หากหนังฟอร์มยักษ์เป็น ‘ลูกเมียหลวง’ ที่ผู้ชมค่อนโลกให้ความสนใจ หนังสารคดีที่ใช้ความจริงเป็นตัวเดินเรื่องก็เปรียบเหมือน ‘ลูกเมียน้อย’ ที่อยู่นอกสายตามาตลอด
แต่ปัจจุบัน สารคดีที่เคยติดภาพจำว่า ‘น่าเบื่อ’ กำลังถูกแทนที่ด้วยความตื่นเต้นเร้าอารมณ์ ความจริงที่หลายคนอยากเบือนหน้าหนี กลายมาเป็น ‘เสน่ห์’ ดึงดูดชวนให้ค้นหา ตลาดที่เคยแง้มประตูไว้เพียงน้อยนิด เริ่มเปิดกว้างให้สารคดีเข้ามาจับจองพื้นที่ มากไปกว่านั้น สารคดีได้ทำหน้าที่ปลุกการตื่นรู้ และสร้างแรงขับเคลื่อนบางอย่างให้แก่สังคมได้
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ‘Documentary Club’ คลับของคนรักหนังนอกกระแส ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยแรงปลุกปั้นของ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากความชื่นชอบสารคดีเป็นทุนเดิม ประกอบกับอยากให้คนไทยได้สัมผัสความหลากหลายของภาพยนตร์ ตลอดระยะเวลา 7 ปี Documentary Club จึงทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่คอยสนับสนุนหนังสารคดีเรื่อยมา แม้ความสนใจหนังสารคดีของคนไทยจะกระเตื้องขึ้นช้าๆ และจำกัดอยู่แค่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่ง แต่ปีที่ผ่านมา หนังสารคดีได้รับการพูดถึงอย่างกว้าง โดยเฉพาะหนังเรื่อง The Kingmaker สารคดีตีแพร่เรื่องราวของครอบครัวมาร์กอสที่ปกครองประเทศฟิลิปปินส์ด้วยระบอบเผด็จการมายาวนานถึง 21 ปี
การมาของหนังเรื่องนี้ท่ามกลางกระแสตื่นตัวทางการเมืองเข้มข้น สร้างปรากฏการณ์คนเต็มโรงในหลายพื้นที่ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง หนังสารคดีไทยเรื่อง School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ก็สร้างหน้าประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ด้วยการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากคมชัดลึก อวอร์ดไปครอง
นี่เป็นสัญญาณที่บอกว่าผู้คนเปลี่ยนวัฒนธรรมการดูหนัง และเรากำลังอยู่ในยุคที่สารคดีเติบโตไปพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร Documentary Club กำลังคว้าโอกาสนี้ร่วมขับเคลื่อนสังคมผ่านการใช้สารคดีนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘สังคมไทยดีได้กว่านี้’
ช่วงปีที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าหนังสารคดีเริ่มได้รับความสนใจอย่างเห็นได้ชัด ในฐานะที่คุณทำงานตรงนี้ ความสนใจหนังสารคดีในไทยเติบโตขึ้นจริงไหม
มาเห็นชัดจริงๆ ก็ช่วงนี้แหละ ก่อนหน้านี้สารคดีไทยมันแผ่วมาก ทั้งปริมาณตัวหนัง ปริมาณคนทำ หรือว่าความสนใจจากสังคม อาจเพราะว่าไม่มีการผลิตอย่างต่อเนื่องด้วย ดังนั้นก็เลยเห็นหนังสารคดีโผล่มาเป็นช่วงๆ ไม่ได้เห็นเป็นกระแสที่มาแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน
แต่ช่วงที่เห็นชัดมากๆ จนกลายเป็นประเด็นให้คนสนใจ เพิ่งจะมาเกิดขึ้นจากหนังเรื่อง เอหิปัสสิโก (Come and see) ของ ‘ไก่’ – ณัฐพล บุญประกอบ เราเดาว่าส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากโควิด-19 ด้วย หนังฟอร์มยักษ์หรือหนังสตูดิโอใหญ่ๆ ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในโรงหนังมันหายหมด กลายเป็นเหมือน ‘เคลียร์พื้นที่’ ให้หนังนอกกระแสหรือหนังเล็กๆ เข้ามา ซึ่งในจำนวนนั้นมีหนังสารคดีปนอยู่ด้วย หนังสารคดีเลยมีพื้นที่ให้เฉิดฉาย
น่าสนใจตรงที่ว่าไม่ใช่แค่ทำให้หนังนอกกระแสเป็นที่จับตามองมากขึ้น แต่ได้รับความสนใจและการยอมรับจากสังคมด้วย ซึ่งไม่ใช่หนังสารคดีทุกเรื่องจะเป็นแบบนี้ แล้วไม่ได้เกิดแบบนี้ตลอด ที่เห็นชัดคือ หนังเรื่อง School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ที่แม้ตอนฉายจะทำรายได้น้อย ด้วยภาวะหรือด้วยหน้าหนังอะไรก็ตาม แต่พอถึงช่วงฤดูกาลรางวัล หนังสามารถเข้าไปติดโผเข้าชิง ซึ่งไม่ได้เฉพาะเข้าชิงสาขาสารคดี แต่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แล้วก็คว้ามาหลายเวทีด้วย
ปกติ แม้แต่ในรางวัลระดับออสการ์ การที่หนังสารคดีจะขึ้นไปถึงตรงนั้นได้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะมันถูกขีดว่าเป็นตระกูลสารคดี ก็จะถูกจัดให้อยู่แค่ในพื้นที่สารคดี จะไม่ถูกมองว่าเป็นภาพยนตร์แบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นปัญหาของหนังสารคดีที่โดนมาตลอด การไม่มีตัวเลือกอื่นมาข่มหรือหนังน้อย จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้หนังแบบนี้ได้เฉิดฉายขึ้นมา แต่มันก็สมควรและคู่ควรแล้วที่เขาควรจะได้รับส่องสปอร์ตไลต์
