1

“ใจคุณทำด้วยอะไร ถึงจะฆ่าเด็กๆ ที่น่ารักเหล่านี้ได้”

โทมัส ฮาร์ดิง (Thomas Harding) เป็นนักข่าวชาวอังกฤษ เขามีเชื้อสายเยอรมันจากลุงทวด ในปี 2013 นักข่าวหนุ่มคนนี้เดินทางไปยังย่านชานเมือง อันสงบสุข ทางเหนือของเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อไปสัมภาษณ์หญิงสาวคนหนึ่ง ชื่อว่าบริเจตต์ (Brigitte)

เขาพยายามติดต่อขอคุยกับเธอมากว่า 2 ปีแล้ว แต่ทุกครั้งหญิงชรากลับบ่ายเบี่ยง อ้างติดธุระ อ้างปัญหาสุขภาพ แต่ฮาร์ดิงไม่ยอมแพ้ เขามีคุณสมบัติของนักข่าวที่ดี อดทน เฝ้ารอและตื้อเก่ง

ในที่สุด หญิงชราตัดสินใจให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งเธอไม่เคยพูดถึง ไม่เคยบอกเล่าให้ใครฟังชั่วชีวิต แม้กระทั่งกับลูกหลานของตัวเอง

ฮาร์ดิงวางแผนอย่างละเอียด ในใจนึกหวั่นเกรง หากไปพบหน้า แนะนำตัวเอง แล้วอีกฝ่ายขอยกเลิกการสัมภาษณ์จะทำอย่างไร เขาจึงแวะร้านขนม ซื้อเค้กช็อกโกแลต ก่อนมุ่งหน้าไปบ้านบริเจตต์

เมื่อพบหน้า พูดคุยกันสักพัก โทมัส ฮาร์ดิง ก็แนะนำตัวเอง พร้อมบอกว่าลุงทวดเขาคือใคร ผู้ถูกสัมภาษณ์ถึงกับหยุดชะงัก และขอยกเลิกการนัดหมายนี้ โดยบอกเพียงว่า วันนี้ไม่ใช่วันที่เหมาะแก่การพูดคุย และเธอเหนื่อยมาก

นักข่าวหนุ่มจ้องมองหญิงชราที่มีผมหงอกเต็มหัว ตัวเล็ก ใบหน้ามีริ้วรอยของผู้สูงอายุ จากนั้นเขาก็ยื่นกล่องเค้กช็อกโกแลตออกมา

“กินมันสักชิ้นก่อน แล้วค่อยคุยกันต่อนะครับ”

หมากเกมนี้ได้ผล แผนนี้ดีเกินคาด ทั้งสองนั่งลงที่โซฟาในบ้านของบริเจตต์ ละเลียดเค้กช็อกโกแลตอย่างละมุน หลังจากนั้นบทสัมภาษณ์ก็เริ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

“พ่อของฉันเป็นคนที่น่ารักสุดในโลก” หญิงชราเปรยออกมา

“ถ้าเขาเป็นคนน่ารักจริง ทำไมถึงสั่งฆ่าคนยิวนับล้านคนได้ล่ะครับ” ฮาร์ดิงฮุกคำถามออกไปอย่างฉับพลัน

“พ่อจำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็จะโดนลงโทษ และคงจะมีคนยินดีทำสิ่งนี้แทนพ่อ”

บทสนทนาดำเนินต่อไป เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล และเป็นการต่อภาพอดีตให้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

มันจะเป็นการพูดคุยเปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ และทำให้โลกได้รับรู้ความจริง

นี่คือการสัมภาษณ์ระหว่างลูกสาวนาซีกับหลานทวดนักล่านาซี

 

2

พ่อของหญิงชราคนนี้ มีชื่อว่า รูดอล์ฟ เฮิสส์ (Rudolf Höss) ผู้บัญชาการค่ายกักกันมรณะ ที่ชื่อว่า ‘เอาช์วิทซ์’ ซึ่งตั้งอยู่ในโปแลนด์ สถานที่สังหารรมแก๊สชาวยิวจำนวน 1.1 ล้านคน ยังไม่นับผู้ต่อต้านรัฐนาซี ศัตรูการเมืองที่ถูกฆ่าเป็นจำนวนมากไปก่อนหน้านี้แล้ว

