ต้องยอมรับว่าซีรี่ส์ไทย ณ ตอนนี้ มีผู้ผลิตคอนเทนต์หน้าใหม่ที่มากับรสชาติหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีเนื้อหาไม่กี่แบบที่กลายเป็นภาพจำ อย่างซีรี่ส์บอยเลิฟสายจิ้น ซีรี่ส์ใสใสวัยรุ่นวัยเรียน หรือไม่ก็ซีรี่ส์แย่งผัวแย่งเมียร้ายๆ แรงๆ ขณะที่ซีรี่ส์ติดเทรนด์เหล่านี้กำลังครองตลาด มีอยู่เรื่องหนึ่งที่โดดเด่นออกมาด้วยฟอร์มของเรื่องที่ออกจะคัลต์ๆ และการพูดเรื่องเสรีภาพกับทางเลือกของผู้คนได้อย่างเกินคาด โดยแทบไม่ต้องยัดถ้อยคำลิเบอรัลลงไปในบทพูดเลยสักคำเดียว 

เรากำลังพูดถึงซีรี่ส์ 3 Will Be Free สามเราต้องรอด ซึ่งออกอากาศทางช่อง GMM TV ที่มี โจโจ้—ทิชากร ภูเขาทอง แห่งทีม Trasher เป็นผู้กำกับ ซีรี่ส์ดำเนินไปด้วยเรื่องของหมิว สาวบาร์อะโกโก้ (มายด์ ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล)  นีโอ หนุ่มบาร์โฮสต์ (จอส เวอาห์ แสงเงิน) และ ชิน เกย์หนุ่มลูกเจ้าพ่อ (เต ตะวัน วิหครัตน์) ที่ต้องจับพลัดจับผลูหนีตายไปด้วยกัน ขณะที่ฝ่ายผู้ล่าก็เป็นกะเทยผู้เงียบขรึมที่ต้องเสียคนรักที่เป็นมือปืน กับมือปืนรุ่นน้องอีกคนที่ต้องเสียพี่ที่เคารพไป

หลายคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับความสนุกสุดเหวี่ยงในปาร์ตี้ของแทรชเชอร์ และหลายคนก็น่าจะเคยได้ยินความน่าสนใจของผลงานซีรี่ส์ที่ผ่านมาของทีมนี้อย่าง Gay OK Bangkok หรือ Friend Zone เอาให้ชัด และ 3 Will Be Free ก็เป็นผลงานล่าสุดของแทรชเชอร์ ซึ่งโจโจ้บอกกับเราว่าต่อจากนี้จะเริ่มโฟกัสที่งานซีรี่ส์อย่างจริงจังมากขึ้น และเมื่อได้ดูผลงานล่าสุดนี้จนเก็บครบทุกตอน เราพูดได้ว่านี่เป็นก้าวเดินที่น่าสนใจและอยากชวนให้ทุกคนจับตาผลงานของทีมนี้ต่อไปเรื่อยๆ 

ครั้งแรกที่เราเห็นซีรี่ส์เรื่องนี้คือฉากที่ถูกตัดมาโปรโมต นั่นคือฉากที่ พล (แม็กซ์ เจนมานะ) ผู้เป็นมือปืนของเจ้าพ่อ ปกป้อง แมร์ (เจนนี่ ปาหนัน) กะเทยคนรักที่พยายามไม่เผชิญหน้าเวลามีใครมาบุลลี่ ฉากนี้นอกจากจะเรียกเสียงกรี๊ดจากเพื่อนสาวเพื่อนเทยจำนวนมาก มันยังดึงดูดเราด้วยคาแรกเตอร์ของแมร์ ที่แทบไม่ค่อยเห็นทั้งจากบทบาทของเจนนี่ ปาหนัน จนถึงจากสื่อบันเทิงอื่นๆ ในไทย นั่นคือกะเทยนิ่งขรึม ไม่พุ่งชนด้วยความรุนแรง ไม่ต้องตลกหรือฟูมฟาย ไม่ต้องมีจุดจบที่น่าหดหู่ ทั้งยังมีคนรักที่รักเธอในสิ่งที่เธอเป็นจริงๆ 

