The Zone of Interest (2023) หนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (สหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร-โปแลนด์) ลำดับล่าสุดของ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) เพิ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Academy Award) ถึง 5 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับยอดเยี่ยม อีกทั้งยังส่งตัวเขาเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ปีล่าสุดด้วย 

ตัวหนังเล่าถึงเรื่องราวของ รูดอล์ฟ ฮอสส์ (แสดงโดย คริสเตียน ฟรีเดล) ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิตซ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับ เฮ็ดวิก (แสดงโดย ซันดรา ฮุลเลอร์) เมียรักวาดหวังอยากสร้างครอบครัวในฝันอันแสนอบอุ่นด้วยกัน โดยพวกเขาตั้งใจว่าจะสร้างบ้านหลังน้อยลงบนที่ดินแปลงเล็กๆ ติดกับค่ายกักกันอันอำมหิต

ตัวหนังดัดแปลงอย่างหลวมๆ มาจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันเมื่อปี 2014 ของ มาร์ติน อามิส (Martin Amis) นักเขียนชาวอังกฤษที่หยิบเอาชีวิตจริงของรูดอล์ฟ ฮอสส์ (Rudolf Höss) นาซีที่ทำงานให้พรรคมายาวนานที่สุดกับภรรยา สร้างเป็นตัวละครสมมติขึ้นมาใหม่ แต่เกลเซอร์เลือกใช้ฮอสส์เป็นตัวละครหลักในหนังของตัวเองแทน เขาออกเดินทางไปสำรวจค่ายเอาชวิตซ์ และเล่าว่า การได้เห็นบ้านทั้งหลังของครอบครัวฮอสส์ถือเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนความรู้สึกเขาอย่างแรง ทั้งเกลเซอร์ยังทำเรื่องขอเข้าถึงเอกสารสำคัญต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์เอาชวิตซ์ซึ่งในจำนวนนั้นมีบันทึกของผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันและคนที่เคยทำงานในบ้านของครอบครัวฮอสส์ด้วย 

สิ่งที่น่าสนใจคือครอบครัวของเกลเซอร์เป็นชาวยิว ที่หลีกเลี่ยงการพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) มาตลอด โดยสำหรับเกลเซอร์ เขาเล่าว่าเป็นสิ่งที่สมาชิกในบ้านตระหนักรู้หากแต่เลี่ยงจะเอ่ยถึงมาตลอด ดังนั้น ด้านหนึ่งแล้ว การเข็นหนังเรื่องนี้ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายของเขา 

“ตอนพ่อรู้ว่าผมกำลังจะทำหนังเกี่ยวกับรูดอล์ฟ ฮอสส์ พ่อบอกว่า ‘ไม่รู้จริงๆ ว่าลูกจะทำไปเพื่ออะไร จะไปขุดมันขึ้นมาพูดถึงทำไมอีก ปล่อยให้มันเน่าเฟะไปของมันเถอะ’ พ่อพูดแค่นั้น” เขาว่า “เพราะสำหรับพ่อ เรื่องพวกนี้จบลงไปแล้ว เป็นแค่อดีต และผมจำได้ว่าตอบพ่อไปแค่ผมก็หวังให้มันเน่าของมันไปเหมือนกัน แต่ขอโทษเถอะนะพ่อ เรื่องพวกนี้มันไม่ได้เป็นแค่อดีตหรอก”

“แต่พูดก็พูดนะ ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับการทำหนังเรื่องนี้มันแปลกๆ มาตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจกต์แล้วล่ะ มันเหมือนเป็นถนนที่ดิ่งเหวไปเรื่อยๆ โดยที่ผมไม่อาจหยุดตัวเองได้เลย และพร้อมกันนั้น ผมก็รู้สึกเสมอว่าตัวเองอยากดึงเบรกมือเพื่อหยุดทุกอย่างไว้ อยากให้รถวิ่งแล่นไปเจอกำแพงเพื่อที่ผมจะได้เลี้ยวกลับแล้วบอกทุกคนว่า ‘รู้อะไรไหม ผมรู้สึกเหนื่อยเต็มที และคงทำหนังเรื่องนี้ออกมาไม่ไหวหรอก’ เอาเข้าจริง ผมหวังเสมอแหละ ว่าจะได้พูดอะไรแบบนั้นออกไป”

