อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ระบบตลาดคาร์บอนเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ถูกพูดถึงในแวดวงสิ่งแวดล้อมมาแล้วกว่า 30 ปี แม้จะไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่เพราะดูเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน เมื่อไรก็ตามที่ใครสักคนพูดถึง ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ผู้คนก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอ

คาร์บอนเครดิตคืออะไร?

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด ในปัจจุบัน มนุษยชาติผลิตคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณมาก จนส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับโลกหลังจากนั้นคืออะไรบ้าง ทุกคนคงรู้ดี

ภัยพิบัติธรรมชาติ

สิ่งมีชีวิตทยอยสูญพันธ์

ความไม่มั่นคงทางอาหาร

ฯลฯ

หนึ่งในทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุดของปัญหานี้ คือการร่วมมือระดับนานาชาติในการจำกัดปริมาณคาร์บอน แต่ปัญหาคือหากไม่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจใดๆ ความร่วมมือในการจำกัดคาร์บอนโดยสมัครใจนั้นก็แทบไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเลย ภายใต้ระบบทุนนิยมที่ทุกองคาพยพล้วนแล้วแต่ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหากำไรเช่นนี้

‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ หรือก็คือตลาดที่ผู้ที่ใช้โควตาก่อมลพิษจนหมดหรือจวนจะหมดแล้ว และผู้ที่ยังพอมีโควตาเหลือใช้ มาพบกันเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนโควตาเหล่านั้นเป็นเงินหรือทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเงื่อนไขคือทุนดังกล่าวจะต้องถูกใช้เพื่อดำเนินการอะไรบางอย่าง ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก เพื่อที่ปริมาณคาร์บอนที่ลดลงจะได้ไป ‘ออฟเซ็ต’ (Offset) หรือชดเชยปริมาณคาร์บอนที่กำลังจะถูกก่อขึ้น

สิ่งที่ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต (ส่วนมากเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือองค์กรข้ามชาติที่ร่ำรวย) จะได้จากการซื้อขาย คือการรับรองสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งก็ส่งผลดีต่อตัวผู้ซื้อแตกต่างกันไปตามระดับ เช่น ภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศในเวทีโลก โอกาสในการใช้กลยุทธ์การตลาดสีเขียวขององค์กรต่างๆ และสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษี

ส่วนสิ่งที่ผู้ขาย (ส่วนมากเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) จะได้รับ คือเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในโครงการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

ข้อกังขาหลักของระบบคาร์บอนเครดิตนั้นอยู่ที่ ‘โครงการ’ ทั้งหลายเหล่านี้ลดการปล่อยคาร์บอนได้จริงหรือไม่ น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

และแน่นอนว่ารูปแบบโครงการออฟเซ็ตคาร์บอนที่ได้รับความนิยมที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น ‘โครงการปลูกป่า’

ฟื้นฟูป่า ควร ‘ปลูก’ หรือควร ‘ปล่อย’

ความนิยมของโครงการปลูกป่าเกิดจากสมการง่ายๆ ที่ว่า หากการที่โลกร้อนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดพื้นที่ป่าที่จะมาซึมซับคาร์บอนส่วนเกิน เราก็ควรจะร่วมแรงร่วมใจกันปลูกป่าให้พอทดแทนในส่วนที่ขาด

แต่สมการที่แท้จริงกลับไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้น…

การปลูกป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนมากเกิดจากการที่หน่วยงานระดมคนเข้ามาปลูกป่าในพื้นที่โดยใช้พันธุ์ไม้เพียงไม่กี่ชนิด (หรือแค่ชนิดเดียวเท่านั้นในบางกรณี) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วป่าตามธรรมชาตินั้นควรประกอบไปด้วยพันธ์ไม้ท้องถิ่นนานาชนิด และระบบนิเวศที่เอื้อต่อความหลากหลายชีวภาพ

การที่มนุษย์ทำตัวเป็นพระเจ้า ยื่นมือเข้าไปแทรกแซงด้วยการถือวิสาสะเอาต้นกล้าพันธุ์นั้นพันธุ์นี้ไปลงปลูกตามใจชอบ จึงเป็นการไม่เคารพระบบนิเวศและตัดโอกาสในการเกิดป่าทุติยภูมิ (Secondary Forests) ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นพื้นที่ป่าที่กักเก็บคาร์บอนได้ดี อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าป่าปลูกมาก