และเมื่อยิ่งดูไปก็ยิ่งพบว่า ยังมีอีกหลายฉากที่เป็นเฉดใหม่ๆ ในซีรี่ส์บ้านเรา ไม่ว่าจะฉากจูบกันสามคน การกินบราวนี่ในปาร์ตี้ที่นำไปสู่การทรีซัมโดยยินยอมพร้อมใจ หรือการสร้างตัวละครชายที่พร้อมจะเปิดใจมีความสัมพันธ์กับทุกเพศแถมยังดูมีเสน่ห์เหลือล้น ตัวละครเกย์ที่ไร้เดียงสาเรื่องเซ็กซ์ จนถึงตัวละครหญิงที่สู้ไม่ถอยและไม่ยอมให้ใครมาจำกัดเสรีภาพในร่างกายตนเอง ฯลฯ ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดล้วนเป็นฉากที่มีที่มาที่ไป ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อเสนอภาพแรงๆ อย่างเดียว แต่มันเป็นการเสนอภาพให้คนดูได้เห็นว่าเราเองมีทางเลือกในเพศหรือวิธีใช้ชีวิตของเราอย่างไรบ้าง และแน่ละ ใครจะพูดถึงมันได้ดีไปกว่าผู้กำกับอย่างโจโจ้ ทิชากร 

ซีรี่ส์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร

3 Will Be Free มันเกิดจากความคิดถึงสิ่งที่เราเคยเสพมาตอนเด็กๆ พวกหนังโร้ดมูฟวี่ หนังแอคชั่น หนังไล่ล่า อะไรแบบนี้ เราเลยอยากลองดู ลองออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองที่เคยทำเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องดราม่ามาตลอด ก็เลยลองเอาโปรเจกต์นี้ไปเสนอพี่ถา (สถาพร พานิชรักษาพงศ์) ผู้บริหาร GMM TV ซึ่งพอได้ฟังพล็อตแล้วพี่ถาก็สนใจ จีเอ็มเอ็มทีวีเองก็ยังไม่เคยมีงานแนวนี้ เลยน่าจะดีที่เราได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ไปด้วยกัน 

น่าสนใจที่เราได้เห็นตัวละครแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในซีรี่ส์เรื่องอื่นๆ 

เราอยากเป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อย ที่มักจะไม่ค่อยมีเสียง หรือไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอในสื่อไทยเท่าไร และด้วยพล็อตของเรื่อง มันเปิดโอกาสที่เราจะพาไปสำรวจชีวิตของคนกลุ่มน้อยได้เยอะแยะมากมาย ทั้งคนทำงานกลางคืน ผู้หญิงข้ามเพศ หรือมือปืน ที่เราไม่ค่อยได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของพวกเขาในสื่อไทย รวมถึงการได้พลิกภาพใหม่ๆ ของสิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ อย่างเช่นเราจะเห็นเจนนี่ในบทบาทคอมเมเดี้ยน แต่เราไม่ค่อยได้เห็นเจนนี่ในฐานะนักแสดงจริงๆ เขาได้เปลี่ยนมาเล่นซีเรียสจริงจัง หรือน้องมายด์ ก็มักจะมีภาพลักษณ์ใสๆ มักจะได้รับบทผู้หญิงแบ๊วๆ หวานๆ พอมาเรื่องนี้เราก็อยากเปลี่ยน perception ของทั้งนักแสดงเองและตัวละคร มายด์ก็จะมาลุคเปรี้ยว ทำงานกลางคืน เป็นผู้จัดการบาร์อะโกโก้

ซึ่งมายด์เล่นดีมาก เป็นบทที่น่าประทับใจมากๆ 

ใช่ เราว่าน้องมายด์เป็นนักแสดงที่ผู้กำกับหลายคนอยากทำงานด้วย เพราะเวลาเล่นแล้วมายด์กลายเป็นตัวละครนั้น น้องสามารถให้ในสิ่งที่ผู้กำกับอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลิมิตของตัวละครนี้ไปได้ถึงไหน แต่นักแสดงที่ทำการบ้านมาดี เขาสามารถพาตัวละครนี้ไปได้มากกว่าที่เราเขียนไว้ หรือบางทีเราก็มีความห่วงว่าน้องเป็นผู้หญิง บางอย่างมันจะกระทบกับภาพลักษณ์หรือเปล่า ซึ่งมายด์ไม่เคยมีลิมิตตรงนี้ มายด์บอกว่าพี่ไม่ต้องห่วงมายด์ อยากให้ทำอะไรบอกเลย หนูทำ มายด์นำเสนอด้วยซ้ำว่าเราจะต้องไปมากกว่านั้นนะพี่ เลยกลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้จากนักแสดงด้วย 

ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม ว่าฉากไหนที่มายด์เสนอมาว่าตัวละครต้องไปถึงจุดนี้

มันจะมีฉากที่จูบกันสามคนภายใต้ฤทธิ์กัญชา จริงๆ ในบทมันจะมีแค่ชินจูบหมิวเสร็จ แล้วชินก็หันไปจูบนีโอ บทเพียงแต่จะบอกว่าตัวละครนี้มันถูกหลอกล่อด้วยความสัมพันธ์จากทั้งชายและหญิง แต่มายด์บอกว่า เฮ้ยพี่ มาถึงจุดนี้แล้ว คนอย่างอีหมิวมันต้องจูบนีโอต่อแน่นอน มันยิ่งทำให้เห็นว่าสามคนนี้มันผูกพันกันระดับนั้นแล้ว แล้วพอสุดท้ายมันออกมาแล้วมันดีว่ะ เราไม่รู้นะ แต่สำหรับเราเราไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นเรื่อง sexual คนดูก็คงไม่ได้ดูเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่มันอยู่ในจุดที่เหมาะ แล้วมันก็พาไปถึงระดับความสัมพันธ์ของตัวละครที่หนีตายมาด้วยกัน

เราโดนวิจารณ์กับฉากนี้มาก ว่าขายเซ็กซ์ ขายความแรง อะไรแบบนี้ แต่ฉากนี้มันไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่มันถูก lead มาตั้งแต่ต้นเพื่อมาถึงตรงนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อให้คนจิ้นหรือเซอร์วิสใดๆ แต่นี่เรากำลังเล่าเรื่องของคนสามคนที่ถูกสถานการณ์พาไปให้เขามาอยู่ด้วยกัน แล้วเราก็ตั้งใจเขียนเพื่อเสนอมุมมองอีกแบบหนึ่ง อย่างที่ผ่านมาคนดูอาจเห็นว่าเกย์น่าจะเป็นคาแรกเตอร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่ตัวละครของเต ตะวัน ก็คือชินเนี่ย มันถูกหลอกล่อด้วยผู้ชาย ด้วยผู้หญิง มากกว่า 

จริงๆ ชินเป็นเหมือนตัวละครที่แทนคนดู ที่ถูกต้อนเข้ามาอยู่ในโลกของความลื่นไหลทางเพศ

ดูเหมือนว่าคุณได้ใส่ตัวละครชายรักชายไว้ในหลายเฉดทีเดียว

แต่ละตอนของซีรี่ส์มันถูกทำเพื่อ tribute ให้กับวัยเด็กของเราด้วยส่วนหนึ่ง อย่างตอนที่ 5 ที่เป็นเรื่องนีโอกับชิน เรานึกถึงหนังเรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง Trick (1999) เป็นหนังเกย์จากม้วนวิดีโอเรื่องแรกที่เราเคยดู และจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่เจอกับหนุ่มเต้นอะโกโก้ แล้วพยายามหาที่ที่จะมีอะไรกันในคืนนั้น แต่สุดท้ายมันก็จบลงที่เขากลายเป็นจูบแรกและประทับใจ มันเป็นเรื่องโรแมนติกเล็กๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าจุดเปลี่ยนของชิน มันให้ความหวังกับตัวละคร แล้วก็กับเราด้วย ตอนเด็กกว่านี้เราก็เคยเป็นแบบชิน เป็นเกย์อินโนเซนส์คนหนึ่ง ที่หลงรักผู้ชายที่ทำดีกับเราแค่วันเดียวแล้วก็รู้สึกว่าเขาเป็นโลกทั้งใบ แล้วเราก็ค่อยๆ สำรวจเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับชิน

หรือเวลาที่เราย้อนกลับไปมองว่าตั้งแต่เด็กเราเห็นตัวละครกะเทย หรือทรานส์เจนเดอร์ แบบไหนบ้างในทีวีไทย ก็อย่างที่หลายคนรู้กัน เขามักจะเป็นตัวตลก หรือไม่ก็มีชีวิตเศร้า อกหัก เพราะเขาไม่ใช่ผู้หญิง ดังนั้นเรารู้สึกว่า 3 Will Be Free จะต้องเสนอภาพอื่นๆ 