จริงๆ เราคิดว่าภาพรวมของหนังสารคดีในไทยพูดไม่ได้ว่ามีอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ มันเอาแน่เอานอนไม่ได้มาตลอด ขณะที่ในทั่วโลก จะว่าไปแล้วก็เป็นปัญหาคล้ายๆ กัน คือหนังสารคดีจะถูกมองเป็น ‘หนังรอง’ ของทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการสร้างกระแสความสนใจในสังคมหรือพื้นที่ในเชิงการตลาดก็จะเป็นกระแสรองตลอด แต่หลายประเทศเขามีความต่อเนื่องในการผลิตงาน หรือมีการสร้างบุคลากรที่ผลิตหนังสารคดีเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า อาจจะเพราะมีองค์ประกอบที่สนับสนุนมากกว่า มีแหล่งทุนที่ชัดเจน และวงการหนังหรือวงการขับเคลื่อนสังคมในต่างประเทศก็อาจจะเห็นศักยภาพของหนังสารคดีมากกว่า ทั้งเรื่องการให้ทุนสร้าง การผลิต การให้พื้นที่เผยแพร่ จึงมีกระบวนการที่ดีกว่า ซึ่งของไทยมันแทบจะไม่มีเลย
การที่ School Town King เข้าชิงรางวัลมันสะท้อนว่าหนังสารคดีดีขึ้นหรือว่าหนังทั่วไปแย่ลง
อาจจะทั้งสองอย่าง (หัวเราะ) แต่เราต้องจับตาดูด้วยว่าจริงๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังเรื่องเดียวไหม ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นเฉพาะบริบท เฉพาะช่วงเวลาหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า ถ้าโควิดหาย สถานการณ์การถ่ายหนังต่างๆ นานากลับมา แล้วหนังสารคดีจะถูกลืมอีกไหม ซึ่งหวังว่าจะไม่
แต่สิ่งเป็นเรื่องน่าดีใจก็คือ School Town King ไม่ได้แค่เข้าชิงรางวัล แต่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อันนี้เป็นสิ่งที่ประทับใจมากๆ เราอาจจะมองในแง่ดีก็ได้ว่ากรรมการผู้ตัดสินมีทัศนคติที่เปิดกว้างขึ้น
นอกจากสถานการณ์โควิด-19 กระแสตื่นตัวทางการเมืองมีส่วนต่อการเติบโตของหนังสารคดีด้วยไหม
ถ้าวัดเฉพาะจากหนังของ Documentary Club เราคิดว่ามีผลเยอะเหมือนกัน หนังของ Documentary Club หลายเรื่องเป็นหนังที่พูดเรื่องการเมือง ถึงแม้จะเป็นหนังที่พูดถึงเหตุการณ์ในประเทศอื่น แต่หลายครั้งก็เชื่อมโยงกับความรู้สึกในประเทศไทย ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังแนวนี้เอาเข้าโรงฉายยาก แต่ปรากฏว่าในระยะหลัง หนังหลายเรื่องที่เล่นประเด็นเหล่านี้กลับได้รับความสนใจเยอะ และหลายเรื่องเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนต์ก็ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้ เราว่ามันตีคู่มาจากกระแสความตื่นตัวหรือความตื่นรู้ของคนไทย โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ๆ
คิดว่าปัจจุบันผู้ชมมองหาอะไรจากหนังสารคดี
ก็มีหลายแบบเหมือนกับการดูหนังประเภทอื่นๆ คนอาจจะรู้สึกว่ามันทำหน้าที่พื้นฐานของมัน ทำให้เราเห็นความเป็นไปในสิ่งที่เราไม่ได้เห็น อย่างสารคดีสัตว์โลกก็คือการได้เห็นในสิ่งที่เราไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะเราไม่มีความสามารถจะไปเห็นสิ่งนั้นด้วยตาของเราเอง แต่ว่าปัจจุบันนี้ หลายพื้นที่ในโลก รวมทั้งไทยด้วย คนดูสารคดีเพราะช่วยให้ได้เห็นความเป็นไปของมนุษย์คนอื่นบนโลกนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าสังคมของเราหรือสังคมอื่นเต็มไปด้วยปัญหา
อย่างตอนที่เราดูสารคดีเรื่อง The Kingmaker ก็รู้สึกว่าโคตรประเทศไทยเลย มันเหมือนเราดูเพื่อจะหามิตรเชิงความรู้สึกว่าปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะกับเรา แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ ด้วย และบางทีเราดูสารคดีเพื่อจะหาบทเรียนบางอย่างว่าบุคคลเหล่านั้นเขาผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้ยังไง หรือเราดูสารคดีเพื่อจะหาแรงบันดาลใจว่าทำไมประเทศในยุโรปเขาถึงมีรัฐสวัสดิการที่ดี มีความเป็นไปได้ไหมที่เราจะได้พบสิ่งนี้ในประเทศไทยบ้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสารคดีเป็นการทำหน้าที่เปิดโลกทัศน์ว่า มีความเป็นจริงอื่นๆ เกิดขึ้นในโลกใบนี้ หรือเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้จักชีวิตของเขา หรือการต่อสู้ของพวกเขา หรือวิถีชีวิตของพวกเขาที่ดำเนินอยู่
เมื่อสารคดีทำหน้าที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ การที่เด็กไทยรุ่นใหม่กระหายอยากรู้จักโลกผ่านสารคดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราถูกปิดหูปิดตามาโดยตลอดหรือเปล่า