มันคือค่ายที่สถิตย์บอกเล่าความเหี้ยมโหดของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง เฮิสส์ คือผู้ควบคุมการฆ่านั้นด้วยตัวเอง

ด้านลุงทวดของฮาร์ดิง มีชื่อว่า ฮันส์ อเล็กซานเดอร์ (Hanns Alexander) ซึ่งเกิดที่เยอรมัน แต่หนีภัยนาซี อพยพมาอยู่อังกฤษในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนตัดสินใจสมัครเป็นทหาร เข้าร่วมรบ จนพิชิตเยอรมันได้ในที่สุด

และเขาคือคนที่จับกุมตัว รูดอล์ฟ เฮิสส์ ได้

นี่คือเรื่องราวแห่งความเจ็บปวดที่สะท้อนผ่าน 2 ชาย ผ่านมายังลูกหลาน

บทสนทนาระหว่างหญิงชรากับฮาร์ดิงดำเนินไป

โดยมีเรื่องราวของเฮิสส์และอเล็กซานเดอร์กระซิบผ่านออกมาจากความเจ็บปวด และบาดแผลแห่งสงคราม

 

3

หากพ่อของ รูดอล์ฟ เฮิสส์ อายุยืนมากกว่านี้ เขาคงจะเห็นลูกชายโตมาเป็นนักบวชในศาสนาคริสต์ แต่ชะตาชีวิตของเขากลับแสนสั้น นั่นจึงส่งผลต่อบุตร ความตายของบิดาทำให้ครอบครัวของเฮิสส์ขาดเสาหลัก เด็กหนุ่มต้องหนีจากความยากจน ด้วยการสมัครเป็นทหาร ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อชาติเยอรมันอันเป็นที่รัก

สงครามไม่ได้พรากชีวิตเฮิสส์ แต่ทำเอาเขาเกือบตาย เพราะบาดเจ็บถึง 3 ครั้งด้วยกัน อย่างไรก็ดีมัจจุราชยังปราณี เขามีชีวิตรอด ได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก อันสะท้อนวีรกรรมเพื่อประเทศชาติอย่างกล้าหาญ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันตกต่ำ เฮิสส์เหมือนทหารผ่านศึกจำนวนมาก แค้นใจเพราะคิดเอาเองว่า พวกเขาแพ้เพราะนักการเมืองและพวกคอมมิวนิสต์รวมหัวย่ำยีประเทศนี้ แทงข้างหลัง แอบเจรจากับศัตรู สิ่งเหล่านี้บ่มเพาะให้อดีตนักบวช กลายเป็นพวกหัวรุนแรง จนได้รู้จักกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซี

นั่นทำให้เขาเลือกทางเดินรับใช้บุรุษโหดคนนี้..ตลอดชีวิต

เฮิสส์เคยติดคุกฐานมีส่วนในการฆาตกรรมศัตรูทางการเมือง แต่ได้รับการนิรโทษกรรมออกมาเมื่อฮิตเลอร์เรืองอำนาจ จากนั้นชายหนุ่มจึงเติบโตในกองกำลังเอสเอส ด้วยแรงทะเยอทะยาน อำนาจและความภักดี ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการค่ายกักกัน ซึ่งเดิมมีไว้จัดการคุมขังศัตรูทางการเมือง

จนในปี 1941 ผู้นำนาซีตกลงที่จะใช้วิธีการแก้ปัญหาครั้งสุดท้าย เพื่อจัดการชาวยิวทั่วยุโรป นั่นก็คือการรมแก๊ส สังหารหมู่ เน้นฆ่าให้ได้มากที่สุด