สมมติว่ามีเกย์เด็กคนหนึ่งที่ได้เห็นคาแรกเตอร์ของเจนนี่เป็นตัวแรกๆ เขาจะต้องไม่เห็นว่าเขาเศร้าเพราะถูกหักอก แต่ตัวละครตัวนี้ เขาเศร้าเพราะชีวิตที่เขาต้องสู้มันเศร้า และแมร์มันเป็นคน มีเฉดสี มีเฉดความรู้สึก เราไม่ให้ตัวละครนี้หยุดนิ่ง จะต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การถูกสังคมดูถูก ถูกล้อ จนถึงการตัดสินใจแปลงเพศที่เราจะพาไปสำรวจจิตใจของเขา ว่าการแปลงเพศของสาวข้ามเพศมันเป็นการทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้เป็นการทำเพื่อเอาใจผู้ชาย เรารู้สึกว่าตัวละครของเราทุกตัวรักตัวเอง 

ขณะเดียวกันเราก็สร้างตัวละครอย่าง พล ขึ้นมา ซึ่งเรามักไม่ค่อยได้เห็นตัวละครผู้ชายที่รักกะเทยจริงๆ ทั้งที่ในชีวิตจริง เราเห็นเพื่อนเราตั้งหลายคน หรือกะเทยเยอะแยะมากมายที่มีผู้ชายที่รักเขาอย่างที่เขาเป็น เราเลยอยากสร้างตัวละครพลขึ้นมาเป็นความหวัง อาจจะมีคนที่เพ้อฝันก็ได้ แต่นั่นก็ถือเป็นความหวัง แล้วแม็กซ์ก็เล่นได้ดีมาก เคลิ้มมาก 

สมมติว่ามีเกย์เด็กคนหนึ่งที่ได้เห็นคาแรกเตอร์ของเจนนี่เป็นตัวแรกๆ เขาจะต้องไม่เห็นว่าเขาเศร้าเพราะถูกหักอก แต่ตัวละครตัวนี้ เขาเศร้าเพราะชีวิตที่เขาต้องสู้มันเศร้า และแมร์มันเป็นคน มีเฉดสี มีเฉดความรู้สึก เราไม่ให้ตัวละครนี้หยุดนิ่ง จะต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ

คุณออกแบบตัวละครหญิงในซีรี่ส์ที่มีกลิ่นอายวายๆ อย่างไร

เราคิดมาตั้งแต่แรก ว่าสุดท้ายแล้วด้วยกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ คนก็จะโฟกัสที่คู่ นีโอ-ชิน หรือคู่ชาย-ชายอยู่แล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตัวละครผู้หญิงไม่ถูกลืม เพราะนี่เป็นปัญหาที่เรามักจะคิดเสมอเวลาดูซีรี่ส์วาย คือตัวละครผู้หญิงมักจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอุปสรรคของความรักของผู้ชายสองคน หลายครั้งตัวละครผู้หญิงในซีรี่ส์แนวนี้ก็มักจะร้ายโดยไม่มีสาเหตุ คนดูก็มักจะรู้สึกว่า โอ๊ย อีชะนีออกไป อะไรแบบนี้ เราเลยตั้งใจว่าเราจะต้องสร้างตัวละครหมิวให้คนดูรัก และเธอจะต้องเป็นผู้หญิงที่ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ชาย เธอจะต้องเข้มแข็ง ต้องสู้กับตัวเอง

ขณะที่ตัวละครแบบนีโอที่มักจะถูกปั้นให้เป็นฮีโร่ แต่ในครึ่งแรกมันกลับเป็นตัวละครที่ต้องให้คนอื่นมาช่วยตลอดเวลา เราบอกน้องจอสตั้งแต่แรกเลยว่าถึงตัวนี้จะเป็นพระเอกแต่มันจะไม่ใช่แบบที่คิดนะ คนดูก็จะรู้สึกว่าผู้ชายอะไรวะน่ารำคาญ เรื่องเกิดเพราะมึง อะไรแบบนี้ ซึ่งนี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องการ เราว่าผู้ชายในละครไทยมี privilage ในสายตาคนดูเยอะเกินไปแล้ว เราอยากเห็นด้านอ่อนแอ ด้านอื่นๆ บ้าง หรือกระทั่งความ sexual ของตัวละครนีโอเองที่มันกลายเป็นปัญหา รวมถึงตัวละครชายอื่นๆ ตัวละครที่อาจจะ toxic มันก็จะมีจุดจบจากความ toxic ของมัน