เราว่าเกี่ยวเลย สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญมากก็คือการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ถ้าย้อนไปสมัยที่เราวัยรุ่น มันไม่มีช่องทางพวกนี้ โอกาสการรับรู้ถูกจำกัดด้วยระบบการศึกษา ถูกจำกัดด้วยบุคลากรทางการศึกษา ถูกจำกัดด้วยการปิดกั้นของสื่อหรือของรัฐเอง เหมือนเราโตมาไม่เคยรู้เรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 เพราะในตำราเรียนไม่เคยพูด เราต้องมาขวนขวายเอง และมันก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในนิตยสารหรือหนังสือ เป็นชุดความรู้ทางเลือกที่คุณต้องขวนขวายมากๆ ถึงจะรู้
แต่โซเชียลมีเดียเข้ามาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ มันเปลี่ยนภาวะการรับรู้เรื่องราวความเป็นไปของประวัติศาสตร์การเมืองหรือประวัติศาสตร์สังคมโลกค่อนข้างเยอะ และการที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ได้ก็สำคัญมาก เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆ อย่างเรื่องรัฐสวัสดิการ เราจะไม่รับรู้เลย ถ้าเกิดไม่สามารถเข้าใจว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียหรือยุโรปเขามีชีวิตกันแบบนั้น ไม่เคยรู้ว่าถ้ารัฐดูแลเขาอย่างดี คุณภาพชีวิตของคนสามารถยกระดับไปได้ถึงขนาดนั้นเลยเหรอ และเราอยู่ในสังคมที่คุณภาพชีวิตต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดไหน การมีโซเชียลมีเดียทำให้เปลี่ยนกระแสการรับรู้พวกนี้ไปเยอะ
มีคนตั้งข้อสังเกตว่านี่คือ ‘ยุคของศิลปะเพื่อการขับเคลื่อนสังคม’ สำหรับหนังที่เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน คุณเห็นด้วยกับความคิดนี้ไหม
เราว่าเป็นมากๆ เอาแค่ย้อนไป 5 ปีที่แล้ว เวลาพูดว่าหนังที่มีประเด็นทางการเมือง หรือศิลปะเพื่อการเมือง มันกลายเป็นของที่ทุกคนรู้สึกไม่ใช่ มันไม่ควรจะมาอยู่รวมกัน เมื่อพูดถึงศิลปะกับการรับใช้การเมือง หรือศิลปะกับการรับใช้ประชาชน ในอดีตคำเหล่านี้แทบจะไม่มีคนพูดถึงเลย ถ้าพูดก็เป็นส่วนน้อย
อย่างเมื่อก่อนเราทำนิตยสาร Bioscope เวลาเขียนอะไรก็ตามที่เป็นการเรียกร้องว่า ทำไมหนังไทยกระแสหลักถึงไม่จับประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมเข้ามาแทรกบ้าง ทำไมคุณถึงสามารถทำหนังเล่าชีวิตคนเมืองชนชั้นกลางที่กิน ดื่ม มีความรัก ใช้ชีวิตราวกับไม่ได้มีอุปสรรคอะไรเลย เราเขียนอย่างนั้นยังถูกเหม็นขี้หน้าเลย เขาบอกคุณจะมาเรียกร้องอะไร ความบันเทิงมันขายคนส่วนมาก มาเรียกร้องให้หนังสะท้อนประเด็นสังคมการเมืองทำไม ใครจะดู
แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าหนังที่ไม่แตะสังคมเลย ลอยตัวเหนือปัญหา มันเหมือนคุณอยู่ใน Bubble กลายเป็นหนังที่คนรุ่นใหม่รู้สึกขัดๆ ไม่สัมพันธ์ด้วยมากยิ่งขึ้น เราว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะถ้าย้อนไปพูดกับคนรุ่นก่อน เขาไม่เข้าใจนะ เขานึกไม่ออกว่ามันเกี่ยวเนื่องกันยังไง เขานึกว่าการเมืองก็คือนักการเมือง คือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของนักการเมืองสกปรก มันมีวาทกรรมประเภทนี้อยู่ หนังเชิงประเด็นสังคมเลยไปสัมพันธ์กับคนที่รับรู้ว่าชีวิตเราและการเมืองเป็นสิ่งเดียวกัน เดี๋ยวนี้พูดว่าการเมืองอยู่ในทุกๆ ส่วนของชีวิต ทุกคนรับรู้ได้
เข้าใจว่าเมื่อก่อนหนังสารคดีเปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เมื่อไรที่หนังสารคดีขยับมาพูดถึงประเด็นทางสังคม
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 สารคดีก็ถูกใช้บอกเล่าประเด็นทางสังคมแล้ว โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คาบเกี่ยวมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสารคดีถูกใช้ในพื้นที่ทางการเมืองมาตลอด แต่ว่ายุคแรกอาจจะถูกใช้โดยฝ่ายที่มีอำนาจเพื่อสร้างความคิดในเชิงชาตินิยม
ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Triumph of the Will สร้างโดยผู้กำกับหญิงที่ทำงานให้นาซี มีบันทึกภาพบรรยากาศการเดินสวนสนามของกองทัพนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ที่ยิ่งใหญ่อลังการมากๆ และก็เป็นสารคดีที่ถูกบันทึกว่าเป็นผลงานคลาสสิกเรื่องหนึ่งของโลก เพราะต้องใช้พละกำลังมหาศาลในการถ่ายทำ
ส่วนประวัติศาสตร์สารคดีในแง่ของการเป็นเครื่องมือใช้บอกเล่าวิถีชีวิตคนที่โดนกดขี่ ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้มีอำนาจใช้เพื่อที่จะสร้างพลังทางชาตินิยม ราวทศวรรษที่ 1920s ช่วงนั้นในอเมริกาเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดปัญหาแรงงาน คนยากจน คนชายขอบในสลัม ก็เลยเกิดกลุ่มคนทำสารคดีที่รวมตัวกันทำงาน เพื่อบันทึกวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ออกมาเป็นสารคดี แต่ไม่ได้ปรากฏในสื่อกระแสหลัก และก็มีช่วงยุค 60s ที่ความคิดแบบเสรีชนเริ่มเบ่งบาน คนเรียกร้องเรื่องสิทธิพลเมือง เรียกร้องสิทธิสตรี เรียกร้องเรื่องสิทธิแรงงาน คนทำสารคดีที่โตมาในยุคเวลานั้นและสามารถเข้าถึงเครื่องมือได้ก็ไปถ่ายสารคดี หนังสารคดีอเมริกันที่เป็นระดับคลาสสิกจึงเกิดขึ้นในช่วงยุค 50s-60s ค่อนข้างเยอะ
