รายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ถูกประกาศแล้วสิ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดย Oppenheimer (2023) หนังชีวประวัติของ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกโครงการแมนฮัตตัน อันเป็นโครงการใหญ่ที่มีเป้าประสงค์เพื่อค้นคว้าระเบิดนิวเคลียร์ กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เป็นหนังที่เข้าชิงรางวัลเยอะที่สุดโดยเข้าชิงทั้งสิ้น 13 สาขา รวมทั้งสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์แห่งปี กำกับยอดเยี่ยม และนำชายยอดเยี่ยม
ตามมาด้วย Poor Things (2023) หนังรสชาติฝาดฝื่นของ ยอร์กอส ลันธิมอส (Yorgos Lanthimos) คนทำหนังชาวกรีกที่พูดถึงการเดินทางและการเติบโตของหญิงสาวคนหนึ่งในโลกที่ขีดกรอบโดยผู้ชาย เข้าชิงทั้งสิ้น 11 สาขา และ Killers of the Flower Moon (2023) ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือสารคดีชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 เล่าถึงเหตุฆาตกรรมชนพื้นเมืองเผ่าโอเซจในรัฐโอคลาโฮมาของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่เข้าชิงรางวัลทั้งสิ้น 10 สาขาด้วยกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ชวนให้จับตาคือ ในบรรดาหนังที่เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้ง 10 เรื่องนี้ มีอยู่หลายเรื่องทีเดียวที่พูดถึง ‘ความเป็นหญิง’ ผ่านสายตาและมิติทางวัฒนธรรม เริ่มจาก Barbie (2023) กำกับโดย เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ซึ่งเข้าชิงออสการ์ 8 สาขาและเป็นหนังที่ทำเงินไปได้มากที่สุดของปีที่ผ่านมา ว่าด้วย บาร์บี้ (แสดงโดย มาร์โกต์ ร็อบบี) ที่ใช้ชีวิตแสนสุขอยู่ในบาร์บี้แลนด์ เธอจัดปาร์ตี้กับเพื่อนสาวบาร์บี้ ไปพักผ่อนที่ทะเล ออกเดินทางท่องเที่ยวและเต้นรำอย่างสุขใจ กระทั่งวันหนึ่ง ชีวิตอันราบรื่นของเธอก็สะดุดลงเมื่อเธอนึกถึงความตาย บาร์บี้เริ่มไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’ อีกต่อไป
เธอทำแพนเค้กไหม้ นมในตู้เย็นก็บูด เท้าของเธอแบนติดพื้น ต้นทางของความโกลาหลเหล่านี้มาจากการที่เด็กหญิงบนโลกมนุษย์ที่เล่นกับเธอนั้นหม่นเศร้า ทางแก้ไขเดียวคือเธอต้องเดินทางไปยังมิติของมนุษย์เพื่อตามหาเด็กหญิงและปลอบประโลมให้เธอคลายเศร้าลง โดยระหว่างที่เดินทาง เคน (แสดงโดย ไรอัน กอสลิง) เพื่อนชายที่หลงรักเธอหัวปักหัวปำก็ติดสอยห้อยตามบาร์บี้มาด้วย และพบว่าแท้จริงแล้ว คนที่เป็นเจ้าของบาร์บี้ในโลกมนุษย์คือ กลอเรีย (แสดงโดย อเมริกา เฟอร์เรรา) สาววัยทำงานที่กำลังเครียดกับชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกสาวย่ำแย่ หน้าที่การงานของเธอก็ไปได้ไม่สวย ทั้งโลกรอบๆ ตัวก็ดูจะบีบให้เธอเก่งกาจและเข้มแข็งกว่านี้ ท่ามกลางความตื่นตะลึงของบาร์บี้ เคนก็แสนจะรื่นเริงเมื่อเขาพบว่าโลกมนุษย์มอบความตื่นตาตื่นใจให้เขายิ่งยวด นั่นคือการที่เขาพบว่าเพศชายมีอำนาจเหนือใครในดินแดนแห่งนี้ และเขาพร้อมนำอำนาจนี้กลับไปเผยแพร่ให้เหล่าเคนในบาร์บี้แลนด์ด้วย