ขณะที่ผู้หญิงที่มักจะกลายเป็นเหยื่อ หรือเป็น helpless character แต่อีหมิวคือมันไม่เคยเรียกร้องความช่วยเหลือจากผู้ชายเลย ช่วยผู้ชายได้อีกต่างหาก บุกป่าฝ่าดง แล้วเข้มแข็ง ไม่ยอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาทำลายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน หรืออะไรก็ตาม และตัวละครหมิวจะไม่ยอมให้ตัวเองถูกจำกัดอยู่ด้วยคำว่าเมีย คำว่าแม่ แบบที่ผู้หญิงในละครไทยมักถูกกำหนดให้เป็น เราว่าหมิวมันมีความเป็นเฟมินิสต์ประมาณหนึ่งเลย มันมีสิทธิเหนือร่างกายตัวเองโดยที่ไม่ต้องมาเป็นลิเบอรัลหรือเรียกร้องสิทธิอะไรขนาดนั้นเลย 

เรารักตัวละครหมิวมาก และดีใจที่ทำให้คนดูรักมันได้ด้วย ซึ่งก็ต้องขอบคุณการแสดงของมายด์ เราว่ามายด์กับหมิวมีความคล้ายกันในแง่ที่ห้าวและกล้าเผชิญกับสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ ซึ่งพอย้อนมานึกถึงตัวเอง เราจะมีตัวละครผู้หญิงในหนังเกย์ที่เรารักมันได้ไปจนจบโดยที่ไม่มีความรู้สึกว่า ‘นี่ผู้หญิ้งผู้หญิง’ มันมีน้อยมาก นึกเร็วๆ ก็จะมีตัวละครผู้หญิงใน รักแห่งสยาม เนี่ย เป็นตัวละครผู้หญิงที่ถูกใส่ใจ เขามีชีวิต เขาไม่ได้ถูกนำมาขับเคลื่อนพล็อตอย่างเดียว เราอยากให้หมิวเป็นอย่างนั้น

ตัวละครหมิวจะไม่ยอมให้ตัวเองถูกจำกัดอยู่ด้วยคำว่าเมีย คำว่าแม่ แบบนี้ผู้หญิงในละครไทยมักถูกกำหนดให้เป็น เราว่าหมิวมันมีความเป็นเฟมินิสต์ประมาณหนึ่งเลย มันมีสิทธิเหนือร่างกายตัวเองโดยที่ไม่ต้องมาเป็นลิเบอรัลหรือเรียกร้องสิทธิอะไรขนาดนั้นเลย

สังเกตว่า ก็ยังคงมีฉากชวนจิ้นอยู่ดี 

ในระดับหนึ่งเราต้องยอมรับว่ากลุ่มคนดูของ GMM TV ก็ยังต้องการฉากแบบนี้ มันก็ยังคงมีโมเมนต์ชาย-ชาย แต่สำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นฉากที่เราทำเพราะเซอร์วิสนะ แต่เราทำเพราะเรื่องมันพาไปมากกว่า ถึงจะเห็นว่ามันมีอีพีที่ 5 ที่เราพูดถึงคู่ชินกับนีโอไปเลย เพราะเราต้องการให้เห็นว่าชินเนี่ย ที่มันมีชีวิตทุกอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว มันยอมหนีไปกับคนคนนี้ เพราะมันรู้สึกว่าในที่สุดก็มีคนที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ มีคนที่เป็นความหวังทำให้มันยอมรับในเพศสภาพของมัน

ตัวละครนีโอมีความสัมพันธ์กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง เราพอจะนิยามเพศสภาพของเขาได้ไหม

