นอกจากผลงานจำลองร่างกายตัวเองให้เหมือนสิ่งของหรือเครื่องจักรอย่างตื่นตา กวิตายังทำให้ผมต้องมาตรึงตราอยู่กับคำถามที่ทั้งชีวิตไม่เคยสงสัยมาก่อน นั่นสิ เจ้าแพ็คแมนมันไล่งับอะไร? 

เรื่อง แพ็คแมนไล่งับอะไร เกิดขึ้นระหว่างการสนทนาที่เธอเปรียบเทียบชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ที่ถูกระบบทุนนิยมเร่งเร้าให้หาเงินให้ได้มากๆ เพื่อจับจ่ายและบริโภคอย่างไม่สุดสิ้น คล้ายตัวแพ็คแมน (PAC-MAN) สีเหลืองที่ต้องเล่นเกมไล่กินจุดสีขาว (ที่ผมไปกูเกิลภายหลังเพื่อพบว่ามันคือขนม) ในเขาวงกต พลางต้องวิ่งหนีผีหลากสีที่ไพล่ให้ผมคิดว่าเหมือนเจ้าหนี้หรือระบบที่ทำให้เราเป็นหนี้ คอยวิ่งจี้ตามไม่ลดละ 

ผู้คนสมัยใหม่ที่ว่า ยังรวมถึงพ่อของเธอ อดีตพิธีกรและผู้บริหารบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการกรำงานอย่างหนักเมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งการสูญเสียนี่กลายมาเป็นบันดาลใจสำคัญต่อมุมมองและจุดยืนของเธอในการทำงานศิลปะ 

สร้างชื่อบนเวทีโลกในฐานะ video artist ผู้ใช้ร่างกายตัวเองจำลองเป็นสิ่งของและเครื่องจักรที่ทั้งแปลกตา ยั่วยุและกระตุ้นให้ตั้งคำถาม ไปจนถึงการวิพากษ์ทุนนิยม มนุษยธรรม และเพศสภาพอย่างถึงเลือดถึงเนื้อในบางครั้ง แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร เป็นทั้งศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ทั้งในแง่มุมทางศิลปะและความพยายามส่วนตัวที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านสิ่งที่เธอทำ 

ในระหว่างที่ผลงานบางส่วนของเธอกำลังจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยว Kawita Vatanajyankur: Foul Play ที่ Albright-Know Art Gallery เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คู่ขนานไปกับนิทรรศการ Unveil Escape ที่เธอมาแสดงสดในซีรีส์ล่าสุด Performing Textiles เปิดนิทรรศการด้วยตัวเองที่ Gallery Seescape เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับเธอถึงโครงการศิลปะที่กำลังทำอยู่ เกมแพ็คแมน และจุดยืนของเธอในฐานะของศิลปินร่วมสมัยและบุคคลคนหนึ่ง  

คุณเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินที่จำลองสิ่งของหรือเครื่องจักรกลด้วยร่างกาย รวมถึงงานล่าสุด ที่โฟกัสไปยังเครื่องจักรในอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเฉพาะ อยากรู้ถึงที่มาของงานชุดนี้สักหน่อย

งานชุดนี้เริ่มจากที่แพรวไปเป็นศิลปินในพำนักที่ Dunedin นิวซีแลนด์เมื่อต้นปีที่แล้ว (2018) Dunedin Public Art Gallery ที่เป็นเจ้าภาพ เขาให้รถแคมเปอร์แวนมาคันหนึ่ง สำหรับขับไป research ที่ไหนก็ได้ เรามีความสนใจเรื่องแรงงานอยู่แล้ว ก็เลยลองไปดูว่าภาคแรงงานของที่นั่นเป็นยังไง ก็พบว่าที่นั่นเขาทำฟาร์มขนแกะเป็นหลัก แต่ปัญหาสำหรับเราก็คือภาคแรงงานของนิวซีแลนด์เขาแทบไม่มี conflict อะไรเลย เขาไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือการกดขี่แบบที่เราคุ้นเคยจากข่าวในประเทศแถบเราเท่าไหร่ แต่การได้ไปสำรวจเรื่องฟาร์มขนแกะเนี่ยก็เหมือนทำให้เราคิดโจทย์ว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้นมาได้ จากนั้นเลยลองกลับมารีเสิร์ชตามโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคใกล้เคียง ไอเดียในการใช้ร่างกายเรา represent เครื่องจักรในอุตสาหกรรมทอผ้ามันเลยชัดขึ้น

