ขณะที่ ‘ละครไทย’ ยังคงมีภาพจำว่าย่ำอยู่กับแนวเดิมๆ มีพระเอก-นางเอกอยู่ไม่กี่แบบ นางร้ายยิ่งน้อยแบบและไม่พ้นต้องปากแดง แต่จนถึงปัจจุบัน ละครไทยได้แผ่ขยายกลุ่มผู้ชมออกไปกว้างขวางจนถึงต่างแดน หลายเรื่องนั้นจะบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ก็ว่าได้ —ได้อย่างไร? หรือนำไปสู่อะไร? เราลองชวนผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยเรื่องนี้กันโดยเฉพาะ

ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้จากเฟสแรกคือ ‘การศึกษาเรื่องการบริโภคละครไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน : กรณีศึกษาในพม่า กัมพูชา และเวียดนาม” มาจนถึงเฟสที่สองเรื่อง “การบริโภคละครไทยทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย” ที่พบว่าประเทศต่างๆ ทั้งหลายนี้ บริโภควัฒนธรรมสมัยนิยมของไทยในเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป

“เราเริ่มสนใจละครไทยจากตอนที่เห็นละครไทยเริ่มส่งออกไปจีนในปี 2553 แล้วคนไทยก็เริ่มตื่นเต้นว่าละครไทยเนี่ยนะ ละครตบตี เมียหลวงเมียน้อยเนี่ย ทำไมถึงไปจีนได้ อย่างเมื่อปี 2555 ละครเรื่อง สงครามนางฟ้า ดังมากเลยในประเทศจีน กระแสในไทยก็เริ่มตื่นตัวว่าละครไทยมีดีขนาดที่คนจีนต้องมาดูเลยเหรอ”

ผศ.ดร.อัมพร เริ่มจากจุดนั้นแล้วจึงเริ่มทำวิจัยในเฟสแรกซึ่งเป็นเฟสของการศึกษาบริบทของละครไทยในประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพื่อที่จะเข้าใจว่าผู้ชมในต่างวัฒนธรรมแปลความหมายของละครไทยอย่างไร พฤติกรรมธรรมดาอย่างการดูโทรทัศน์สามารถนำไปสู่ความเข้าใจว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนคิดเห็นและมีมุมมองต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะส่งเสริมนโยบายที่จะมีร่วมกันในเชิงสังคมและวัฒนธรรมได้ในอนาคต

ขณะที่ประเด็นใหญ่อื่นๆ อย่าง ทำไมเกาหลีใต้ถึงประสบความสำเร็จในการส่งออกซีรี่ย์จนหลายประเทศติดกันงอมแงมก็อยู่ในขอบเขตของการวิจัยด้วย นอกจากนโยบายของรัฐบาลเกาหลีที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเป็นวัฒนธรรมชาติและไหลไปอยู่ในใจไทยทั่วหล้าและอาณาจักรอื่นๆ ได้ ยังมีความพีคในการวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง การสร้างคาแรคเตอร์และเนื้อหาความเป็นสากลเพื่อส่งออกซีรี่ย์ที่เราเฝ้าดูอปป้า-อนนี่กันจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน

แม้ว่าละครไทยจะไม่ได้ตั้งใจจะไปฉายแสงในต่างประเทศเหมือนที่เกาหลีวางแผนเพราะเน้นขายตลาดในประเทศ แต่ในปัจจุบันที่มีช่องทางการเสพสื่อมากขึ้นกว่าเดิม อินเทอร์เน็ตเปิดน่านน้ำที่สำคัญให้ละครไทยมีเฉดที่หลากหลายมากขึ้นเพราะผู้ผลิตเริ่มเห็นว่าของมันขายได้แม้จะไม่ต้องผ่านโทรทัศน์โดยเฉพาะช่องหลัก (ที่มักมีกรอบความคิดแบบเดิมกำกับอยู่) การไหลข้ามพรมแดนของละครทางอินเทอร์เน็ตนี้จึงน่าสนใจ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงไปของบทบาทหญิง ชาย และการแสวงหาตัวตน ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในละครเนื้อหาแซบถึงทรวง

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ตลาดละครไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้นแค่ไหน บทละครไทยจะพัฒนาไปอีกไกลหรือเปล่า และละครไทยในยุคนี้จะสามารถส่งออก ‘ความเป็นไทย’ แบบร่วมสมัยไปสู่สากลได้หรือไม่ อย่างไร มาอ่านไปด้วยกันค่ะคุณผู้ชม

ละครไทยในสายตาของผู้ชมต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

จากที่ได้ทำวิจัยในเวียดนาม กัมพูชา พม่า (ไม่รวมลาว เพราะคิดว่าลาวรับสื่อไทยตลอดเวลาอยู่แล้ว) ข้อค้นพบที่ได้ก็คือว่าประเทศเหล่านี้รับละครไทยหลายรูปแบบ มีทั้งผู้ชมที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า ช่องทางการรับชมก็ทั้งแบบที่มีการนำเข้าอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขณะที่ประเทศไทยได้กำไรจากการส่งออกไปฉายโทรทัศน์ในเวียดนาม กัมพูชา แล้วก็เริ่มไปในพม่าด้วยแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีการดูแบบเถื่อนตลอดเวลาอยู่แล้ว 