เฮิสส์ได้รับความไว้วางใจให้คุมการสังหารนี้

“ฉันรู้ว่าพ่อต้องทำอะไรเลวร้ายสักอย่างแน่ๆ” บริเจตต์พูดกับฮาร์ดิง “บางวันเขาจะหัวเสีย หงุดหงิดและดูเศร้าๆ มันคงมีอีกด้านในตัวเขา”

ขณะที่เฮิสส์เป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทารกที่ชื่อว่า ฮันส์ อเล็กซานเดอร์ กำเนิดขึ้นในครอบครัวร่ำรวยชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว พ่อของฮันส์เป็นหมอฐานะดี เคยกินข้าวเย็นร่วมกับเพื่อนชาวยิวที่ชื่อว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ด้วย (Albert Einstein) ด้วย

ฮันส์น่าจะมีชีวิตปกติสุขในเยอรมันอย่างสบายๆ แต่แล้วเมื่อนาซียึดอำนาจประเทศนี้ และแปรเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ พ่อของเขาก็รู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวยิว จึงตัดสินใจพาครอบครัวออกจากประเทศบ้านเกิด มุ่งหน้าสู่อังกฤษในปี 1936

ที่นั่น ครอบครัวอเล็กซานเดอร์ เหมือนผู้ลี้ภัยของจริง จากฐานะร่ำรวยสู่การปากกัดตีนถีบ พลันที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในปี1939 ฮันส์พร้อมฝาแฝดในวัย 22 ปี ก็ตัดสินใจสมัครเข้ากองทัพอังกฤษทันที

แต่ไม่มีใครรับ เพราะถือว่าเขาเป็นคนเยอรมัน

อย่างไรก็ดี สุดท้ายคนแบบฮันส์ ชาวยิวสัญชาติเยอรมันที่ลี้ภัยมาอยู่อังกฤษมีจำนวนมากมาย จนกองทัพสหราชอาณาจักร ตัดสินใจตั้งกองร้อยรวบรวมผู้ชายแบบเขา คนเยอรมันที่ต้องการจะสู้กับระบอบนาซี

ทหารหนุ่มชาวยิวทำงานในหน่วยข่าวกรอง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เฮิสส์มีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิวอย่างรุนแรงนับล้านคนโดยการรมควัน แม้ไม่ได้กดสวิตช์ฆ่า แต่ก็ยืนคุมกระบวนการสังหารโหดอยู่เสมอ

จุดที่ร่างของมนุษย์ถูกเผา ถูกทารุณ มันอยู่ไม่ไกลจากบ้านของบริเจตต์ ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กหญิงตัวน้อย มีชีวิตสงบสุขในที่พักสุดโอ่โถงงดงาม ราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์

“แม่เคยบอกว่าอยากอยู่ที่นี่จนตาย”

มันคือโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายสุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การฆ่าอย่างเป็นระบบสุดเหี้ยมโหด ที่ไม่มีแม้แต่ความเมตตาในใจเฮิสส์

ชายคนนี้เฝ้ามองแม่ชาวยิวอ้อนวอนเขา ขณะชี้ไปที่ลูกๆ เธอ แล้วพูดออกมาว่า “ใจคุณทำด้วยอะไร ถึงจะฆ่าเด็กๆ ที่น่ารักเหล่านี้ได้”

มันไม่มีความกรุณาในใจเฮิสส์ เขารับคำสั่งจากพรรคนาซี กำจัดชาวยิวให้มากที่สุดและเร็วที่สุด นั่นจึงนำไปสู่การสร้างสรรค์อันน่าสยดสยอง การรมควันบ่มแก๊ส สังหารผลาญชีวิตมนุษย์อย่างเลือดเย็น

อย่างไรก็ดี ความชั่วช้าย่อมมีวันสิ้นสุด พลันที่เยอรมันเพลี่ยงพล้ำ และพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวฮันส์เองได้ร่วมเดินทางไปกับกองทัพสัมพันธมิตร ทั้งการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ได้ร่วมกันปลดปล่อยค่ายกักกันชาวยิว จนทำให้โลกรู้ว่า มีการสังหารโหดแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้การยึดครองของเยอรมัน

