นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่คนรักหนังและคนทำหนังไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง กับกิจกรรม Roundtable ในวันที่ 4-7 กรกฎาคมนี้ ที่จัดในช่วงเวลาเดียวกับ Bangkok Asian Film Festival (3-8 กรกฎาคม) ด้วยความตั้งใจว่าจะเป็นพื้นที่กิจกรรมคล้ายเทศกาลหนังใหญ่ๆ อย่างที่คานส์ เบอร์ลิน หรือปูซาน ที่นอกจากฉายหนังที่น่าสนใจแล้ว ยังมีกิจกรรมพูดคุยและเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมด้วย

Roundtable มีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ ‘panel’ ซึ่งมีเวทีเสวนาของผู้กำกับหนังไทยและผู้กำกับหนังจากประเทศอาเซียนตั้งแต่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รวม 3 เวที ในหลายประเด็นที่น่าสนใจ ‘workshop’ ที่ชวนให้ผู้สนใจลองมาทำหนังสั้นในเวลาอันจำกัด ลองศึกษางานโปรดิวซ์ และงานวิจารณ์ภาพยนตร์ รวมถึง ‘spotlight’ ที่ชวนคนทำหนังซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในสายเทศกาลอย่าง พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับ กระเบนราหู และในสายมหาชนอย่างสองผู้บริหาร GDH มาพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และวิธีการในทางของตัวเอง

งานนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของ 2 คนทำหนังอย่าง จุ๊ก—อาทิตย์ อัสสรัตน์ (ผู้กำกับ SUNSET ใน 10 Years Thailand) แห่งภูริน พิกเจอรส์ มูลนิธิสนับสนุนภาพยนตร์ในอาเซียน และ นุช—พิมพกา โตวิระ (ผู้กำกับ มหาสมุทรและสุสาน) โปรแกรมมิงไดเร็กเตอร์ของเทศกาล Bangkok Asian Film Festival ที่ทั้งจัดประกวดและจัดฉายหนังที่น่าสนใจในภูมิภาคอาเซียน ด้วยเป้าหมายเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มองค์กรได้มาเป็นพาร์ตเนอร์จัดกิจกรรมร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเทศกาลหนังในบ้านเราให้ไปไกลกว่าเดิม

ความตั้งใจแรกเริ่มของ Roundtable คืออะไร

อาทิตย์: ตอนแรกเลยผมจดไว้ว่ามีสิ่งที่อยากทำ 3 ข้อ คือเราอยากเป็นเหมือนสะพานเชื่อมคนทำหนังไทยกับคนทำหนังในประเทศอาเซียน คนทำอุตสาหกรรมกับคนทำหนังอินดี้ และคนทำหนังรุ่นเก่ากับคนทำหนังรุ่นใหม่ ทั้ง 3 ประเด็นที่เขียนไว้นี้ก็จะซึมเข้าไปในโปรแกรมที่เราจัด อย่างส่วน spotlight ก็จะมี 2 ส่วนคือ GDH และผู้กำกับ กระเบนราหู ซึ่งผมดีใจมากที่เรามีสปอตไลท์จากทั้งสองฝั่ง มันคือการวางเสาเข็มว่า Roundtable เปิดกว้างสำหรับทุกคน เราสนใจทั้งหนังแมสและหนังอินดี้

เป็นคนทำหนังมันยากอะ เราต้องสู้กับคนดู สู้กับโรงหนัง สู้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราไม่ควรจะมาสู้กันเอง (หัวเราะ) ผมอยากให้ทุกคนมาจอยกันในโต๊ะเดียวกัน อะไรดีๆ มันน่าจะเกิดขึ้นนะ 

อยากให้พูดถึงความเป็นไปได้ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมหนังกับหนังอินดี้มารวมกันได้จริงๆ

อาทิตย์: เราทำได้อย่างเดียวคือเปิดช่องให้มาคุยกัน ถามว่าหนังที่พุทธิพงษ์ (อรุณเพ็ง ผู้กำกับภาพยนต์เรื่อง กระเบนราหู) ทำ กับหนังที่ GDH ทำ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ในฐานะคนจัดอีเวนต์ เราต้องการให้ผู้คนได้มาคุยกัน GDH ได้มาคุยกับสตูดิโอในมาเลเซียหรือฟิลิปปินส์ เรามาแลกเปลี่ยนกัน แล้วหลังจากนั้นเขาจะร่วมงานกันหรือไม่อย่างไรมันก็เป็นส่วนของเขา แต่เราก็จะทำหน้าที่เราตรงนี้ที่จะเปิดโต๊ะ

