“ครอบครัวของผมมีชีวิตที่ดีในเอาชวิทซ์ ทุกความปรารถนาของภรรยาและลูกของผมถูกเติมเต็มในที่แห่งนี้ พวกเด็กๆ ใช้ชีวิตอย่างเสรีและอยู่ดีกินดี ส่วนภรรยาของผมมีบุปผาสวรรค์เป็นของเธอ สวนนี้มักมีทุกอย่างที่แปลกใหม่และน่าสนใจเสมอ”
นี่คือสิ่งที่ รูดอล์ฟ เฮิสส์ (Rudolf Höss) ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิทซ์ -เบียเคเนา (Konzentrationslager Auschwitz-Birkenau) ผู้ซึ่งถูกจดจารในฐานะหนึ่งในอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติสุดอำมหิตครั้งหนึ่งของโลก บรรยายชีวิตที่ผ่านมาระหว่างการถูกคุมขังในปี 1946 หลังอาณาจักรไรช์ที่ 3 ล่มสลายลง เหลือเพียงความพ่ายแพ้อันน่าอับอายและความน่าอดสูของ ‘ปีศาจในร่างมนุษย์’ ที่เคยเสวยสุขท่ามกลางเสียงกรีดร้องของเหยื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เป็นปกติที่อดีตอันเลวร้ายมักถูกกลบฝังเพื่อลบลืม โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง แต่สำหรับ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) ผู้กำกับสุดไอคอนิกจากเรื่อง Sexy Beast (2000), Birth (2004) และ Underskin (2013) เขาตัดสินใจหยิบเรื่องราวดังกล่าวที่เปรียบดังประวัติศาสตร์อัน ‘เน่าเหม็น’ ของครอบครัว กลับมารื้อฟื้นให้มีชีวิตอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้ความดำมืดถูกปกปิดเสมือนไม่มีอยู่จริงก็ตาม
นับว่าช่างโชคดีเหลือเกินที่โลกได้สัมผัสความปรารถนาอันแรงกล้าของเขาผ่าน The Zone of Interest (2023) หรือวิมานนาซี ชื่อภาษาไทย (เป็นการแปลที่สะสวยมาก) ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากความอึดอัดขับข้องใจราวกับเข็นครกขึ้นภูเขาตลอดการทำหนังเรื่องนี้นานเกือบ 10 ปี
จนในวันนี้ ความพยายามของเกลเซอร์ตอบแทนเขา ด้วยชัยชนะในรางวัลออสการ์ (Oscars) สาขาภาพยนตร์สากลยอดเยี่ยม (Best International Feature) และออกแบบเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound) ตามความคาดหมายของใครหลายคน
นอกเหนือจากความสำเร็จและเสียงตอบรับอันล้นหลามของภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับอดีตนิสิตผู้ร่ำเรียนศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ The Zone of Interest คือคุณูปการสำคัญ ในการทำหน้าที่เปรียบดัง ‘กระจก’ สะท้อนอดีตและปัจจุบันอย่างหมดจด ทั้ง ‘แก่นสาร’ อันไร้พรมแดน ที่ยิ่งพาเรารำลึกเหตุการณ์ใกล้ตัวชวนหายใจไม่ออก จนทำให้นั่งถอนหายใจด้วยอารมณ์ และความรู้สึกคั่งค้างที่ไม่ได้รับการปลดปล่อยตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที พร้อมกับได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า
“ไม่มีอะไรน่ากลัวกว่ามนุษย์ที่มีอำนาจอีกแล้ว”
Trigger Warning: บทความนี้มีเนื้อหาสะเทือนใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์