ดูเหมือนคุณตั้งโจทย์หรือวาง conflict ไว้อยู่แล้ว ก่อนลงพื้นที่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมองอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะธุรกิจ fast fashion เราจะไม่เห็น conflict เรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสดูสารคดีเรื่อง True Cost (2015, กำกับโดย Andrew Morgan) ซึ่งเขาเสนอให้เห็นผลกระทบของอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า ทั้งค่าแรงที่น้อยมากเมื่อเทียบกับชั่วโมงทำงานที่หนักหนาสาหัส รวมไปถึงมลภาวะในสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกระบวนการผลิต หรืออย่างเห็นได้ชัดคือเหตุการณ์โรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ fast fashion เจ้าดังถล่มลงมาที่บังกลาเทศเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสาเหตุมันเกิดจากความต้องการในการผลิตที่สูงมาก คนในโรงงานก็ต้องเร่งผลิตสินค้าให้ทัน โรงงานมันปิดไม่ได้ ขณะเดียวกันความที่อาคารโรงงานมันเก่ามาก และไม่มีโอกาสปิดเพื่อซ่อมแซม สุดท้ายตึกก็ถล่มลงมาทับผู้คน เหล่านี้เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อกันหมด

แล้วจากการที่คุณลงพื้นที่ไปสำรวจโรงงานในประเทศไทย  คุณพบอะไรบ้าง

ในบ้านเราสภาพการทำงานไม่ได้โหดเหมือนที่บังกลาเทศนะ ก็เป็นโรงงานที่พึ่งพาการผลิตจากช่างเย็บผ้าอยู่ มีโต๊ะเรียงต่อกันสุดลูกหูลูกตา อาคารหนึ่งมีสี่ชั้น ทุกชั้นเต็มไปด้วยแรงงานคน แพรวมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าของโรงงาน เขาก็บอกถึงความพยายามในการบาลานซ์ธุรกิจกับสวัสดิภาพของคนทำงาน ซึ่งยังดีที่กฎหมายในบ้านเราเกี่ยวกับแรงงานมันช่วยคุ้มครองแรงงานได้ดีอยู่หากเทียบกับกัมพูชาหรือบังกลาเทศ ตอนหลังก็ลองไปรีเสิร์ชโรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านบ้าง ก็พบว่าบรรยากาศมันต่างจากที่นิวซีแลนด์อย่างเห็นได้ชัด

เพราะสภาพที่คุณเห็นในโรงงานเลยบันดาลใจให้คุณจำลองตัวเองเป็นเครื่องจักรในนั้น

ก็ไม่เชิงค่ะ บางส่วนก็เกิดจากการได้เห็นรูปแบบการทำงานของเครื่องจักรด้วย แพรวไปโรงงานในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง แล้วก็เจอเครื่อง knitting ที่มีลักษณะเป็นวงกลมล้อมรอบด้วยเสาและมีเข็มอยู่ตรงกลาง เข็มตรงกลางมันจะทำหน้าที่คล้องด้ายที่ขึงอยู่ตามเสาเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นผืนผ้า ซึ่งมันเคลื่อนไหวเร็วมากๆ และเรารู้สึกว่าเครื่องนี้มันน่าเล่นมาก ก็ยืนสังเกตวิธีการทำงานว่ามันทอผ้ายังไง จากมุมนี้ จะขึงด้ายไปทางไหนต่อ มีทั้งการเกี่ยวและก็ดัน มันทำให้เราจินตนาการถึงตัวเองว่าถ้าเป็นเข็มเราจะเคลื่อนไหวอย่างไร

หรือบรรยากาศที่อุดอู้ในโรงงานฯ ก็ส่งผลต่อพื้นที่จัดแสดงด้วยนะ อย่างล่าสุดที่เรามาจัดแสดงที่ Gallery Seescape แกลเลอรี่ทำเวทีเป็นหลุมสี่เหลี่ยมและเราก็ลงไปแสดงเป็นเครื่อง knitting ในหลุมนั้น ผู้ชมจะมองเราลงมาจากปากหลุม พอตอนแสดงเรารู้สึกอึดอัดจากการไม่มีอากาศหายใจ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนเราไปสำรวจโรงงาน เพราะอากาศในโรงงานน้อยมาก และคนงานเขาก็ต้องทำงานในสภาพที่เหมือนอยู่ในห้องใต้ดินตลอดเวลา เรื่องการจัดเวทีเป็นหลุมมันเป็นความบังเอิญแหละ แต่มันก็กลับสะท้อนบรรยากาศออกมาได้ชัดเจนดีมาก

