บุญคุณ (น.) – ความดีที่ทำไว้ต่อผู้ใดผู้หนึ่ง และสมควรจะได้รับการตอบแทน เช่น พ่อแม่มีบุญคุณต่อเรา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า ‘บุญคุณ’ ดังข้างต้น สะท้อนถึงสังคมไทยที่ปลูกฝังให้เด็กทุกคนมองว่า การที่พ่อแม่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามา ถือเป็นบุญคุณที่จำเป็นต้องตอบแทน โดยสร้างความชอบธรรมให้แนวคิดนี้ผ่านการผูกโยงเข้ากับ ‘ความกตัญญูตามขนบไทย’ ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมที่คนไทยยึดถือกันมาเนิ่นนาน หากใครคิดต่างจากค่านิยมนี้จะกลายเป็นลูกอกตัญญูทันที

ทั้งที่ความจริงแล้ว ลูกไม่ได้ขอพ่อแม่มาเกิด ไม่ได้มีสิทธิเลือกที่จะมีชีวิต และแน่นอนว่า ลูกเลือกพ่อแม่หรือครอบครัวไม่ได้ ดังนั้น การดูแลให้ลูกทุกคนเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงเป็น ‘หน้าที่’ ที่พ่อแม่พึงปฏิบัติต่อลูก ไม่ใช่ ‘บุญคุณ’ ที่หยิบมาทักท้วงให้ลูกตอบแทนพ่อแม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งในฐานะความเป็นมนุษย์ เด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะได้รับตั้งแต่เกิด ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)

การไม่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ‘ลูกต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่’ มิได้หมายความว่า ลูกต้องการตัดขาด ไม่ไยดี หรือไม่รักพ่อแม่ แต่คำว่าบุญคุณ หรือความคาดหวังให้ลูกรับผิดชอบทุกอย่างในครอบครัว รวมถึงชีวิตของพ่อแม่ในช่วงที่ลูกกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่ต่างอะไรกับ ‘บ่วง’ ที่ฉุดรั้งชีวิตของพวกเขา เพราะนอกจากลูกจะเครียดกับการสร้างอนาคต และดิ้นรนใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังต้องแบกรับปัญหาทางการเงินของครอบครัวอีกด้วย ดังนั้น การให้เงินพ่อแม่จึงไม่ควรเกิดจากการกดดัน แต่ควรเกิดจากความสมัครใจของลูกเอง

มุมมองเรื่องบุญคุณของ ‘แม่ตุ๊ก Little Monster’

ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ เจ้าของเพจแม่และเด็กชื่อดังอย่าง Little Monster กล่าวถึงมุมมองเรื่องการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ของเธอใน TikTok ช่อง Little Monster Family ไว้ว่า “สิ่งที่ตุ๊กจะตอบเป็นมุมมองของตุ๊กเอง และเป็นสิ่งที่ตุ๊กสอนลูก เลี้ยงลูกเองในแบบของตุ๊ก คือตุ๊กเป็นคนตัดสินใจว่าอยากจะมีลูก ตุ๊กก็เลยมองว่า ตุ๊กเป็นคนทำให้เขาเกิดมา ฉะนั้น หน้าที่ขั้นพื้นฐานที่ตุ๊กคิด คือตุ๊กต้องรับผิดชอบดูแลเขาในสิ่งที่มันเป็น Basic ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเขา

“ด้วยความที่เราตัดสินใจแบบนี้ เราเลยไม่ได้คาดหวังอะไรในตัวลูก ตุ๊กไม่คิดว่าลูกจะต้องมาดูแลตุ๊ก แต่ลูกมีหน้าที่จะต้องดูแลลูกของตัวเองในอนาคตมากกว่า หรือถ้าเขาไม่มีลูก เขาก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตัวของเขาเอง แล้วถ้าเขาจะมีอะไรที่มันนอกเหนือจากที่เขารับผิดชอบตัวเองได้แล้วมาให้เรา  นั่นคือสิ่งที่ให้ด้วยความรักมากกว่า