(1)
“ผู้ชายใส่แว่นในตู้กระจกนั้นดูไม่น่าสะพรึงกลัวเลยด้วยซ้ำ ไม่แม้แต่ดูชั่วร้ายสักนิด
“การกระทำราวกับปีศาจ แต่ผู้กระทำดูธรรมดา ดาษดื่น ไม่เหมือนทั้งปีศาจหรือซาตานเลย”
ประโยคข้างต้นนี้ คือสิ่งที่ ฮันนาห์ อาเรนต์ (Hannah Arendt) นักประวัติศาสตร์หญิงชาวยิว อธิบาย อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) สมาชิกพรรคนาซีเยอรมันระดับสูง และผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งชาวยิวไปสู่ความตายทั้งหมดระหว่างการพิจารณาคดีที่เยรูซาเล็มว่า ‘ธรรมดาอย่างไม่น่าเชื่อ’ ผ่านบทความ Eichmann in Jerusalem: A Report on the Banality of Evil ในปี 1963
สาเหตุสำคัญที่อาเรนต์แสดงความคิดเห็นเช่นนั้น เพราะเธอวาดภาพปีศาจในร่างมนุษย์ที่เป็นผู้บงการอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติว่า เขาต้องน่ากลัวหรือโหดร้ายเสมือนฆาตกรโรคจิตในหนังที่เคยดู แต่ไอช์มันน์กลับดูราวเป็นคนปกติทั่วไป แม้จะเอาแต่พูดว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการทำตาม ‘กฎหมายและคำสั่งของรัฐ’ เท่านั้น
ความคิดเห็นของเธอกลายเป็นข้อถกเถียงรอบทิศในสังคมจากความเข้าใจผิด บ้างคิดว่าเธอกำลังสนับสนุนนาซีเยอรมัน หรือลดทอนความเจ็บปวดของยิวด้วยกันเองอยู่
ต่อมา คำพูดของเธอได้รับการเรียกขานภายใต้แนวคิด ‘ความดาษดื่นของปีศาจ’ (Banality of Evil) ก่อนจะทิ้งท้ายเป็นปรัชญาอันน่าขบคิดในโลกสมัยใหม่ว่า การกระทำเสมือนปีศาจของไอช์มันน์ เกิดจาก ‘การไร้ความคิด’ หรือความสามารถในการวิพากษ์อย่างเสรีดังที่มนุษย์ปุถุชนมี
ที่กล่าวมาเสียยืดยาว เพราะความดาษดื่นของปีศาจกลายเป็นแก่นสำคัญของหนังเรื่องนี้ที่หยิบมาเล่าเรื่องครอบครัวนาซีเยอรมัน ซึ่งเกลเซอร์เองก็ยอมรับว่า เขาคิดถึงแนวคิดนี้อยู่ตลอดกระบวนการการทำภาพยนตร์
แม้ว่าภาพยนตร์จะถ่ายทอดภาพของ ‘ครอบครัวสุขสันต์’ กับ ‘บ้านในฝัน’ ท่ามกลางหมู่มวลดอกไม้และสิ่งแวดล้อมรอบตัวอันสวยงาม ปราศจากความรุนแรงสุดโต่งตามหนังแนว Holocaust ที่เคยดู แต่นั่นก็ไม่ได้ลดทอนความโหดร้ายในประวัติศาสตร์จากรายละเอียดอื่นๆ ลงเลย
ไม่ว่าจะเป็นเสียงดุด่าออกคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตามมาด้วยเสียงปืนที่ดังขึ้นเป็นระยะ ก่อนทุกอย่างจะเงียบลงด้วยเสียงกรีดร้องขอความช่วยเหลือของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
หรือแม้แต่องค์ประกอบรอบข้างของตัวละครหลัก เมื่อท้องฟ้าเต็มไปด้วยควันโขมงจาก ‘เตาเผาศพ’ แต่ครอบครัวแสนสุขกำลังยืนหัวเราะคิกคัก ราวกับ ‘ไม่รู้สึกรู้สา’ ถึงความผิดปกติเหล่านี้
ซ้ำร้าย ความแตกต่างของภาพและเสียงอย่างสุดขั้ว ยิ่งทำให้รู้สึกหายใจไม่ออก เต็มไปด้วยความขยะแขยง สะอิดสะเอียนจนอยากอาเจียน และอยากลุกหนีไปให้ไกลที่สุด
(2)
