When Philo Met Sophia (11)

Are you happy?: มีความสุขไหม?

1

ลุดวิก วิตต์เกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein) ในวัยหนุ่มเคยเห็นพ้องกับฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky) ว่า คนที่มีความสุขถือได้ว่าบรรลุจุดหมายของการดำรงอยู่ แต่สำหรับวิตต์เกินชไตน์ในช่วงบั้นปลาย เขามองเห็น ‘ความสุข’ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ (หรืออย่างน้อยๆ ก็สำหรับตัวเขาเอง) ในสมุดที่เรียกว่า Koder Diaries[1] ลงวันที่เดือนกุมภาพันธ์ 1937 เขาบันทึก ‘สภาวะไร้สุข’ ไว้ว่า

“มนุษย์นั้นใช้ชีวิตธรรมดาสามัญภายใต้แสงสว่างที่ให้ความกระจ่าง ซึ่งเขาไม่เคยรับรู้จนกระทั่งมันอันตรธานไป และเมื่อนั้นชีวิตของมนุษย์ก็จะสูญเสียคุณค่า ความหมาย รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการจะพูดออกมา คนเราจะตระหนักได้ในทันทีว่าการดำรงอยู่ที่ว่า หรือดังเช่นที่เราชอบพูดกัน โดยตัวของมันเองแล้วไม่มีอะไรนอกจากความว่างเปล่าและสิ้นไร้ความหวัง เหมือนแสงสว่างนั้นถูกริบคืนไปจากสรรพสิ่ง (ทุกอย่างตายลง… เราต่างก็ตายทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่)”[2]

ถึงคำกล่าวนี้จะแสดงความมืดมนไร้หนทางในใจเพียงใด แต่ก็ยังเน้นย้ำถึงสิ่งที่เขาได้พูดไว้ใน Tractatus Logico-Philosophicus (1921) เอาไว้ว่า “โลกของคนเป็นสุขนั้นแตกต่างจากคนไร้สุข”[3] หรือแม้ช่วงปี 1936-37 ที่ผู้ศึกษาประวัติชีวิตของวิตต์เกินชไตน์เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เขา ‘ไร้สุข’ ถึงขีดสุด แต่ถึงกระนั้นก็เป็นห้วงปีที่เขาริเริ่มผลงานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า Philosophical Investigations (1953)

ลุดวิก วิทท์เกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein) นักปรัชญาชาวออสเตรีย

ดังนั้น คำถามถามว่า “มีความสุขหรือเปล่า?” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตอบ ยิ่งเมื่อเราพิจารณาผ่านประวัติศาสตร์สังคม-ความคิดก็จะพบว่า ‘ความสุข’ มีบทนิยามแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย โดยยังไม่นับรวมถึงกรอบคิดและมุมมองของแต่ละปัจเจกบุคคล 

อย่างการที่หลายคนเชื่อว่า คนโง่นั้นมีความสุขมากกว่าคนฉลาดและการไม่รู้อะไรคือหนทางของการมีความสุข กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามสำหรับนักปรัชญาอย่างอริสโตเติล (Aristotle) ผู้มองว่า ‘ความสุขที่แท้จริง’ มาพร้อมกับความรู้ และความถึงพร้อมมากมายที่ไม่สามารถตัดสินได้ในทันที

 

2

 

สำหรับอริสโตเติลแล้ว ‘ความสุข’ หรือการมีชีวิตที่ดี (Eudaimonia) ไม่ใช่ความปรารถนาในสิ่งใดๆ ไม่ใช่การวิ่งไล่ตามหาอะไรมาบรรลุความปรารถนานั้น หากความสุข หรือการมีชีวิตที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้เราบรรลุทุกความปรารถนา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องไม่ใช่เรื่องที่ชั่วร้าย หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตคนอื่น เช่น ความสุขที่เรากระทำให้คนที่เราไม่ชอบต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานแสนสาหัสก็ย่อมจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง

กล่าวในอีกทาง ความสุขของอริสโตเติลเป็นการประเมินชีวิตในภาพกว้าง ซึ่งอาจกินระยะเวลายาวนานเท่าๆ กับอายุขัยของเรา ด้วยเพราะความสุขนี้เป็นผลรวมที่ประกอบขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่การมีความรู้ มีฐานะทางเศรษฐกิจ สุขภาพจิต สุขภาพกาย มิตรภาพ ความรัก ตลอดจนวิถีปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นปัจจัยที่กำหนดความสุข และด้วยกรอบคิดที่อริสโตเติลเชื่อว่ามนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตรงที่เราสามารถใช้เหตุผลได้ 