แล้วการเชื่อมโยงคนทำหนังไทยกับอาเซียน มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง

พิมพกา: จริงๆ แล้ว อย่างสายที่เราพยายามทำก็คือสายประกวด เรามีหนังที่หลากหลายมาก เรามีทั้งหนังสารคดี มีทั้งหนังเล่าเรื่องเลย และหนังที่เป็นแอนิเมชั่น ในปีนี้ เราอยากให้เห็นภาพรวมว่า คนทำหนังในอาเซียนมีความหลากหลาย นั่นข้อที่หนึ่ง ข้อต่อมาคือทุกคนมีความแตกต่างที่เราสามารถดึงมาพูดคุยกันได้ อย่างเช่น เราเอาหนังเข้ามาฉาย แล้วก็เชิญผู้กำกับของหนังเรื่องนั้นมาทำ Q&A ในโรงภาพยนตร์ ขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็เชื่อมต่อไปยัง Roundtable ที่มีการพบปะพูดคุย ปาร์ตี้กัน นั่นก็จะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้กำกับและคนดูหนัง กระทั่งอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยก็จะได้เจอผู้กำกับที่ผลิตหนังในอาเซียน และสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดเครือข่ายที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกันต่อไป

มันคงไม่ได้ถึงขั้นที่เราจะสร้างอะไรขึ้นมา เพียงแต่ว่ากิจกรรมนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในระดับพื้นฐานมากกว่า ในเชิงว่าเรารู้จักเขา เขารู้จักเรา แล้วต่อไปใครอยากจะทำหนังแบบไหน ก็จะได้รู้ว่ามีตัวละครไหนทำอะไรกันอยู่ แล้วเขาจะเชื่อมโยงกันต่อไปในอนาคต

ไม่ใช่ว่าคนทำหนังอินดี้จะทำหนังอินดี้ไปตลอด วันหนึ่งเขาอาจจะลุกขึ้นมาทำหนังแมสแล้วเขาก็รู้แล้วว่าในการทำหนังอุตสาหกรรมมันมีรูปแบบอย่างไรบ้างในแต่ละประเทศ เขาก็อาจจะเจอหนทางที่จะทำหนังแมสในแบบที่เขาอยากทำ 

หรือนักศึกษาที่อยากทำหนังสั้น วันหนึ่งเขาอยากทำหนังยาวขึ้นมา เขาก็จะได้มองเห็นว่า อ๋อ มันมีหนังหลายแบบที่เขาจะสามารถพัฒนาตัวเองไปในทางนั้นได้ ดังนั้นในส่วนของการฉายหนังและมีทอล์ก จึงทำให้มีการแลกเปลี่ยนและการเชื่อมโยงต่อในอนาคต อย่างที่จุ๊กบอกเราอยากเป็นสะพานที่ดึงคนจากในทุกภาคส่วนให้มาเจอกัน

อาทิตย์: ผมว่าบางทีเราไม่ได้ต่างกันขนาดนั้นน่ะครับ บางทีสองฝั่งอาจจะอยู่คนละขั้วหรือเกรงกลัวว่าคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งเขาจะไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ แต่ผมเองก็เป็นคนทำหนังอิสระ และโปรแกรมก็เริ่มจากตัวผมและน้องๆ ในทีม ผมก็ถามตัวเองว่าเราสนใจอะไร เวลาเราไปดูหนังอินดี้หรือหนังเทศกาลเราก็อินกับมัน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ตื่นเต้นที่มีหนังสตูดิโอเรื่องใหม่ๆ เข้าโรง แล้วผมก็ไปดู อย่าง GDH ผมก็ติดตามทุกเรื่อง ดังนั้นเมื่อลองเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ก็พบว่าเราไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น