อย่างไรก็ตาม The Zone of Interest ไปไกลกว่าการนำแนวคิดความดาษดื่นของปีศาจมาใช้เล่าเรื่องในองค์รวม เพราะหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ตัวละครของเกลเซอร์มีความคิดดังมนุษย์ทั่วไป แต่พวกเขากลับจงใจใช้ความสามารถในทางที่ผิดเพื่อ ‘ผลประโยชน์’ และ ‘ความโลภ’ ของตนเองเป็นที่ตั้ง
ความชั่วร้ายดังปีศาจถ่ายทอดผ่านตัวละครในครอบครัวผู้บัญชาการนาซีอย่างสามัญธรรมดา เริ่มจากตัวละครหัวใจสำคัญของหนังอย่าง รูดอล์ฟ เฮิสส์ (นำแสดงโดย คริสเตียน ฟรีเดล – Christian Friedel) ที่จะทำให้เราจดจำเขาในบทนี้ไปชั่วชีวิต
ไม่ว่าจะสีหน้าการคุยงานอันเคร่งเครียด ที่มีรายละเอียดคือ ‘เตาเผาศพเหยื่อชาวยิว’ ตามมาด้วยบทสนทนาโค้ดลับ ‘การเก็บดอกไลลัก’ ให้มิดชิดผ่านโทรศัพท์ เมื่อแม่น้ำที่เปรียบดังสถานที่โปรดปรานของเขากับครอบครัว เต็มไปด้วย ‘เถ้าถ่านสีขาว’ จากค่ายกักกัน
ยังไม่รวมถึงภาพ ‘การล้างอวัยวะส่วนล่าง’ หลังเด็กสาวชาวยิวคนหนึ่ง เดินมาหาตามคำสั่งที่ห้องทำงาน พร้อมกับโยนกระเป๋าทิ้ง ปล่อยผมยาวสยาย และนั่งมองผู้บัญชาการนาซีคุยโทรศัพท์ ซึ่งภาพที่ฉายเพียงไม่กี่เสี้ยววินาที สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ การล่วงละเมิดทางเพศ และความย้อนแย้งขั้นสุดโต่ง เมื่ออารยันผู้สูงส่งกลับลงไปเกลือกกลั้วกับกลุ่มยิวที่มีค่าในฐานะวัตถุทางเพศ
แต่จุดไคลแมกซ์ที่สุด คงหนีไม่พ้นการพูดคุยกับภรรยาของเขาผ่านโทรศัพท์ถึง ‘วิธีการรมแก๊ส’ ผู้คนในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งราวกับเป็นเรื่องปกติ ก่อนที่เขาจะเดินหนีออกไปอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน หากรูดอล์ฟเป็นตัวละครที่อธิบายจากมุมของนาซีเยอรมนี การมีอยู่ของ เฮดวิก เฮิสส์ (Hedwig Höss) ซึ่งรับบทโดย ซานดรา ฮุลเลอร์ (Sandra Hüller) ภรรยาของรูดอล์ฟ ก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวในค่ายเอาชวิทซ์และสิ่งแวดล้อมรอบด้านอย่างตลกร้ายเลยทีเดียว
ฉาก ‘เสื้อคลุมตัวเล็ก’ ‘ลิปสติกสีแดง’ และ ‘น้ำหอมจากปารีส’ พร้อมกับเสียงก่นด่าว่า “ทำไมเสื้อของผู้หญิงยิวคนนี้ตัวเล็กเกินไป” กลายเป็นภาพจำของผู้หญิงคนนี้ที่สามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวมันเอง
ก่อนเรื่องราวทั้งหมดจะถูกโหมกระหน่ำด้วยท่าทีของเธอที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในสวนบุปผาสวรรค์ ไร้ซึ่งความสะทกสะท้านต่อเสียงโศกนาฏกรรมข้างรั้ว หรือแม้แต่ฝุ่นเถ้าเขม่าควันบนท้องฟ้า ตรงกันข้ามกับความ ‘อารมณ์ร้าย’ ของเธอที่มีต่อทาสสาวในบ้าน ผ่านคำขู่ที่ว่า จะเผาและให้สามีของเธอเอาเถ้ากระดูกของหล่อนไปโปรยทิ้งเสีย
ความเห็นแก่ตัวของเฮดวิกยิ่งประจักษ์ผ่านความภาคภูมิต่อฉายา ‘ราชินีแห่งเอาชวิทซ์’ ซึ่งเปรียบดังเครื่องสะท้อนความทะเยอทะยานของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เติบโตมากับฝ่ายซ้ายในเยอรมนี แต่เนื้อแท้แล้ว เธอแค่ต้องการมีชีวิตสวยหรู พร้อมกับบ้านในฝันและครอบครัว แม้ต้องแลกกับความตายของผู้คน หรือการยอมห่างไกลจากสามีของเธอที่ได้รับคำสั่งให้ไปทำงานที่อื่น เพื่อจะได้ครอบครองอาณาจักรแห่งนี้เหมือนเดิม