ส่วนในไทย เรื่องที่เป็นตำนานจริงๆ ทุกคนน่าจะนึกถึงเรื่อง การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า หนังเรื่องนี้ อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ กับเพื่อนร่วมกันสร้างขึ้นมา เกี่ยวกับโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ที่เอารัดเอาเปรียบคนงาน คนงานหญิงเลยรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมหรือเรียกร้องการดูแลที่ดีขึ้นจากนายจ้าง แต่นายจ้างไม่สนใจ กลับปฏิบัติเลวทราม คนงานเหล่านี้เลยต่อสู้ด้วยการยึดโรงงาน แล้วผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองออกขาย สุดท้ายจบลงด้วยการแตกกระจายไป เพราะโดนตำรวจจับ มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน แทบจะมีน้อยเรื่องในไทยจะเล่าเรื่องแบบนี้ แล้วก็เล่าแบบจริงจัง ถึงแม้วิธีการทางภาพยนตร์อาจจะไม่ได้เยอะ แต่ก็มีพลังมาก เพราะบันทึกบริบททางประวัติศาสตร์ไทยได้ค่อนข้างดี
บางคนพูดว่า หนังสารคดียุคนี้ยกระดับการเล่าเรื่องผ่านเทคนิคทางภาพยนตร์ต่างๆ จนสามารถตรึงคนดูได้อยู่หมัด นี่ถือเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของการทำสารคดีเลยไหม
ปัจจุบันคนทำสารคดีเป็นคนที่เติบโตมากับภาพยนตร์ทั้งนั้น ยุคก่อนๆ อาจจะมีเส้นที่ขีดชัดเจนว่า สารคดีเป็นการบันทึกความจริง เป็นกึ่งข่าว สารคดีทีวีก็จะมีรูปแบบกึ่งข่าวหรือมีผู้บรรยาย คือมีรูปแบบของตัวเองที่ไม่ได้มีภาษาทางภาพยนตร์แพรวพราว หรือในยุค 50s-60s อาจจะมีทฤษฎีสารคดีที่รู้สึกว่า คนทำต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปแทรกแซง เล่าด้วยสายตาแบนราบ เป็นกลาง ไม่เร้าอารมณ์ ไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองอะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
เราคิดว่าคนทำสารคดียุคหลังมีความตระหนักว่า ถ้าคุณจะยืนอยู่ให้ได้ในตลาดที่เป็นพาณิชย์ คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำหนังให้เป็นที่ประทับใจของคนดูประมาณหนึ่ง แล้วคุณก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าหนังสารคดีเป็นหนังแบบหนึ่ง มันจึงควรจะมีการเร้าอารมณ์ในแบบหนึ่ง แม้จะไม่ได้แบ่งเป็น 3 องก์ หรือว่าปรุงแต่งเหมือนหนังฟิกชัน แต่ต้องมีอารมณ์แบบการดูภาพยนตร์อยู่ ต้องใช้เทคนิคภาษาของภาพยนตร์เข้ามาช่วย เพราะเขาตระหนักว่าสารคดีที่น่าเบื่อจืดชืดมันยากที่จะเข้าถึงคน โดยเฉพาะตอนนี้ที่คนมีตัวเลือกเยอะแยะ แล้วคนทำสารคดีในยุคปัจจุบันหลายคนก็ข้ามสายไปมา คือไม่ได้ตั้งตนเป็นคนทำสารคดีอย่างเดียว บางคนทำหนังฟิกชัน คลุกคลีอยู่กับโปรดักชันที่เป็นหนังฟิกชัน แต่ปลีกตัวไปทำหนังสารคดี
ดังนั้น การปะปนกันของภาษาหนังเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นพัฒนาการที่เข้าใจได้ว่าทำไมคนทำสารคดีปัจจุบันถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการเร้าอารมณ์ การใช้เทคนิคที่แพรวพราว ใช้ภาพและเสียงที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ เพียงแต่ว่าเส้นอะไรที่จะทำให้ไม่ข้ามไปไกลจนเป็นเรื่องปรุงแต่งหมดเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องของวิจารณญาณแต่ละคน ว่าทำยังไงให้มีความบันเทิงในแบบที่คนดูหนังอย่างอื่นได้เยอะแยะ เขายังรู้สึกว่าได้ทั้งความงดงาม ได้ทั้งอิ่มเอมใจ ได้ทั้งหดหู่ใจ ภายใต้กรอบความเป็นสารคดี
ทำไมสมัยก่อนถึงเชื่อว่าคนทำสารคดีต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปแทรกแซง ขยายประเด็นนี้ให้ฟังหน่อย
ก็มีทฤษฎีทางสารคดีว่า คนทำสารคดีไม่ควรที่จะเอาตัวเองเข้าไปแทรกแซง คุณต้องทำตัวเป็นเหมือนแมลงวัน เขาใช้คำว่า Fly On The Wall เป็นแมลงวันบนกำแพง เหมือนแอบถ่ายโดยที่ตัวละครไม่รู้ตัว ถ่ายแล้วอย่าให้ซับเจกต์ไม่พูดความจริงต่อหน้ากล้อง ก็คือมีความเชื่อว่าสารคดีต้องเป็นความจริงบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าคนทำสารคดีเหมือนคนทำข่าว คือควรมีความเป็นกลาง ไม่ควรจะเลือกข้าง ถ้าคุณเล่าเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง คุณควรจะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้พูดหมด แล้วปล่อยให้คนดูรับข้อมูลทุกๆ ด้าน ให้เขาตัดสินเอง