เกลเซอร์ประกาศสร้าง The Zone of Interest อย่างเป็นทางการในปี 2019 และคว้าตัวฟรีเดลมาแสดงนำเป็นคนแรก ฟรีเดลเป็นนักแสดงชาวเยอรมันที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเขาจาก The White Ribbon (2009) หนังขาวดำสุดยะเยือกของ มิคาเอล ฮานาเกอ (Michael Haneke) ว่าด้วยผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุ และเป็นฟรีเดลนี่เองที่แนะนำให้เกลเซอร์แคสต์เอาฮุลเลอร์ ซึ่งเขาเคยร่วมงานด้วยจาก Amour Fou (2014) หนังสัญชาติออสเตรียว่าด้วยชีวิตรักของ ไฮน์ริช ฟอน ไคลสต์ กวีชาวเยอรมัน ให้มารับบทเป็นเฮ็ดวิก ภรรยาของเขาในเรื่อง โดยการแสดงของทั้งคู่ได้รับคำชื่นชมมหาศาลหลังหนังออกฉายทั้งจากรอบปฐมทัศน์และจากการฉายโรงในหลายๆ ประเทศ

กล่าวสำหรับตัวเกลเซอร์ เขาเริ่มต้นสายอาชีพด้วยการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอและสร้างความฮือฮาตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกๆ โดยเฉพาะเพลง The Universal จากอัลบั้ม The Great Escape (1995) ของ Blur วงดนตรีสัญชาติอังกฤษที่เห็นมาแต่ไกลว่าเกลเซอร์ทำขึ้นเพื่อคารวะหนัง 2001: A Space Odyssey (1968) และ A Clockwork Orange (1971) ซึ่งกำกับโดย สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) คนทำหนังออเตอร์ชาวอเมริกัน โดยเกลเซอร์เป็นแฟนระดับเดนตายของคูบริก เขาอธิบายอย่างขวยเขินถึงแรงบันดาลใจต่างๆ ที่ปรากฏในงานของตัวเองว่า 

“เอาจริงๆ เหมือนผมขโมยสิ่งละอันพันละน้อยมาจากคูบริกน่ะครับ คนพูดกันแบบสุภาพว่าผมแสดงความคารวะต่อฝีมือของเขา แต่เอาเข้าจริงๆ ผมแค่หยิบยืมสิ่งที่เขาเคยทำมาใช้เท่านั้น”

“ก็เหมือนเวลาคุณเรียนรู้อะไรสักอย่างนั่นแหละ ก็ต้องหาทางทำมันให้ออกมาดีให้ได้ สมมติคุณอยากเรียนกีตาร์ คุณก็ต้องไปฟังคนที่เขาเล่นกีตาร์และอาจจะหัดเล่นแบบเดียวกับที่พวกเขาเล่น ผมว่ากรณีผมมันคืออะไรแบบนี้แหละมั้ง” เขากล่าวถึงสไตล์แบบคูบริกซึ่งเขายกย่องว่าเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ส่งอิทธิพลมากที่สุด 

กระนั้นเขาก็ย้ำว่า และแม้จะหัดเล่นกีตาร์ตามต้นฉบับจนเชี่ยวชาญ แต่ถึงที่สุด “คุณก็ต้องหาสไตล์การเล่นของตัวเองให้ได้อยู่ดี” เขาว่า และกับงานตัวเอง เขาก็ไม่อยากให้คนดูหนังเขาแล้วรู้สึกว่ามันแสนจะ ‘Kubrickian’ หรือแสนจะ ‘คูบริ๊ก-คูบริก’ เสียจนละเลยเนื้อหาของหนัง

และหลังจากเวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรการกำกับมิวสิกวิดีโออยู่พักใหญ่ (วงที่เกลเซอร์ทำงานด้วยส่วนใหญ่เป็นวงสัญชาติอังกฤษอันเป็นบ้านเกิดเขา เช่น Jamiroquai, Massive Attack และ Radiohead) เกลเซอร์ก็หันมาทำหนังยาวเรื่องแรกที่แจ้งเกิดเขาเป็นพลุอย่าง Sexy Beast (2000) หนังอาชญากรรมที่ส่ง เบน คิงสลีย์ (Ben Kingsley) เข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำสาขาสมทบชาย โดยหนังว่าด้วยเรื่องของ กัล (เรย์ วินสตัน) อดีตนักปล้นหัวโจกที่วางมือจากวงการและหันไปใช้ชีวิตวัยเกษียณในสเปนกับครอบครัว แต่แล้วในขวบปีหนึ่ง ชีวิตอันสุขสงบของกัลก็ถูกขัดจังหวะด้วยการมาเยือนของ ดอน โลแกน (คิงสลีย์) เจ้าพ่อผู้อำมหิตแห่งลอนดอน ซึ่งยื่นข้อเสนอให้กัลกระโจนเข้าสู่โลกอาชญากรรมอีกครั้งด้วยการร่วมแผนปล้นธนาคารด้วยกัน