“คุณทำแบบนี้กับฉันไม่ได้! เรากำลังใช้ชีวิตแบบที่เราวาดฝันไว้”
เฮดวิกระเบิดอารมณ์ใส่สามีของเธอ หลังได้ยินคำสั่งย้ายงาน พร้อมบอกให้เขาทำทุกอย่างเพื่อแลกกับการให้เธอได้อยู่ที่แห่งนี้ แม้แต่การพูดคุยกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำสูงสุดพรรคนาซีก็ตาม
ทั้งหมดนี้ The Zone of Interest หรือ Interessengebiet ในภาษาเยอรมัน จึงอาจไม่ได้หมายถึง ‘เขตหวงห้ามรอบค่ายกักกัน’ เพียงเท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญสอดแทรกว่า บ้านเล็กๆ แห่งนี้ยังเปรียบดัง ‘พื้นที่แสวงหาผลประโยชน์’ ของผู้มีอำนาจบางกลุ่มอีกด้วย
(3)
นอกจากปีศาจในร่างมนุษย์ที่ดูธรรมดา เกลเซอร์ยังใส่สัญญะอื่นๆ ผ่าน 2 ตัวละคร ได้แก่ เด็กผู้หญิงในความมืด ที่เปรียบเสมือน ‘ความหวัง’ ของมวลมนุษยชาติ และลินนา เฮนเซล (Linna Hensel) แม่ของเฮดวิก รับบทโดย อิโมเกน ค็อกก์ (Imogen Kogge) ภาพแทนของหญิงผู้ไม่รู้ประสีประสาทางการเมือง
เด็กผู้หญิงที่ปรากฏตัวเด่นชัดในความมืดมิด ดูผิวเผินราวกับวิญญาณ แต่จริงๆ แล้ว เธอคือมนุษย์ผู้มอบความหวังในการชีวิตให้กับชาวยิวในค่ายกักกัน ด้วยการแอบใส่แอปเปิลลงในดินเพื่อเป็นอาหารประทังชีวิต ก่อนจะเล่นบทเพลงที่พูดถึง ‘เสรีภาพ’ ลึกลับด้วยใจเลื่อนลอย
สำหรับฉากนี้ เกลเซอร์เฉลยกับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า ผู้หญิงคนนี้มีตัวตนอยู่จริง เธอคือ อเล็กซานเดรีย (Alexandria) คุณยายวัย 90 ปี ผู้ซึ่งเคยทำงานให้กับฝ่ายต่อต้านของโปแลนด์ในวัย 12 ปี และพบเนื้อเพลงปริศนาจากนักโทษนิรนามที่ชื่อว่า โทมัส วูฟ (Thomas Wolf)
ผู้กำกับชาวอังกฤษเล่าต่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในการถ่ายทำครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า จักรยาน หรือแม้แต่บ้าน ก็เป็นของคุณยายอเล็กซานเดรียจริงๆ แม้จะรู้สึกเศร้าที่เธอจากไปภายในไม่กี่สัปดาห์หลังเขามีโอกาสพูดคุยด้วยไม่มาก แต่การกระทำของเธอทรงพลังในฐานะสัญญะแห่งการต่อต้าน และเปรียบดังแสงสว่างในความมืดมิดทั้งมวล
มากกว่านั้นในมุมมองของผู้เขียน ความสว่างของอเล็กซานเดรียยิ่งทำให้ ‘ด้านมืด’ จากเด็กๆ ของครอบครัวเฮิสส์เด่นชัดขึ้นไม่ต่างกัน เมื่อลูกของรูดอล์ฟและเฮดวิกที่รุ่นราวคราวเดียวกับเธอ แสดงอากัปกิริยาแปลกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและอาชีพการงานของพ่อ ทั้งการเลียนแบบเสียง ‘ซี่’ ระหว่างที่ผู้เป็นพี่ขังน้องในเรือนเพาะชำ หรือแม้แต่การทำเสียงเหมือนคนขาดอากาศหายใจได้อย่างน่าขนลุก
ขณะที่ลินนา ตัวละครแม่ของเฮดวิก คือภาพแทนของผู้ไม่ประสีประสาทางการเมือง ทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านรอยยิ้มของเธอเมื่อได้ยินความสุขสบายของเฮดวิก ในฐานะราชินีแห่งเอาชวิทซ์ และบทสนทนาเชิงตลกเหน็บแนมถึงอดีตเจ้านายชาวยิวในค่ายกักกัน
