อาจพูดได้ว่านิทรรศการศิลปะ This Page is Intentionally Left Blank ตั้งต้นขึ้นจาก สมุดจดบันทึกประจำวัน ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า ที่ โต๊ะ—ปรัชญา พิณทอง คุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยเรียน และ ‘งานศิลปะ’ ในครั้งนี้ของเขาก็กินระยะเวลามาตั้งแต่ตอนที่เริ่มติดต่อขอสมุดบันทึกเหล่านั้นมาจัดแสดง

ปรัชญามองงานชิ้นนี้เป็นโปรเจกต์เบส เรื่องราวของมันจึงไม่ได้มีอยู่แค่ในแวบแรกที่คนเข้าไปพบเห็นสิ่งชวนเหวอในห้องจัดแสดงของ บางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี มันทั้งสามารถขุดลึกลงไป หรือต่อยอดเพิ่มเติมขึ้นไปอีกได้มากมาย หลากความเป็นไปได้ ตามแต่ประสบการณ์ประกอบการตีความของผู้ชม

คนแรกๆ ที่ได้เข้าไปตีความ ขุดลึก หรือต่อยอดแนวคิดของปรัชญา ก็น่าจะเป็น โป่ง—ธนาวิ โชติประดิษฐ ผู้รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ของงาน ซึ่งไม่ได้ปล่อยให้ผู้ชมเข้าไปหลงทาง เมื่อพบเห็นห้องโล่งกว้างแทบว่างเปล่า มีเพียงที่กั้นลานจอดรถที่ถูกทาสีและจัดเรียงเปลี่ยนไปในแต่ละวัน กับลังขนาดย่อมที่บรรจุสมุดจดบันทึกประจำวันจำนวนหนึ่ง รวมถึงผนังสีขาวที่ถูกทาขึ้นใหม่อย่างเฉพาะเจาะจง หากแต่ในมุมห้องจะมีการ์ดบุ๊กเล่มเล็กๆ วางคอยท่าเอาไว้ ให้ผู้ชมได้พบกับหลากศัพท์แสงทางศิลปะที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับภาพที่เราเห็นตรงหน้า

หลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีปัญหา (อย่างน้อยก็ผู้เขียนเอง ในแวบแรกที่ก้าวเข้าไปในนั้น) แต่เมื่อลองหยิบสมุดเล่มเล็กเปิดอ่าน หลายอย่างได้ดำเนินขึ้นในหัว ยิ่งเมื่อได้นั่งลงฟังทั้งสองบอกเล่า ก็คล้ายว่าบางฟันเฟืองในสมองกำลังทำงาน อาจจะช้าหรือฝืดๆ อยู่บ้างในช่วงแรก แต่ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามันได้ทำงาน

สมุดจดบันทึกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า มาปรากฏในงานของคุณได้อย่างไร

ปรัชญา: ครั้งหนึ่งที่ไปที่นั่น มีตอนที่เขาผลัดเวรกันตอนเที่ยง ประมาณว่าเขาจดแล้วก็เดินไปไหนไม่รู้ เราก็ไปเปิดอ่านดูแล้วก็แอบถ่ายภาพเอาไว้ แล้วก็มานั่งคิดกับมัน ตั้งแต่ปี 2009 แล้วล่ะ

เราคิดว่า เวลาเราซื้อตั๋วหรือเข้าไปดูงานศิลปะ เรามักจะมุ่งตรงไปที่ศิลปะ มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา การไปดูเพื่อรู้สึกกับสิ่งที่เขาแขวนหรือติดตั้งไว้ แล้วสิ่งอื่นๆ อย่างสมุดบันทึกเหล่านี้เองก็เป็นสิ่งแวดล้อม และถูกบรรจุรวมในพื้นที่ศิลปะในเวลาเดียวกัน มันถูกจุ่มไว้ด้วยกัน แต่มันกลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอะไร เลยนำไปสู่คำถามว่า แล้วมันสามารถที่จะถูกนำมาวางแล้วให้คนคิดกับมันได้หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นสิ่งอื่นได้ไหม

เราเลยประกอบสิ่งเหล่านี้ให้เกิด exhibition ขึ้นมา โดยบรรจุสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในฐานที่เราเข้าใจว่าเป็นศิลปะ ในพื้นที่สำหรับศิลปะอย่างแกลเลอรี่ เพื่อลองดูว่ามันจะเกิดความคิดอีกแบบหนึ่งได้ไหม และก็เลยชวนโป่งมาเป็นคิวเรเตอร์ โดยเริ่มจากการดูบันทึกเหล่านี้เป็นสำคัญ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีสิ่งอื่นประกอบเข้ามา