อย่างไรก็ตาม แรงบันดาลใจหลักของแพรวมันไม่ได้มาจากสิ่งที่เห็นในโรงงาน แต่เกิดจากต้นตอที่ขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ นั่นคือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทุนนิยมก่อให้เกิดบริโภคนิยม บริโภคนิยมกระตุ้นให้เกิดการผลิตแบบ mass production ยิ่งเราบริโภคมาก ก็จะมีการผลิตมาก และเศรษฐกิจก็เกิดสภาพคล่องหมุนเวียนไป แต่หลายคนลืมหรือมองข้ามไปว่าเบื้องหลังการผลิตแบบ mass production มันส่งผลให้เกิดการกดขี่มนุษย์ ภาคแรงงานต้องทำงานอย่างหนักและไม่ได้พักผ่อนไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักร ซึ่งการทำงานหนักแบบนี้ยังส่งผลถึงคุณภาพชีวิต ความเครียด ไปจนถึงการเก็บกดอันมีผลไปถึงความรุนแรงในครอบครัวอีก อย่างที่บอกว่ามันเป็นห่วงโซ่เชื่อมต่อกันไปหมด

แพรวจึงพยายามสะท้อนสภาวะของมนุษย์ที่กลายเป็นเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมนี้ออกมาทั้งหมด ตั้งแต่การเพาะเมล็ดฝ้าย, ปั่นฝ้าย, การทอ, การย้อม, การพิมพ์ลวดลาย ไปจนถึงการตัดเย็บจนเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป แพรววางไว้ว่างานวิดีโอชุดนี้จะใช้เวลา 3 ปี คือ 2018-2020 ให้ร่างกายเราจำลองเครื่องจักรในทุกกระบวนการ โดยเร็วๆ นี้มีแผนจะไปรีเสิร์ชโรงงานต่อที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาเนิ่นนาน ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีสถิติคนงานในอุตสาหกรรมนี้ฆ่าตัวตายมากที่สุดด้วยเช่นกัน


คุณจัดแสดงงานชุดนี้ครั้งแรกในรูปแบบวิดีโอใน Bangkok Art Biennale 2018 พร้อมกับนั้นคุณยังทำการแสดงสดในห้องอาหารของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพ ประกอบกับคอร์สที่ให้แขกของโรงแรมหรือลูกค้ามาจิบน้ำชาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ชมที่จะมาชมคุณได้ในโรงแรมหรูระดับนั้นเนี่ย ก็ต่างเป็นคนที่ขับเคลื่อนให้ระบอบทุนนิยมมันหมุนเวียนไป คุณไม่คิดว่าสิ่งที่คุณทำมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงที่รับใช้ทุนนิยมหรือ

แพรวกลับมองว่าพื้นที่ดังกล่าวมันเป็นพื้นที่ที่ดีที่เราสามารถส่งสาส์นที่จะกระตุ้นให้เขาคิดหรือรู้สึก เพราะเราทุกคนในฐานะผู้บริโภคนี่แหละที่มีส่วนทำให้ระบบการกดขี่แรงงานมันหมุนไป เหมือนได้สื่อสารกับสังคมโดยตรงนอกเหนือจากผู้คนในแวดวงศิลปะ การแสดงที่นี่เป็นจุดเปลี่ยนความคิดของเราด้วยว่าในฐานะศิลปิน เราควรสื่อสารงานของเราให้ออกไปจากแค่โลกศิลปะซึ่งมันเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับโลกทั้งหมด

