ท่ามกลางแดดอันร้อนระอุและฝุ่นควันที่ปกคลุมประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายน ไอร้อนที่มากระทบกับร่างกาย ตลอดจนฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้การหายใจเริ่มรู้สึกติดขัดลำบาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน ที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไปไกลโข สิ่งเหล่านี้ล้วนกำลังบ่งบอกว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ทุกคนทราบดีว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากน้ำมือมนุษย์ แต่หากถามว่าต้นตอการทำลายธรรมชาติมาจากจุดใด คงยากที่ใครจะตอบได้

ทว่าหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมประวัติศาสตร์การสูญเสียไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในประเทศไทย และที่สำคัญคือผู้เขียนหนังสือกลั่นกรองข้อมูลโดยผสานจากการลงพื้นที่จริง สัมภาษณ์และพูดคุยจนทำให้หนังสือเรื่องสิ่งแวดล้อม แทนที่จะกลายเป็นยาขม กลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สนุกและได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภายในเล่มบางส่วน เพื่อเพิ่มอรรถรสและชี้นำให้ผู้ที่กำลังจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้รับรู้ว่าโลกใบนี้ของเรากำลังเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเพียงใดและใครคือผู้รับผิดชอบสิ่งเหล่านี้

จาก ‘เบาว์ริง’ ถึง ‘การปฏิวัติเขียว’ และ ‘สงครามแย่งชิงทรัพยากร’

ในสายธารประวัติศาสตร์ อาณาจักรสยามรุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติหลากหลายชนิด โดยเฉพาะป่าไม้ เหมืองแร่ และสัตว์ป่า เนื่องจากสยามตั้งอยู่ในภูมิประเทศเขตโซนร้อน มีอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป จึงเหมาะกับการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก

ต่อมาเมื่อมีการเปิดเส้นทางการค้าทางทะเล พาหนะอย่าง ‘เรือ’ คือสิ่งสำคัญ และวัตถุดิบสำคัญในการต่อเรือคือ ‘ไม้’ และ ไม้ที่เหมาะสมที่สุดคือ ‘ไม้สัก’ ซึ่งมีอยู่มากในบ้านเรา นอกจากนี้ ยังมีการค้า ไม้ฝาง ไม้กฤษณา ไม้หอม เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการย้อมผ้าและฟอกหนัง ทำให้สยามคือแหล่งส่งออกไม้ มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

ทว่าสิ่งควบคู่มากับการค้าไม้คือ ‘การล่าสัตว์ป่า’ และพื้นที่ป่าของสยามในขณะนั้น มีระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงมาก เต็มไปด้วยสัตว์ตระกูลเสือ ลิง ค่าง ช้าง สมเสร็จ ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญคือ แรด ซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ มีการบันทึกว่า สินค้าส่งออกสำคัญนอกจากไม้ คือ ช้างป่า นอแรด และหนังสัตว์ 

กระทั่งยุคทองของการทำลายป่าเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อสยามอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ และเปิดการค้าเสรีอย่างเป็นทางการ ผ่านสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวไปทุกย่อมหญ้า ทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาตั้งบริษัทในทุกหัวเมือง มีการเข้ามาสัมปทานป่าไม้ เหมือง ในแถบทุกหัวหาดของประเทศไทย 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามีบทบาทในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลัวการขยายอำนาจของคอมมิวนิสต์ สหรัฐส่งมอบเงินและองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น จนหลายคนเรียกยุคนี้ว่า ‘น้ำไหลไฟสว่าง’ มีการตัดถนนสายสำคัญของประเทศ 

ส่วนภาคเกษตรกรรมเน้นให้เกษตรกรในพื้นที่ป่าหันมาปลูกข้าวโพดเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ อีกนัยหนึ่งคือการเข้าควบคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์

ขณะเดียวกัน สงครามเย็นของสองชาติมหาอำนาจนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข ประกอบกับจำนวนตัวเลขการเกิดของจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้โลกต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากฟาร์มปศุสัตว์ ป่าไม้จำนวนมาก จากเดิมคือป่าอุดมสมบูรณ์ถูกทำให้เป็นป่าเสื่อมโทรม และกลายเป็นแหล่งปลูกพืชเพื่อป้อนอุตสาหกรรมฟาร์มในที่สุด