ทหารอังกฤษ อเมริกา และโปแลนด์ บุกไปยังค่ายเอาช์วิทซ์ ช่วยเหลือผู้คน และตรวจค้นเอกสารที่ยังไม่ถูกทำลาย เยอรมันนาซีแม้จะเหี้ยม แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่เก็บรายละเอียดราชการอย่างครบถ้วน กินเวลาไม่นาน จากข่าวกรองทั้งมวล พวกเขาก็รู้ว่าผบ.ค่ายคือชายที่ชื่อว่า รูดอล์ฟ เฮิสส์ และบุรุษรายนี้ยังลอยนวล ไม่โดนจับกุม

ฮันส์ อเล็กซานเดอร์ เห็นความตายของคนยิวที่น่าอดสู มันทำให้เขาโกรธ เฉกเช่นคนเยอรมันเชื้อสายยิวจำนวนมากที่สวมชุดทหาร ตัวเขารุดเข้าพบผู้บังคับบัญชาเพื่อขอตั้งหน่วยเฉพาะกิจล่าสังหารพวกนาซีที่ยังหลบหนีโดยเฉพาะ

ทีแรกหัวหน้าปฏิเสธ แต่ในที่สุดทางการอังกฤษและอเมริกา ก็ตัดสินใจตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ เพื่อล่าตัวพวกนาซีที่ยังลอยนวล

ตอนที่เห็นซากศพคนยิวเกลื่อนค่าย มันทำให้ฮันส์โมโห แค้นสุดขีด แม้เขาจะไม่มีประสบการณ์การสืบสวน ไม่มีการสนับสนุนที่เพียงพอ

แต่ชายหนุ่มตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ขอทำหน้าที่ล่าพวกนาซีร่วมกับทหารชาวยิวคนอื่นๆ และเป้าหมายแรกก็คือ การพลิกแผ่นดินเพื่อหาตัวเฮิสส์ให้ได้

 

4

คำรับสารภาพจากพวกนาซีชั้นผู้น้อย ที่บอกเล่าความโหดร้ายในค่ายกักกัน ผลักดันให้ฮันส์และเพื่อนร่วมงาน สืบสวนทุกเบาะแส ค้นดูทุกเอกสาร ในที่สุดพวกเขาก็หาตัวครอบครัวของเฮิสส์จนพบ พวกเขาเอาตัวภรรยาของผบ.ค่ายมรณะนี้ไปขัง แล้วเริ่มสอบปากคำ

คู่ชีวิตเฮิสส์ยืนกรานว่าสามีของเธอตายไปหลังสงครามสิ้นสุดแล้ว แต่ทุกคนรู้ดีว่าหญิงคนนี้โกหก จากที่เคยอยู่บ้านงดงามใกล้ค่ายกักกัน เธอมาอยู่ในห้องขังไร้อิสรภาพ

แต่ก็ยังไม่ยอมคายความจริง เพราะต้องการปกป้องสามี

เจ้าหน้าที่อ่อนล้า และเริ่มสิ้นหวังที่จะง้างข้อมูลจากหญิงคนนี้ แต่ฮันส์อาสาที่จะสอบปากคำเอง เขาเข้าไปในห้องขัง แล้วขู่ว่า ถ้าไม่บอกข้อมูลของสามี ตัวเขาจะส่งลูกคนโตเธอขึ้นรถไฟไปไซบีเรียตอนเช้าตรู่ทันที จะได้ไปอยู่ในการคุมตัวของสหภาพโซเวียต ชาติคอมมิวนิสต์ที่คงจะมีวิธีการจัดการศัตรูอย่างสยดสยองแน่ๆ

คำขู่นี้ ทำเอาคนเป็นแม่จำนน เธอขอดินสอ แล้วจากนั้น 10 นาที ก็เขียนที่หลบซ่อนตัวของเฮิสส์ โดยบอกว่าเขาอยู่ในโรงนาใกล้กับชายแดนเดนมาร์ก