ถ้านับจากการแสดงงานครั้งแรกปี 2009 แพรวทำงานศิลปะมา 10 ปี มีความฝันแต่แรกว่าเราอยากแสดงงานที่แกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ หรือ art space แต่พอได้มาแสดงที่โรงแรมเพนนินซูลา ที่มีความ public กว่าพื้นที่ศิลปะ กลุ่มผู้ชมนี่คนละแบบกับผู้ชมที่เคยชมงานเรามาตลอด 10 ปีมาเลย ฟีดแบ็คที่ได้รับกลับมาก็แตกต่างมากทีเดียว มันเลยเป็นความท้าทายที่จะสื่อสารประเด็นของเราสู่วงกว้าง และทำให้เรามองต่อไปอีกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำงานศิลปะในพื้นที่ศิลปะก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องนิยามสิ่งที่เราทำว่าเป็นงานศิลปะเลยก็ได้ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่ขอให้มันทำหน้าที่สื่อสารสิ่งที่เราอยากบอกออกไป และสร้างความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงน้อยก็ยังดี  

จากการแสดงวันนั้นมีฟีดแบ็คอะไรจากผู้ชมที่สะกิดใจคุณไหม

มีคนมาตั้งคำถามต่อว่าแล้วถ้าเราไม่บริโภค เศรษฐกิจจะอยู่อย่างไร 

นั่นสิ

ประเด็นคือเราไม่ได้ต่อต้านทุนนิยม เราจำเป็นต้องมีการบริโภคแหละ สิ่งที่เราทำเหมือนการสะกิดเตือนว่า mass production มันส่งผลกระทบแบบนี้นะ เราไม่จำเป็นต้องเร่งบริโภคมากขนาดนั้นก็ได้ไหม และหันมาใส่ใจต่อสวัสดิการของแรงงานในระบบอุตสาหกรรมบ้าง ในทางกลับกันสิ่งที่ทำให้ผู้คนในระบบอุตสาหกรรมต้องยอมทำงานหนักขนาดนั้น ก็เป็นเพราะเขาต้องการเงินมายังชีพในสังคมที่เขารู้สึกว่ายิ่งฉันได้บริโภค ฉันก็ยิ่งมีคุณค่า เราอยากจะเปลี่ยน mindset ของผู้คนเหล่านี้

แต่ในฐานะที่เราเป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้จำกัด เราจะปฏิเสธการซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ที่จำหน่ายให้เราในราคาย่อมเยาได้อย่างไร 

คือมันไม่ใช่เรื่องของการไม่สนับสนุนเลย แพรวก็ปฏิเสธการซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่ก็เลือกซื้อที่จำเป็นจริงๆ และใช้ได้นานจริงๆ หรือเราอาจเลือกผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ที่มี fair trade ราคาอาจแพงขึ้นหน่อย แต่ใช้วัสดุที่ดี มีการตัดเย็บที่ดีและคงทน ดูอย่างคนสมัยก่อนเขาซื้อเสื้อผ้าตัวหนึ่งใส่กันเป็น 10-20 ปี ขณะที่มาดูเสื้อผ้าจากฟาสต์แฟชั่นตอนนี้สิ สวมใส่ไม่กี่ครั้งมันก็ย้วยหรือหด และทำให้เราต้องซื้อใหม่อีกเรื่อยๆ

คิดว่าผู้บริโภคอย่างเรามีอำนาจในการเปลี่ยนวิถีการผลิตได้ไหม

ถ้าผู้บริโภคมีความตระหนักรู้มากขึ้น และหันมาบริโภคอย่างที่แพรวบอกก็อาจมีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด มันต้องรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย รวมไปถึงการกำหนดนโยบายของภาครัฐด้วย

แพรวโชคดีที่หลังจากแสดงที่เพนนินซูลา ก็มีโอกาสได้ไปแสดงในงาน Culture Summit 2019 ที่อาบูดาบี ซึ่งผู้ร่วมงานก็ต่างเป็นนักการเมืองที่กำหนดนโยบายให้ประเทศต่างๆ รวมไปถึงนักธุรกิจ และกลุ่มสตาร์ทอัปที่มีอิทธิพลต่อสังคม เราเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นว่าคนในแวดวงศิลปะก็ตระหนักถึงปัญหานี้และอยากจะเปลี่ยนแปลงมันเหมือนกัน แพรวมองว่าถ้าภาครัฐในแต่ละประเทศออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือการมอบสวัสดิการที่ดีกว่านี้ หรือวางนโยบายให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับลูกจ้างของพวกเขามากกว่านี้ เราอาจจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพไปพร้อมกับแรงงานผู้ผลิตมีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น