สิ่งนี้เป็นกรอบที่ถูกวางให้สารคดีมาตลอด แต่ว่าหลังๆ ถูกแหกออกไปบ้างแล้ว อย่างสารคดีของไมเคิล มัวร์ อันนี้คือเลือกข้างทางการเมืองแบบไม่สนใจเลย สำหรับเราโอเค เพราะเราไม่เชื่อความเป็นกลางเท่าไหร่ ตอนนี้ความคิดเรื่องความเป็นกลางถูกสำรวจมาเยอะแล้วว่าไม่มีหรอก ในที่สุดคุณต้องเลือกอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในสังคมที่มีความไม่เท่ากัน
รัฐมีอำนาจทีวีทุกช่องอยู่ในมือ คุณพูด คุณจัดรายการทุกวันศุกร์ก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ แต่ประชาชนที่ถูกกดขี่เขาไม่มีช่องทางได้พูด อันนี้ต่างหากคือหน้าที่ของสารคดีที่ต้องไปเล่า บางทีสังคมไม่ได้สมดุลแบบที่คุณต้องเล่าสองฝั่ง แต่คนทำสารคดีก็เป็นมนุษย์ เมื่อก่อนการตัดต่อก็เป็นการเลือกจุดยืนอย่างหนึ่งแล้ว ปัจจุบันคุณเลือกจุดยืนทางการเมืองที่คุณจะเล่าได้ด้วย เพียงแต่ว่าไม่ใช่คนทำสารคดีคนเดียวที่ควรจะมีเสรีภาพในการเลือก ทั้งสังคมก็ควรจะมีเสรีภาพในการเลือก หมายความว่าถ้าคุณดูสารคดีที่เลือกข้างทางการเมืองแบบนี้ แล้วคุณรู้สึกว่าคุณไม่เห็นด้วย คุณก็ต้องมีเสรีภาพเช่นกันที่จะออกมาโจมตีความจริงชุดนี้
ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมันมีลูปแบบนี้อยู่ มีคนทำหนังฝ่ายซ้าย มีคนทำหนังฝ่ายขวา แล้วก็ทำหนังออกมาด่ากัน แต่ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เชื่อมั่นในเสรีภาพของตัวเอง ที่คุณจะอ่านข้อมูลหลายๆ ด้านเพื่อกลั่นกรองออกมา นี่คือสังคมอุดมคติ
สังเกตว่าหนังสารคดีในต่างประเทศ แม้จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนแต่ก็ยังมีทุนสนับสนุน แต่ของไทยมีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทุนไม่สามารถเข้ามาสนับสนุนหนังสารคดีได้
เราว่าเป็นเรื่องของทัศนคติด้วย อย่างแรก หนังไทยกระแสหลักที่เข้าฉายในโรงถูกมองว่าเป็นความบันเทิง ขณะที่หนังสารคดีถูกมองว่าไม่บันเทิง อาจจะเป็นเพราะสารคดีพูดถึงเหตุการณ์จริง ไม่ได้ทำหน้าที่ Escapism หรือชวนให้เราหนีจากโลกแห่งความจริงเข้าไปบันเทิงในโรง ดังนั้น หนังที่ทำให้เราไม่ได้หลุดพ้นจากความจริงอย่างหนังสารคดี หรือว่าหนังไม่สารคดีแต่เล่าเรื่องสะท้อนสังคมการเมือง ก็จะถูกกีดกันออกไป เพราะเรารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เพื่อความบันเทิง สารคดีเลยเหมือนยาขมสำหรับคนลงทุน
นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งจากการถูกทำให้เคยชินว่า หนัง ละคร ศิลปะเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยว เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะจริงจัง เป็นเรื่องที่ควรจะบันเทิง ซึ่งเราไม่รู้นะว่ามันถูกสร้างมายังไง แต่สิ่งนี้ยังล้างไม่หมด ทั้งๆ ที่คนดูก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว แต่แหล่งทุน แหล่งเผยแพร่ยังยึดติดกับสิ่งเหล่านี้อยู่
ดังนั้น สารคดีในไทยจะถูกมองว่าเป็นหนังก็ไม่บันเทิง จะมองว่ามันเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม สังคมไทยก็ไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนที่ทำงานขับเคลื่อนสังคม สังคมไทยมองว่าซีเรียส เอาการเมืองมาปนทำไม สังคมไทยล้างสมองให้เราเชื่อเรื่องว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต เราถูกทำให้อยู่ในโหมดความคิดนี้มาตลอด เลยเป็นเรื่องยากที่ไทยจะมีแหล่งทุนสนับสนุนคนทำสารคดีด้วยความหวังว่าคุณจะได้ผลิตชิ้นงานดีๆ เพื่อไปทำการขับเคลื่อนสังคม แทบจะไม่มีแหล่งทุนที่คิดแบบนี้เลย ยกเว้นแหล่งทุนต่างประเทศ
ส่วนคนดู เราว่าเขาก้าวข้ามอุปสรรคพวกนี้ไปแล้ว อย่างปรากฏการณ์ที่คนดูเริ่มให้ความสนใจกับหนังสารคดีมากขึ้น เราคิดว่าเขาผนวกความคิดเรื่องการเมืองกับชีวิต ภาพยนตร์กับเรื่องจริงจัง คือสิ่งเหล่านี้ถูกผนวกเป็นเรื่องเดียวกันไปหมดแล้ว แต่ว่าคนที่สูงวัยขึ้นไป ซึ่งเป็นคนที่ถือเงินและถือช่องทางพวกนี้แหละ ยังล้างความคิดชุดเก่าไม่หมด
ในส่วนของรัฐบาลที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญล่ะ ยังเป็นปัญหาต่อวงการภาพยนตร์ไทยอย่างไร