คำว่าไบเซ็กชวลไม่ได้ถูกใช้ในเรื่องนี้เลย เรารู้สึกว่าตัวละครนีโอมันมีเสน่ห์ทางเพศที่แผ่ซ่านไปกับทุกคน แล้วเราก็ชอบการถกเถียงมาก คนดูก็จะมาถกกันว่านีโอมันเป็นไบเซ็กชวลหรือแพนเซ็กชวล (pansexual) ซึ่งมันคือการมีความรู้สึกกับใครก็ได้ เพศไหนก็ได้ ไม่ว่าจะผู้ชาย ผู้หญิง กะเทย เกย์ ทอม ดี้ หรืออะไรก็ตาม ถ้าคนคนนั้นทำให้เรารู้สึกดี ดังนั้นตัวละครนี้เลยก้ำกึ่งมาก เราชอบมากที่คนดูเกิดการถกเถียงกัน โดยที่นีโอก็ไม่ได้ให้คำตอบ ตอนที่ชินถาม นีโอก็แค่ตอบว่ามันไม่รู้ และมันก็ไม่จำเป็นต้องเลือก 

ประเด็นไหนที่ explore ยากที่สุดในการทำซีรี่ส์เรื่องนี้

เราว่าเป็นเรื่องความรักแบบเราสามคนนี่แหละ สำหรับเราเองเราสนับสนุน ทุกคนมีอิสระในร่างกาย ในหัวใจของตัวเอง และความสัมพันธ์ของคนก็ไม่ควรถูกจำกัดด้วยกฎหมาย หรือจารีตประเพณีอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะในประเทศไทยน่ะนะ แล้วสังคมก็มักจะแปะป้าย ว่าความสัมพันธ์ที่ถูกต้องมันต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ซึ่งความคิดเราเราอยากปล่อยให้ทุกคนเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อถามเราเองว่า แล้วถ้าให้ฉันอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นล่ะ? เราก็คงทำไม่ได้ ดังนั้นมันเลยเกิดการเถียงกันในจิตใจ ว่าเฮ้ย ในฐานะคนเขียน มันจะเวิร์กจริงไหม มันไปได้จริงเหรอ กับความสัมพันธ์แบบนี้ 

เราก็เลยต้องหาข้อมูลจากคนอื่นๆ ที่เรารู้จัก เราอ่าน เราไปสอบถาม แล้วก็พบว่าเฮ้ย มันมีคนที่อยู่กันแบบนี้ หรือเริ่มต้นกันแบบนี้ เขาทำอย่างไรให้มันเวิร์ก แล้วมันก็เวิร์กสำหรับเขาจริงๆ มันอาจจะไม่เวิร์กสำหรับคนทั้งหมด แต่คนที่เขาทำได้เราก็ควรจะให้โอกาสเขา ไม่ใช่ไปตัดสินว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันผิด ทุกคนมีเหตุผล มีเบื้องลึกเบื้องหลังไม่เหมือนกัน

เรื่องความรักแบบเราสามคน สำหรับเราเองเราสนับสนุน ทุกคนมีอิสระในร่างกาย ในหัวใจของตัวเอง และความสัมพันธ์ของคนก็ไม่ควรถูกจำกัดด้วยกฎหมาย หรือจารีตประเพณีอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะในประเทศไทย

ด้วยประเด็นต่างๆ ที่คุณใส่ลงไปในตัวบท เท่าที่ดูฟีดแบ็ก คิดว่าคนดูชาวไทยพร้อมรับเนื้อหาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

50-50 เพราะเราก็โดนคอมเมนต์แรงๆ เหมือนกันว่า โหย ผู้กำกับมันเก็บกด มันเอาความต้องการของตัวเองมาใส่ในซีรี่ส์ หรือแบบ ทีวีไทยมันต้องขนาดนี้แล้วเหรอ บางทีที่เห็นในทวิตเตอร์เขาก็แคปเอาฉากฉากหนึ่งไปแล้ววิจารณ์กัน ซึ่งบางทีเขายังไม่ได้ดูมันทั้งเรื่องเลย ทีนี้เราคิดว่าอยากให้ลองไปดูซีรี่ส์ของประเทศอื่น ฝรั่ง เกาหลี เขาไปกันถึงไหนแล้ว คือด้วย genre ของเรื่องนี้ เราว่ามันเปิดโอกาสที่จะให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาได้ แล้วเอาเข้าจริง โลกที่เราสร้างขึ้นมาสำหรับ 3 Will Be Free มันเป็นโลกแฟนตาซีประมาณหนึ่งเลยนะ มันเลยพาตัวละครไปถึงจุดนั้นแล้ว ถ้าเป็นโลกจริง อีพวกนี้ตายไปตั้งแต่อีพีแรกแล้ว ซึ่งในโลกที่สร้างขึ้นในซีรี่ส์ เราไม่รู้สึกว่าได้ทำอะไรเกินเลย และเรตของมันก็ 18+ นะ มันต้องใช้วิจารณญาณในการชม 