มองจากภาพรวม Sexy Beast ฟังดูเป็นหนังโจรกรรมลายเส้นเดียวกันกับหนังแบบ กาย ริชชี (Guy Ritchie) คนทำหนังชาวอังกฤษชื่อดังหรือตระกูล Ocean ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก (Steven Soderbergh) ว่ากันตามจริงหนังเรื่องแรกของเกลเซอร์กลับคุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศความเฮี้ยนและชวนตื่นตระหนกบางอย่างตลอดเวลา แม้จะมีท่าทีหวือหวาแต่กลับไม่ค่อยปรากฏอารมณ์ขัน หนังแทบไม่ได้เล่าชีวิตในโลกสีเทาของตัวละครในเรื่องด้วยน้ำเสียงน่าตื่นเต้นหรือชวนระทึก หากแต่บีบคั้นรุนแรงซึ่งด้านหนึ่งมาจากการแสดงอันแยบยลของคิงสลีย์ ในบทดอน โลแกนที่ต้องคุมบังเหียนบรรยากาศชวนอึดอัดทั้งเรื่องไว้ให้ได้ 

เจเรมี โธมัส (Jeremy Thomas) โปรดิวเซอร์หนังกล่าวถึงการร่วมงานกับพ่อคนทำหนังหนุ่มอนาคตไกลชาวอังกฤษว่า  “Sexy Beast ถือเป็นก้าวแรกที่ผมได้ทำงานร่วมกันกับคนทำหนังหน้าใหม่ที่ชื่อ โจนาธาน เกลเซอร์ ก่อนนี้เขาเป็นคนทำโฆษณาผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ในสหราชอาณาจักร ทันทีที่เขาได้รับสคริปต์หนังเรื่องนี้เขาก็หมกมุ่นกับมันและปั้นมันออกมาเป็นหนังที่แสนอัศจรรย์จนได้”

และจากหนังอาชญากรรมหม่นหมอง เกลเซอร์ก็หักมุมด้วยการกระโจนทำหนังลำดับต่อไปที่ว่าด้วย ‘หญิงนางหนึ่งที่เชื่อว่าเด็กชายวัยสิบขวบคือผัวเธอกลับชาติมาเกิด’ อย่าง Birth (2004) โดยหนังเล่าเรื่องราวของ อันนา (แสดงโดย นิโคล คิดแมน) หญิงซึ่งสามีของเธอตายจากไปกระทันหัน และหลังจากทำใจอยู่หลายปี อันนาก็ตัดสินใจก้าวต่อไปข้างหน้า เธอมีคนรักใหม่และรับคำขอแต่งงานจากเขา อีกไม่กี่วันให้หลังจากนั้น เธอพบกับเด็กชายปริศนาคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นสามีเธอกลับชาติมาเกิด และห้ามไม่ให้เธอแต่งงานกับคนรักใหม่ 

ซึ่งเธอก็คล้อยตามต่อสิ่งที่เขากล่าว นับเป็นต้นธารความสั่นคลอนของสิ่งรอบๆ ตัวอันนาที่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ แต่ยังรวมถึงตัวตนของเธอด้วย

แน่นอนว่าพล็อตเรื่องที่ว่าด้วยเด็กกับผู้ใหญ่ ทำให้หนังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล่อแหลม กระนั้น นักวิจารณ์หลายคนก็ยังออกปากว่าเป็นหนังที่พูดเรื่องการรับมือกับความสูญเสียได้เฉียบคมและเข้าอกเข้าใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ตัวคิดแมนซึ่งแสดงนำในเรื่องก็กล่าวว่า บทอันนานับเป็นหนึ่งในบทที่เธอชอบมากที่สุดในบรรดาหนังที่เธอแสดง 

ขณะที่ตัวเกลเซอร์เองมองว่า Birth คือหนึ่งในความท้าทายในการทำหนังของเขา “เราตั้งใจจะสร้างหนังที่ตั้งคำถามซึ่งนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ” เขาบอก “ผมไม่ได้นับถือพุทธและไม่เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด และไม่คิดว่าจะทำหนังเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ด้วย สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือเรื่องความรักอันเป็นนิรันดร์ เลยอยากทำหนังที่สำรวจความลึกลับของหัวใจมนุษย์น่ะ” 

และจึงตามมาด้วยหนังที่กล่าวกันว่า ‘เฮี้ยนระเบิดระเบ้อ’ เมื่อเกลเซอร์ชวน สการ์เล็ตต์ โจฮันส์สัน (Scarlett Johansson) มารับบทเป็นมนุษย์ต่างดาวกินคนใน Under the Skin (2013) ที่ดัดแปลงหลวมๆ มาจากนิยายชื่อเดียวกันเมื่อปี 2000 ของ มิเชล เฟเบอร์ (Michel Faber) ว่าด้วยมนุษย์ต่างดาวที่ออกล่าผู้ชายในสก็อตแลนด์ 