รัฐไทยกับภาพยนตร์เป็นปัญหามากๆ ถ้าเราไปดู พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับแรก เกิดขึ้นมาเมื่อปี 2473 ใช้มาประมาณ 80 ปี เพิ่งจะมาเปลี่ยนเมื่อปี 2551 โดยเปลี่ยนจากการเซนเซอร์มาเป็นการจัดเรต แต่วิธีคิดของรัฐไทยต่อภาพยนตร์เป็นปัญหาตั้งแต่เกิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ขึ้นมาแล้ว เพราะมีความคิดว่าหนังเป็นสื่อที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดี คำนี้ถูกเขียนอยู่ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับแรกเลยนะ ตอนนั้นหนังทำหน้าที่เป็นข่าวคอยถ่ายทอดให้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ทั่วโลก สังคมโลกอาจจะมองว่าดี ประชาชนได้เปิดหูเปิดตา แต่สังคมไทยมองว่าอันตราย คนไทยเปิดหูเปิดตามากไปเดี๋ยวรู้ว่าโลกเป็นยังไง แล้วจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับแรกจึงออกมา เจ้าพนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบภาพยนตร์เพื่อป้องกันภาพยนตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรม คำพูดนี้ปรากฏอยู่ในรัฐทั้งหมด รัฐที่ทำงานอยู่กับภาพยนตร์มองมุมนี้มาตลอด
นี่เป็นปัญหาสำคัญ ต่อให้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะไม่มีการพัฒนาเกิดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถสลัดวิธีคิดที่ครอบมาตั้งแต่โบร่ำโบราณได้ สุดท้ายต้องรื้อเอาชุดความคิดที่มองว่าภาพยนตร์เป็นศัตรูออกไปก่อน แต่ถ้าจะรื้อชุดความคิดนี้ต้องรื้อไปอีกหลายยวงเลย มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องภาพยนตร์อย่างเดียว เรื่องรัฐกลัวอำนาจประชาชนยังมีอีกหลายชุดความคิดที่อยู่พ่วงกัน ตราบใดที่ความคิดทั้งหมดนี้ไม่หายไปจากรัฐ เราก็คิดว่าการเติบโตของภาพยนตร์ไทยเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมามันโตขึ้น เพราะคนทำเขามีศักยภาพ แล้วเขาดิ้นรนผลักดันด้วยตัวเขาเอง
ซึ่งการที่ชุดความนี้ยังตกค้างอยู่ เหมือนเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงความหลากหลายต่อผู้ชมอีกทีหนึ่ง
ใช่ วิธีคิดเชิงควบคุมประเภทนี้ถูกใช้งานในสังคมไทยมานาน จนคนในสังคมเองบางทีก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบนี้ ตอนเราทำ Documentary Club ใหม่ๆ ออกมาสู้รบขอให้โรงหนังเปิดพื้นที่ให้กับหนังอิสระ หนังเล็กหนังน้อยบ้าง พอเราพูดแบบนี้ปุ๊บ ยังไม่ต้องไปถึงหูโรงหนังหรอก คุณดูจำนวนหนึ่งจะเข้ามาถล่มทันทีว่าโรงหนังเขาทำธุรกิจ โรงหนังเขาไม่ได้ทำการกุศล จะมาเรียกร้องอะไร แก้ตัวแทนนายทุนทันที แต่คนไม่ได้มองว่าคนที่เสียประโยชน์คือคุณต่างหาก คุณไม่ได้มีโอกาสเห็นสิ่งที่หลากหลาย ชุดความคิดที่ครอบอยู่จึงไม่ได้ครอบแค่รัฐ แต่ครอบคนในสังคมทั้งหมด ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงปัญหาภาพยนตร์ เลยไม่ได้เป็นแค่ปัญหาของภาพยนตร์อย่างเดียว มันเป็นปัญหาของทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมนี้
หนังที่ทาง Documentary Club เลือกมาฉาย พูดถึงประเด็นทางการเมืองเยอะเหมือนกัน แม้จะเป็นบริบทต่างประเทศ ความหวาดกลัวของรัฐส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณบ้างไหม
ถ้าพูดถึงสถานการณ์โรง สำหรับเราก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เหมือนยิ่งทำยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองหรอก อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่เก่งเอง ไม่สามารถทำหนังให้เป็นกระแสจนทำเงินถล่มทลายได้ ดังนั้น โอกาสที่โรงหนังจะให้พื้นที่เยอะจึงเป็นเรื่องยากมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะเรื่องผลทางการเมือง เอาจริงๆ หนังของ Documentary Club ยังไม่เคยโดนแบนมาก่อน เพราะหนังสารคดีที่เราเลือกก็ไม่ได้มีเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อการโดนแบนขนาดนั้น เพียงแต่ว่าอาจจะมีประเด็นที่เกิดจากการใช้อำนาจนอกระบบ หรือการใช้อำนาจนอกกฎหมายที่เป็นไปด้วยความกลัวของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเดือนตุลาคม 2 ปีที่แล้ว เราจะเอาหนังเรื่อง ดาวคะนอง มาฉาย ประกาศประชาสัมพันธ์เรียบร้อย ปรากฏว่าวันฉายมีตำรวจมาบอกเจ้าของพื้นที่ว่าอย่าฉายเลย เขาบอกว่านายไม่สบายใจ กฎหมายข้อไหนวะ คุณสามารถอ้างนายไม่สบายใจได้ (หัวเราะ) แต่เจ้าของพื้นที่เขาไม่อยากมีเรื่อง ก็เลยต้องงดฉายไป หรือกรณีเมื่อไม่นานมานี้กับหนังเรื่อง The Kingmaker ที่ตำรวจในพื้นที่ทางภาคใต้เข้ามาบอกว่า ‘ชื่อมันดูล่อนะ’ หรือ ‘รูปโปสเตอร์ชวนให้คิด’ ไม่อยากให้ฉาย ซึ่งทั้งหมดนี้เขาคิดเองทั้งนั้นเลย (หัวเราะ)
ส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบในลักษณะนี้มากกว่า เรายังไม่เคยได้รับผลกระทบจากระบบจัดเรตติ้งตรงๆ แต่มีกรณีล่าสุดคือ สารคดีเรื่อง I am not alone เป็นสารคดีที่พูดถึงขบวนเดินประท้วงในประเทศอาร์เมเนีย เหมือนขบวนเดินทะลุฟ้า โดยเป็นการเดินประท้วงของ ส.ส. คนหนึ่งที่ต้องการประท้วงไม่ให้เผด็จการที่เป็นผู้นำมา 2 สมัย สืบทอดอำนาจต่อ ก็เลยลุกขึ้นมาเดินขบวนจากต่างจังหวัดเข้ามาถึงเมืองหลวง ในที่สุดสามารถรวบรวมประชาชนได้เป็นหลักแสน และต่อสู้จนชนะ เรารู้สึกว่าดีจัง อยากเอาไปฉายที่หมู่บ้านทะลุฟ้า เพราะมันเข้ากันมาก