สำหรับงานทอล์กครั้งนี้ คุณสนใจ GDH ในแง่ไหนบ้าง

อาทิตย์: เขาเป็นองค์กรที่น่าสนใจ เขาพัฒนาคำว่าสตูดิโอในประเทศไทยจากสมัยยุคบุกเบิกที่เป็นยุคของบริษัทเถ้าแก่อยางไฟว์สตาร์ หรือสหมงคลฟิล์ม แล้วจีดีเอชเขาเปลี่ยนแปลงเกมทั้งหมดเลย เขาเป็นสตูดิโอที่แข็งแกร่งด้วยแบรนด์ของเขาเอง ผ่านมาสิบหรือสิบห้าปีหนังจีดีเอชก็มีคนไปดู เพราะเชื่อว่าถ้าดูแบรนด์นี้แล้วเขาจะไม่ผิดหวัง นี่เป็นอะไรที่ผมยอมรับและเคารพมากที่เขาทำได้ขนาดนี้ ซึ่งมันไม่เป็นความบังเอิญนะ เขาทำอะไรที่ถูกต้องอยู่ แล้วผมก็มักจะบอกกับพี่นุชตลอดว่า ถ้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะแข็งแรง มันควรจะมีบริษัทแบบจีดีเอชสัก 3-4 บริษัท แล้วก็แข่งกัน ผมว่านั่นคือเป้าหมายที่ควรจะไปถึงในสัก 10 ปีข้างหน้า 

และที่พาเขามาที่โต๊ะนี้ก็เพราะว่าอยากรู้จากคนข้างในอย่างพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) พี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) อยากรู้วิธีคิดในการเปิดภาพยนตร์แต่ละเรื่อง วิธีคิดว่าจะรักษาแบรนด์ของจีดีเอชอย่างไร ในขณะที่ก็มีการพัฒนาแบรนด์ไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้มีค่ามากๆ ต่อทั้งคนดู ต่อคนในอุตสาหกรรมหนัง ต่อคนทำหนังอินดี้ หรือทุกคนที่ไปฟัง น่าจะมีอะไรบางอย่างที่ได้กลับไปคิด

พิมพกา: ในแง่ของการทำงาน เรามองคล้ายคลึงกันว่าอะไรที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เรามองเห็นในอุตสาหกรรม เราว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอินดี้หรือแมส เวลาเรายกเรื่องอะไรขึ้นมาคุยกัน มันอาจจะเริ่มต้นว่าอะไรที่เป็นตัวแทนของสิ่งนั้นอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจงานของคนอื่น เพียงแต่ว่าเราก็มีสล็อตเวลาที่ค่อนข้างจำกัด เราจึงมองจากภาพรวมเวลานี้ก่อน ว่าอะไรเป็นเรื่องที่เราควรจะนั่งคุยกัน ทำไมที่นี่ถึงแบรนด์ตัวเองขึ้นมาได้ขนาดนี้ ทำไมหนังอินดี้เรื่องนี้ถึงได้รับรางวัลเยอะขนาดนี้ หรือทำไมตอนนี้การทำหนังสารคดีถึงเป็นที่สนใจในกระแสโลก หรือเรื่องของคนทำงานผู้หญิง นั่นเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสโลก และ Roundtable ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน 

มีวิธีคิดอย่างไรในการออกแบบ workshop 

อาทิตย์: เริ่มจากเราไปกินข้าวเที่ยงกันกับสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือเด็กที่ยังเรียนอยู่หรือเพิ่งเรียนจบแล้วอยากทำภาพยนตร์ แล้วเราก็ถามว่า ถ้าเราจัด Roundtable สำหรับพวกคุณ พวกคุณสนใจอะไรบ้าง อยากให้โปรแกรมมันเป็นยังไง แล้วในอาทิตย์เดียวกันเราก็ไปกินข้าวเที่ยงกับหอภาพยนตร์กับคนที่เป็นรุ่นใหญ่ในวงการ แล้วก็ถามเหมือนกันว่าถ้าเราจะจัดกิจกรรมนี้ คุณอยากให้มีอะไรบ้าง แล้วก็เอาความคิดเห็นของคนจากทั้งสองวงอาหารมาจัดโปรแกรม แล้วอีกส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมเองสนใจด้วย

ปีแรกนี้เป็นปีทดลอง เราก็หว่านกว้างๆ ไว้ก่อน อย่างกิจกรรม 48 hours film challenge ที่จะให้คนมาลองทำหนังสั้นๆ ให้เสร็จภายในเวลา 48 ชั่วโมง ผมเคยไปร่วมกิจกรรมนี้ที่ต่างประเทศมาแล้วสนุกดี มันมันส์ดี ก็เลยเอามาจัดที่นี่ หลายคนคิดว่าเวลาทำหนังจะต้องใช้ทุนเยอะ ใช้เวลานาน เราเลยอยากลองให้มาทำหนังในเวลา 48 ชั่วโมง ลองคิดนอกกรอบ เราคิดว่ามันจะกระตุ้นให้คนทำหนังลองคิดในแบบอื่นๆ ดู ปีนี้เราก็ปูทางก่อน ลองดูซิว่าอะไรมันโดนอะไรไม่โดน แล้วเดี๋ยวปีหน้าค่อยปรับกัน

