When Philo Met Sophia (14)

In Desire: ในจักรวาลของความปรารถนา

“The expression ‘mimetic mechanism’ covers a
phenomenological sequence which is quite broad. It describes the whole process,
beginning with mimetic desire, which then becomes mimetic rivalry,
eventually escalating to the stage of a mimetic crisis and finally
ending with the scapegoat resolution.”

เรเน ฌิราร์ด (René Girard)

1

‘ความปรารถนา’ หรือ Désir (Desire) ในกรอบอธิบายแบบจิตวิเคราะห์เกิดจากความขาดพร่อง หรือสิ่งที่ทำให้เราไม่สมบูรณ์ ดังที่ ฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) อธิบายไว้ว่า “ความปรารถนาคือความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความขาดพร่อง ความขาดพร่องนี้ยังขาดคำอธิบายที่ครบถ้วนเหมาะสม มันไม่ใช่ความขาดในสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น แต่เป็นความขาดพร่องอันเกี่ยวเนื่องกับการดำรงอยู่”[1] และ “ความขาดพร่องดังกล่าวอยู่เลยพ้นทุกอย่างที่จะนำเสนอภาพมันออกมาได้”[2] ความปรารถนาในมุมมองของลาก็องจึงไม่อาจเติมเต็มหรือทำให้สมบูรณ์ได้ มนุษย์ถูกสาปให้ปรารถนา แต่เพราะความปรารถนาคือความขาดพร่องของการดำรงอยู่ เราจึงต้องปรารถนาเรื่อยต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด[3]

ในขณะที่ ฌียส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) และเฟลีซ์ กัตตารี (Félix Guattari) เห็นแย้งกับขอเสนอนี้ และมองว่า ความปรารถนาคือ ‘การเพิ่ม’ หรือเป็นแรงขับดันให้เกิด ‘การผลิตสร้าง’ หากจิตไร้สำนึก (Unconsciousness) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ถูกอธิบายผ่านภาพของ ‘โรงละคร’ จิตไร้สำนึกของเดอเลิซกับกัตตารีก็คือ ‘โรงงาน’ ดังที่เดอเลิซกับกัตตารีกล่าวไว้ว่า “หากความปรารถนาจะผลิตสิ่งใด ผลผลิตของมันก็จะมีแค่ความจริง (The Real) หากความปรารถนาจะมีผลิตภาพ มันก็จะเกิดขึ้นก็เฉพาะบนโลกความจริง และผลิตสร้างก็แต่ความจริงเท่านั้น”[4]

ทั้งสองแนวทางที่กล่าวมาเป็นกรอบอธิบายที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ มาตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 จนเมื่อไม่เร็วๆ นี้จึงเริ่มมีการพูดถึงกรอบคิดในเรื่องความปรารถนาอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งเป็นผลิตผลความคิดของ เรเน ฌิราร์ด (René Girard) นักวรรณคดีศึกษาและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส

ในมุมมองของฌิราร์ด มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้ตัวว่า แท้จริงแล้วตัวเราเองปรารถนาอะไร และเพื่อจะรู้ได้ เราจำเป็นต้องมองหาหรือพึ่งพิงความปรารถนาของผู้อื่น

ความปรารถนาสำหรับเขาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เราพยายามเลียนแบบ หรือก่อเกิดกระบวนการที่เรียกว่า กลไกการเลียนแบบ (Mimetic Mechanism) ขึ้นมานั่นเอง

เรเน ฌิราร์ด (René Girard) นักวรรณคดีศึกษาและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส

2

ฌิราร์ดแบ่งแยก ‘ความต้องการ’ ในตัวของมนุษย์ออกเป็น 2 แบบ หนึ่ง คือ ความอยาก (Appetite) อันมาจากความจำเป็นเพื่อการมีชีวิตรอด (เช่น ความหิว ความกระหาย ความรู้สึกทางเพศ) และสอง คือ ความปรารถนา (Desire) ซึ่งไม่เกี่ยวโยงกับความจำเป็นเพื่อมีชีวิตรอดโดยตรง[5]

ดังที่เขาอธิบายไว้ว่า มนุษย์เราเป็นซับเจกต์ (Subject) ที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จนกระทั่งเริ่มเห็นความปรารถนาที่เกิดขึ้นกับตัวแบบ (Model) ที่ต้องการสิ่งหนึ่งๆ หรือบรรลุเป้าหมายบางอย่าง (Object) และเมื่อนั้นเอง ความอยากของเราจึงเจือปนด้วยความปรารถนาหรือกล่าวอีกทางก็คือ เราเริ่มจะแยกไม่ได้ระหว่างความอยากอันมาจากความต้องการอันจำเป็น หรือความปรารถนา

ฌิราร์ดเรียกสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า ความปรารถนาเลียนแบบ (Mimetic Desire) ซึ่งเกิดขึ้นกับเราในทุกเมื่อเชื่อวัน เช่น การจ้องมองภาพของดารา สินค้า อาหาร ฯลฯ ที่ปรากฏในสังคมเครือข่ายหรือโฆษณา ทำให้เราปรารถนาจะมีรูปร่าง ผิวพรรณที่สวยงาม หรืออยากกินและดื่มตามอย่างตัวแบบที่ปรากฏ ซึ่งทั้งหมดตอกย้ำว่า มนุษย์เราปรารถนาเพียงเพราะเห็นว่า มีผู้อื่นที่ปรารถนาสิ่งเหล่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเรา (ในฐานะของซับเจกต์) กับตัวแบบอยู่คนละพื้นที่ เช่น เราคือ ‘ผู้ชม’ ภาพยนตร์เรื่อง Perfect Days ของ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) และตัวแบบคือ ฮิรายามะ ตัวเอกในเรื่อง ‘ความปรารถนาเลียนแบบ’ อาจทำให้เราอยากอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือถ่ายรูปด้วยกล้องตามแบบฮิรายามะ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับ ‘ตัวแบบ’ ในกรณีดังกล่าวจะไม่มีวันขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งกัน เพราะมันเป็นการปะทะประสานภายนอก (External Mediation)

Perfect Days ของ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders)

แต่ในทางกลับกัน ถ้าตัวเรากับตัวแบบอยู่ร่วม ‘พื้นที่’ หรือมีส่วนข้องเกี่ยวโดยตรง เช่น เป็นเพื่อนร่วมงานที่ต้องการ ‘ตำแหน่ง’ หรือ ‘ชอบพอ’ คนคนเดียวกัน ความปรารถนาเลียนแบบระหว่างเรากับเพื่อน (ในฐานะตัวแบบ) ก็จะก่อเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมา และเป็นการปะทะประสานภายใน (Internal Mediation) ซึ่งจะส่งผลให้เราและตัวแบบต้องแข่งขันแย่งชิงกันเอง เป็นความสัมพันธ์เชิงขัดแย้งที่ฌิราร์ดเรียกว่า การช่วงชิงเลียนแบบ (Mimetic Rivalry) และในกรณีนี้ เราในฐานะของซับเจกต์อาจกลายสภาพเป็นตัวแบบให้แก่ตัวแบบของเราได้ด้วยเช่นกัน[6]

จนเมื่อความขัดแย้งดังกล่าวพัฒนาไปสู่จุดที่เป็น ‘วิกฤต’ เช่น เกิดการทะเลาะวิวาทหรือใช้ความรุนแรง ภาวการณ์ที่จะเกิดติดตามมาก็คือ การหาแพะรับบาป (Scapegoat) เพื่อทำหน้าที่ยุติความขัดแย้ง เช่นการที่ตำแหน่งหรือบุคคลที่ซับเจกต์หรือตัวแบบปรารถนาตกเป็นของ ‘บุคคลอื่น’

พิธีกรรมปล่อยแพะรับบาป (Scapegoat) ที่ปรากฏในตำนานความเชื่อของยิว

3

จะเห็นว่า ความปรารถนาในกรอบอธิบายของฌิราร์ดไม่ได้เกิดขึ้นจาก ‘ตัวเรา’ ในฐานะของปัจเจกที่โดดเดี่ยว แต่เป็นความปรารถนาซึ่งเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นหรือสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งปัจจัยสำคัญอยู่ตรงที่การเลียนแบบของมนุษย์นั่นเอง

สำหรับเขาแล้ว การศึกษาเรื่องการเลียนแบบถูกให้ความสำคัญน้อยเกินไป แม้การเลียนแบบหรือที่เรียกว่า Mimesis ปรากฏเป็นประเด็นถกเถียงมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่การเลียนแบบนับจาก เพลโต (Plato) เป็นต้นมา ก็มักจัดให้อยู่ตรงข้ามกับแบบหรือความเป็นต้นแบบที่เป็นของแท้

‘สิ่งเลียนแบบ’ จึงมักถูกมองว่าเป็น ‘สิ่งไม่แท้’ หรือไม่มีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีเพียงนักคิดจากโลกตะวันตกเพียงน้อยคนที่ให้คุณค่ากับการเลียนแบบซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ กาเบรียล ตาร์ด (Gabriel Tarde) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่เชื่อว่า โลกของเราพัฒนาหรือวิวัฒนาการไปได้ด้วยการเลียนแบบและทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง[7]

ฌิราร์ดเชื่อว่า คงมีเพียงความปรารถนาเลียนแบบเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์รู้จักอิสรภาพและการสร้างสรรค์จากตัวแบบมากมาย หรือพูดให้กระชับที่สุด “ความปรารถนาเลียนแบบคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์”[8] เป็นความปรารถนาที่เปลี่ยนแปลง มีพลวัต และสร้างความเป็น ‘ตัวเรา’ แต่ละคนขึ้นมา

 

เชิงอรรถ

[1] Jacques Lacan, The Ego in Freud’s Theory and in the Technique of Psychoanalysis, 1954-1955 Book II, translated by Sylvana Tomaselli (New York: W.W. Norton & Co., 1991). 223.

[2] Ibid., 223.

[3] หรือที่ลาก็องเรียกว่า Objet petit a ซึ่งหมายความถึงวัตถุปรารถนาที่ไม่สามารถเข้าถึงได้

[4] Gilles Deleuze & Félix Guattari, Anti-Oedipus: capitalism and schizophrenia (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1983) 26.

[5] René Girard, Pierpaolo Antonello & João Cezar de Castro Rocha, Evolution and Conversion: Dialogues on the Origins of Culture (London: Continuum International Publishing, 2008) 41.

[6] Ibid., 42.

[7] René Girard, Things Hidden Since the Foundation of the World (London: Bloombury Academic, 2022) 7.

[8] René Girard, Pierpaolo Antonello & João Cezar de Castro Rocha, Evolution and Conversion: Dialogues on the Origins of Culture (London: Continuum International Publishing, 2008) 42-43.

Tags: , , , ,