อย่างชาวไทใหญ่ในประเทศพม่าก็ดูละครไทยมาตลอด 20 ปี หรือในกัมพูชาและเวียดนามจะดูจาก VCD ที่อัดมาแล้วไปพากย์เอาเอง (dubbing) รวมทั้งช่องทางแบบไม่เป็นทางการอีกแบบหนึ่งคือการที่กลุ่ม Fansub (กลุ่มแฟนคลับในประเทศต่างๆ ที่แปลละครเป็นภาษาในประเทศของเขาเอง) เอาไปแปลเป็นภาษาต่างๆ มีทั้งคนที่ทำธุรกิจในประเทศต่างๆ เอาไปอัดเป็น VCD เถื่อนขายแล้วก็มีกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการกำไรอะไร แต่ชื่นชอบนักแสดงในละครไทยเลยเอาไปแปลให้แฟนๆ ด้วยกันดู

จากเฟสแรกที่ทำนี้ เราค้นพบว่าคนเหล่านี้รับละครไทยเพราะเหตุผลของความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม (cultural proximity) ค่อนข้างเยอะ คนกัมพูชาชื่นชอบละครไทยมากเลย ถ้าช่วงไหนละครไทยหยุดออกอากาศนี่มีคนร้องไห้เลยนะ เหมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตน่ะ 

อะไรที่ทำให้ละครไทยเป็นที่นิยมในประเทศเพื่อนบ้าน

ประเทศเหล่านี้ไม่ผลิตคอนเทนต์ในประเทศของตัวเองมากนัก เพราะไม่ติดตลาด เทคโนโลยีหรือเทคนิคการผลิตยังไม่ทันสมัยพอเลยต้องใช้การนำเข้า พอนำเข้ามาในระยะเวลาหนึ่งก็จะชินกับรสนิยมแบบนี้ แล้วก็มีเรื่องของวัย ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม และรสนิยมด้วย

อย่างเช่นคนไทใหญ่จะมองว่าคนพม่า ไม่สวย อ้วน แต่คนไทยหุ่นดี สวยกว่าพม่า ผู้ผลิตในพม่าเองที่ผ่านมาก็มีผลิตแค่ซีรี่ย์สั้นๆ 5 ตอนจบ เวียดนามมีละครยาว แต่วงการละครของเวียดนามเพิ่งจะเริ่มพัฒนาขึ้นมา แล้วเขาบอกว่าแอ็คติ้งหรือเทคนิกต่างๆ ยังไม่ดี 

ละครไทยกลายเป็นแหล่งความบันเทิงที่สำคัญที่สุดเพราะว่าผู้ชมเพื่อนบ้านดูของเกาหลีแล้วบอกว่าไม่ชอบ อย่างคนกัมพูชาบอกว่ามันไม่ชัดเจน เกาหลีเน้นการเก็บอารมณ์ไว้ในใจมากกว่า แต่ละครไทยมีการแสดงอารมณ์ที่ชัดเจน คือการแสดงออกทางสีหน้า ทางอารมณ์ ซึ่งมันเป็นอารมณ์ร่วมที่เสพกันได้ 

อารมณ์ร่วมที่ว่าคืออารมณ์แบบไหน มันสะท้อนอะไร

สิ่งที่เราวิเคราะห์คืออารมณ์แบบพระพุทธศาสนา คือการที่เรามีคนดี คนชั่วชัดเจน เราไม่ต้องตั้งคำถามกับมันว่าทำไมนางร้ายถึงได้ร้าย เพราะมันชัดเจนอยู่แล้วว่าร้ายก็คือร้าย ไม่ต้องมีที่มาที่ไปใดๆ แก่นเรื่องที่มันร้อยด้วยพุทธศาสนาหรือศีลธรรมมันสำคัญต่อผู้ชมในภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้นในเฟสต่อไปเมื่อพูดถึงผู้ชมใหม่ๆ ในฟิลิปปินส์ ในอินโดนีเซีย จีน เขาจะไม่รับอุดมการณ์เหล่านี้แล้ว

นั่นหมายถึงในแต่ละพื้นที่ก็รับละครไทยเข้าไปในรูปแบบที่ต่างกัน

ตอนที่เริ่มทำวิจัยเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าการที่เราจะส่งออกละครไทยไปตลาดต่างประเทศ เราจะมองตลาดอาเซียน รวมทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวันเป็นตลาดเดียวไม่ได้ เรารู้ว่าถึงแม้ว่าละครไทยจะมีแพทเทิร์นเรื่องศีลธรรมจรรยา หรือแก่นเรื่องทางพุทธศาสนา มีการบอกเล่าอุดมการณ์ความรักผ่านศีลธรรม แต่ประเทศที่รับไปก็ตีความมันแตกต่างออกไปตามแต่รากฐานของวัฒนธรรม ตามทุน ตามวัย การศึกษาของแต่ละกลุ่มด้วย 

