“ฉันจะเปลี่ยนผืนผ้าใบให้เป็นตาข่าย และวาดมันให้คลุมไปทั้งโต๊ะ พื้น รวมทั้งร่างกายของฉัน และหากฉันวาดไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตาข่ายนี้ก็จะขยายไปอย่างไร้จุดสิ้นสุด ฉันจะลืมตัวตนของฉันเมื่อร่างกายถูกห่อหุ้มด้วยตาข่าย ห้อยอยู่บนแขนขาและเสื้อผ้าของฉัน และถมเต็มทั่วทั้งห้อง ฉันตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งและพบว่ารูปตาข่ายที่วาดไปเมื่อวันก่อนคลุมไปถึงหน้าต่าง และเมื่อสัมผัส มันก็ค่อยๆ เลื้อยขึ้นมาตามแขนของฉัน”

บันทึกนี้ปรากฏอยู่ใน Infinity Net อัตชีวประวัติของยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) เธอบรรยายถึงการเห็นภาพหลอนที่เริ่มครั้งแรกเมื่อเธออายุ 10 ขวบ ณ เมืองมัตสึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นแรงขับให้เธอวาดเขียนลวดลายซ้ำไปซ้ำมา เช่น งานศิลปะในช่วงแรก ชื่อ Infinity Net ที่เป็นลวดลายครึ่งวงกลม เขียนบนผืนผ้าใบซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับไม่มีที่สิ้นสุด จนเกิดเป็นตาข่ายขนาดใหญ่ที่มองไกลๆ คล้ายเป็นลายจุด บางชิ้นมีขนาดใหญ่ถึง 10 เมตร

แม้งานที่ผู้เขียนได้สัมผัสด้วยตาไม่ได้ใหญ่โตเต็มผนังแกลเลอรี แต่เมื่อได้พิจารณาใกล้ๆ ก็พบกับความอุตสาหะในระดับไม่ธรรมดาที่ซุกซ่อนอยู่ในปลายพู่กันของศิลปิน มันแม่นยำ ละเอียดรอบคอบ เมื่อเปลี่ยนมุมมองและระยะระหว่างตัวเรากับภาพ ก็จะเห็นความเคลื่อนไหวและลักษณะแปลกประหลาดที่ทำให้มองได้ไม่รู้เบื่อ นั่นยังไม่นับงานในยุคหลังซึ่งเธอยังเขียนลวดลายไม่ต่างจากเดิม แต่โทนสีจัดจ้านที่เลือกใช้ดูจะขับให้ลวดลายบนระนาบสองมิติเลื่อนไหลดึงผลักสายตาประหนึ่งเป็นงานสามมิติ

ตลอดวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ครอบครัวของเธอต่อต้านเส้นทางการเป็นศิลปิน โดยพยายามหว่านล้อมให้เธอเดินบนเส้นทางโดยปกติของหญิงสาวในสมัยนั้น คือเตรียมพร้อมที่จะเป็นแม่บ้านและภรรยา แต่เธอดึงดันจนได้แสดงงานศิลปะหลายครั้งในประเทศญี่ปุ่น ก่อนตัดสินใจย้ายไปนิวยอร์กในปี 1957 เพื่อหาพื้นที่เสรีที่เธอจะได้ทำงานศิลปะอย่างเต็มที่

ชีวิตในนิวยอร์กไม่ง่าย ในฐานะศิลปินหญิงรุ่นใหม่ งานชิ้นสำคัญอย่าง Infinity Net ที่ปัจจุบันมีมูลค่าหลักล้านดอลลาร์ ถูกขายในราคาเพียง 200 ดอลลาร์ บางวันเธอต้องนอนริมถนน หรือกระทั่งคุ้ยถังขยะหาเศษอาหารเพื่อประทังชีพ แต่เธอก็ยังทำงานศิลปะต่อไป ด้วยความฝันว่าวันหนึ่งจะสร้างชื่อให้เป็นที่จดจำทั้งในนิวยอร์กและทั่วโลก และเธอก็ทำได้จริง เพราะเมื่อปี 2014 เธอเป็นศิลปินที่มีผู้เข้าชมผลงานมากที่สุดในโลก

 

ลึงค์ลายจุดของยาโยอิ คุซามะ

เธอเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Financial Times ว่า “ฉันไม่ชอบเซ็กซ์ ฉันหมกมุ่นกับเซ็กซ์”

ความเกลียดและกลัวความสัมพันธ์ทางเพศของเธอสั่งสมมาจากความรวดร้าวสมัยเด็กที่พ่อของเธอมีคนรักหลายคน และบางครั้งแม่ของเธอยังสั่งให้ไปลอบดูพฤติกรรมของพ่อ เธอสื่อแสดงความหวาดกลัวดังกล่าวโดยใช้ทักษะการตัดเย็บทำประติมากรรมที่เป็นรูปแทนของลึงค์จำนวนมาก หลากขนาด หลายรูปร่าง แล้วนำมันมาต่อระยางให้กับของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เก้าอี้โซฟา เตารีด หรือบันได