นอกจากนี้ การดูแลหลังการปลูกยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร เพราะต่อให้มีการศึกษาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่มาอย่างดี แต่หากไม่ได้รับการดูแลติดตามผลเลย ก็มีโอกาสพอสมควรที่กล้าไม้ที่อ่อนแอเหล่านั้นจะตาย เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ด้วยความเสี่ยงทั้งหลายเหล่านี้นี่เอง โครงการปลูกป่าจึงเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนที่ยังขาดความน่าเชื่อถือ ยกเว้นว่าจะได้รับการยอมรับจากองค์กรรับรองมาตรฐานคาร์บอน แต่นั่นก็เป็นกระบวนการอาจใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อรอให้ต้นไม้ป่าปลูกเหล่านั้นโตพอที่จะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จริง

จากการเพิ่มพื้นที่ป่า สู่การล่าอาณานิคมคาร์บอน (Carbon Colonialism)

หนึ่งในผลงานเด่นของ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคนล่าสุดของไทย คือสารพัดโครงการปลูกต้นไม้ อย่างโครงการ ‘รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน’ ที่ในเว็บไซต์โครงการระบุว่ามีจำนวนต้นไม้ที่ลงทะเบียนกับโครงการไปทะลุเป้า 100 ล้านต้น จนยอดปัจจุบันแตะ 110 ล้านต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความน่าสนใจแรกของโครงการนี้ คือวิธีการลงทะเบียนที่เรียบง่ายมากเสียจนประหลาด รวมถึงความจริงที่ว่าตัวโครงการแทบไม่มีโครงสร้างหรือระบบใดๆ ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลการทะเบียนที่ถูกส่งเข้ามาว่ามีการปลูกเกิดขึ้นจริงหรือไม่ 

แทบไม่ต้องพูดถึงหนทางในการติดตามผล เพราะ 110 ล้านต้นที่บอกว่าปลูกไปแล้วนั้น ยังมีการตั้งคำถามว่าปัจจุบันต้นไม้เหล่านี้เหลือยืนต้นอยู่อีกเท่าไร เป็นไม้พันธุ์ท้องถิ่นหรือไม่ ส่งผลอย่างไรต่อระบบนิเวศของสถานที่ปลูก และก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการเพิ่มพื้นที่ป่าเหล่านี้ ยังแลกมาด้วยน้ำตาและหยาดเหงื่อของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามป่าชุมชน เพราะทันทีที่เข้าสู่ยุคค้าคาร์บอน พื้นที่ป่าและชุมชนโดยรอบก็อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับระบบทุนนิยมโดยอัตโนมัติ โดยการที่รัฐเปิดช่องทางให้กลุ่มทุนเข้าควบคุมพื้นที่ป่า ผลกระทบจึงไปตกกับคนในพื้นที่ บ้างต้องเผชิญกับภาระในการดูแลป่าที่มากเกินกำลัง หรือในบางครั้ง ชุมชนก็ต้องสูญเสียความสามารถในการบริหารจัดการตนเองและความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ไปเลยโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้นแล้ว แม้ว่ากลไกตลาดคาร์บอนนั้นดูมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ในการกำหนดนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลก แต่เมื่อพิจารณาแนวทางปัจจุบันของรัฐไทย ที่ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการเข้าแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ดินทำกินของชุมชน เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมใหญ่ที่ต้องการพื้นที่ป่ามาชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตน การปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต ก็มีความเป็นไปได้ที่ไม่พ้นต้องตกเป็นเครื่องมือ ‘ฟอกเขียว’ ของระบบทุนนิยมแบบไทยๆ อีกตามเคย

ที่มา

Pownall, K. When can tree-planting be used for carbon offsetting? https://ecologi.com/articles/blog/why-we-dont-use-tree-planting-for-carbon-offsetting

Taksinawet, C.  วันสิ่งแวดล้อมไทย รมว.สิ่งแวดล้อม ทำอะไร (ไปแล้ว) บ้าง? ชวนดูผลงาน วราวุธ ศิลปอาชา. https://thematter.co/social/environment/minister-of-natural-resources-and-environment-policies/192073

The Momentum Team. ก้าวไกลมองรัฐใช้ ‘คาร์บอนเครดิต’ เพื่อฟอกเขียว ลดสิทธิประชาชน จาก ‘อยู่กับป่า’ กลับให้ไปอยู่ใต้นายทุน. https://themomentum.co/report-mfp-carbon-credit/

Wired. Is It Better to Plant Trees or Let Forests Regrow Naturally?https://www.wired.com/story/is-it-better-to-plant-trees-or-let-forests-regrow-naturally/

Tags: , , , , ,