อย่างในพม่าก็น่าสนใจ ในยุคที่เก็บข้อมูล พม่าชอบละครผีของไทยมากเลย ผู้จัดจำหน่ายบอกว่าคนจะแย่งกันลงโฆษณาเวลาที่ออนแอร์มากกว่าละครรัก มันทำให้เขาต้องสั่งซื้อละครผีมาไว้ในสต็อกเยอะมาก ก็น่าสนใจว่าผีไทยเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับคนพม่าค่อนข้างเยอะ

แล้วผีของไทย เนื่องจากมันถูกร้อยด้วยความรักมันก็จะเป็นผีรอรัก รอจากชาติที่แล้ว ผีแก้แค้น ผีถูกกระทำ ฉะนั้นมันค่อนข้างตอบอุดมการณ์ความรักที่รอคอยไปเพื่อจะได้สมหวัง แล้วมันก็ตอบอุดมการณ์ศาสนา ตอบสนองสภาวะของผู้หญิงในภพปัจจุบันที่ไม่ได้ผู้ชายมา แต่ต้องได้มาในภพที่เป็นผี นี่ก็เป็นสิ่งที่คนพม่า คนกัมพูชาชอบมาก 

แล้วผู้ชมในประเทศเพื่อนบ้านรับเมสเสจจากละครไทยแบบเดียวผู้ชมในไทยไหม

เท่าที่คุยกับคนดูในกัมพูชา เขาก็จะอ่านเรื่องได้ตรงเป๊ะเลยกับอุดมการณ์ที่เราใส่ลงไป เช่น เรื่องละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า ที่นุ่น วรนุชเล่น เขาก็ยังอ่านมันเป็นเรื่องของศีลธรรมจรรยาเลยว่าแม่ คือตัวละครลำยองนั้นไม่ดี แต่ลูกดีมากเลย สอนให้รู้ว่าความกตัญญูรู้คุณเป็นสิ่งที่ดี หรือเรื่อง อย่าลืมฉัน ที่แอน ทองประสมเล่นกับติ๊ก เจษฎาภรณ์และก้อง สหรัฐ เป็นเรื่องรัก แต่คนกัมพูชาจะอ่านความหมายของมันแบบศีลธรรม ว่าสอนให้รู้ว่าผู้หญิงที่ดีต้องเป็นผู้หญิงที่ครองตัวอยู่ในความบริสุทธิ์เหมือนแอน คือถึงจะแต่งงานกับสามีแก่คราวพ่อเพื่อจะเลี้ยงดูลูกและใช้หนี้แทนพ่อแม่ตัวเอง แต่ยังคงมีความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องของศีลธรรมมากๆ 

หรือแม้กระทั่งเรื่อง สามีตีตรา ที่พลอย เฌอมาลย์ เล่นกับโป๊ป ธนวรรธน์ ก็ยังสอนเลยว่าของของเพื่อน หรือของคนอื่นไม่ต้องมาเอาเป็นของเรา คือมันมีการตีความในเชิงศีลธรรมที่เข้ากับการใส่รหัสของไทยค่อนข้างเยอะ คือการเล่าเรื่องความรักผ่าน ‘หญิงดี-หญิงไม่ดี’ น่ะ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่เพื่อนบ้านซึมซับได้เยอะมาก แล้วอุดมการณ์นี้มันไม่เคยหายไป แม้กระทั่งเรื่อง บุพเพสันนิวาส คนจะมองว่าโห นี่ฉีกแนวมากเลย ร่วมสมัยมากที่ทำให้นางเอกเป็นคนฉลาด เป็นคนชิค แต่จริงๆ แล้วการที่การะเกดได้เข้าไปอยู่ในร่างของเกศศุรางค์ มันก็คือการเปลี่ยนหญิงร้ายให้กลายเป็นหญิงดี

ส่วนในพื้นที่ที่วัฒนธรรมไม่เหมือนกันมากนัก อย่างเวียดนามใต้ ก็จะรับละครไทยและชอบดูทุกแนว รับสารได้ค่อนข้างชัดเจน แต่ในกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่จะไม่ชื่นชอบละครไทยที่ตบตี เมียหลวงเมียน้อย ชิงรักหักสวาทอีกต่อไป อาจจะมีบ้างที่มาดูละครเหล่านี้เพราะดาราที่ตัวเองชอบเล่น เช่น มาริโอ เมาเร่อ ที่ดังมากๆ ถ้าเล่นเรื่องไหน เขาก็จะยังดูอยู่ถึงแม้จะเป็นละครดราม่า แต่ในจีนก็มีการปฏิเสธแพทเทิร์นแบบนี้โดยแปลงให้มันเป็นเรื่องตลกขบขัน เช่น จะมีคำกล่าวว่าดูละครไทยต้องไม่ใช้สมอง (หัวเราะ) เพราะว่าถ้าใช้สมองแล้วดูจะไม่เก็ตเลย หรือดูละครไทยแล้วสูญเสียสามัญสำนึก

ขนาดนั้นเลย?