เธอใช้ศิลปะเพื่อบำบัดความกลัวและภาพหลอนของเธอ จนเกิดเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยลายจุด (ซึ่งเธอก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่าเพราะอะไร เพียงแต่เคยให้สัมภาษณ์ว่ามันคือรูปทรงของดวงอาทิตย์และพระจันทร์) งานศิลปะอีกชิ้นที่ทำให้ชื่อของยาโยอิ คุซามะ เป็นที่รู้จัก คือการใช้กระจกสร้างมิติการเห็นและขยายพื้นที่ให้กว้างไกลไม่มีจุดสิ้นสุด เช่น Infinity Mirrored Room – Phalli’s Field ห้องกระจกที่คุณจะได้ไปยืนอยู่กลางดงลึงค์ลายจุดสีแดงที่สะท้อนกลับไปกลับมาจนไกลสุดตา

แต่ผลงานของเธอไม่ได้หยุดอยู่แค่ภาพวาดหรืองานประติมากรรม หลังทศวรรษ 1960 เธอเริ่มหันมาทำงานด้านแฟชั่น ผนวกกับกระแสฮิปปี้ที่กำลังผลิบานในช่วงสงครามเย็น การส่งเสริมเสรีทางเพศ การต่อต้านสงครามเวียดนาม ตลาดหุ้น รวมถึงการเก็บภาษี

ผลงานแฟชั่นของเธอคือการเปิดเปลือยและเพนต์ตามร่างกายด้วยลาย Polka Dot สีสันสดใส เสื้อผ้าที่มีรูเว้าแหว่งอย่างจงใจที่หน้าอกและก้น ผลงานของเธอจงใจยั่วล้อโลกสมัยใหม่ที่พยายามทำให้ทุกคนเหมือนกัน โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากการผลิตเชิงปริมาณ

แม้แต่วงการศิลปะเอง คุซาะก็ไม่ละเว้นที่จะวิพากษ์ด้วยจิตวิญญาณขบถ ในงานแสดงศิลปะระดับโลก Venice Biennale เมื่อปี 1966 ที่เธอไม่ได้รับเชิญ คุซามะไปปรากฏกายในชุดกิโมโนสีทอง ท่ามกลางลูกบอลสีเงินมันวาวที่สะท้อนได้ไม่ต่างจากกระจก พร้อมปักป้ายว่า ‘​Your Narcissium for Sale’ และขายลูกบอลดังกล่าวในราคา 2 ดอลลาร์ แม้เจ้าหน้าที่ของงานจะแจ้งให้เธอหยุดจำหน่ายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ลูกบอลจำนวนมากก็ยังถูกวางทิ้งไว้ และกลายเป็นผลงานศิลปะ Narcissus Garden (สวนของผู้หลงใหลในตนเอง) ความขบถดังกล่าวทำให้นักวิจารณ์ศิลปะบางคนตั้งข้อกังขากับความเป็นศิลปินของเธอ

แม้ว่าจะใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกานานถึง 16 ปี แต่เธอก็ระลึกเสมอว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่นที่ยังคงสถานะเป็น ‘คนอื่น’ ในกรุงนิวยอร์ก ความแปลกแยกและความโดดเดี่ยวนั้นสะท้อนชัดในผลงานอย่าง Walking Piece ที่เธอสวมกิโมโนสีชมพูสดใสเดินกางร่มประดับด้วยดอกไม้พลาสติกไปทั่วเมืองใหญ่ ปะทะกับสายตาของอเมริกันชนตามท้องถนน

ปี 1973 คุซามะเดินทางกลับญี่ปุ่น แม้รู้ทั้งรู้ว่าที่นั่นเธอคือศิลปินไร้ชื่อ

หญิงไร้ยางอายในญี่ปุ่น

“ฉันอยากคว้าไม้เบสบอลไล่ทุบชายชาวญี่ปุ่นให้สภาพดูไม่ได้ จับทำหมัน แล้วไล่ไปอยู่เกาะ Hachijo ถ้าลองพลิกนิตยสารญี่ปุ่น คุณจะเจอแต่ภาพผู้หญิงเปลือยและบทความเกี่ยวกับเซ็กซ์ แต่มันไม่มีเหตุผลที่จะปฏิวัติเรื่องเพศในประเทศนี้ เพราะทั้งแม่และยายของฉันก็ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มหญิงรักนวลสงวนตัวเพื่อสามี ไม่รู้ว่าอะไรจะโง่เง่ากว่ากัน ระหว่างการยอมจองจำตัวเองอยู่กับความคิดและศีลธรรมคร่ำครึของสังคมเพื่อวันหนึ่งจะได้เป็นเจ้าสาว หรือเก็บกระเป๋าแล้วออกเดินทางเพียงลำพังเพื่อทำสิ่งที่เธอรัก แม้มันจะหมายถึงการต้องขออาหารกิน หรือใช้ชีวิตไร้ที่ซุกหัวนอน”