ตอนส่งไปจัดเรตก็ได้เรต 15+ ตามปกติทั่วไป แต่เหตุผลของเขาตลกมาก เขาให้เหตุผลประมาณว่า ‘การกระทำของคนในหนังมีความรุนแรง การกระทำหลายอย่างเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย ในที่สุดยังประสบความสำเร็จอีกด้วย คงจะเป็นภาพตัวอย่างที่ไม่ค่อยดีถ้าออกฉาย’ คิดดูแล้วกันว่าโหมดความคิดของคนจัดเรตติ้งอยู่ในโหมดไหน ถึงได้บอกว่าการต่อสู้แบบนี้เป็นเรื่องไม่ควรจะเอาเป็นตัวอย่าง ในเมื่อเหตุการณ์ในหนังเป็นการต่อสู้ขับไล่เผด็จการเพื่อให้ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย
แล้วจริงๆ การจัดเรตหนัง นัยของมันเป็นการจัดเรตเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มอายุคนดู พูดง่ายๆ ก็คือเอาหนังที่ไม่เหมาะกับเด็กออกไป แต่อันนี้ไม่ใช่ เราขอเรตทั่วไปเพราะไม่ได้มีอะไรสุ่มเสี่ยง แต่เขาไม่กล้าให้เพราะมีประเด็นทางการเมืองที่เขาหวั่นไหว เขาเลยให้เรต 15+ ซึ่งหมายความว่าคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ควรมีผู้ปกครองแนะนำ แล้วมาเกี่ยวอะไรกับประเด็นการเมือง ในเมื่อไม่ใช่เป็นเรื่องของวัย แต่เขาไม่มีเครื่องมือจะควบคุมไง ดังนั้น เขาจึงเอาเครื่องมือชุดหนึ่งมาควบคุมเนื้อหาที่ไม่จำเป็นต้องควบคุม อันนี้เป็นการทำหน้าที่ภายใต้ความกลัว ไม่มีกฎหมายไหนบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่คู่ควรฉายด้วยเหตุผลอะไร แต่คุณทำไปด้วยความรู้สึกหวั่นไหวในเนื้อหานั้นๆ
เราเลยรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวกฎหมาย สิ่งที่เป็นปัญหาคือผู้ใช้กฎหมายอยู่ภายใต้บรรยากาศของความกลัว อันนี้คืออุปสรรคของคนทำงานศิลปะ แบบเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่องลูกศิษย์อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี เหมือนกันตรงที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่คนต้องการจะเล่นงานเขา ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบเผด็จการ
การที่ความหวาดกลัวของผู้ใช้กฎหมายดำรงอยู่ ทั้งยังมีแนวโน้มจะหวาดกลัวมากขึ้นไปอีกจากสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งนี้ส่งผลให้การทำงานยากขึ้นไหม
ในตัวงานไม่ได้ยาก ตราบใดที่การใช้กฎหมายไม่ได้เลยเถิด แต่ความลักลั่นของระบบเรตติ้งไทยอย่างหนึ่งคือ อุตส่าห์มีระบบจัดเรตติ้งตามอายุแล้ว ยังจะมีเรตแบนอีก ทั้งที่เรต 20+ นี่ถือเป็นเรตที่แรงมากๆ สูงสุดของการจัดเรตแล้ว การที่คุณยังสามารถสั่งแบนหนังเรื่องใดก็ได้ ถ้าคุณคิดว่าควรจะโดนแบนด้วยเหตุผลอะไรก็ช่าง เป็นเรื่องที่แย่ แต่ตอนนี้เรายังทำงานได้อยู่ ยังไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวหรือรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคอะไร ถ้าวันหนึ่งความกลัวของคุณมากจนไร้เหตุผล อันนั้นจะเป็นปัญหา ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะกับเรา แต่เป็นกับทุกคน
ทุกวันนี้ หน้าที่ Documentary Club คืออะไร ต่างจากความตั้งใจแรกที่ก่อตั้งขึ้นมาไหม
เจตนาตอนต้นที่มองว่าอยากให้มีทางเลือกหนึ่งในการดูหนัง ช่วงที่ผ่านมาเราคิดว่าก็ทำไปเยอะพอสมควร ถ้าพูดถึงหนังสารคดีในตอนนี้ คนมีทางเลือกมาขึ้นแล้วจริงๆ ไม่เฉพาะหนังที่เราเลือกมาหรอก แต่รวมถึงการมาของ Netflix หรือ Amazon Prime ซึ่งเป็นช่องทางที่สารคดีเยอะมากๆ ดังนั้นหน้าที่ของเราตรงนั้นจึงผ่านไปแล้ว
ปัจจุบัน สิ่งที่อยากทำและพยายามจะทำก็คือ เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมยังไง โดยเฉพาะช่วงเวลาแบบนี้ที่มีการตื่นตัวทางการเมือง เราเห็นระบบบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นจากรัฐไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมฟังเสียงเรา ไม่ว่าจะในระบบยุติธรรมหรือใดๆ เราเห็นว่ามันมีความเวทนา เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ทุกวันว่าจะทำอะไรได้บ้าง ในเชิงส่วนตัวเราทำเท่าที่เราทำได้ด้วยการไปร่วมม็อบ แต่ในนามของ Documentary Club เราว่าหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือพยายามจะขับเคลื่อนอะไรบางอย่างด้วยวัฒนธรรม เหมือนที่งานศิลปะแขนงอื่นทำ