เขาจะมีเว็บไซต์ที่เข้าไปคอมเมนต์แล้วขึ้นจอได้เลยว่า ‘หูหนวกแบบไทย’ คือละครไทยชอบมีประเภททำเป็นกระซิบกัน แล้วมีอีกคนหนึ่งยืนอยู่ไม่ไกลเท่าไหร่ แต่ทำไมถึงไม่ได้ยินล่ะ มันคือลอจิกแบบไทยน่ะ หรือการที่คนถูกรถชน ทำไมไม่โทรไป 191 หรืออะไร มานั่งร้องไห้ทำไม หรือ ‘ตาบอดแบบไทย’ คือคำที่อธิบายว่าทำไมถึงไม่เห็นล่ะ  ในละครไทยจะมีซีนที่แกล้งทำเป็นไม่เห็นกัน แต่มีคนยืนอยู่ตรงนั้นแท้ๆ หรือ ‘ของปลอมแบบไทย’ คือ นางร้ายตบตีกัน ก็จะรู้ว่าเป็นซีนที่ดูปลอมๆ คนจีนรุ่นใหม่ก็จะมองละครไทยว่าเหมาะกับการดูแบบไม่ต้องคิดอะไร ละครเกาหลีดูแล้วต้องใช้สมอง แต่ละครไทยดูแล้วห้ามใช้สมอง เพราะถ้าใช้สมองคุณจะไม่เข้าใจลอจิกของมัน ดูแล้วคุณจะหงุดหงิด 

สะท้อนได้ไหมว่ากลุ่มผู้ชมยุคใหม่หรือในหลายๆ ประเทศ เริ่มไม่ซื้อการผลิตซ้ำวาทกรรมแบบเดิมๆ

ยังไม่ได้อ่านนะว่าซีรี่ย์เกาหลีผลิตซ้ำวาทกรรมแบบเดิมหรือเปล่า เท่าที่ได้ยินมาคือคนเขียนบทชาวเกาหลีเป็นเฟมินิสต์เยอะมาก เพราะฉะนั้นเขาจะสร้างตัวละครผู้ชายที่ไม่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะผู้ชายเกาหลีในความเป็นจริงคือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่สูงมาก ดังนั้นการผลิตละครเกาหลีเลยสร้างมาเพื่อตอบสนองคนดูผู้หญิงที่ต้องการการเติมเต็ม หลีกหนีจากสิ่งที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เขาเลยสร้าง crying man(ผู้ชายที่ร้องไห้ได้เพื่อผู้หญิง) ขึ้นมาซึ่งคุณจะไปหาได้จากที่ไหนล่ะ ผู้ชายที่มันแสนดีขนาดนี้ ตัวละครผู้หญิงเกาหลีจะมีบุคลิกแบบบ้านๆ เยอะมาก มันก็ตอบสนองบริบททางสังคมแบบหนึ่ง แต่ว่ามันก็ร่วมสมัยอยู่ด้วยเพราะว่าอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ก็มีอยู่ในทุกๆ ที่

การเซ็นเซอร์ละครไทยในแต่ละประเทศเข้มงวดแค่ไหน

พูดถึงละครที่นำเข้าไปแบบเป็นทางการ ถ้าเป็นที่เวียดนามหลังๆ ก็จะไม่ค่อยเซนเซอร์มาก เพราะเขาเริ่มเปิดเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะดูละครไทยมากขึ้นด้วยนะ และความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมของเขาเองด้วย ก่อนหน้านี้ในเวียดนาม เสียงพากย์กะเทยในยุคหนึ่งก็จะไม่ถูกพากย์เป็นเสียงกะเทย แต่เป็นเสียงผู้ชายแทน หรือในจีน ถ้าเกิดกะเทยหน้าตาเป็นผู้หญิง เขาจะใช้เสียงผู้หญิงพากย์ไปเลย จะไม่มีความก้ำกึ่งตรงนี้ คนเวียดนามบอกว่ารู้จักกะเทยเป็นครั้งแรกจากการดูละครไทย คือเป็นความเข้าใจเรื่องเพศแบบใหม่ที่มันส่งผ่านละครไทย คนแก่ๆ บางคนไม่เคยเห็นเลยว่ากะเทยเป็นยังไงด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นเรื่องของการนำพาความแตกต่างทางวัฒนธรรมเข้าไปด้วย แต่ถ้าความรุนแรงที่มีปืนเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นจะถูกเซนเซอร์อยู่แล้วโดยอัตโนมัติ 

สำหรับในจีน เรื่องเซนเซอร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยุคที่ละครไทยดังมากๆ รวมถึงตอนนี้เองด้วย คือละครผีจะเข้าจีนไม่ได้เลย ฝันเห็นยายเป็นผีมาเยี่ยมก็ต้องตัดทิ้งแล้ว กะเทยไม่ได้แน่นอน สลับร่างก็ไม่ได้ การเมืองไม่ได้ เรื่องที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรม เช่น มีความสัมพันธ์แบบข้ามคืนก็ไม่ได้ ซึ่งคนที่ส่งออกต้องจ้างผู้กำกับจีนมากำกับการตัดต่ออีกทีหนึ่งซึ่งยุ่งยากมาก 