อีกอย่างคือสมุดบันทึกเหล่านี้มันคือการบันทึกซ้ำทุกๆ วัน จดทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเวลา ตอนที่เราขอเขามาก็อยากรู้ว่ามันจะเห็นความมหึมาของมันหรือเปล่า ความมหึมาของไอ้การจดบันทึกอย่างซ้ำๆ และ capture บรรยากาศในหอศิลป์มาตลอดเวลา เราอยากเห็นว่าร่างกายของมัน มันจะขนาดไหน แล้วก็เกิดคำถามต่อว่า เมื่อถูกทำขึ้นมาแล้ว มันถูกเก็บในแบบไหนมาตลอด

 

ธนาวิ: ในการขอสมุดจดเหล่านี้มา เราไม่ได้ไปตามถนนที่ทุกคนเขาไปกัน เขามีกระบวนการทางราชการของเขาอยู่ ก็ใช้เวลาคุยกันนานพอสมควร แต่ในที่สุดเขาก็ให้ และเราก็ขอเข้าไปทาสีทั้งที่โน่น และที่บางกอก ซิตี้ ซิตี้ ให้เหมือนกัน ซึ่งตัวเบอร์สีที่อยู่ในแคปชันบนผนังเป็นสีขาวที่ให้หอศิลปเจ้าฟ้าเป็นคนกำหนด

ตอนที่เข้าไปขอสมุดจดเหล่านี้ ทางหอศิลป เจ้าฟ้า มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

ปรัชญา: เขาก็สงสัย ว่ามันจะไปกลายเป็นอะไร เราคุยกันหลายรอบแล้วก็พยายามปรับกระบวนยุทธ์ เราก็พยายามยื่นข้อเสนอว่าเราจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้แลกกับสิ่งที่เขาบันทึกมา ไม่ว่ามันจะมากหรือน้อยแค่ไหน

งานนี้เป็นโปรเจคต์เบส ดังนั้นมันจะมีช่องว่างให้อะไรเกิดขึ้นก็ได้ มันจะไม่ถูก manifest จะไม่ถูกจำกัด ไม่ได้ถูกกำกับ มันทำงานกับความเป็นสิทธิในการสร้างงานศิลปะ (Authorization) มันไม่ใช่ว่าเราเป็น author เป็นคนสร้างงาน แล้วเราจะมีสิทธิกำกับกะเกณฑ์ทุกอย่าง

นี่เลยเป็นอีกสิ่งที่อยากนำเสนอ ว่ามันเกิดรอย รั่วเข้า ซึมออกได้ เราพูดถึงเนื้อหาของบางอย่างที่มันถูกประกอบขึ้นมา จากเวลาที่เราเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ หรือกับการที่ในพื้นที่หนึ่ง หรือในกระบวนการของเรา มันมีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

มันสามารถหมายถึงการนำหอศิลป์สองแห่งมาวางเทียบกันได้ไหม

ปรัชญา: การเอาของจากหอศิลป เจ้าฟ้า มาจัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ ซิตี้ เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดการเปรียบเทียบหรือเสียดสี มันเพียงแต่เป็น fact นั่นคือ เราได้ห้องนี้มา ได้รับสิทธิจะทำอะไรกับมันก็ได้ เรามีทุนพอสมควรที่จะทำอะไรก็ได้ อีกด้านหนึ่ง เรามองเห็นข้อจำกัดในอีกพื้นที่หนึ่ง ที่ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะเพียงเราคนเดียวที่คิดบางอย่างกับมัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปมีข้อคิดเห็นร่วมกับคนอื่นเพื่อสร้างอะไรขึ้นมา งานชุดนี้พยายามจะทำให้เกิดจุดสัมผัสระหว่างพื้นที่สองพื้นที่มากกว่าจะยกมาเทียบกัน

และท้ายที่สุด ถ้ามันเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่มันมีบางอย่างได้เกิดขึ้น เราจะยอมรับสิ่งเหล่านั้นได้ไหม ยกตัวอย่างการทาสีขาว มันคือการมีประวัติศาสตร์แบบที่มีความจดจำร่วมในสองพื้นที่ แต่ในความเป็นจริง เราก็ระบุหรือแยกแยะสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้อยู่ดี เพราะสีขาวได้ถูกทำให้เหมือนเป็นแบ็คกราวด์ของทุกสิ่ง มันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะพูดถึงสิ่งที่อยู่เท่าเทียมกัน