ในงานที่ว่านี้มีคอมเมนท์หนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาพูดถึงทางเลือกในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยชวนให้มองถึงผลกำไรส่วนรวม นายทุนอาจได้กำไรน้อยลง แต่ผลตอบแทนตกไปอยู่ในสังคมภาพรวมมากขึ้น มีการแบ่งปันกันมากขึ้น เศรษฐกิจมันควรจะหมุนเวียนไปพร้อมกับความยั่งยืนของผู้คน สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ขณะเดียวกัน แพรวยังได้รู้จักกับกลุ่มสตาร์ทอัปที่ทำเรื่อง fair trade โดยเฉพาะ พวกเขาสร้างระบบที่สามารถ trace and track แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้เราได้รับรู้ถึงสวัสดิการของพวกเขา ค่าแรงสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่รึเปล่า แพรวคิดว่าเหล่านี้เป็นความหวัง

งาน Unveil Escape ที่คุณแสดงล่าสุดที่ Gallery Seescape คุณจำลองตัวเองเป็นเครื่องทอด้ายอยู่ในหลุมสีแดง พยายามใช้ปากงับด้ายสีขาวให้คล้องแท่งสีแดง ซึ่งมองไปมองมา แท่งนั้นก็เหมือนรูปลักษณ์ของศิวลึงค์หรือองคชาต อยากรู้ว่านอกจากความพยายามสื่อสารเรื่องแรงงาน คุณจะพูดเรื่องการกดขี่ทางเพศด้วยรึเปล่า

จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจให้แท่งดังกล่าว represent เรื่องเพศเลยนะ เป็นความบังเอิญมากกว่า เหมือนที่บางคนมองว่างานนี้เหมือนตัวไหมหรือแมงมุมที่ชักใย แต่นี่ก็เป็นแง่มุมที่ดีที่ศิลปะเปิดให้ผู้ชมมองไปถึงเรื่องอื่นๆ

ซึ่งการกดขี่แรงงานก็มีส่วนก่อให้เกิดการกดขี่ทางเพศ

ใช่เลย ก่อนมาทำประเด็นนี้แพรวก็ทำงานเรื่อง Gender มาก่อน ซึ่งพอเรามองในอุตสาหกรรมทอผ้า มันก็เลี่ยงที่จะมองเรื่องนี้ไม่ได้ แพรวไม่รู้ว่ามันเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไหม แต่จากที่รีเสิร์ชมา ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการทอผ้าแทบทุกแห่ง รวมไปถึงตัวเลขในปัจจุบันที่พบว่า 85% ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นผู้หญิง และเราอินกับประเด็นนี้

ครอบครัวของแพรวทำงานด้านกฎหมายโดยตรง คุณตาทวดแพรวเคยเป็นประธานศาลฎีกา คุณตาก็เคยเป็นรองประธานศาลฎีกา มีลุงๆ ป้าๆ ทำงานในศาลหลายท่าน แพรวจะสนิทกับคุณป้าที่เป็นอัยการ ซึ่งท่านทำเรื่อง Labour Exploitation (การตักตวงผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน) โดยตรง คุณป้าเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมากๆ สำหรับแพรวเลยล่ะ สรุปคร่าวๆ คือ Labour Exploitation มันเชื่อมโยงกับสามปัญหาสำคัญ คือ การค้ามนุษย์, การกดขี่แรงงาน และเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องสุดท้าย ความรุนแรงในครอบครัวมันเกิดขึ้นเพราะคนที่อยู่ในภาคแรงงานอยู่ในสภาวะกดดันจากที่ทำงาน ต้องทำงานหนัก สภาพแวดล้อมไม่ดี รายได้ไม่เพียงพอ หลายคนนำความกดดันเหล่านี้มาลงกับคนในครอบครัว และผู้หญิงก็มักเป็นเหยื่อเสมอ

งานชุดก่อนหน้านี้ที่เราเล่นกับ Gender จริงๆ ก็ไม่ได้มีความตั้งใจจะสื่อสารชัดเจนขนาดนั้น แต่เป็นเพราะเราอยู่กับคุณยายที่ท่านทำเรื่องสิทธิสตรีมาก่อนด้วย ก็ได้ทราบปัญหาหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกันเราในฐานะที่เป็นสื่อศิลปะก็เป็นผู้หญิงด้วย งานหลายชิ้นจึงออกมาดูเป็นเฟมินิสม์รวมไปถึงงานชุดล่าสุดนี้ด้วย