สำหรับประเทศจีน คนที่นำเข้าละครต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรม สังคม และการเซ็นเซอร์ของจีนเยอะมาก จนมาถึงปัจจุบันที่เปลี่ยนมาเป็น Web tv ละครไทยที่ส่งออกไปฉายทางทีวีจีนแทบจะไม่เหลือแล้ว และ Web tv มันทำกำไรเยอะมาก ของไทยมีบางเรื่อง เช่น Princess Hours (remake), เกมมายา, ลิขิตรัก (remake), เธอคือพรหมลิขิต (remake) ที่มีการออกอากาศแบบ simultaneous broadcasting คือออกอากาศพร้อมกันกับไทย พวกนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะต้องตัดต่อให้เสร็จทั้งหมดก่อน เพื่อที่จะส่งไปเซ็นเซอร์ในจีน พอผ่านแล้วถึงจะออกอากาศพร้อมกันในสองประเทศได้

ในหลายปีให้หลังมานี้ ละครไทยปรับตัวไปมากแค่ไหน

เรารู้สึกว่าละครไทยมีการปรับตัว เพิ่มรูปแบบขึ้นมาเยอะมากเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศเองด้วย คือช่องทีวีมีมากขึ้น ผู้ผลิตเริ่มมองหาช่องทางที่จะหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เราเริ่มเห็นละครแบบ พวกคลับฟรายเดย์เดอะซีรี่ส์ หรือของ GMM ที่ค่อนข้างเรียลมากขึ้น เราคิดว่าวัยรุ่นส่วนหนึ่งก็ดูเรื่องพวกนี้อย่างมากในช่องทางอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อใดก็ตามที่มีละครกระแสหลักฮิตๆ อย่างเรื่อง บุพเพสันนิวาส หรือ กลิ่นกาสะลอง ก็จะตามไปดูกัน

อีกข้อที่น่าสนใจมาก เราศึกษาแล้วพบว่ามีละคร 2 แบบที่คนรุ่นใหม่ในจีนหรือเวียดนามชื่นชอบชัดเจนมาก หนึ่งคือละครรีเมคจากเกาหลี เช่นซีรี่ย์ Full house วุ่นนักรักเต็มบ้าน เล่นโดยไมค์ พิรัชต์และออม สุชาร์ เรื่องนี้ทำให้กระแสละครไทยในจีนกลับมาดังได้อีกครั้งหนึ่งเพราะเรื่องนี้เลย แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จักเลยนะ

มันมีอะไรในละครรีเมคจากเกาหลี?

มันคือการทำละครให้ไม่เป็นละคร คือหนึ่ง ไม่มีองค์ประกอบของนางร้ายที่ร้ายมาแต่กำเนิด เรื่อง Full house นางร้ายไม่ได้ร้ายแบบไม่มีเหตุผลนะ เรื่องเหล่านี้ไม่มีตบตีเลย สอง มันสั้น มีการตัดต่อที่ฉับไว สาม เป็นเรื่องความรัก ความหวังของวัยรุ่น ละครไทยแบบเดิมเนี่ย ผู้หญิงจะแสวงหาความรักจากผู้ชาย ดังนั้นการต่อสู้ของเธอจะเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ผู้ชายมา แต่ว่าในละครรีเมคเหล่านี้ ผู้หญิงจะต่อสู้เพื่อที่จะแสวงหาตัวเองด้วย 

เช่น Full house นางเอกอยากเป็นนักเขียน ฉะนั้นการต่อสู้ของเธอคือการต่อสู้เพื่อที่จะรักษาบ้านไว้ และทำตามอาชีพที่เธอใฝ่ฝัน หรือว่าในเรื่อง เธอคือพรหมลิขิต ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อให้เธอได้มีอาชีพเป็นนางพยาบาลที่เธอรัก Princess Hours คือการต่อสู้เพื่อที่จะได้รับการยอมรับเพื่อที่จะได้เป็นเจ้าหญิง การถ่ายทอดพล็อตที่มันเป็นเรื่องของความรักและความหวังในชีวิตวัยรุ่น การแสวงหาตัวเอง เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ผู้ชมรุ่นใหม่ต้องการ ถ้าอยากให้ละครไทยเป็นสากล คอนเทนต์ก็ต้องเป็นสากลมากขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการส่งออก

Princess Hours

คำว่าทำให้เป็นสากลในที่นี้คืออะไร?