 

รูปแบบของงานค่อนข้างท้าทายคนดู นั่นเป็นความตั้งใจใช่ไหม มีการประนีประนอมอย่างไรบ้าง

ธนาวิ: ต้องยอมรับว่าคนดูจำนวนมากจะรู้สึกว่าเขาไม่คุ้นเคยกับงานแบบนี้ และเขาจะรู้สึกว่า ต้องทำยังไงถึงจะเข้าใจ เราเองก็คิดถึงคนดูทั่วๆ ไป ที่อาจจะไม่ได้มีพื้นฐานทางศิลปะมากนัก สมมติว่าเขามาดูแล้วเกิดความสงสัย เราในฐานะคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างศิลปะ แกลเลอรี่ แล้วก็คนดู ก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนเข้าใจสิ่งที่มาดู

เราคิดไว้ว่า คนเข้ามาดูแล้วปุ๊บ เขาต้องเหวอแน่นอน เขาจะต้องรู้สึกว่า “ไอ้นี่มันคืออะไร” หรือ “ไอ้นี่มันเป็นศิลปะได้ยังไง” ซึ่งนี่เป็นคำถามที่เราได้ยินบ่อยๆ ในหลายๆ งาน เป็นคำถามปกติ แต่เราก็ไม่อยากเขียน text ที่ให้คนอ่านหนึ่งแผ่น พอคุณอ่านนี้ คุณเชื่อมโยงกับงานปุ๊บ แล้วคุณจะเข้าใจ ซึ่งนั่นกลายเป็นว่าคนดูมีหน้าที่แค่เป็นผู้รับ มันไม่ได้มีส่วนกระตุ้นให้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็นมากนัก ซึ่งการทำแบบนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดเลยนะ มันเป็นเรื่องที่แกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์จะทำอย่างนั้น มันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้คนเข้าใจงาน  เพียงแต่เราไม่อยากทำแบบนั้น ในเมื่องานมันท้าทายคนดู เราก็อยากจะให้คนดูพยายามมาเกี่ยวข้องและคิดกับมัน ซึ่งตรงนี้เราบังคับใครไม่ได้ เขาอาจจะผละหนีไปเลยก็ได้

แต่เมื่อคนจะเกิดคำถามว่าไอ้นี่มันเป็นศิลปะได้ยังไง เราเลยเลือกทำตัว text ที่เป็นการ์ดบุ๊กเล่มเล็กๆ มีชื่องาน ชื่อศิลปิน มีแนวคิดเกี่ยวกับนิทรรศการสั้นๆ ที่เราตั้งคำถามงอกเพิ่มมาอีกข้อว่า

“คุณลองคิดดูสิ ว่าทำไมวัตถุอย่างหนึ่งที่คุณก็อาจจะมีอยู่ในบ้าน วันใดวันหนึ่งมันถึงเกิดเป็นงานศิลปะขึ้นมาได้ แล้วเพราะอะไรสิ่งนี้ถึงยังจะเป็นศิลปะอยู่ นั่นคือ อะไรที่เปลี่ยนสถานภาพของวัตถุอย่างหนึ่ง อย่างสมุดบันทึก หรือที่กั้นลานจอดรถ ให้กลายเป็นศิลปะ”

เรายังยกบทความจากปี 1967 เรื่องปัญหาของความเป็นวัตถุกับศิลปะ แล้วก็มีบทความสั้นๆ ว่างานชิ้นนี้สามารถแตะไปถึงประเด็นอะไรบ้าง เช่นว่า โครงสร้างของโลกศิลปะที่มีมากกว่าศิลปินหรือหอศิลป์นั้น มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของแรงงานคนที่อยู่ในโลกศิลปะ ที่เป็นส่วนหนึ่งให้งานศิลปะเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่คำถามในท้ายที่สุดที่ว่า อะไรทำให้ศิลปะกลายเป็นศิลปะ ไม่ใช่แค่ศิลปะคืออะไร