การทำงานด้วยวัฒนธรรมเป็นการหวังผลระยะยาว ต่อให้เราเอาหนังที่พูดเรื่องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมมาฉาย มันคงไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรทันทีหรอก หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ระหว่างนี้ อย่างน้อยที่สุด มันก็ทำงานในเชิงทัศนคติ เช่น ตอนเราเอาหนังเรื่อง I am not alone มาฉายที่หมู่บ้านทะลุฟ้า มีน้องบางคนรู้สึกว่าช่วยเปิดโลกให้เขาได้เห็นการต่อสู้ในลักษณะคล้ายๆ กัน ช่วยให้เขาเห็นว่ามีความเป็นไปได้ของการต่อสู้แบบนี้ เขาประสบความสำเร็จด้วยเงื่อนไขอะไร เงื่อนไขอะไรที่ประเทศเหล่านั้นมี แล้วเราไม่มี
เรารู้สึกว่าสารคดีช่วยทำหน้าที่ในเชิงเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เสริมเพิ่มกำลังใจ เป็นบทเรียนใหม่ๆ หรือกระทั่งสามารถช่วยเปลี่ยนทัศนคติอะไรบางอย่างของสังคมได้ทีละเล็กทีละน้อย อย่างน้อยที่สุดทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการเปิดโลก เราจึงอยากให้หนัง Documentary Club ทำหน้าที่คอยเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างที่เราคิดว่ามันน่าจะถูกเปลี่ยน เพราะโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว
เพราะเวลานี้ถือเป็นจังหวะเหมาะสมที่เราควรขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันด้วยหรือเปล่า
เราอาจจะเห็นว่าการต่อสู้ตอนนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เราคิดว่านี่เป็นช่วงที่มีกระแสตื่นตัวทางการเมืองสูงที่สุด ในยุคเราเป็นวัยรุ่นจนมาถึงวัยทำงาน สังคมไทยเงียบสงบมาก คือเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิง มองไม่เห็นสิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรม อาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนกลบเก่งด้วย (หัวเราะ) แต่ตอนนี้กลบไม่อยู่แล้ว การตื่นตัวของคนหนุ่มสาวทำให้คนรุ่นเราตื่นตัวไปด้วย เราก็เพิ่งได้มาคิดว่าเราใช้ชีวิตมา 40-50 ปี เพื่อที่จะได้พบว่า กูรู้น้อยกว่าเด็ก เพราะเด็กมีความตื่นตัวสูง เราเลยไม่สามารถจะหยุดตัวเองไม่ให้ตื่นตัวตามเขาได้
ดังนั้น ช่วงเวลานี้สำหรับเราในแง่หนึ่งมันเป็นช่วงที่น่าตื่นเต้น เพราะเราเห็นการปะทะกันระหว่างประชาชนที่มีความคิดก้าวหน้ากับรัฐที่ไม่ยอมปรับตัว แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่หนังสารคดีทำงานมากๆ ถ้าดูในบริบทต่างประเทศ หนังสารคดีจะทำงานในช่วงที่คนตื่นตัวทางสังคมและทางการเมืองนี่แหละ เพราะเป็นช่วงที่หนังสารคดีทำหน้าที่ของมันได้อย่างสูงส่ง คือบันทึกความจริง แล้วก็ใช้เทคนิคภาษาของภาพยนตร์กระตุ้นเร้าให้เรารู้สึกไม่เพียงแต่ตื่นเต้น ตกใจกับสิ่งที่หนังเล่า แต่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเราต้องทำอะไรสักอย่าง หนังหลายเรื่องทำหน้าที่แบบนี้
อย่าง เอหิปัสสิโก ถ้ามาฉายเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วตอนเพิ่งสร้างเสร็จอาจจะไม่ฮือฮาแบบนี้ก็ได้ แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ความคิดคนตกผลึกมากพอสมควร เพราะพูดถึงการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่ทำไมรัฐต้องไปย่ำยีเขา เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นมนุษย์ที่มีพื้นที่เหรอ คุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับธรรมกายก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่รัฐทำมันไม่ถูก ชุดความคิดนี้อาจจะไม่มีเมื่อตอนที่หนังเพิ่งทำเสร็จ แต่พอมาฉายตอนนี้ กระบวนการทางสังคมทำให้คนดูมีชุดความคิดนี่แล้ว ดังนั้น เราก็จะดูหนังเรื่องนี้ด้วยสายตาที่แหลมคมขึ้น
ตอนนี้กระบวนการต่อสู้ทางสังคมมันหล่อหลอมเรามาแล้วประมาณหนึ่ง แล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่เป็นเนื้อเดียวกัน เราว่าช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของคนทำงานศิลปะ ตอนนี้ใครที่พูดว่างานศิลปะ เพลง หรือหนัง อย่าเอาเรื่องการเมืองมาปน มันจะตกสมัยมาก
Fact Box
- Documentary Club ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ผ่านการระดมทุนทางอินเทอร์เน็ต และมีผู้ให้ความสนใจจนยอดบริจาคทะลุเป้าภายในเวลาอันรวดเร็ว
- ปัจจุบัน Documentary Club มีบริการ Doc Club on Demand ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถรับชมสารคดีได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทาง documentaryclubthailand.com/doc-club-on-demand/ และเร็วๆ นี้ Documentary Club มีแผนจะเข้าไปใช้พื้นที่เดิมของ Bangkok screening Room เป็นพื้นที่ฉายหนังและเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้