ในยุคเริ่มต้นก็อาจจะต้องเอาพล็อตมาจากต่างประเทศนั่นแหละ เพื่อให้มันเป็นสากลมากขึ้น เพื่อให้ถูกจริตกับผู้ชมรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบของปลอมแบบไทย หรือต้องไม่มีวลีแบบ “ดูละครไทยไม่ต้องใช้สมอง” สิ่งที่ผู้ชมรุ่นใหม่จะไม่ชอบเลยคือการที่นางเอกแอ๊บแบ๊วน่ะ จริงๆ เรื่อง Full house ก็แอ๊บแบ๊วนะ แต่เธอต้องแสวงหาอะไร ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้ได้ผู้ชายมา 

สังเกตได้ว่าทำไมเรื่อง เมีย 2018 ถึงได้ดังทั้งๆ ที่มันก็เป็นเรื่องเมียหลวงเมียน้อย เพราะมันเป็นละครรีเมคที่ไม่ใช่เรื่องเมียหลวงเมียน้อยแบบเดิมอีกต่อไป ผู้หญิงลุกขึ้นมาแสวงหาคุณค่าในชีวิตตัวเอง สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าเป็น Trendy drama ซึ่งทำให้เนื้อหาเป็นสากลมากขึ้น แล้วพอมาอยู่ในร่างของรีเมค เนื่องจากฐานผู้ชมเป็นคนไทย มันทำให้ผู้สร้างพยายามใส่ความเป็นไทยลงไปในนั้น มันเลยกลมกล่อมมากขึ้น คนไทยก็รับได้ ผู้ชมในต่างประเทศก็ชอบ

ละครรีเมคที่หยิบบทมาจากต่างประเทศ มีการใส่ความเป็นไทยลงไปอย่างไรบ้าง

เช่นใน Full house จะเห็นผ่านอาหาร มีคุณยายที่ต้องพานางเอกไปฝึกสอนการบ้านการเรือน แล้วก็ร้อยมาลัย แกะสลักฟัก เพราะฉะนั้นมันคือการผสมกันระหว่างความเป็นสากลในพล็อตเรื่อง คาแรคเตอร์ การตัดต่อถ่ายทำ และองค์ประกอบบางอย่างที่เป็นไทย ผู้ชมนอกบ้านบอกว่าบางเรื่องดีกว่าต้นฉบับด้วยซ้ำ 

นอกจากละครรีเมคแล้ว ทำไมคนรุ่นใหม่ในอาเซียนถึงชอบซีรี่ย์ Y ของไทยมาก

ถ้าพูดถึงบริบทปลายทาง ในจีน เรื่องชายรักชายเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างมาก ไม่มีทางส่งออกแบบบนดินได้เลย ในฟิลิปปินส์ก็มีข้อห้ามทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกที่บอกว่าชายรักชายเป็นเรื่องผิดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ในอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน ในเวียดนามก็มีอุดมการณ์สังคมนิยมที่ต้องผลิตลูกเพื่อป้อนประเทศในเชิงเศรษฐกิจ จีนเองไม่ต้องพูดถึงเลย ทั้งรัฐทั้งสถาบันครอบครัว อุดมการณ์ขงจื้อ 

ในประเทศเหล่านี้บริบทปลายทางยังโดนปิดกั้นอยู่มาก เพราะฉะนั้นที่ดูการที่พวกเขาดูละครไทย เลยย้อนดูสังคมปลายทางได้แบบหนึ่ง ว่าทำไมอุดมการณ์ที่ไม่ได้ถูกกำกับโดยรัฐมันถึงหลุดรอดและเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เพราะฉะนั้นความรักของวัยรุ่นแบบนี้มันเป็นความรักแบบที่ไม่ได้ถูกผลิตซ้ำในกระแสหลัก เช่น คนจีนจะบอกว่าในละครจีนจะมีแต่เทพเซียน หรือสงครามที่ทำให้รักประเทศ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ก็แสวงหาอะไรที่มันหลุดออกจากสิ่งที่รัฐอยากให้เขาเป็น

จุดไหนของกระแส Y ที่ โดนใจของคนรุ่นใหม่เหล่านี้มากๆ 

ที่น่าสนใจคือคนดูเหล่านี้ไม่ได้เป็น LGBT เป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย ผู้ชมที่เราสัมภาษณ์จะบอกว่าซีรี่ย์ Y ของไทยถูกใจคนทั่วเอเชียเลย แน่นอนว่าเรามี cute boy 2 คน ซึ่งมันใสมากน่ะ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า Y ของไทยมันตอบโจทย์ที่มันขาดหายไปในซีรี่ย์ชายรักหญิง เพราะ หนึ่ง มันเป็นเรื่องของการแสวงหาตัวเอง ต่อสู้กับตัวเองและสังคมด้วย คือก่อนจะไปสู่การยอมรับ มันจะต้องผ่านการสับสนทางจิตใจน่ะว่าทำไมมีความรู้สึกพิเศษกับผู้ชายคนนี้ แล้วการต่อสู้นั้นมันเป็นการต่อสู้กับ identity ของตัวเองและสังคมคือต่อสู้ให้พ่อแม่พี่น้องยอมรับ และต่อสู้ว่าวันหนึ่งฉันพร้อมที่จะยอมรับตัวเองไหม 

