วันนี้ (6 ตุลาคม 2566) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงาน ‘รำลึกครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาคม 2519’ มีปาฐกถาในหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’ โดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมพูดคุยในประเด็น ‘อีกกี่ตุลา (คม) สังคมไทยจึงจะพร้อมสำหรับเรื่องแหลมคม และการปูทางสู่ประชาธิปไตยในมุมมองของชัยธวัช ตุลาธน

ชัยธวัชเริ่มต้นปาฐกถาว่า ส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ แต่สภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมค่อยๆ หล่อหลอมให้รับรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความผันผวนทางการเมืองสูง แต่กลับมีขั้วอำนาจอยู่ไม่กี่ฝ่าย และคนไทยมักถูกกล่อมเกลาให้ ‘รักความเป็นไทย’ หรือเชื่อมั่นใน ‘รัฐไทย’ ว่าน่าอยู่เพราะมีเอกราช

เรื่องราวของคนเดือนตุลาฯ ที่ได้ยินครั้งแรก คือเมื่อไปเจอหนังสือรับน้องเก่าๆ เล่มหนึ่งที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระบุถึง ‘ประชาธิปไตย’ ‘ความฝันของหนุ่มสาว’ และ ‘การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในชีวิตและสังคม’ และเพิ่งรู้จักกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จริงๆ เมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย ที่มีโอกาสได้ดูละครเวทีของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยในเรื่องมีการชูข้อความว่า “ขอพื้นที่เล็กๆ ให้เราได้ยืนและฝันบ้าง”

ณ ตอนนั้น ชัยธวัชรู้สึกว่าช่างเป็นความฝันที่เจียมเนื้อเจียมตัว และเพิ่งมาเข้าใจภายหลังว่า เพราะประเทศไทย ‘อนุญาต’ ให้มีความคิดและอุดมการณ์ได้เพียงแบบเดียว หากใครคิดต่างไปจาก ‘อุดมการณ์หลักของชาติ’ เขาคนนั้นมีผิดถึง ‘ตาย’ หรือตายโดยไม่มีใครรับผิดได้

จากคำถามเสวนาที่ถามว่า จะปูทางไปสู่ประชาธิปไตยไทยอย่างไร? ชัยธวัชตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ แต่คิดว่าสามารถริเริ่มได้โดยการผลักดันหลักการอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ

1. ต้องยกเลิกวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ใครก็ตามที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติไม่ควรมีความผิด และเจ้าหน้าที่รัฐห้ามใช้กำลังปราบผู้เห็นต่างเกินกว่าเหตุ

2. หลักการเรื่องการแสดงออกทางการเมืองและความคิดเห็นโดย ‘สันติ’ ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่รัฐต้องเคารพและคุ้มครอง ไม่ใช่มองเป็นอาชญากรรม

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ ‘บทใหม่’ จากเดิมที่เป็นห้วงทางการเมืองที่เกิดความขัดแย้ง ปะทะต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำจารีตที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กับชนชั้นนำใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมามีการประทะต่อสู้กลับไปมาระหว่างการเมืองสองขั้ว ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้าง มีเสื้อหลากสี อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองไทยทั้งสองกลุ่มที่เคยปะทะขัดแย้งกัน มีการรอมชอมกันแล้ว อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว แต่การเมืองไทยก็เข้าสู่บทใหม่อีกครั้ง เมื่อการเมืองจาก ‘ประชาชน’ เข้มข้นมากขึ้น ถึงแม้จะยืดเยื้อและไม่ใช่การต่อสู้ที่แตกหัก แถมไม่รู้ว่าเมื่อใดจะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย แต่ก็เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านด้วยความหวังไปสู่สิ่งทีดีกว่า

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนแปลงได้ คือทุกคนต้องมีความเข้าใจ มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเตรียมพร้อมเมื่อห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง

“วันนี้หลายคนอาจรู้สึกพ่ายแพ้หรือท้อแท้ แต่ผมอยากบอกว่า ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว หรือสำหรับพี่ๆ คนเดือนตุลาฯ ก็ย้อนไปถึงสมัยที่ยังเป็นหนุ่มสาว เราจะตระหนักได้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรามาได้ไกลมากแล้ว เพียงแต่ขอให้พวกเรามองเห็นชัยชนะของตนเอง อย่ามองเห็นแต่ความพ่ายแพ้ และเก็บเกี่ยวชัยชนะนั้นไว้

“ร้องไห้เถิดหากคับแค้นหน้าแดนคุก

ระบายเถิดความทุกข์เพียงแผ่วๆ

ต่อแต่นี้ไฟที่มอดตลอดแนว

พอเห็นแววส่องไสวอีกไม่นาน

เสียงขานรับดังแล้วล้วนแน่วแน่

อุปสรรครังแกแค่เผินผ่าน

หัวใจที่สั่งสมอุดมการณ์

จะจดจารรอยบากเป็นบทเรียน

เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ขาดครึ่งร่วมกันเขียน

รอยตีนไหม้เปื้อนฝุ่นที่หมุนเวียน

จะต้องเปลี่ยนแปลงยุคในยุคเรา”

บทกวีที่ชัยธวัชกล่าวทิ้งท้ายแต่งโดย อานนท์ นำภา นักกิจกรรมที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

Tags: