ปี 2019 ที่ผ่านมาดูเหมือนเนื้อหาทางศิลปะ-วัฒนธรรมในบ้านเราจะเติบโตขึ้นมาก ไม่ว่าจะงานภาพยนตร์ ละคร-ซีรี่ส์ ดนตรี งานออกแบบ งานศิลปะ จนถึงงานพิพิธภัณฑ์ ซึ่ง The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับคนทำงานในสายต่างๆ เหล่านี้พอสมควร และที่เราหยิบยกมาทั้ง 10 บทสัมภาษณ์นี้ก็ได้สะท้อนภาพรวม แสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับพื้นที่ทางศิลปะ-วัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งน่าสนใจที่หลายเรื่องราวล้วนมี ‘การเมือง’ มาเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ทีวีไทยห่วงเยาวชนมากเกินไป จนไม่รู้ว่าตอนนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว เราว่าตอนนี้เด็กไทยเก่งในการตั้งคำถาม อ่านกันเยอะขึ้น เปิดโลกเยอะขึ้น เขาหาข้อมูล หาเหตุผลรองรับในสิ่งที่เขาเสพกันได้มากขึ้น เราว่าเด็กไทยพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะมาคอยจำกัดว่าเขาต้องดูแค่เท่านี้” ทิชากร ภูเขาทอง

ทิชากร ภูเขาทอง – ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Trasher ผู้กำกับซีรี่ส์ 3 Will Be Free จากบทสัมภาษณ์ : เพศที่ลื่นไหล บราวนี่ ทรีซัม ฯลฯ คุยกับ โจโจ้ Trasher ถึงสารพัดเสรีภาพใน 3 Will Be Free

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/jojo-tichakorn-phukhaothong-interview/  

“คนเวียดนามบอกว่ารู้จักกะเทยเป็นครั้งแรกจากการดูละครไทย มันเป็นความเข้าใจเรื่องเพศแบบใหม่ที่ส่งผ่านละครไทย คนแก่ๆ ที่นั่นบางคนไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำว่ากะเทยเป็นยังไง การส่งออกละครไทยไปต่างประเทศจึงเป็นเรื่องของการนำพาความแตกต่างทางวัฒนธรรมเข้าไปด้วย” ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร

ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร – ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากบทสัมภาษณ์ : ละครไทยไปได้ดีไหมในสากล? คุยกับ ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร ผู้ศึกษาละครไทยในตลาดต่างประเทศ

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/amporn-jirattikorn-interview/

“คนทำหนังสั้นมักจะทำประเด็นการเมืองมากกว่าคนทำหนังยาว เราว่านี่เป็นยุคทองของหนังสั้น คนมีอิสระพอสมควร มีพื้นที่ มีประกวด มีงานให้จัดฉายจำนวนมาก เพียงแต่ว่าสเต็ปหลังจากนี้ต่างหาก ที่คุณจะได้ทดสอบตัวเองว่าจะเปลี่ยนมาเป็นคนทำหนังยาวได้ไหม และขณะเดียวกัน มันจะมีพื้นที่ให้เขามากพอหรือเปล่า” พิมพกา โตวิระ

พิมพกา โตวิระ – โปรแกรมมิงไดเร็กเตอร์ เทศกาล Bangkok Asian Film Festival ผู้กำกับภาพยนตร์ มหาสมุทรและสุสาน จากบทสัมภาษณ์ : คุยกับผู้จัด Roundtable กิจกรรมเพื่อเชื่อมหนังแมส-อินดี้ / รุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ / ไทย-อาเซียน

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/roundtable-arthit-pimpaka/

“ถ้าอยากได้หนังแบบนี้อีก เราก็ต้องออกแรงกันหน่อย ให้หนังมันมีที่ของมัน แล้วในอนาคตเราอาจจะได้ดูจักรวาลผีไทย เรามีวัตถุดิบเยอะนะ ตัวละครเราน่าหยิบมาทำให้ร่วมสมัยอีกเยอะมาก ถ้าหนังเรื่องนี้ทำสำเร็จในระดับหนึ่ง ผมว่าเรื่องราวอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นไทย ก็จะได้ถูกนำมาสร้างมากขึ้น” สิทธิศิริ มงคลศิริ

สิทธิศิริ มงคลศิริ – ผู้กำกับภาพยนตร์ แสงกระสือ จากบทสัมภาษณ์ : สิทธิศิริ มงคลศิริ: เพราะกระสือยังวัยรุ่น ‘แสงกระสือ’ จึงงดงาม

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/sitisiri-mongkolsiri-interview/

“ผมไม่เคยมีคำว่า ‘ไม่พิมพ์’ สำหรับผม คุณธรรมของโรงพิมพ์คือการพิมพ์งานให้มีคุณภาพที่สุด ส่วนเรื่องการคัดสรรเนื้อหาไม่ใช่หน้าที่เรา ผมพิมพ์งานการเมืองของทุกฝ่าย ผมพิมพ์หนังสือโรแมนซ์ พิมพ์วรรณกรรม หนังสือ intellectual นิยายวายนี่ผมพิมพ์เยอะมากเลย พิมพ์ได้หมด แต่ผมจะพิมพ์ออกมาให้มันสวยที่สุด” ชัยพร อินทุวิศาลกุล