เกอร์วิกเป็นคนทำหนังที่พูดถึงผู้หญิงได้ละเมียดเสมอมาอยู่แล้ว นับตั้งแต่ Lady Bird (2017) และ Little Women (2019) และเธอก็ยังแม่นยำเช่นกันเมื่อต้องมากำกับ Barbie โดยฉากที่แสนจะตราตรึงคือตัวละครกลอเรียพูดถึงความกดดันที่ผู้หญิงในโลกสมัยใหม่ต้องรับมือ ไม่ว่าจะในฐานะแม่ เมีย ที่ต้องเก่ง ต้องเพียบพร้อมเท่ากันกับที่ต้องไม่ดูโดดเด่นเกินไป ไม่ยากที่มันจะเป็นหนังลำดับแรกๆ ที่คนนึกถึงเมื่อพูดถึงหนังที่วิพากษ์สังคมกับความเป็นผู้หญิง โดยที่ตัวหนังก็ระมัดระวังและรู้ตัวดีว่ากำลังพูดถึงตุ๊กตาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นขวัญใจของเหล่าเด็กผู้หญิง และในเวลาต่อมาก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมาตรฐานด้านความงามในสังคมขึ้นมา เกอร์วิกค่อยๆ ไต่เส้นแบ่งเหล่านี้ไปอย่างระมัดระวัง ยั่วเย้า เปี่ยมอารมณ์ขัน ทว่าเมื่อถึงจุดที่สะเทือนอารมณ์ หนังก็พาคนดูไปถึงอย่างง่ายดาย
ในน้ำเสียงใกล้ๆ กัน Poor Things (2023) ของลันธิมอสก็เป็นอีกเรื่องที่พูดถึงความเป็นหญิงอย่างน่าสนใจด้วยน้ำเสียงที่แหลมคม ดุดันกว่า Barbie จนคว้าเรตติ้ง 20+ เพราะฉากเซ็กซ์อันรุนแรงและเดือดดาลของ เบลลา (แสดงโดย เอ็มมา สโตน) ร่างหญิงสาวที่ฆ่าตัวตายแต่ถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง และผ่าเอาสมองทารกเข้าไปแทน ทำให้เธอมีร่างกายแบบผู้ใหญ่แต่มีสมองของเด็ก และหลังจากสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองโดยบังเอิญ เบลลาก็อยากรู้จักตัวตน อยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น เธอจึงออกเดินทางไปกับ ดันแคน (แสดงโดย มาร์ค รัฟฟาโล) นักกฎหมายจอมเจ้าชู้ที่หวังอยากมีเซ็กซ์กับเธอแก้เบื่อระหว่างเดินทาง
และการได้อยู่กับดันแคนก็ทำให้เบลลาได้สำรวจโลกของเซ็กซ์แทบทุกแง่มุม เท่ากันกับที่เธอได้เห็นโลกอันแสนพิศดารในสายตาของเธอ ไม่ว่าจะการที่เธอถูกผู้ชายบงการ ทำตัวมีอำนาจอยู่เหนือเรือนร่างเธอ การต้องรองรับอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของดันแคนที่จัดการตัวเองไม่ได้เพราะดันไปตกหลุมรักเธอ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ (แต่เบลลาไม่เข้าใจ เพราะเธอไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นเรื่องการแข่งขัน ความรู้สึกของเขาเป็นเรื่องซับซ้อนและเข้าใจยากไปสำหรับเธอ) แม้แต่การได้ไปเป็นโสเภณีขายตัวเลี้ยงชีพ ก็ทำให้เธอเห็นมิติทางอำนาจของการมีเซ็กซ์ ว่าแท้จริงแล้ว การมีเพศสัมพันธ์กันนั้นอาจไม่ใช่การทำให้คู่ของตนและตัวเราเองสำเร็จความใคร่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการต่อรองทางอำนาจบนเตียง เช่น เธอเสนอให้เหล่าสาวๆ ขายบริการเป็นคนเลือกลูกค้าเอง เพราะจะได้สร้างความพึงใจให้ฝ่ายหญิงด้วย (และฝ่ายชายก็ได้สุขสมอารมณ์หมาย) แต่การทำเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย
ลันธิมอสยังคงเสียดสีภาวะปากว่าตาขยิบของชนชั้นกลางด้วยท่าทีแสบสันอย่างที่เขาเคยทำเสมอมา การเซ็ตให้เรื่องราวเกิดขึ้นในยุควิกตอเรียที่เรื่องทางเพศถูกควบคุมเข้มงวดนั้นยิ่งขับเน้นความหมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ของตัวละคร ดันแคนเรียกตัวเองว่าเป็นนักรักตัวฉกาจ เพราะนอนกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา แต่กลับรับไม่ได้เมื่อเบลลาปรารถนาจะทำเช่นนั้นบ้าง และพังทลายพ่ายแพ้เมื่อเห็นว่าเธอไปขายตัวหน้าตาเฉย (เพราะเธอไม่เข้าใจว่าการมีเซ็กซ์เป็นเรื่องน่าอายอย่างไร) หนังของลันธิมอสจึงไม่ได้สำรวจแค่โลกที่ผู้ขายได้เปรียบผ่านตัวละครหญิงเท่านั้น แต่ยังสำรวจความเปราะบาง อ่อนไหวและขี้ขลาดของตัวละครชายแบบดันแคนด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเขารู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ ไม่ได้สิ่งที่ต้องการมาไว้ในมือแล้ว เขาลงมือทำในสิ่งที่น่าละอายใจอย่างไรได้บ้าง
ขณะที่ Killers of the Flower Moon (2023) ที่แม้หน้าหนังจะ ‘ผู้ชายจัดๆ’ ตามสไตล์สกอร์เซซี แต่มันก็ยังพาเราไปเห็นสังคมของผู้หญิงอินเดียนแดงยุค 1920 มอลลี (แสดงโดย ลิลี แกลดสโตน) หญิงชาวอินเดียนแดงเผ่าโอซาจในรัฐโอคลาโฮมา เธอและครอบครัว ตลอดจนชาวพื้นเมืองในชุมชนได้รับมรดกเป็นเจ้าของพื้นที่น้ำมันดิบที่ทำเงินมหาศาล ในพื้นที่แห่งนั้นจึงมีคนขาวเข้าไปทำงานบริการเป็นจำนวนมากเพื่อหาเงินจากชาวอินเดียนแดง รวมถึง เออร์เนส (แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) อดีตทหารผ่านศึกจากสงครามโลกที่หางานเป็นหลักเป็นแหล่งทำไม่ได้ เขาจึงมาหาเงินในโอคลาโฮมาตามคำชักชวนของ วิลเลียม (แสดงโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร) ที่มีศักดิ์เป็นลุงเขา โดยวิลเลียมนั้นแม้ว่าฉากหน้าจะเป็นที่รัก เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวพื้นเมือง แต่ลับหลังแล้วเขาหวังจ้องหาผลประโยชน์จากชาวอินเดียนแดงตลอดเวลา โดยเฉพาะพื้นที่อันอุดมไปด้วยน้ำมันดิบ เขาจึงยุแยงให้เออร์เนสเข้าหามอลลีและแต่งงานกับเธอเสียเพื่อครอบครองมรดก และในเวลาต่อมา ชาวพื้นเมืองในชุมชนแห่งนั้นก็เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาหลายสิบชีวิต
สกอร์เซซีปูพื้นเรื่องให้ตัวละครเออร์เนสนั้นเป็นชายที่ไม่ประสบความสำเร็จใดในชีวิต เขาขาดความมั่นใจ หัวอ่อน เออร์เนสเล่าถึงตัวเองเมื่อครั้งไปออกรบว่าไม่ได้เป็นกองหน้าท้าความตายอะไร เขาได้รับบาดเจ็บและทำหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารให้เพื่อนในกองทัพเท่านั้น เรื่องราวของเขาจึงจืดจางและไม่ได้มีความเป็น ‘ชายเหนือใคร’ อย่างที่วิลเลียมผู้เป็นลุงเขาอยากให้มี เขาจึงแทบไม่มีแต้มต่อไปจีบสาวชนพื้นเมืองผู้ร่ำรวย ทั้งหญิงสาวเหล่านี้ต่างก็ตระหนักดีว่าชายคนขาวเข้าหาตนด้วยสาเหตุใด บ่อยครั้งพวกเธอก็ต้องรับมือกับสายตาและท่าทีไม่เป็นมิตรของคนรอบตัว เช่น แอนนา (แสดงโดย คารา เจด เมเยอร์ส) พี่สาวของมอลลีที่ไม่ยอมแต่งงานและออกปาร์ตี้บ่อยๆ เธอถูกครหาว่าเป็นพวกรักสนุกและถูกก่นด่าด้วยเรื่องนี้อยู่เนืองๆ ทั้งที่เธอแต่เพียงใช้ชีวิตของเธอโดยไม่ได้เดือดร้อนใคร (และเธอก็ไม่ได้มีท่าทีอยากสร้างครอบครัวใดๆ)
กล่าวสำหรับมอลลี สิ่งที่น่าสนใจคือท่ามกลางความอำมหิตของการฆาตกรรม เธอไม่ได้หวาดผวาหรือตื่นตูม ไม่ได้อ่อนไหวไปกับความโกลาหลต่างๆ แน่นอนว่าเธอหวาดกลัว หากแต่เธอก็เข้มแข็งและยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความพินาศรอบตัว บวกกันกับการแสดงอันยอดเยี่ยมของแกลดสโตนที่ยิ่งขับให้ตัวละครเปี่ยมไปด้วยมิติของความหวาดหวั่น เจ็บปวด แหลกสลายและเป็นที่รัก โดยตัวแกลดสโตนถือเป็นหญิงจากชนพื้นเมืองคนแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมด้วย