อาจจะกล่าวได้ว่า Under the Skin คือหนังที่เกลเซอร์ทดลองและระเบิดความฉูดฉาดด้านการทำหนังออกมามากที่สุด เพราะตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยฉากชวนเหวอ นับตั้งแต่ฉากที่ ‘ผู้หญิง’ (โจฮันส์สัน) ปรากฏตัว, การถ่ายเรือนร่างมนุษย์ในระยะประชิด 

และโดยเฉพาะฉาก ‘ล่อลวง’ ที่น่าจะนับเป็นหนึ่งในฉากจำของหลายๆ คน บวกกับดนตรีประกอบโดย Micachu ศิลปินชาวอังกฤษที่ใช้เครื่องสายโหมประโคมความหลอนเฮี้ยนตลอดทั้งเรื่อง โดยที่นับเป็นหนังอีกเรื่องที่กินเวลาเกลเซอร์อยู่ร่วม 10 ปี หลังจากที่เขาอ่านนิยายของเฟเบอร์ตั้งแต่ปี 2000 และหวังจะได้ดัดแปลงเรื่องราวให้เป็นหนังสักวัน หากแต่ก็ติดขัดภารกิจหลายอย่างจนต้องเลื่อนโปรเจกต์ออกไป 

กระทั่งเมื่อเขาถ่ายทำ Birth จบและลงมือเขียนบท กระบวนการดังกล่าวก็กินเวลานานหลายปี เพราะตัวเกลเซอร์ปรารถนาจะให้เล่าเรื่องราวของโลกมนุษย์ผ่านมุมมองของสิ่งมีชีวิตต่างดาว ที่ดำรงชีวิตบนโลกในฐานะผู้หญิง สายตาที่มองเข้ามาจากภายนอกจึงปะทะเข้ากับระบบสังคม วัฒนธรรมที่กดทับกันอยู่หลายขั้นตอน กล่าวคือแม้ตัวละครมนุษย์ต่างดาวจะออกล่าคนเป็นอาหาร แต่เมื่อตัวละครเรียนรู้และเข้าใจสังคมมนุษย์ตลอดจนโอบรับตรรกะ แนวคิดบางอย่างเข้ามา ก็ไม่อาจหวนกลับคืนตัวตนดังเดิมของมันได้ และนำไปสู่จุดจบอันโศกเศร้าในท้ายที่สุด

ความเซอร์ระเบิดระเบ้อของหนังทำให้เกลเซอร์หาเงินทุนมาปั้นหนังยากเหลือเกิน และเลี่ยงไม่ได้เลยที่เขาต้องหานักแสดงนำระดับแม่เหล็กมาดึงดูดคนดู ซึ่งหลังจากมีนักแสดงมากหน้าหลายตามาทดสอบบท คำตอบก็ตกอยู่กับโจฮันส์สันผู้ออกปากอยากรับบทนี้ตั้งแต่ก่อนโปรเจกต์จะเริ่มต้นเสียอีก และแน่นอนว่านี่นับเป็นผลดีต่อตัวหนังอย่างยิ่งเพราะเวลานั้นโจฮันส์สันก็เป็นที่รู้จัก ในฐานะหนึ่งในนักแสดงนำของมาร์เวลแล้ว ส่วนเกลเซอร์นั้นบอกแค่ว่า “ผมจำได้เลยว่าเห็นเธอที่สวมสเวตเตอร์สีชมพูอยู่บนถนนเดินผ่านกล้อง ดูอย่างกับเป็นสิ่งมีชีวิตแสนมหัศจรรย์ที่อยู่ผิดทวีปอย่างนั้นแหละ”

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกปากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ แต่ก็น่าเสียดายที่ตัวหนังล้มเหลวด้านรายได้ เพราะลำพังทุนสร้างก็ปาไป 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หนังทำเงินในสหรัฐฯ และแคนาดาได้เพียง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น รวมกับรายได้ทั่วโลกก็ตกอยู่ที่ราวๆ 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากแต่ก็เป็นหนังที่เกลเซอร์วาดลวดลายความเป็นตัวเองได้ชัดเจนและตราตรึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ขณะที่ The Zone of Interest ก็กำลังจะเข้าฉายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จึงนับเป็นการกลับมาที่น่าจับตาของเกลเซอร์ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการหวนกลับมาในรอบ 10 ปี หากแต่เป็นการกลับมาพร้อมการชำแหละบาดแผลส่วนตัวที่ว่าด้วยโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติด้วย

Tags: , , , , , , , ,