เราพูดจริงๆ ว่า ทีวีไทยห่วงเยาวชนมากเกินไป จนไม่รู้แล้วว่าตอนนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว เราว่าตอนนี้เด็กไทยเก่งในการตั้งคำถามมากขึ้น อ่านกันเยอะขึ้น เปิดโลกเยอะขึ้น เขาหาข้อมูล หาเหตุผลรองรับในสิ่งที่เขาเสพกันได้มากขึ้น เราว่าเด็กไทยพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะคอยจำกัด ว่าเขาต้องดูเท่านี้ ต้องเลือกให้เขา 

สื่อที่ดีสำหรับเรา ควรเป็นสื่อที่หลากหลาย เราเกลียดมากเลยกับคำพูดที่บอกว่าจะต้องเป็นสื่อนำสังคม จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น เราไม่คิดว่าแย่ ที่ไทยยังต้องมีละครตบตีแย่งผัวแย่งเมีย คุณต้องยอมรับว่านั่นก็คือสังคมไทย และคนกลุ่มหนึ่งเขาก็แฮปปี้กับเนื้อหาแบบนั้น เขาชอบดูแบบนั้น เขาต้องการแค่นั้น คนที่ไม่ชอบก็ต้องไปหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งจริงๆ คนผลิตเขาก็ผลิตมาเยอะแยะเลยนะ มีหลายเรื่องเลยที่คุณภาพดีๆ หลายเรื่องที่ทำออกมาได้ดีมากๆ อย่าง เลือดข้นคนจาง, กาหลมหรทึก, วัยแสบสาแหรกขาด, แฮปปี้เบิร์ธเดย์ ของ GMM TV ฯลฯ แต่ปัญหาคือบางเรื่องคนก็ไม่ดูกัน แล้วพอเรตติ้งไม่ดี คุณจะให้ผู้จัดฯ เขาทำต่อไปได้อย่างไร สุดท้ายคนดูกลุ่มใหญ่ก็ยังดูตบตีแย่งชิงอยู่ดี แล้วพอคนทำอะไรใหม่ๆ มาให้ ก็มีคนมาด่า

เรายังเชื่อว่ามันยังมีทุกอย่างสำหรับทุกคน สื่อหลายเจ้าก็พยายามจะทำอะไรใหม่ขึ้นมา ที่คุณด่ากันว่าละครไทยมันไม่ไปไหน เพราะคุณเห็นแค่แบบนั้นหรือเปล่า บางครั้งอัลกอริธึมก็เสนอให้เห็นแต่สิ่งที่คุณสนใจนะ แล้วเราก็มองอีกอย่างว่า พอเรามัวแต่โฟกัสว่าเราห่วงเยาวชน เราต้องทำให้เด็กๆ ดูได้ด้วย แล้วคนดูผู้ใหญ่ล่ะ จะดูอะไร ฉันจะต้องดูละครสำหรับเด็กไปตลอดเหรอ ถ้าฉันอยากดูเรื่องราวที่โตขึ้นบ้าง ฉันมีอะไรให้ดูในไทยบ้าง

หลายฉากที่โดนด่า ในซีรี่ส์ต่างประเทศก็มี เพียงแต่พอเป็นคนไทยทำแล้วคนไทยก็จะมองว่ามันแรง มันไม่เหมาะสม บ้านเราไม่เหมือนบ้านเขา อ้าว ก็ทำให้มันเหมือนกันสักทีสิ 

เราว่าเด็กไทยพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะคอยจำกัด ว่าเขาต้องดูเท่านี้ ต้องเลือกให้เขา 