เรื่องสุดท้ายที่น่ากล่าวถึงในประเด็นนี้คือ Anatomy of a Fall (2023) หนังสัญชาติฝรั่งเศสโดย ฌูสตีน ทริเยต์ (Justine Triet) ที่ส่งเธอคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปีที่ผ่านมา กับเรื่องราวชวนเครียดเขม็งของครอบครัวหนึ่ง เมื่อ แซมวล (แสดงโดย แซมวล เธอิส) นักเขียนหนุ่มชาวฝรั่งเศสพลัดตกจากระเบียงบ้านบนภูเขาลับตาคน เขาเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาเพราะไม่อาจอธิบายได้ชัดแจ้งว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการฆาตกรรม ผู้ต้องสงสัยหลักจึงเป็น ซันดรา (แสดงโดย ซันดรา ฮุลเลอร์) เมียที่เป็นนักเขียนชาวเยอรมันของเขา ซึ่งช่วงที่เขาเสียชีวิตนั้นดูเหมือนจะนอนหลับอยู่ในบ้านกับพยานคือ แดเนียล (แสดงโดย ไมโล มาชาโด กราเนอร์) ลูกชายวัยรุ่นที่ตาบอดจากอุบัติเหตุ เขาจึงต้องใช้ชีวิตโดยมีหมานำทางอย่างเจ้าสนูปอยู่ใกล้ตัวเสมอ และซันดราต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากข้อครหาดังกล่าวนี้ให้ได้ เธอจึงขอความช่วยเหลือจาก แวนซองต์ (แสดงโดย สวอนน์ อาร์ลูต์) ทนายชาวฝรั่งเศสที่รับงานนี้ทั้งที่โอกาสที่จะชนะคดีมีอยู่ริบหรี่
สิ่งที่หนังตั้งคำถามนั้นไม่ใช่แค่ว่าตัวซันดราเป็นฆาตกรจริงหรือไม่ (แม้ว่าจะมีความน่าสงสัยอยู่หลายอย่าง เช่น เธอหลับลงท่ามกลางเสียงเพลงที่ผัวเปิดลั่นบ้านได้อย่างไร หรือการที่เธอให้การกลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง) แต่ยังเป็นเรื่องที่ว่า สถานะโดยรวมของซันดราทำให้เธอตกอยู่ในภาวะแห่งความเครียดเขม็งนี้ แซมวลโกรธเกลียดที่เธอประสบความสำเร็จมากกว่าเขา ดูแยแสชีวิตคู่น้อยกว่าเขา (ตามที่เขารู้สึก) หรือแม้แต่ไยดีลูกชายน้อยกว่า (ตามที่เขารู้สึกอีกเหมือนกัน) ขณะที่โลกข้างนอกโดยเฉพาะสื่อ ต่างมองว่าเธอเป็นผู้หญิงหัวแข็งที่อาจสังหารสามีได้เพราะเธอดูไม่ใช่คนอ่อนโยนหรืออ่อนหวาน ซันดราแทบไม่ให้สัมภาษณ์สื่อเพราะเธอไม่ปรารถนา และอีกประการสำคัญคือกำแพงทางภาษาที่ทำให้เธอหลีกเลี่ยงการสนทนากับสื่อฝรั่งเศสเพราะเธอพูดฝรั่งเศสได้ไม่คล่อง (และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอเสียเปรียบในชั้นศาลจนต้องไปใช้ภาษาอังกฤษที่ก็ไม่ใช่ภาษาแม่ของเธออีกเหมือนกัน) ด้านหนึ่ง ทริเยต์จึงชวนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมจะลงโทษหรือมีแนวโน้มจะชิงชังผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีหนังอีกหลายเรื่องทีเดียวที่พูดถึงความเป็นหญิงแต่ไม่ได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะ Nimona (2023) ที่เข้าชิงออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมและ The Color Purple (2023) ที่เข้าชิงสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม
ทั้งนี้ ติดตามผลประกาศรางวัลออสการ์ในวันที่ 11 มีนาคมที่จะถึงนี้ได้
Tags: People Also Watch, Barbie, Poor Things, Killers of the Flower Moon, Anatomy of a Fall, รางวัลออสการ์, Oscar 2024