“บางที ยัยเอสเธอร์ ซิลเบอร์แมนคงอยู่ข้างหลังรั้วนี้มั้ง”
ลินนาพูดกับลูกสาวของเธอ พร้อมเล่าขยายความว่า ในอดีตเคยทำความสะอาดบ้านให้กับนายสาวชาวยิวผู้นี้ และบ่นว่าบ้านของลูกเธอหลังเล็กเกินไป แต่ท้ายที่สุด หญิงชราเลือกที่จะจากบ้านหลังนี้ไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เหลือทิ้งไว้แค่ข้อความปริศนาบนกระดาษโน้ตแผ่นหนึ่ง ราวกับเกรงกลัวหรือละอายต่อบาป
ผู้กำกับมือทองขยายความผ่านไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ว่า อันที่จริงแล้ว การจากไปของลินนาไม่ได้ข้องเกี่ยวกับความเกรงกลัวต่อบาป หรือการตระหนักถึงศีลธรรมความดีงาม แต่เธอแค่รู้สึก ‘ขยาด’ และไม่อยาก ‘แปดเปื้อน’ โดยเขาเปรียบเทียบกับการซื้อ-ขายเนื้อในตลาดว่า ทุกคนรู้ว่าเนื้อมาจากไหน แต่ไม่มีใครอยากเห็นกระบวนการที่ได้มันมา
(4)
ภาพของรูดอล์ฟพยายามอาเจียนตรงบันไดในฉากสุดท้าย พร้อมกับตัดสลับมายังปัจจุบันในค่ายเอาชวิตส์ ปิดท้ายด้วยเสียงทำความสะอาดครั้งใหญ่ กลายเป็น ‘ปริศนาธรรม’ ของตอนจบในหนังเรื่องนี้ เพื่อชวนให้ขบคิดอะไรบางอย่าง
แม้หลายคน (รวมถึงผู้เขียน) คาดเดาว่า อาการดังกล่าวเกิดจาก ‘หน้าที่การงาน’ ของรูดอล์ฟ แต่ฟรีเดลอธิบายทิ้งไว้อย่างน่าสนใจว่า เกลเซอร์ได้รับแรงบันดาลใจในฉากนั้นจาก The Act of Killing (2012) สารคดีสุดโหดจาก โจชัว ออปเพนไฮเมอร์ (Joshua Oppenheimer) กับการจับ อันวาร์ คองโก (Anwar Congo) และพรรคพวก มานั่งเล่าวิธีการสังหารประชาชนในเหตุการณ์สังหารหมู่อินโดนีเซียในปี 1965-1966
ถึงอันวาร์กับพรรคพวกจะตั้งใจอธิบายและทำราวกับสนุกสนานที่ได้ย้อนรอยอดีต แต่เมื่อพวกเขากลับไปยังที่เกิดเหตุ จะมีความรู้สึกอยากอาเจียนทุกครั้ง แม้จะไม่มีอะไรออกมาก็ตาม
“ผมคิดว่ามันคือการต่อต้านระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ เพราะร่างกายบอกความจริงและจิตใต้สำนึกเสนอ เราสามารถทรยศตัวเราเองได้ เราคือเจ้าแห่งการหลอกตนเอง”
ฟรีเดลอธิบายและเปรียบเปรยว่า อาการอาเจียนของรูดอล์ฟคือความรู้สึกผิดอีกอย่างหนึ่ง แต่เขากดทับมันเอาไว้จนร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่ต่างจากสิ่งที่อันวาร์และฆาตกรคนอื่นๆ เป็น
ขณะที่ภาพยนตร์ตัดมาในยุคปัจจุบันฉายภาพพนักงานกำลังทำความสะอาดค่ายกักกันเอาชวิทซ์ หรือพิพิธภัณฑ์เอาชวิทซ์ อาจตีความได้ว่าเปรียบเสมือนการตามลบ ‘รอยด่างพร้อย’ ความผิดของพรรคนาซีต่อมวลมนุษยชาติ ที่ไม่ว่าจะขัดถูให้สะอาดเพียงใด ก็ไม่มีวันลบเลือนบาดแผลครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกได้
(5)
“ตอนนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้ในฐานะผู้ปฏิเสธความเป็นยิว และความหมายของโฮโลคอสต์ที่ถูกฉกฉวยไป จนนำไปสู่ความขัดแย้งต่อผู้บริสุทธิ์ ทั้งเหยื่อในวันที่ 7 ตุลาคมในอิสราเอล และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกาซา เหยื่อทั้งหมดคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ เราจะต่อต้านสิ่งนี้ได้อย่างไร”
เป็นอีกครั้งที่เกลเซอร์ยืนยันว่า ภาพยนตร์ของเขาไม่ใช่แค่สารจากอดีต แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนเหตุการณ์ปัจจุบันในโลก โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในกาซา เมื่อกำแพงบ้านของเฮิสส์ในวันนั้นคืออิสราเอลในวันนี้ และชาวปาเลสติเนียนเผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากชาวยิวในค่ายกักกันสุดโหดร้าย ท่ามกลางการรู้เห็นเป็นใจของมหาอำนาจและผู้มีอำนาจ
ที่สำคัญ ความทรงพลังของสุนทรพจน์ไม่ใช่แค่การย้ำเตือนประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมในปัจจุบัน แต่เกลเซอร์ยังใช้เสียงความเป็นยิว (และเหยื่อ) ขนานแท้บนเวทีออสการ์ท่ามกลาง ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ เพื่อพังทลายวาทกรรมที่ถูกช่วงชิงไปจากกลุ่มไซออนิสต์ (Zionist) ว่า ชาวยิวทุกคนต้องเห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงของรัฐบาลอิสราเอลดังที่ถูกกล่าวอ้าง
ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าใครจะมองภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ คุณค่าที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญในการแสดงออกสิ่งที่ถูกต้อง (Moral Courage) ผ่านการยอมรื้อฟื้นประวัติศาสตร์อันน่าเจ็บปวด หรือชุดคุณค่าทางความคิดที่สร้างความไม่สบายใจในสังคม (Inconvenient Truth) เพื่อให้ความผิดพลาด (ซ้ำซาก) ที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ในอดีต กลับมาเป็นที่พูดถึงและถูกจดจำในรูปแบบใหม่ในสังคมโลกอีกครั้ง
ทั้งความโลภของมนุษย์ ความเจ็บปวดของเหยื่อในสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความน่ากลัวของผู้มีอำนาจ และความดาษดื่นของปีศาจแห่งยุคสมัยที่ไร้พรมแดน ไม่เคยตายไปตามกาลเวลาที่หมุนเวียนไป
อ้างอิง
https://www.bu.edu/wcp/Papers/Cont/ContAssy.htm
https://www.the101.world/hannah-arendt/
https://screenrant.com/zone-of-interest-movie-hedwig-mother-auschwitz-response/
https://www.washingtonpost.com/opinions/2024/03/08/zone-of-interest-hannah-arendt-banality-of-evil/
Tags: Oscars, Banality of Evil, ออสการ์, นาซีเยอรมัน, สงครามโลกครั้งที่ 2, Hannah Arendt, holocaust, Adolf Eichmann, ยิว, ความดาษดื่นของปีศาจ, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, Auschwitz, Screen and Sound, Oscars 2024, การเมือง, Rudolf Höss, genocide, รางวัลออสการ์, ค่ายกักกันเอาชวิตส์, Oscar, Jonathan Glazer, นาซี, The Zone of Interest