5 เดือนหลังสงครามโลกสิ้นสุด ในที่สุดชุดจับกุมก็บุกไปถึงที่นั่น วันที่ 11 มีนาคม ปี 1946 ขณะเฮิสส์กำลังนอนหลับสบายในโรงนา อดีตผบ.ค่ายมรณะก็ตกใจตื่น เมื่อมีเจ้าหน้าที่รุมล้อมและลากเขาออกมาทั้งชุดนอน

ทีแรกเฮิสส์บอกว่าเขาเป็นเพียงคนงานในโรงงาน โดยใช้ชื่อปลอมจากทหารเรือที่เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเขาไม่ยอมรับสารภาพ และไม่ยอมมอบแหวนแต่งงาน ฮันส์ก็พูดด้วยน้ำเสียงดุร้ายว่า ถ้าไม่ถอดแหวน เขาก็จะตัดนิ้วนั้นออกมา

เฮิสส์จึงยอมจำนน มอบแหวน ซึ่งซ่อนเอกสารประจำตัวของเขาไว้ หลักฐานชิ้นนี้เพียงพอจะดำเนินคดีชายคนนี้ฐานเป็นอาชญากรสงครามได้แล้ว

แต่ฮันส์ต้องการคำรับสารภาพ เมื่อเฮิสส์ไม่พูด เขาจึงส่งตัวชายคนนี้ไปให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ ผองเพื่อนชาวยิว ที่รุมกระทืบอดีตผู้บัญชาการค่ายกักกันนี้กว่า 10 นาที จนอีกฝ่ายสารภาพความจริง

หลังจากนั้นเฮิสส์ถูกพาตัวไป ในสภาพเปลือยเปล่า กลางหิมะ ท่ามกลางเหล่าผู้คุมที่มองดูเขาอย่างสมเพช แพทย์ที่อยู่ในเหตุการณ์นี้เผยว่า ถ้าเฮิสส์สารภาพช้าไปกว่านี้ 

เขาคงตายไปแล้ว

 

5

รูดอล์ฟ เฮิสส์ ถูกนำตัวดำเนินคดีในโปแลนด์ และถูกตัดสินให้ประหารชีวิต เขาโดนแขวนคอ จากจุดที่อยู่ไม่ห่างจากค่ายเอาช์วิทซ์ ซึ่งเขาเคยเสวยสุข เคยสั่งการฆ่าคนจำนวนมาก วันที่ 16 เมษายน ปี 1947 เชือกก็รัดคอเขาขาดสิ้นเรียบร้อย

ก่อนตาย ชายคนนี้ยอมรับในความผิด แม้จะอ้างว่านายสั่งมาก็ตาม แต่เขาก็เผยว่าได้รับความเจ็บปวดจากการสั่งฆ่าคน โดยเขาเขียนจดหมายลาตายถึงเมีย และคืนแหวนแต่งงานไปให้

ปิดฉากชีวิตสุดโหด ที่มีคนยิวนับล้านคนโดนฆาตกรรมไปเพราะผู้ชายคนนี้

ด้านฮันส์หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เขาเดินทางกลับอังกฤษ และไม่เคยกลับไปเยอรมันอีกเลย ตลอดชั่วชีวิต มีครอบครัว ทำตัวเฮฮากับเพื่อนฝูงและลูกหลาน แต่ไม่เคยเล่าเรื่องราวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เคยบอกถึงวีรกรรมล่าตัวเฮิสส์

จวบจนในปี 2006 เขาเสียชีวิต ความจริงจึงปรากฏ

เมื่อนักข่าวท้องถิ่นค้นคว้าข้อมูลและเขียนข่าวมรณกรรมของฮันส์ เผยว่าเขาคือนักล่านาซีตัวฉกาจ สร้างความแปลกใจให้กับลูกหลานอย่างมาก นั่นทำให้ฮาร์ดิง ออกตรวจสอบข้อมูล ก่อนจะพบความจริงอันเหลือเชื่อ