ชัยพร อินทุวิศาลกุล เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ จากบทสัมภาษณ์ : An Experiment Of Faith ชัยพร อินทุวิศาลกุล

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/an-experiment-of-faith-chaiyaporn-intuwisankul/

“เราคิดไว้ว่า คนเข้ามาดูแล้วปุ๊บ เขาต้องเหวอแน่นอน เขาจะต้องรู้สึกว่า “ไอ้นี่มันคืออะไร” หรือ “ไอ้นี่มันเป็นศิลปะได้ยังไง” นี่เป็นคำถามที่เราได้ยินบ่อยๆ แต่เราก็ไม่อยากเขียน text ที่ให้คนอ่านแล้วก็เชื่อมโยงกับงาน แล้วก็เข้าใจ ซึ่งกลายเป็นว่าคนดูมีหน้าที่แค่เป็นผู้รับ มันไม่ได้มีส่วนกระตุ้นให้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็นมากนัก” ธนาวิ โชติประดิษฐ 

ธนาวิ โชติประดิษฐ – อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จากบทสัมภาษณ์ : คุยกับศิลปินและคิวเรเตอร์: ปรัชญา-ธนาวิ กับงานศิลปะที่เรียกร้องการคิด

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/this-page-is-intentionally-left-blank-2/

“เคยมีที่เขามองว่าเราดูเหมือนลูกคุณหนู เขาไม่คิดว่าเราเหมาะสมจะพูดเรื่องทุนนิยมและการกดขี่ แต่ทำไมเราจะพูดไม่ได้ล่ะ ต่อให้เราไม่มีประสบการณ์ตรง แต่เรารู้สึกได้ เราพบว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา เราก็ควรพูดหรือทำอะไรสักอย่างไม่ใช่หรือ” กวิตา วัฒนะชยังกูร

กวิตา วัฒนะชยังกูร – ศิลปินวิดีโออาร์ต, ศิลปินแสดงสด จากบทสัมภาษณ์ : “เราเหมือนแพ็คแมนที่วิ่งไล่งับอย่างไม่สิ้นสุด” คุยกับ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินผู้ใช้ร่างกายวิพากษ์บริโภคนิยม

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/kawita-vattanachayangkul-interview/

“ผมสนใจอีสานไพรด์ สิ่งที่ทำให้ความเป็นท้องถิ่นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง มันมาจากความตระหนัก การตื่นขึ้นทางการเมือง ความเข้าใจที่ว่าวัฒนธรรมของคุณเองก็ดีไม่แพ้วัฒนธรรมของคนอื่น ประเทศไทยควรเชิดชูความหลากหลาย ไม่ใช่บังคับให้ประเทศมีภาษาเดียว ทำอะไรแบบเดียว” จอห์น คลูลีย์

จอห์น คลูลีย์ (John Clewley) นักเขียน ช่างภาพ และคอลัมนิสต์สายดนตรี จากบทสัมภาษณ์ : John Clewley นักเขียนชาวอังกฤษผู้หลงใหลใน world music และคอนเสิร์ตลูกทุ่งที่อนุสาวรีย์ชัยฯ

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/john-clewley-interview/

“ชิ้นงานที่แสดงอัตลักษณ์ของชนเผ่า ติดตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในไทเปเลย เรามองว่านี่คือความก้าวหน้าของศิลปะ ความก้าวหน้าของไต้หวัน ที่เขาคิดว่าใครบ้างคือส่วนหนึ่งของชาติเขา แล้วเขาก็ให้ค่ากับงานของคนที่เป็นคนพื้นเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งเรายังไม่เห็นสิ่งนี้ในไทย” ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร

ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร – ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ แห่งมิวเซียมสยาม จากบทสัมภาษณ์ : มองความสัมพันธ์ของรัฐกับชนเผ่าในไต้หวัน (ที่แนบแน่นกว่าไทย) ผ่านนิทรรศการ ‘สักสี สักศรี’

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/taiwan-state-and-ethnic-group-through-tattoo-exhibition/

“ผมว่าเกิดเป็นคนไทยโชคดี เพราะเมืองนอกพัฒนาไปหมดแล้ว เมืองไทยกำลังพัฒนา ดังนั้นอาชีพเราจึงมีทางไป เราก็มั่นใจว่าเราต้องทำในสิ่งที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ในไทย” บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ 

บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกเจ้าของบูรณ์ดีไซน์ ที่เน้นการออกแบบที่กลับสู่ธรรมชาติ จากบทสัมภาษณ์ : ‘บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ “สองอย่างที่จะแพงในอนาคต คือธรรมชาติ และวัฒนธรรม”’

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://themomentum.co/boonlert-hemvijitraphan-interview/