“ตุ๊กไม่เคยคิดว่า ถ้าเราให้ลูก ลูกต้องให้เรา แต่ตุ๊กคิดว่า ลูกต้องให้ตัวเองให้รอดก่อนถึงจะมาดูแลพ่อแม่ คือเอาตัวเองให้รอดก่อน เวลาคนพูดถึงเรื่องบุญคุณ มันเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งตุ๊กมองว่า มันไม่ใช่วิถีของสิ่งที่ตุ๊กบอกลูก ถ้าเขาอยากจะเลี้ยงดูเรา ดูแลเรา หรือว่ามาเยี่ยมเราบ้าง ก็อยากจะให้เขาทำด้วยความรัก ไม่ใช่ทำเพราะว่าหน้าที่ที่ลูกจะต้องทำ

“ตุ๊กก็ไม่ได้สอนจินกับเรนนี่ว่า แม่ให้หนูเท่านี้นะ หรือแม่ทำให้หนูอย่างนี้ หนูจะต้องตอบแทนแม่ หรือว่าหนูจะต้องให้แม่กลับมา ตุ๊กคิดว่า เราก็ดูแลสิ่งต่าง ๆ ในขั้นพื้นฐานให้เขา แล้วก็ให้ความรักความเข้าใจเขา แต่เรื่องที่จะทดแทนบุญคุณอะไรรึเปล่า มันไม่ได้อยู่ในโจทย์ที่ตุ๊กคุยกับลูกเลย แต่ทั้งหมดทั้งมวล ตุ๊กก็เข้าใจคนที่คอมเมนต์นะคะ เพราะว่าบางครอบครัวเขาก็ต้องพึ่งลูกในการดูแลเขาตอนแก่ ด้วยสวัสดิการต่างๆ มันก็ไม่ได้ซัพพอร์ตเขา อันนั้นเข้าใจได้ แต่ในส่วนของตุ๊ก ไม่ได้สอนเรื่องบุญคุณอะไร เราจะไปเน้นสอนในเรื่องการเข้าอกเข้าใจคนอื่น มี Empathy ให้คนอื่น การเห็นคุณค่าในตัวเองเสียมากกว่า”

เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ ส่งภาระให้ลูกหลาน

พ่อแม่ในวันนี้คือเด็กที่เติบโตในสังคมซึ่งปลูกฝังและหล่อหลอมความคิดให้เชื่อว่า ‘การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่คือหน้าที่ของลูก’ โดยมิได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุที่พ่อแม่ควรได้รับ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีรัฐสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยที่เหมาะสม

กรมกิจการผู้สูงอายุเผยสถิติปี 2565 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด แต่ในปัจจุบัน ภาครัฐจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุประมาณ 600-1,000 บาทต่อเดือน ตามขั้นบันไดช่วงอายุ

โดย ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ คือสวัสดิการที่ภาครัฐแจกจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งการรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของผู้สูงอายุ ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่จำนวนเงินเพียงเท่านี้ไม่อาจค้ำจุนชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมไทย ส่งผลให้การเลี้ยงดูพ่อแม่กลายเป็นภาระความรับผิดชอบของลูกโดยปริยาย

ในขณะที่ปี 2566 เนเธอร์แลนด์มีจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 20.2% ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่กลับได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิสำหรับผู้สูงอายุที่ดีที่สุดในโลก โดยในปี 2563 ผู้สูงอายุที่ยังไม่แต่งงานจะได้รับเงินบำนาญ 1,270.67 ยูโร (ประมาณ 48,400 บาท หรือ 70% ของค่าจ้างขั้นต่ำสุทธิ) ส่วนคู่สมรสสามารถรับเงินบำนาญ 870.03 ยูโร (ประมาณ 33,100 บาท หรือ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำสุทธิ) นอกจากนี้ยังมี Home Care Service ที่ให้บริการช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุถึงที่บ้านอีกด้วย

อย่าผลักภาระผู้สูงวัยไว้ที่ลูกหลาน หรือพ่อแม่เพียงอย่างเดียว แต่ภาครัฐควรจัดการและมอบสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่ประชาชนทุกครอบครัว

อ้างอิง

https://www.tiktok.com/@tuklittlemonster/video/7238167151763393797

https://www.amnesty.or.th/our-work/childrights/

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/198561 

https://www.expatica.com/nl/finance/retirement/the-dutch-pension-system-106854/ 

Tags: , ,