ทรัมป์ก็อ้างถึงเงื่อนไขดังกล่าว แต่เดนมาร์กก็ไม่ตกลงด้วยอยู่ดี

โบสถ์ โรงหนัง ฟิตเนสสตูดิโอใต้น้ำแข็ง

สื่อในเยอรมนีเคยรายงานข่าวเมื่อปี 1948 ว่า สมาชิกวุฒิสภาได้เสนอในที่ประชุมเพื่อขออนุมัติซื้อเกาะกรีนแลนด์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลในโคเปนเฮเกน เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลอเมริกันให้ความสนใจเพียงยุทธศาสตร์ทางการทหารเท่านั้น ไม่มีใครคิดถึงเรื่องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือสินทรัพย์ในดิน มีแต่คิดถึงศัตรูในสงครามเย็น…สหภาพโซเวียต

ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพอเมริกันได้สร้างสนามบินและฐานทัพขึ้นบนเกาะกรีนแลนด์ และใช้เป็นฐานที่มั่นอยู่นานกว่าที่เคยตกลงกันไว้ โดยมีแผนการจะยึดเป็นฐานทัพเพื่อสกัดกั้นการรุกรานของศัตรูฝั่งตะวันออก กระทั่งเมื่อรู้ว่ารัฐบาลเดนมาร์กไม่ยอมขายเกาะกรีนแลนด์ให้จริงๆ พวกเขาจึงคิดสร้างโปรเจ็กต์ลับ ใช้ชื่อว่า ‘แคมป์ เซนจูรี’

กองทัพอเมริกันเจาะโพรงลงไปในน้ำแข็งลึก 8 เมตรเพื่อสร้างเป็นเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินทูเลที่กองทัพอเมริกันสร้างขึ้นเมื่อปี 1951 ราว 250 กิโลเมตร การก่อสร้างเมืองใต้น้ำแข็งเริ่มขึ้นในปี 1958 เป็นโปรเจ็กต์เมืองที่ประกอบด้วยโบสถ์ โรงหนัง ฟิตเนสสตูดิโอ และห้องสมุด เป็นแคมป์ที่พักพิงสำหรับทหารจำนวนสูงสุดถึง 200 นาย มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเคลื่อนที่สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้า

ความบ้าของทหารอเมริกันยังฟุ้งกว่านั้นอีกมาก จาก ‘แคมป์ เซนจูรี’ พวกเขาต้องการขุดเจาะน้ำแข็งเป็นถ้ำเขาวงกต ความยาวทั้งสิ้น 4,000 กิโลเมตร ใช้รหัสลับว่า ‘โปรเจ็กต์หนอนน้ำแข็ง’ จุดประสงค์เพื่อสร้างเป็นพื้นที่เก็บบรรจุจรวดอินเตอร์คอนติเนนตัล 600 อะตอม โดยใช้ระบบรถไฟใต้ดินบรรทุกอาวุธ เพื่อว่าจะรอดพ้นจากการค้นหาพิกัดของสหภาพโซเวียตได้ ตราบใดที่ยังไม่มีใครรู้ว่ามีเมืองซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็ง

แผนการดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของรัฐบาลเดนมาร์กหรือไม่นั้น จวบถึงบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผย เนื่องจากโปรเจ็กต์ดังกล่าว รวมถึงการยินยอมให้สหรัฐอเมริกาสร้างสนามบินเพื่อการทหารนั้น ขัดต่อสนธิสัญญาทางทหารปี 1951

อย่างไรก็ดี มีการสร้างอุโมงค์ใต้น้ำแข็งไปแล้วจำนวน 21 อุโมงค์ ความยาว 3 กิโลเมตร ก่อนที่กองทัพอเมริกันจะถอนตัวยอมทิ้งโปรเจ็กต์เมื่อต้นทศวรรษ 1960s เหตุเพราะคาดเดาพลังของธรรมชาติต่ำเกินไป การเคลื่อนตัวของน้ำแข็งเกิดขึ้นตลอดเวลา มันสามารถทำให้อุโมงค์แยกตัวออกจากกันเมื่อไรก็ได้

และแล้วกองทัพอเมริกันก็ถอนตัว ทิ้งขยะไว้เบื้องหลัง ในจำนวนนั้นมีขยะปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีราว 24 ล้านตันจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเคลื่อนที่ นอกจากนั้นยังมีขยะโลหะ 9,200 ตัน และน้ำมันดีเซลอีก 200,000 ลิตร เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ ‘แคมป์ เซนจูรี’ ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยวารสาร Geophysical Research Letters

พื้นที่ยากจนในความปกครองของสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปดูหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา นับแต่วันที่ประชากรบนเกาะได้ถือสัญชาติอเมริกัน พวกเขายังชำระค่าเฉลิมฉลอง ‘วันส่งมอบ’ ยังไม่หมดไม่สิ้น น้ำตาลและเหล้ารัมที่ผลิตได้บนหมู่เกาะแทบไม่มีโอกาสได้ครองตลาดในสหรัฐอเมริกา เพราะตั้งแต่ปี 1920 สหรัฐอเมริกายังมีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่

ไม่ช้าหมู่เกาะเวอร์จินก็กลายเป็นถิ่นยากจนของสหรัฐอเมริกา ต้องคิดแผนการปฏิรูปเป็นการด่วนในทุกสมัย กระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมากขึ้น รายได้ของผู้คนบนเกาะและท้องถิ่นเริ่มฟื้นตัว

หมู่เกาะเวอร์จินกลายเป็นถิ่นยากจนของสหรัฐอเมริกา

งานเฉลิมฉลอง ‘วันส่งมอบ’ วาระครบรอบ 100 ปีเมื่อปี 2017 ลาร์ส ลึคเคอ ราสมุสเซน (Lars Løkke Rasmussen) อดีตนายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ก คนที่ปิดข้อเสนอของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความผูกพันระหว่างหมู่เกาะเวอร์จินกับเดนมาร์ก ไม่ว่าบ้านเรือน โบสถ์ และชื่อเมืองต่างๆ

จับใจความได้ว่า แม้ชาวเดนิชจะจากไป แต่ความรู้สึกลึกในใจยังคงอยู่ 

ซึ่งทรัมป์คงจะรู้สึกพอใจมาก หากว่าเดนมาร์กจะกล่าวถึงกรีนแลนด์อย่างเดียวกันนี้…ในอนาคต

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,