เราควรทำอย่างไร ให้คนไทยพร้อมรับเนื้อหาที่หลากหลายกว่านี้

เราคงทำอะไรได้ไม่มาก แต่สำหรับเราในฐานะผู้ผลิต เราพร้อมที่จะทำสิ่งที่มีเฉดสีอื่นๆ ไม่ว่าจะทำซีรี่ส์แนวไหนเราอยากให้เกิดการตั้งคำถามเสมอ อย่างตอนทำ Gay OK มันก็เกิดการตั้งคำถามกับสังคมเกย์ หรือตอนทำ Friend zone มันก็เกิดการตั้งคำถามกับสังคมวัยรุ่น อย่างเรื่องนี้ก็เกิดการพูดคุยถึงเรื่องความสัมพันธ์สามคน มันทำได้เหรอ มันผิด-ถูกอย่างไร หรือเรื่องของความหลากหลายทางเพศ เราพร้อมที่จะชาเลนจ์คนดู ให้เกิดการถกเถียงกันหรือลองไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

แต่ถ้าจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราว่ามันต้องเริ่มตั้งแต่โน่นเลย เรื่องการศึกษา ซึ่งเมื่อปีที่แล้วหรือปีนี้นี่เอง ที่หนังสือเรียนเพิ่งเปลี่ยนว่าความเบี่ยงเบนทางเพศไม่ใช่โรคจิต คิดดู เมืองไทยยังล้าหลังมากนะ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขามีหลักสูตรที่เกี่ยวกับ LGBT โดยเฉพาะไปแล้ว ดังนั้นมันควรต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตรงนั้น ซึ่งคงยากน่ะนะ แต่สำหรับเราในฐานะสื่อเราก็จะยังคงทำงานที่สร้างการถกเถียงในสังคมต่อไป

มีบางอย่างที่คนมองว่าล่อแหลม เช่นการกินบราวนี่ผสมกัญชา มีปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ไหม

แปลกใจเหมือนกันที่เราไม่โดนเซ็นเซอร์ แต่ตรงนี้เราก็ยังคงมองว่าด้วย genre ของหนังแล้วมันเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นในโลกนั้น เราว่ามันเป็นการทลายกำแพงกั้นบางอย่างของตัวละคร และเราก็เสนอให้เห็นว่ามันยังมีวิธีการหรือรูปแบบของการใช้ที่มันไม่กระทบหรือเดือดร้อนคนอื่น 

อยากให้เล่าถึงฟีดแบ็กที่คุณประทับใจเป็นพิเศษ

มีเยอะนะ แต่น่าสนใจที่สุดท้ายแล้วคนที่เข้าใจประเด็นต่างๆ กลับเป็นต่างชาติ ประเทศรอบๆ เรานี่เอง มีคนส่งข้อความมาเยอะมาก บางคนบอกว่า Thai TV Rock! มันเจ๋งมากนะ ที่ทีวีไทยสามารถเสนอเรื่อง polyamory (การมีรักให้มากกว่าหนึ่งคน) เรื่องทรานส์เจนเดอร์หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม ทั้งที่เรามักมองว่าประเทศรอบข้างเราเองยังไม่เปิดรับกับเรื่องเหล่านี้เลย คือยอมรับเลยว่าเรื่องนี้เรตติ้งไม่ได้ดีมาก แต่ทางค่าย และเราเองแฮปปี้มาก กับการได้ทดลองอะไรใหม่ๆ กับทั้งสไตล์การทำงาน ตัวงาน และ messege ของมัน เรารู้สึกว่านี่ก็เป็นก้าวที่กล้าหาญสำหรับ GMM TV ที่สำหรับเขาแล้วแนวนี้มันขายยาก 

มีบางคอมเมนต์ที่บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรี่ส์ก็แค่ ‘มั่ว’ คุณคิดเห็นอย่างไร

ใช่ เราว่าคำที่คนหยิบมาจำกัดความสิ่งต่างๆ บางทีมันก็เป็นการตีตรา บางทีไบเซ็กชวลก็ยังถูกมองว่าเป็นความโลภ ความเอาไม่เลือก มองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเสื่อม ทั้งที่จริงแล้วทุกคนเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทุกคนควรจะมีสิทธิ explore เพศสภาวะของตัวเอง ซึ่งเราว่าเด็กสมัยนี้ เท่าที่เรารู้แล้วกันนะ พวกเขาพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้กับความลื่นไหลทางเพศมากๆ ซึ่งเราว่าน่าดีใจนะที่คนเราจะสามารถเป็นอิสระ ซึ่งถ้าคุณสามารถฝึกจิตให้ไม่แคร์คนอื่นมากๆ นั่นแหละ คุณก็จะมีความสุข

Tags: , , , , , ,