สอง ซีรี่ย์ Y ส่วนใหญ่ของไทยเป็นเรื่องในรั้วมหาวิทยาลัย คนจีนจะบอกว่านี่เป็นสิ่งที่เราไม่มีเลย วัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้องแบบนี้ หรือในเรื่อง เดือนเกี้ยวเดือน คือดังมากๆ เลยนะ มีความผูกพันดูแลกัน ซึ่งเป็นชีวิตที่ค่อนข้างจะอิสระ หลุดออกจากกรอบหลายๆ อย่าง แล้วมันก็ตลก สนุก 

เดือนเกี้ยวเดือน

สาม สาวก Y ของไทยเริ่มต้นมาจากการ์ตูน และการ ship (การจับคู่ดาราชายชาย) คู่จิ้นของเกาหลี แต่ของไทยพอปรับมาเป็นซีรี่ย์ เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่เป็นหญิงแท้  คุณจะสร้างใครให้ออกหญิงไม่ได้เด็ดขาด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในซีรี่ส์จะใช้สรรพนาม กู มึง หรือจะให้ตัวละครเรียนคณะวิศวฯ มีการมอบเกียร์ ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์มาสคิวลีนสุดๆ เลย 

ทำไมต้องเป็นมีความ masculine กันทั้งคู่

เราสัมภาษณ์คนที่ทำซีรี่ย์เรื่อง SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ของ GMM TV เขาบอกว่าสาว Y จะไม่ชอบถ้ามีใครสักคนออกหญิง เพราะเขาไม่ได้เสพมันในระดับของเพศสัมพันธ์ แต่เป็นระดับของความมุ้งมิ้งของผู้ชายสองคนที่รักกัน ดังนั้นถ้ามีคนใดคนหนึ่งออกหญิง มันจะกลายเป็นคู่เกย์ แต่สาว Y จะชอบให้เขาได้กันเอง ดีกว่าให้ผู้หญิงได้ไปใช่ไหม (หัวเราะ) ความรักของเขาทั้งคู่เป็นความรักบริสุทธิ์ ไม่มีเพศ แล้วมันซับซ้อนมาก ถ้าต่างประเทศเสพ เขาจะต้องการให้เป็นผู้ชายทั้งคู่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ในบางระดับ เขาก็จะพยายามมองหาว่าใครเป็นรุก รับอยู่ด้วยในนั้น เหมือนการจำลองภาพ heterosexual ไปอยู่ในร่างของผู้ชายสองคน 

กระแส Y จากละครไทยไปไกลขนาดไหน

ในไทยนี่สาวกสาว Y เยอะมากเลยนะ ในจีน มีเว็บไซต์กลุ่ม Fansub ที่แปลละครไทยในจีน 10 กว่ากลุ่ม แต่กลุ่มที่ดังที่สุดคือกลุ่มที่แปลซีรี่ย์ Y โดยเฉพาะ ตอนหนึ่งนี่มีคนดูสามล้าน ในขณะที่ซีรี่ย์อื่นๆ ระดับแสน แล้วเวลาดาราที่เล่นซีรี่ย์ Y ไปเมืองจีนเนี่ย คือแบบว่าสนามบินกระจกแตก ดาราไปเปิดโรงแรม แม่จีนก็จะบอกว่าต้องไม่ทำความสะอาดนะ ฉันขอพักต่อ มีคนฟิลิปปินส์ตามรอยซีรี่ย์ ขอไปพักโรงแรมเดียวกับดาราในเรื่องโซตัสเลยนะ ตามไปดู ไปกินทุกอย่างแล้วก็ชวนเพื่อนในกลุ่มออนไลน์ด้วยกันมา 

จากกรณีศึกษาเหล่านี้มันทำให้เห็นว่าผู้ชมชื่นชอบในสิ่งที่เขาหาไม่ได้ในสังคมเขา แล้วสิ่งที่หาไม่ได้มันมีทั้งความเป็นสากล ความเป็นไทย การหลีกหนีจากอุดมการณ์กระแสหลัก ดังนั้นเราควรจะตั้งคำถามว่าถ้าเราอยากส่งออกไปประเทศอื่นๆ เราจะเอากระแสรองมาเป็นกระแสหลักได้หรือ ในเมื่อละครไทยกระแสหลักถูกผลิตเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศ แล้วในที่สุดผู้ชมกระแสหลักก็ยังเป็นผู้ชมกระแสหลักอยู่ดีนั่นแหละ

ละครไทยจะส่งผลต่อการรวมตัวกันของเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างไรบ้าง

นี่เป็นประเด็นที่ตอนเริ่มต้นทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่าถ้าเราเข้าใจรสนิยมหรือบริบทในการเปิดรับทางวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เราก็จะไม่ผลิตภาพตัวแทนที่จะนำไปสู่ความไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เช่น เราอาจจะไม่สร้างผีให้เป็นผีเขมร หรือไม่สร้างภาพตัวแทนที่เพื่อนบ้านรู้สึกว่าพม่าก็เป็นผู้ร้ายตลอดเวลา 