เท่าที่ได้ดูหนังจากคนรุ่นใหม่มาอย่างหลากหลาย หนังของคนรุ่นใหม่มีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

พิมพกา: สิ่งที่เราสนใจคือคนทำหนังสั้นมักจะทำประเด็นการเมืองมากกว่าคนทำหนังยาว นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึก ขณะเดียวกันหนังสั้นของเด็กที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยกับคนที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็จะต่างกันมาก บางคนอาจจะสนใจรูปแบบที่มันทดลอง หรือการพูดถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ คนเจนใหม่ เราจะเห็นสไตล์ที่อาจจะอยากเป็นแบบนวพล ขณะเดียวกันมันก็จะมีหนังที่อยากนอกกรอบออกไป อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหา แต่เป็นเรื่องวิธีการ หรือการพยายามแตะอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย 

ซึ่งโดยรวมๆ เรามองว่า ทั้งหมดทั้งมวลมันมีความหลากหลาย วิธีทำงานหลากหลาย รูปแบบและทิศทางที่หลากหลาย ขณะเดียวกัน เราก็อยากมีพื้นที่ให้เขาพรีเซนต์ตัวเองด้วย เราเองก็ผ่านการเป็นคนทำหนังสั้นหรือทำหนังอินดี้ เรารู้สึกว่ายุคนี้คนมีอิสระพอสมควรเลยล่ะในการทำหนังสั้น มันมีพื้นที่ มีประกวด มีเวิร์กช็อปต่างๆ มากมาย มีงานให้จัดฉายจำนวนมาก เราว่านี่เป็นยุคทองของคนทำหนังสั้น เพียงแต่ว่าสเต็ปหลังจากนี้ต่างหากล่ะที่คุณทดสอบตัวเองว่าจะเปลี่ยนมาเป็นคนทำหนังยาวได้ไหม มันจะมีพื้นที่ให้เขามากพอหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดแล้วมันเป็นพื้นที่อีกอย่างหนึ่ง เมื่อทำหนังยาวก็อาจจะต้องฉายในภาพยนตร์หรือไปในเทศกาลหนังนานาชาติ นี่เป็นการขยับไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง

อาทิตย์: เราเลยหวังว่าเวิร์กช็อปของเรานี่แหละจะช่วยให้คนที่ทำหนังสั้นได้เห็นกระบวนการ และพอนึกภาพออกว่าหากต้องทำหนังยาวพวกเขาจะเริ่มจากตรงไหน และไปในทิศทางไหน

สำหรับภูรินพิกเจอรส์เอง นอกจากให้ทุนในการทำหนังและจัด Roundtable แล้ว เราก็ยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราทำมาแล้ว 2 ปี นั่นก็คือการพาเด็กที่เรียนหนังอยู่ปี 4 แล้ว หรือเพิ่งจบ จำนวน 5 คน ไปเทศกาลภาพยนตร์ปูซานในเดือนตุลาคม เราก็คัดเลือก ส่วนตัวนี่เป็นกิจกรรมที่ผมชอบ เพราะผมเองจะได้ดูหนังสั้นเยอะจากทุกสถาบัน แล้วก็เลือก 5 คนจากแต่ละสถาบัน ปกติที่เห็นได้ว่าค่อนข้างแข็งแรงก็จะมีจุฬาฯ ไอซีที (ศิลปากร) ลาดกระบัง รองลงมาหน่อยก็จะมีรังสิต ม.กรุงเทพ มศว. ฯลฯ เราก็จะเห็นค่อนข้างหลากหลาย

หนังสั้นนี่ส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็โอเคนะ เพราะการทำหนังมันก็เป็น self expression อย่างหนึ่ง มันก็ไม่ได้ผิดอะไรที่ทุกคนจะเริ่มจากเรื่องส่วนตัว ความรัก ครอบครัว เพื่อน พยายามฆ่าตัวตาย ฯลฯ อะไรแบบนี้ และสองสามปีที่ผ่านมา ก็เห็นด้วยกับพี่นุชว่าจะมีเรื่องการเมืองค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราอยู่ในยุคที่การเมืองกับเรื่องส่วนตัวมันเป็นเรื่องเดียวกันแล้วแหละ มันแยกไม่ออก 

พิมพกา: ยังไงก็ต้องลองมาเวิร์กช็อปดู (หัวเราะ) จะได้รู้ว่าสเต็ปจากการทำหนังสั้นไปหนังยาวแล้วมันมีอะไรบ้าง ต้องทำยังไง