ในที่สุดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วก็เปลี่ยนให้โลกเข้าสู่ยุค ‘การปฏิวัติเขียว’ ปุ๋ยนานาชนิดถูกผลิตมาเพื่อให้พืชโตเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น

การคิดแบบวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการจำแนกสิ่งต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่ สิ่งแวดล้อมเป็นเพียงทรัพยากรชนิดหนึ่งที่ถูกแยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง และองค์ความรู้ดังกล่าวนำมาสู่การสร้าง ‘เขื่อนขนาดยักษ์’ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เขื่อนเกิดขึ้นท่ามกลางการสูญเสียป่าไม้หลายหมื่นไร่ และสัตว์ป่านานาชนิด ดังเช่น เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ สืบ นาคะเสถียร จำต้องลงเรือเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่านานาชนิดแต่ในท้ายที่สุด สืบ ก็ลงท้ายในภารกิจดังกล่าวว่า ‘การย้ายและอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนดังกล่าว คือความพยายามที่ล้มเหลวของมนุษย์’

นอกจากนี้ เขื่อนยังทำให้เกิดการสูญเสียพันธ์ุปลาหลากหลายชนิดพร้อมกับการทำอาชีพประมงที่ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกต่อไป

เมื่อมีตัวอย่างจากการสร้างเขื่อนเกิดขึ้น ‘สงครามแย่งชิงทรัพยากร’ ก็ตามมา โดยเขื่อนกลายเป็นตัวแปรที่ทำให้ชาวบ้านรัฐและผู้ลงทุนเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเสียงชาวบ้านเพียงคนเดียวอาจไม่ดังพอ ทำให้เกิดกรณีที่ชาวบ้านรวมตัวกันเดินขบวนไปจนถึงคัดค้านการก่อสร้าง จนในหลายครั้งเกิดการสูญเสียถึงชีวิต 

ไม่เพียงเท่านี้ ในปัจจุบันเรื่องของเขื่อนกลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ อย่างที่แม่น้ำโขงกำลังเผชิญในทุกวันนี้

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผู้เขียนหนังสือพยายามจะอธิบายถึงต้นตอและสายธารประวัติศาตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและย่อยทำความเข้าใจง่าย 

ทั้งนี้ผู้เขียนหนังสือได้ใช้ถ้อยอรรถรสของผู้คนผ่านการพูดคุยและสัมภาษณ์ ทำให้แทนที่หนังสือกว่า 450 หน้า กลายเป็นน้ำต้มขมที่อร่อยและกลมกล่อม

ต้องยอมรับว่าบทบันทึกจากปลายปากกานักเขียนสารคดีเล่มนี้ทำให้เรารู้ว่า “สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย”

ยุคแอนโทรโปซีน สู่วิกฤตโลกเดือดและการสูญพันธุ์ครั้งใหม่

“นี่มันไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ฉันไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ 

ฉันควรกลับไปเรียนหนังสือที่อีกฟากของมหาสมุทร 

พวกคุณมาฝากความหวังไว้กับคนหนุ่มสาว 

พวกคุณกล้าดียังไง

พวกคุณขโมยความฝันและวัยเด็กของฉันไปด้วย

คำพูดที่เลื่อนลอย แต่ฉันก็ยังถือว่าโชคดี… 

ผู้คนกำลังเผชิญความทุกข์ยาก ผู้คนกำลังล้มตาย 

ระบบนิเวศกำลังล่มสลาย

พวกเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสูญพันธ์ุครั้งใหญ่ 

แต่สิ่งที่พวกคุณเอาแต่พูดถึงคือเรื่องเงินทอง 

และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สิ้นสุด กล้าดียังไง!!”

-เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg)

คงไม่มีคำกล่าวไหนในปัจจุบันที่พูดถึงช่วงเวลาหายนะทางสิ่งแวดล้อม ได้เหมาะสมไปกว่าคำกล่าวสุนทรพจน์ของ เกรตา ธันเบิร์ก นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ในงานประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (UN Climate Action Summit) ที่นครนิวยอร์กในปี 2562

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ยิ่งคนไทยในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนมิถุนายนจำต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่นควัน จนกลายเป็นปัญหาที่เหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงปัญหาดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 10 ปี แต่ความเสียหายกลับมากมายและกระทบในทุกภาคส่วน

ดูเหมือนรัฐจะไม่สามารถแก้ที่ต้นตอได้อย่างแท้จริง ซ้ำร้ายยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผาและการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ ซึ่งย้อนแย้งกับวิธีแก้ปัญหาโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคแอนโทรโปซีน ที่ผลการกระทำของมนุษย์จะกลายเป็นตัวเร่งให้มนุษย์ต้องเผชิญผลกรรมของตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม

จากในอดีตเรามักได้ยินคำว่า ‘โลกร้อน’ แต่ปัจจุบันเข้าสู่ ‘โลกเดือด’ เป็นที่เรียบร้อย หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมมนุษย์ไม่สามารถลดอุณหภูมิของโลกให้เข้าสู่จุดสมดุลได้อีกต่อไป ซ้ำร้ายอุณหภูมิยังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ต้องยอมรับว่าหลังจากอ่านจนจบ นี่คือช่วงที่ทำให้ ‘ขนลุก’ ในทุกบรรทัดได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียนหนังสือได้เชื่อมโยงให้เราเห็นถึงปรากฏการณ์ที่อาจเกิดในอนาคตหากมนุษย์ยังใช้ชีวิตโดยไม่ใส่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

มีคำกล่าวกันว่าเพียงผีเสื้อขยับปีก โลกก็อาจเปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบันโลกสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติไปแล้วกว่าร้อยละ 50 สิ่งมีชีวิตลดจำนวนอย่างรวดเร็วจนมีการคาดการณ์ว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การสูญพันธ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 (Mass Extinction) จะเกิดขึ้น และการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับการสูญพันธ์ุครั้งใหม่

คำถามสำคัญคือใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว แน่นอนว่าคำตอบนั้นทุกคนรู้อยู่แก่ใจ ดั่งคำกล่าวของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ผู้กล่าวให้คนผิวขาวที่มาขอซื้อแผ่นดินให้เขาเข้าใจว่าธรรมชาติไม่ใช่ของใคร แต่คือของทุกคน

“เรารู้ดีว่าโลกนี้ไม่ได้เป็นของมนุษย์ แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับสายเลือดที่สร้างความผูกพันในครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนผูกพันต่อกัน ความวิบัติที่เกิดขึ้นกับโลกนี้ จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นกัน มนุษย์มิได้เป็นผู้สร้างเส้นใยแห่งมวลชีวิต แต่มนุษย์เป็นเพียงเส้นใยเส้นหนึ่งเท่านั้น หากเขาทำลายเส้นใยเหล่านี้…เขาก็ทำลายตัวเอง”

สุดท้าย ผู้เขียนหนังสือทิ้งท้ายไว้ให้ว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติกำลังเป็นเหตุผลเดียวในการอยู่รอดของมนุษยชาติ อยู่ที่ว่ามนุษย์จะเข้าใจความหมายนี้อย่างถ่องแท้เมื่อใด และเมื่อถึงเวลานั้น จะสายเกินไปหรือไม่

Fact Box

  • The Lost Forest ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทย และสงครามแย่งชิงทรัพยากร, ผู้เขียน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, สำนักพิมพ์ มติชน ,พิมพ์ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567, จำนวน 456 หน้า, ราคา 420 บาท
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นามปากกา ‘วันชัย ตัน’ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม อดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคเสถียร ตลอดจนผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี  ปัจจุบัน เป็นผู้ผลิตรายการสารคดีธรรมชาติทางโทรทัศน์ รายการ อ่านป่ากับหมอหม่อง , a day in the wild และ Unfriend Elephants  
Tags: , ,