แต่จนถึงทุกวันนี้เราคิดว่าภาพตัวแทนเหล่านี้มันไม่ค่อยมีผลกระทบกับเพื่อนบ้านเท่าไหร่ การจะมองว่าภาพตัวแทนแบบไหนที่เขาชอบและเปิดรับก็คือการเปิดให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน Regionalization (ความเป็นอาเซียน) จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเป็นอาเซียนที่หลากหลาย มันถึงได้นำไปสู่เรื่องความหลากหลายทางเพศ ทูตในจีนยังพูดเลยว่าเราไม่ต้องไปยึดติด ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มันสามารถเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่บอกว่าเรามีความหลากหลาย เปิดกว้างทางวัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรจะพร้อม

ซึ่งเราคิดว่าจากที่ผู้ผลิตในเมืองไทยในยุคนี้ที่ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศอย่างเดียว เขาเริ่มมองเห็นตลาดต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตแล้ว เพราะเริ่มมีการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่การส่งออกมากขึ้น เกิดการปรับตัวทางเทคโนโลยี ทางช่องทาง ทางเนื้อหา และโครงสร้างเยอะมาก เพราะตลาดในประเทศมันหดตัว 

เป็นไปได้ไหมที่เราอยากจะส่งออกละครไทยไปสู่สากล โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการรีเมคจากต่างประเทศ

เราคิดว่ามันมีช่องทางที่จะเอาความเป็นน้ำเน่าแบบไทยมาทำให้เป็นสากลมากขึ้นอยู่ ไม่ค่อยแน่ใจว่าถ้าเราทำแบบเกาหลีจะได้ไหม คือตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาสักหน่วยหนึ่งแล้วดูเรื่องนี้เป็นระบบไปเลย มันถึงจะนำไปสู่การส่งออก แก้ไขข้อติดขัดทางภาษี 

ผู้ผลิตก็บอกว่ามันมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การติดข้อกำหนดเรื่องภาษีต่างๆ ดังนั้นควรจะมีหน่วยงานที่นำไปสู่การลงทุนร่วม ผู้ผลิตเองบอกว่ารัฐเข้ามาช่วยก็ดี แต่บางทีถ้ารัฐเข้ามาเนื้อหามันจะกลายเป็นการรำ การฟ้อนอะไรไป และช่วงที่บุพเพสันนิวาส เป็นกระแส กระทรวงวัฒนธรรมก็พยายามจะจัดรายการต่างๆ พาไปโปรโมทในจีน ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังไม่มีใครรู้ว่าบุพเพสันนิวาสส่งออกไม่ได้ เพราะเป็นอุปสรรคที่ประเทศปลายทางด้วย ทั้งเนื้อหา อุปสรรคเรื่องช่องทาง รัฐต่อรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

แต่ท้ายที่สุดเราเชื่อว่าถ้ารัฐเข้ามาช่วยดูได้มันก็ยังเป็นประโยชน์ต่อ Creative industry ของเราทำได้อยู่แล้ว เพราะว่าผู้ผลิตต้องแสวงหาช่องทางตลาด ถ้ารัฐเข้ามาช่วยจะช่วยเสริมอะไรหลายๆ อย่างได้

Fact Box

  • ประเทศจีนเริ่มต้นนำละครโทรทัศน์ไทยเข้ามาออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2546 คือ สาวใช้หัวใจชิคาโก้ แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จในการบุกตลาดจีนจริงๆ คือเรื่อง เลือดขัตติยา ที่ออกอากาศในปี 2551 เพราะมีการแต่งตัวเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิงสวยงาม เลยทำให้ชาวจีนมองละครไทยในภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป
  • ผู้ผลิตเองก็มีส่วนที่ทำให้คนจีนรู้จักละครไทย เพราะเป็นผู้บุกเบิกออกงาน Shanghai Film Festival เมื่อ 10 กว่าปีก่อน หรือมีปัจจัยทางอ้อมอย่างการที่ซีรี่ย์เกาหลีบูมจนเกินงาม รัฐบาลจีนเลยมีนโยบายควบคุมอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศเกาหลีใต้
  • ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในชนบทของรัฐฉานไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงทุกที่ ชาวชนบททั่วไปในรัฐฉานมักจะไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์ เลยเกิดบริการโรงหนังตามบ้านเพื่อฉายละครไทยที่พากย์เป็นภาษาไทใหญ่
  • ผู้ชมในพม่า กัมพูชา และเวียดนามฝึกทักษะทางภาษาได้ผ่านละครไทย ชาวไทใหญ่ในพม่าและชาวกัมพูชาเองก็เตรียมตัวด้านภาษาไทยหากต้องการที่จะเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย ส่วนในประเทศเวียดนามผู้ชมรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ก็เรียนภาษาไทยผ่านละครไทย 
  • โครงการวิจัยสองโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้โครงการจับตาอาเซียน (ASEAN Watch) เฟสแรกในช่วงปี 2556-2558 และเฟสที่สองในช่วงปี 2560-2661

 

*ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากหนังสือละครไทยกับผู้ชมอาเซียน วัฒนธรรมศึกษาของสื่อข้ามพรมแดนในอาเซียน โดย อัมพร จิรัฐติกร

Tags: , ,