นักข่าวหนุ่มดั้นด้นไปพบกับบริเจตต์ เพื่อสอบถามและบอกเล่าเรื่องราวตรงนี้ นั่นทำให้โลกได้รู้ประวัติศาสตร์บาดแผล ที่เกิดจากความบ้าคลั่งของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อตัวเฮิสส์และฮันส์ไปคนละทิศคนละทาง

อย่างไรก็ดี แม้ทั้งสองจะเป็นอริกัน แต่จุดเหมือนที่น่าตกใจก็คือ เฮิสส์และฮันส์ ไม่เคยบอกเล่าเรื่องราวตลอดช่วงสงครามโลกเลย

นี่จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ฮาร์ดิงนำไปเขียนเป็นหนังสือ เพื่อบอกเล่าถึงสองบุรุษที่เผชิญหน้ากันในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีข้อมูลของบริเจตต์ที่ช่วยเติมเต็มให้เห็นว่าเฮิสส์ ไม่ใช่อสูรกายไปทั้งหมด แต่เป็นมนุษย์ซึ่งมีความซับซ้อน เป็นคนรักครอบครัว แต่ก็เป็นคนที่แสนเลวต่อโลกใบนี้

บทเรียนจากการพบเจอระหว่างนักข่าวหนุ่มกับหญิงชรา ก็คือ เฮิสส์และฮันส์ เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่แตกต่างกัน  รูดอล์ฟ เฮิสส์ ไม่ใช่คนโรคจิต ไม่ใช่ฆาตกร เป็นพ่อที่ดีของลูก แต่เพราะเขาเลือกจะหยุดคิด ทำตามคำสั่ง ทั้งที่รู้ว่ามันจะนำไปสู่หายนะขนาดไหน กลับไม่ต่อต้าน แค่ทำมันไป จนสุดท้ายก็สูญสิ้นความเป็นมนุษย์

ด้านฮันส์ อเล็กซานเดอร์ บ่มความแค้น เข้าสู่ด้านมืด แต่เลือกจะหยุดมันไว้ได้ทัน ไม่ยอมฆ่าเฮิสส์ แต่พาเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้กฎหมายทำหน้าที่ชำระผิด เพื่อความชอบธรรม หาใช่การแก้แค้นไม่

กระนั้นมันก็ยังทำให้ลุงทวดของฮาร์ดิง ต้องเก็บงำความเจ็บปวดนี้ไปทั้งชีวิต กับการเกือบจะยอมให้ความโกรธมีชัยเหนือความถูกต้อง

บทสรุปของเรื่องนี้คงเป็นดังที่ฮาร์ดิงสรุปไว้หลังคุยกับบริเจตต์ว่า

“ฮันส์กับเฮิสส์ ผูกติดกันอยู่ในบริบทของประวัติศาสตร์ แต่ทั้งสองกลับมีความสัมพันธ์ต่อเรื่องราวนี้แตกต่างกัน”

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2013/aug/31/german-jewish-nazi-hunter-auschwitz

https://www.washingtonpost.com/opinions/hanns-and-rudolf-the-true-story-of-the-german-jew-who-tracked-down-and-caught-the-kommandant-of-auschwitz-by-thomas-harding/2013/10/04/42b1305a-f2e1-11e2-8505-bf6f231e77b4_story.html

https://www.newsweek.com/2013/08/23/hanns-alexander-unknown-nazi-hunter-237860.html

https://www.bbc.com/news/uk-england-northamptonshire-66875251

https://www.dailymail.co.uk/news/article-2397354/The-Nazi-Hunter-Story-Jewish-refugee-Hanns-Alexander-caught-Auschwitz-commandant.html

https://www.jewishvirtuallibrary.org/rudolf-h-ouml-ss

https://www.bbc.co.uk/history/worldwars/genocide/hoss_commandant_auschwitz_01.shtm

Tags: , ,