หลายคนที่เคยมีพลังมากๆ แต่พอเรียนจบแล้วต้องทำงานอื่นๆ เลยไม่ได้ทำหนังอีกต่อไปแล้ว อยากบอกพวกเขาว่าอะไร

พิมพกา: เราก็ผ่านจุดที่เป็นแบบนั้น เราเรียนภาพยนตร์และจบมาก็ทำหนังสั้น แล้วก็มีช่วงที่เราท้อ เพราะมันต้องดีลกับภาวะหลายอย่าง ทั้งเรื่องทุนและกระบวนการการทำหนัง และภาวะในเรื่องของตัวเอง คือเราคิดอย่างนี้ ถ้าเราจะทำหนัง อย่าตั้งธงว่าเราจะต้องเพอร์เฟ็กต์ที่สุด ณ เวลานั้น การทำหนังมันคือการทำไปเรื่อยๆ เมื่อไรที่เราหยุด เราอาจจะไม่ได้ไปต่อ 

การเรียนมันก็สอนเราส่วนหนึ่ง แต่การเรียนรู้มันเกิดจากกระบวนการที่เราได้ลองทำ แล้วเมื่อไรที่เราไม่ได้ทำเรื่องแรก เราจะไม่เห็นว่าเรื่องที่สองต้องทำยังไง แล้วถ้าเราไม่ทำเรื่องที่สอง เราก็จะไม่เห็นว่าเรื่องต่อๆ ไปต้องทำยังไง แล้วอย่าเพิ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าเรื่องแรกแล้วต้องสุดยอด มันก็มีแหละคนที่ทำเรื่องแรกแล้วก็เป็นมาสเตอร์พีซเลย แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนไง นั่นแปลว่าถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ เราก็จะไม่ได้เรียนรู้ว่าจะทำยังไงให้มันเป็นหนังในแบบที่เราอยากทำ

และจริงๆ แล้วเราควรจะเอาพลังที่เราเหนื่อยจากการทำงานประจำ การทำฟรีแลนซ์นี่แหละ มาทำภาพยนตร์ อันนั้นมันจะทำให้เราได้ปล่อยพลังออกมา เพราะท้ายที่สุด การทำหนังมันเยียวยาเราเหมือนกันนะ เพราะเรื่องบางเรื่องเราพูดไม่ได้ในที่ทำงาน เราก็มาเล่าในหนัง เราอึดอัดกับชีวิต เราก็เอามาเล่าในหนังได้ ไม่ว่าจะสิ่งที่เราลำบากใจหรือสิ่งที่เราชอบ มันกลายเป็นวัตถุดิบได้ในการจะพรีเซนต์ตัวเองออกมา 

และมันต้องเริ่มเลย ถ้าเราจะทำหนังก็ต่อเมื่อรอให้ทุกอย่างมันพร้อม มันเพอร์เฟ็กต์ ต้องทำเงิน มันยากมาก มันต้องใช้การเริ่มต้นก่อนที่จะนำไปสู่สิ่งนั้น แล้วความกลัวว่าคนจะดูหรือไม่ดูหนังของเราหรือใดๆ ก็ตามมันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เริ่มสักที

อาทิตย์: เวลาคุณทำหนังสั้นหรือหนังเรื่องแรก คุณยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสไตล์ของคุณคืออะไร ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องนั้น ทำมันออกมาให้เสร็จก่อนแล้วค่อยว่ากัน ตอนนี้มันมีช่องประมาณนี้ที่แต่ละคนอาจจะถนัด แล้วถ้าสมมติคุณโชคดีเหมือนกรณีพี่โต้ง บรรจง ที่สิ่งที่คุณถนัดมันกลายเป็นสิ่งที่เข้าหาคนดู แต่ถ้าคุณโชคร้าย เหมือนผมเอง ที่สิ่งที่ผมถนัดคนยังไม่ค่อยดูเท่าไหร่ เราก็ต้องดีลกับมัน ผมก็ไม่ได้คิดว่าผมจะต้องไปทำในสิ่งที่ผมไม่ถนัด ผมเพียงแต่อยากเดินทางไปเรื่อยๆ ในฐานะคนทำหนัง และหาช่องทางที่มันจะเวิร์กกับชีวิตเราและสิ่งที่เราถนัด ผมไม่เชื่อในการพยายามบิดหนีสิ่งที่เราถนัด เพราะผมคิดว่ามันจะไม่ดีเท่าไหร่ 

Fact Box

ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรม Roundtable ได้ที่ http://www.purinroundtable.org 

และ https://web.facebook.com/purinpictures/