พูดตามตรง คุณเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะและพื้นฐานทางสังคมที่ดี นอกจากข้อมูลจากญาติๆ ที่เป็นนักกฎหมาย อะไรบันดาลใจให้คุณหันมาสนใจเรื่องที่ดูเหมือนจะอยู่ไกลตัวคุณอย่างการกดขี่แรงงาน และทำงานศิลปะภายใต้โจทย์เหล่านี้อย่างจริงจัง

อันที่จริงประเด็นหลักและเป็นประเด็นดั้งเดิมที่แพรวพยายามสื่อสารมาแต่แรกคือเรื่องทุนนิยมและบริโภคนิยมมากกว่าค่ะ เรื่องนี้ทำให้แพรวตั้งมั่นว่าเราจะต้องทำงานศิลปะที่สื่อสารบางสิ่งบางอย่างกับสังคมจริงจัง ไม่ใช่แค่เรื่องสุนทรียะอย่างเดียว  โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้มาจากประสบการณ์ตรงของเราเอง คือการที่คุณพ่อเสียชีวิตในช่วงที่แพรวเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน

พ่อแพรวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งซึ่งเกิดจากการหักโหมทำงานหนัก คุณพ่อเป็นคนมีความคิดว่าการทำงานหนักมากจะทำให้เราประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ถูก คุณพ่อทำงานได้ทั้งเงินและชื่อเสียง แต่ขณะเดียวกันก็แทบไม่ได้พักผ่อนและมีความเครียด แพรวเห็นเรื่องนี้มาตลอด และพบว่าท้ายที่สุดหนทางที่คุณพ่อเชื่อว่าทำให้ประสบความสำเร็จก็กลับมาทำร้ายร่างกายคุณพ่อเสียเอง นั่นทำให้เราตั้งคำถาม ทำไมเราต้องทำงานหนักขนาดนี้ เงินคือสิ่งเดียวที่นิยามความสุขหรือความสำเร็จในชีวิตเราจริงหรือ เราทำงานศิลปะก็เพื่อชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเหล่านี้

แต่บางคนก็ไม่ได้มองความสำเร็จจากเม็ดเงิน เพียงแต่เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมายังชีพ การเข้าถึงการศึกษาก็จำเป็นต้องใช้เงินไม่ใช่หรือ 

ใช่ค่ะ แพรวมองว่านี่เป็นเรื่องของการบาลานซ์ตัวเราเอง เราปฏิเสธเงินและทุนนิยมไม่ได้ แต่เราจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข สิ่งที่แพรวอยากสื่อสารก็คือ ยิ่งเราหาเงินมาได้มากเท่าไหร่ เรายิ่งกลับไม่รู้สึกพอ และทะเยอทะยานจะหาให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเรามีเงินอยู่ล้านนึง เราต้องตั้งเป้าแล้วว่าต้องมีอีกสิบล้าน ได้สิบล้านมาแล้ว ก็ตั้งเป้าจะได้ร้อยล้าน พอไม่ได้เราก็ทุกข์ และพยายามจะทำให้ได้ เหมือนตัว PAC-MAN ในเกมที่วิ่งไล่งับเม็ดสีขาวๆ ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด บางทีก็ไม่รู้ว่าเราจะไล่งับมันไปเพื่ออะไร แต่ก็หยุดไม่ได้แล้ว

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงินก็ได้ อย่างแพรวเป็นศิลปิน ก็รู้ดีว่าศิลปินทุกคนอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากไปแสดงผลงานในพื้นที่ที่ใหญ่กว่า อยากได้รับการยอมรับ มีชื่อเสียง และอยู่ในสปอตไลต์ตลอดเวลา โลกศิลปะทำให้แพรวพบว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากอัตตาของเราเอง ยิ่งเราทะยานไปสูงเพียงใด ก็จะยิ่งกดให้คนอื่นๆ ต่ำลงเรื่อยๆ และคนเหล่านั้นก็มีความพยายามจะทะยานขึ้นไปบ้าง ก็เหมือน PAC-MAN ในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง และมันก็ทำให้เราหลงเชื่อกันว่าคุณค่าของตัวเรามันเกิดจากการทำทั้งหมดนี้ ซึ่งมันไม่จริง