สามเดือนแรกที่เธอกลับมาถึงญี่ปุ่น ยาโยอิ คุซามะ เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘หญิงไร้ยางอาย’ ที่เปลือยกายตามท้องถนนทั้งในนิวยอร์กและโตเกียว และถูกนักวิจารณ์ศิลปะมองข้าม ญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นยังมองร่างกายของผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ แม้ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นจะเริ่มได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีสิทธิในการเลือกคู่ครองมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่แนวคิดของผู้หญิงในฐานะแม่ละเมียก็ยังฝังรากลึกในสังคม

ปี 1977 เธอเข้าพักในโรงพยาบาลจิตเวช ณ กรุงโตเกียว แต่ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องในสตูดิโอที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล งานในช่วงหลังของเธอกลับไปใช้รูปแบบและลายเส้นที่เธอเคยหลงใหลสมัยเด็ก คือพืชพรรณและรูปทรงคล้ายอะมีบา ในช่วงเวลานี้เองที่เธอผลิตผลงานซึ่งถือเป็นลายเซ็น นั่นคือ ‘ฟักทอง’ โดยให้เหตุผลว่าเพราะรูปร่างของมันดูตลกดี ฟักทองสัมพันธ์กับวัยเด็กของเธออย่างแนบแน่น เนื่องจากครอบครัวของเธอทำธุรกิจเพาะกล้าพันธุ์ เธอจึงแวดล้อมด้วยพืชและเมล็ดพันธุ์มาแต่เยาว์วัย

คุซามะประยุกต์ใช้ห้องกระจกเพื่อสร้างพื้นที่ไร้จุดสิ้นสุดได้อย่างน่าพิศวง เช่น The Spirits of the Pumpkins Descended into the Heaven (2017) และ Infinity Mirrored Room – Gleaming Lights of the Souls (2008) ที่เปลี่ยนพื้นที่แคบๆ ให้กลายเป็นทุ่งฟักทองและจักรวาลแห่งแสงสี เสมือนการเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสส่วนเสี้ยวหนึ่งในโลกภาพหลอนของเธอ

แม้อายุจะขึ้นหลัก 8 แต่เธอยังคงหมกมุ่นกับภาพวาดชุด Eternal Soul ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2009 นำเสนอสีสันจัดจ้านและลายเส้นเฉพาะตัวบนผืนผ้าใบ โดยมีผลงานรวมกันมากกว่า 500 ชิ้น

งานของคุซามะเป็นมากกว่าศิลปะบำบัดความหวาดกลัวและอาการทางจิต สีสันจัดจ้าน ลวดลายซ้ำซ้อน และความขบถ ทำให้เธอเป็นศิลปินอาว็อง-การ์ด (avant-garde) ผู้กรุยทางและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับโลกศิลปะเคียงบ่าเคียงไหล่ (แม้ไม่ค่อยถูกกันนัก) กับศิลปินอย่างแอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) และแคลส์ โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg)

หากใครสนใจชมผลงานของศิลปินหญิงไม่ธรรมดาคนนี้ ขณะนี้ National Gallery Singapore กำลังจัดแสดงนิทรรศการ ‘​YAYOI KUSAMA: Life is the Heart of a Rainbow’ ไปจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2017 บัตรเข้าชมราคาประมาณ 600 บาท ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้จองตั๋วออนไลน์ไปล่วงหน้า เพราะคิวยาวเอาเรื่อง แต่นับว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มเกินคุ้ม เพราะได้ชมผลงานของคุซามะ ยาโยอิ แบบครบรส ตั้งแต่ผลงานในช่วงแรกจนถึงงานชุดล่าสุดของเธอ

 

ขอบคุณ ธิษณา กูลโฆษะ
ข้อมูลประกอบการเขียน
A MILLION DOTS: AN INTERVIEW WITH YAYOI KUSAMA
Deep Surface. Yayoi Kusama in Infinity โดย Marie Lauberg
Kusama’s Object World: Infinity Mirror Room – Phalli’s Field โดย Jo Applin
The Woman behind The Dots: on Yayoi Kusama’s Literary Work โดย Stefan Würrer

DID YOU KNOW?

ยาโยอิ คุซามะ เป็นศิลปินที่เขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เธอเขียนในอัตชีวประวัติของเธอว่าครั้งหนึ่งเธอเคยลังเลว่าควรจะทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัวหรือไม่ เธอเขียนกวีอย่างต่อเนื่อง และตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับชีวิตของเธอในนิวยอร์กและมุมมองต่อศิลปะ เธอมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ 23 เรื่อง และนวนิยายชื่อ Manhattan Suicide Addict ซึ่งเป็นชื่อบทเพลงในนิทรรศการ ‘YAYOI KUSAMA: Life is the Heart of a Rainbow​’

Tags: , ,