นอกจากนั้นก็จะมีชุดคำศัพท์ ที่เราตีออกมาจากตัวนิทรรศการอีกที เช่นคำว่า archive (การจัดเก็บ) , deconstruction (การรื้อสร้าง), found object (วัสดุเก็บตก หรือของใดๆ ก็ตามที่พบทั่วไปและถูกหยิบมาประกอบเป็นงานศิลปะ), ready-made (วัสดุสำเร็จรูป หรือการนำของที่มีอยู่แล้วมาเป็นงานศิลปะ) ฯลฯ เพื่อว่าคนดูจะสามารถปะติดปะต่อความหมายขึ้นมาได้เอง ถ้าคนดูอ่านแล้วเชื่อมโยงกับข้าวของในนี้ ว่าทำไมมันถึงไม่เหมือนกับของที่อยู่ข้างนอก อย่างที่กั้นลานจอดรถเนี่ย ออกไปข้างนอกก็เจอ อะไรคือความแตกต่าง อะไรที่ทำให้มันกลายเป็น

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ศัพท์จากหนังสือวิชาการที่ยากๆ อะไร เป็นชุดคำศัพท์ที่เราดึงมาจากของพิพิธภัณฑ์ TATE ที่เขาเผยแพร่เพื่อให้คนทั่วๆ ไปได้เข้าใจ เพราะประวัติศาสตร์ศิลปะมันไม่ใช่วิชาที่สอนกันในทุกๆที่ เราเลยอยากใช้คำเหล่านี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจ เราว่าจากงานนี้ สามารถเปิดมินิเลคเชอร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะในศตวรรษที่ 20 ได้เลย ทั้งหมดในนี้ได้ย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ ว่าเป็นร้อยปีที่ผ่านมา มีคนที่เคยทำอะไรแบบนี้ไปแล้วบ้าง หรือมันมีที่ทางยังไง

นี่เป็นวิธีการที่เราทำขึ้นจากสิ่งที่ศิลปินเลือกมา หากเป็นคิวเรเตอร์คนอื่น งานก็อาจจะไม่ได้ออกมาในรูปแบบนี้ และเราก็อยากให้คนดูคิดว่า เขาก็สามารถสร้างความหมายของสิ่งที่เข้ามาเห็นในแบบของเขาได้เหมือนกัน และเราจะไม่ออกสูจิบัตรตั้งแต่วันแรกที่เปิดนิทรรศการ แต่เราจะออกในวันสุดท้ายของงาน เพื่อที่ว่าคนดูจะไม่ต้องถูกชี้นำ

ที่สุดแล้วความเป็นศิลปะ สามารถเกิดขึ้นกับของที่ดูธรรมดาๆ เหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

ปรัชญา: ทุกสิ่งมันเกิดขึ้นทุกวัน บันทึกที่จดอยู่ทุกวัน ที่กั้นลานจอดรถที่กั้นให้จอดกันอยู่ทุกวัน แต่มันไม่ได้ถูกตระหนักรู้ว่ามีหรือเป็นอะไร เราต้องการพูดถึงสิ่งที่ถูกทำให้ว่าง เหมือนชื่อนิทรรศการ ว่าเรามีประโยคที่กำหนดสิ่งเหล่านั้นอยู่ เพราะเราเข้าใจมิติของความหมายผ่านคำ ดังนั้นภาษาจึงมีบทบาท เราไม่ได้เข้ามาด้วยสัญชาตญาณแบบสัตว์ เราเข้ามาเพราะเราต้องการหาความหมาย และต้องการภาษามานำทาง

นี่เป็นหลุมบ่อที่เราอยากผลักคนลงไป เพื่อให้คนทำงานกับมัน และในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่มันเป็นอยู่ตอนอยู่ข้างนอก เราเพียงแต่กำหนดให้มันมีเงื่อนไขแบบนี้ในพื้นที่นี้

ในห้อง เราก็พยายามเปิดให้แสงให้อากาศเข้ามา ให้ความเป็นอิสระอยู่ในนี้ เรายังเรียกร้องสิ่งข้างนอกให้เข้ามารบกวนเงื่อนไขนี้อยู่ตลอด แต่พื้นที่มันก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ภายใต้เงื่อนไขที่เรากำหนดด้วย เช่นที่กั้นลานจอดรถเราก็จัดเรียงใหม่ทุกวัน และถ้าไม่มีผนัง คนก็สามารถเอารถเข้ามาจอดได้จริงๆ เราได้เสนอ Transparency ของมัน แล้วทีนี้ คนดูเองจะเป็นคนชี้วัดมันแล้วล่ะ ว่ามันจะคือหรือไม่คืออะไรก็ตาม

 

ธนาวิ: แต่ละคนอาจจะมีความรับรู้เกี่ยวกับวัตถุข้างในนี้ต่างกัน เช่นคุณก้อง ฤทธิ์ดี (นักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์) ได้มาเห็นสมุดบันทึกเหล่านี้ เขาก็นึกไปถึงหอภาพยนตร์ ที่เคยอยู่ที่หอศิลป เจ้าฟ้าแห่งนี้ ก่อนจะไปอยู่ที่ตั้งปัจจุบันที่ศาลายา เขาก็จะมีวิธีการเชื่อมต่อกับสมุดบันทึกเหล่านี้ในแบบของเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน

และนั่นก็คือพลังของวัตถุข้าวของเหล่านี้ ที่ให้เราได้เข้าไปสัมผัสกับมันเองได้ ถ้าเราจะปล่อยตัวเองออกมาจากความคิดที่ว่า ฉันต้องรู้ความตั้งใจและความหมายที่ผูกอยู่กับศิลปินให้ได้ก่อน คือมันยังเปิดไปสู่อย่างอื่นได้อีกหลายอย่าง แม้ว่างานศิลปะจะตั้งตนมาจากตัวศิลปินเองก็ตาม แต่เราอยากให้คนดูตระหนักถึงบทบาทของตัวเองในฐานะคนดูที่ active ได้ด้วยเหมือนกัน

ตลอดมามันจะมีการสวิงไปมาอยู่สองขั้ว ระหว่างคนที่ต้องรู้ให้ได้ว่าความตั้งใจของศิลปินคืออะไร ไม่งั้นจะรู้สึกว่าเข้าไม่ถึง ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราต้องเขียน text อธิบายอย่างละเอียด สวิงไปอีกข้างก็คือคนที่ชอบอ้างโรลองด์ บาร์ธส์ (Roland Barthes) เรื่อง ‘ความตายของผู้ประพันธ์’ ซึ่งบาร์ธส์ก็คงไม่ได้หมายความสุดโต่งขนาดนั้น ว่าคุณไม่ต้องสนใจเลยว่าผู้สร้างตอนแรกสุดได้มีไอเดียอะไรอยู่บ้างหรือเปล่า มันไม่ได้ถึงขนาดว่าเราต้องละเลยตัวศิลปินเลย เพียงแต่เรารู้สึกว่าคนดูสามารถเป็นผู้สร้างร่วมได้ ในแง่ของความหมายที่มันต่อเติมออกมา โดยไม่ต้องสัมพันธ์กับความหมายตั้งต้นของศิลปิน หรือกระทั่งขัดแย้งก็ได้ นั่นไม่ได้แปลว่าผิด นั่นคือวิธีที่ความหมายค่อยๆ แตกตัวออกมา เราว่าพลังของศิลปะจริงๆ มันควรอยู่ตรงนั้น

 

ปรัชญา: ส่วนตัวคิดว่างานชิ้นนี้มันจะเป็นอะไรก็ได้ เราพยายามให้เกิดความเคลื่อนตัวของความเป็นไปได้ในหลายๆ รูปแบบ นี่เป็นโครงสร้างที่ผมเองพอใจ มันไม่ได้ฟิกซ์อยู่ในลักษณะของการกดทับ การเอาเปรียบ หรือการละทิ้ง ทั้งนี้ งานมันได้ถูกคิดคำนวณมาแล้วพอสมควร ว่ามันจะนำเสนอยังไง มันจะโอบกอดคนดูยังไง แต่มันอาจจะไม่ถูกเห็นได้เลยก็ได้ ตั้งแต่เปิดงานมามีทั้งคนที่มาปะทะ มาคิด มาเขียนเกี่ยวกับมัน มาชอบมัน มาเกลียดมัน สุดท้ายแล้วมันก็รอคนที่เข้ามาบทสนทนากับสิ่งเหล่านี้นั่นแหละ

Fact Box

  • ปรัชญา พิณทอง เกิดเมื่อปี 2517 ที่จังหวัดอุบลราชธานี งานของปรัชญามักเกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างระบบสังคม เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน เป็นผลพวงจากการสนทนา และนำสุนทรียะในระบบเหล่านั้นออกมา ด้วยกระบวนการทางศิลปะที่แทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เขาเคยมีนิทรรศการเดี่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายเมือง อย่าง ปารีส ลอนดอน มิวนิก แบร์กาโม ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการกลุ่มในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก
  • ธนาวิ โชติประดิษฐ เกิดเมื่อปี 2524 ที่จังหวัดสระบุรี เป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นทีมบรรณาธิการ Southest of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia วารสารวิชาการเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอบเขตความสนใจของธนาวิครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในประเทศไทย กับความทรงจำศึกษา พิธีกรรมรำลึกเกี่ยวกับสงครามและการเมืองไทย
Tags: , ,