ก่อนที่คุณพ่อจะเสียชีวิต คุณพ่อพักผ่อนอยู่บ้าน และพ่อก็เพิ่งสังเกตว่าบ้านเรามีต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ซึ่งเป็นต้นไม้ที่อยู่มานานแล้ว คุณพ่อบอกว่าต้นไม้สวยจัง ต้นไม้ทำให้บ้านเราสวย ก่อนหน้านี้พ่อแทบไม่เคยอยู่บ้านเลย หรืออยู่ก็แทบไม่ได้สังเกตสิ่งรอบตัวเหล่านี้เลย จริงๆ แล้วความทรงจำที่สวยงามและมีคุณค่าที่สุดในชีวิต มันอาจเป็นความทรงจำที่เรียบง่ายมากๆ ประมาณนี้ก็ได้

ดูเหมือนคุณจะเข้าใจโลกตั้งแต่อายุยังน้อย

แพรวไม่ได้เข้าใจมันทั้งหมด แพรวแค่ตั้งคำถามจากการได้เห็นชีวิตของคุณพ่อ จากหนังสือที่คุณพ่อเขียนก่อนเสียชีวิต (หนังสือ มองชีวิตผ่านมะเร็ง โดย ดร.วรฑา วัฒนะชยังกูร) ซึ่งคุณพ่อทบทวนชีวิตตัวเองทั้งหมดให้เราเข้าใจ ถ้าไม่ได้เกิดเหตุการณ์นั้น เราก็อาจไม่ได้มองด้วยมุมนี้ หรืออาจจะมองแต่ก็ไม่ได้คิดจะทำงานศิลปะอย่างจริงจังเพื่อสื่อสารถึงเรื่องนี้  

เป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์นัก แต่อยากรู้ว่าเคยมีคนมาพูดประมาณว่า คุณเป็นลูกคนรวย จะมาเข้าใจอะไรกับความจนหรือการกดขี่รึเปล่า 

เคยมีค่ะ เคยมีแบบที่พอได้เจอตัวจริงก็ไม่เชื่อว่าเราจะทำงานแบบนี้ เพราะเราดูเหมือนลูกคุณหนูอะไรอย่างนี้ เขาไม่คิดว่าเราเหมาะสมจะพูดเรื่องนี้

แต่ทำไมเราจะพูดไม่ได้ล่ะ ต่อให้เราไม่มีประสบการณ์ตรง แต่เรารู้สึกได้ เราพบว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา เราก็ควรพูดหรือทำอะไรสักอย่างไม่ใช่หรือ แพรวไม่ได้พูดเรื่องนี้เพราะมันเป็นเทรนด์หรือเป็นแฟชั่น แต่เราทำเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว และก็ยังตั้งใจจะทำอยู่ผ่านงานศิลปะ หรือใครจะมองว่ามันไม่ใช่งานศิลปะก็ได้ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ 

  • นิทรรศการ Unveil Escape จัดแสดงผลงานวิดีโอในซีรีส์ Performing Textiles ที่ Gallery Seescape (ถ.นิมมานเหมินท์ ซอย 17, เชียงใหม่) ตั้งแต่วันนี้-19 กันยายน โดยในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน  2019 เวลา 19.00 น. ยังมี Artist Talk ที่แกลเลอรี่ด้วย (ชมฟรี) http://www.galleryseescape.co/
  • นิทรรศการ Kawita Vatanajyankur: Foul Play จัดแสดงที่ Albright-Know Art Gallery (เมืองบัฟฟาโล, รัฐนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา) จัดแสดงผลงานวิดีโอในซีรีส์ Tools และ Performing Textiles ตั้งแต่วันนี้-22 กันยายน 2019 www.albrightknox.org/art/exhibitions/kawita-vatanajyankur-foul-play

Fact Box

กวิตา วัฒนะชยังกูร จบการศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ (จิตรกรรม) จาก RMIT University, เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มีงานแสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 2011 จากนั้นก็มีผลงานนิทรรศการปรากฏอยู่ในแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำทั้งในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ไทย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน ติดตามผลงานของเธอได้ที่ https://www.kawita-v.com