ฉะนั้น ‘คุณธรรม’ หรือ ‘ความเป็นเลิศ’ ที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่า Arete จึงมีความสำคัญ เพราะทำให้เราสามารถใช้เหตุผลได้ดี และ ‘ถูกต้อง’ ไม่ใช่เพื่อเข้าข้างตัวเอง พูดให้ง่าย ‘ความสุข’ ในกรอบคิดแบบอริสโตเติลจึงวางอยู่บนหลักการแห่งเหตุผล และการฝึกฝนปฏิบัติจนสามารถจะใช้เหตุผลได้อย่างยอดเยี่ยม

‘ความสุข’ ที่ผูกโยงกับ ‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในวิธีคิดแบบกรีก-โรมัน นับจากสำนักสโตอิก (Stoic) จนถึงสำนักเอพิคูเรียน (Epicurean) ที่มีเอพิคูรัส (Epicurus) เป็นผู้ให้กำเนิด ปิแยร์ ฮาโดต์ (Pierre Hadot) นักปรัชญาและนักเทววิทยาชาวฝรั่งเศสเห็นว่า แนวคิดที่ปราชญ์ชาวกรีกและโรมันมีความเห็นไปในทางเดียวกันก็คือ ‘การมีชีวิตอยู่คือความป่วยไข้’ และ ‘ปรัชญา’ ประกอบขึ้นจากฟิสิกส์ (Physics) วิชาความรู้ที่ต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง จริยศาสตร์ (Ethics) การฝึกฝนปฏิบัติร่างกายให้สอดคล้องกับความจริงทั้งหลาย และสุดท้ายตรรกะ (Logic) คือการคิดและพูดผ่านเหตุผลที่ถูกต้องซึ่งอยู่ในจิตหรือความนึกคิดของเรา 

ทั้งหมดก็คือ ‘กระบวนการรักษา’ และเยียวยาความป่วยไข้ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าแพทย์ ณ ที่นี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ ‘ตัวเรา’ หรือผู้ฝึกฝนเรียนรู้ปรัชญา

‘ความสุข’ สำหรับสำนักเอพิคูเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นสำนักสุขนิยม (Hedonism) มีรากความคิดที่สามารถย้อนกลับไปยังนักปรัชญายุคก่อนโสเครติสอย่างเดโมไครตัส (Democritus) หรือลิวซิปปัส (Leucippus) ผู้เป็นอาจารย์ของเดโมไครตัสที่อธิบายว่า “พื้นฐานแรกสุดของจักรวาลประกอบขึ้นจากปรมาณูและช่องว่าง สิ่งใดอื่นนอกจากนั้นต่างมีก็เพียงในความคิดเท่านั้น”[4]

ความรู้ทางฟิสิกส์ข้อนี้เองทำให้ผู้ศึกษาปรัชญาของเอพิคูเรียนหลุดพ้นจากความกลัวในเทพเจ้า อำนาจลึกลับที่มองไม่เห็น ด้วยเพราะรู้แล้วว่า ทุกสิ่งที่เกิด และดำรงอยู่ต่างประกอบขึ้นจากช่องว่างและอณูเล็กๆ ระดับอนุภาค หาใช่อำนาจดลใจหรือสร้างสรรค์ขึ้นของทวยเทพ 

การแสวงหาความรู้และการค้นพบในแง่นี้ จึงนับเป็น ‘ความสุข’ และ ‘ความพึงใจ’ ในตัวเอง จาก ‘ความเข้าใจ’ และจากความผ่อนคลายจากความวิตกในเรื่องที่ไม่รู้ เหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่เดโมไครตัสกล่าวเอาไว้ว่า การทุ่มเทเวลาให้กับความรู้ของจักรวาลทำให้เขาหมดสิ้นความกังวลในเรื่องต่างๆ ทั้งยังขจัดความหวาดกลัวจาก ‘ความไม่รู้’ ออกไปจากจิตใจได้[5]

เอพิคูรัส (Epicurus) เป็นผู้ให้กำเนิดสำนักเอพิคูเรียน (Epicurean)

‘ความทุกข์’ สำหรับสำนักเอพิคูเรียนเกือบทั้งหมดมาจาก ‘ความไม่รู้’ เช่น ความกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว (เทพเจ้าที่ไม่มีอยู่ ความตายที่เป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกชีวิต) โดยเฉพาะ ‘ความปรารถนา’ ที่มีอยู่ในตัวเรา นั่นทำให้การจำแนกแยกแยะ ‘ความปรารถนาจำเป็น’ ออกจาก ‘ความปรารถนาที่ไม่จำเป็น’ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสำนักเอพิคูเรียน

  ‘ความปรารถนาจำเป็น’ สำหรับเอพิคูเรียนก็คือ ความต้องการในปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่หิว ไม่กระหาย ไม่เจ็บป่วย หรือไม่ตาย เพราะเมื่อเราขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้ไป ร่างกายและจิตใจเราก็จะทุกข์ทนทรมาน ในขณะที่ ‘ความปรารถนาที่ไม่จำเป็น’ เมื่อไม่มีหรือขาดไป เราก็ยังสามารถจะดำรงชีวิตต่อไปได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด 

ความเข้าใจที่ว่า ปรัชญาของเอพิคูรัสส่งเสริมให้คนกินดื่มและปรนเปรอความสุขแก่ตนโดยไม่จำกัด (เพราะชีวิตนั้นจำกัด) จึงเรียกได้ว่าเป็นไปในทางตรงข้ามกับคำสอนของเอพิคูรัสอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว เพราะการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ สำหรับสำนักเอพิคูเรียนค่อนข้างสอดคล้องต้องตรงกับสำนักสโตอิก ที่เชื่อในการควบคุมและจำกัดความปรารถนา ที่ในด้านหนึ่งผ่านการฝึกฝนร่างกายและวิถีชีวิต ในอีกด้านผ่านการใช้ความคิดและเหตุผลเพื่อแยกแยะความปรารถนานั้นว่าเป็นชนิดจำเป็นหรือไม่จำเป็น ซึ่งทั้งหมดนำมาอยู่บนแนวคิดเรื่อง ‘การประมาณตน’ หรือเป็นดังถ้อยคำโด่งดังที่เชื่อกันว่าเดโมไครตัสเป็นผู้กล่าว “การประมาณตนเองนั้นเพิ่มจำนวนและขนาดของความพึงพอใจ”[6]

 

3

บุคคลหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รื้อฟื้นแนวคิดแบบเอพิคูเรียนกลับมาสู่โลกปรัชญาสมัยใหม่ก็คือ ปิแยร์ กาแซงดี (Pierre Gassendi) พระนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ในงานเขียนที่ว่าด้วย ‘ความสุข’ กาแซงดีพยายามชี้ให้เห็นว่า มีความสุขที่แตกต่างกันอยู่ระหว่าง ‘นักปรัชญา’ กับ ‘นักบวช’ ผู้เผยแพร่คำสอนทางศาสนาที่ว่าความสุขถูกกำหนดโดยพระเจ้า (เราจะได้รับมันมาก็เมื่อเชื่อในพระองค์ ปฏิบัติตามคำสั่งสอน ฯลฯ) ในขณะที่ความสุขที่กาแซงดีหรือนักปรัชญาพยายามศึกษาทำความเข้าใจเป็น ‘ธรรมชาติ’ ที่อยู่แล้วในตัวเราแต่ละคน

กาแซงดีนิยามความสุขว่า ‘ความพึงใจสูงสุด’ ที่มนุษย์ปรารถนา และความเป็น ‘ที่สุด’ นี้เอง ความสุขจึงถือเป็นความดีสูงสุดด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเป้าหมายที่อยู่เหนือกว่าทุกเป้าหมายของทุกชีวิต ซึ่งทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ความสุขสูงสุดสามารถยุติความปรารถนาทั้งปวง สำหรับกาแซงดี สิ่งที่แยก ‘ผู้มีปัญญา’ ออกจาก ‘คนธรรมดา’ คือวิธีการรับมือกับความทุกข์ ความผิดหวัง และความเจ็บปวด

ในขณะที่คนธรรมดาสามัญอาจปล่อยตัวและใจให้ความทุกข์ ความผิดหวัง ความเจ็บปวดครอบงำ ผู้มีปัญญาจะพิจารณาว่าเรื่องเลวร้ายที่เกิดกับตนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น จึงควรที่จะอดทนและยอมรับมันในฐานะสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือหากกล่าวในทำนองของ ซิเซโร (Cicero) ปราชญ์และนักปกครองชาวโรมันแล้วก็คือ 

“ฉันกำลังถูกไฟเผาผลาญ นี่คือเรื่องจริง ฉันกำลังทรมาน ฉันอาจร้องโอดครวญในบางครั้ง และปล่อยน้ำตาให้ไหลในบางที แต่ฉันไม่ยอมจำนน ฉันจะไม่ยอมแพ้และปล่อยตัวเองให้จมดิ่งลงไปในความสิ้นหวังที่ขลาดเขลา ซึ่งจะทำให้สภาพการณ์ที่เป็นไปนั้นน่าเศร้ายิ่งไปกว่าเดิม”[7]

กาแซงดีจำแนกสาเหตุและคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘ความสุขสูงสุด’ ของปราชญ์ในยุคก่อนไว้ด้วยกัน 3 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่ 

กลุ่มแรก เชื่อว่าความสุขสูงสุดขึ้นอยู่ความคิดและจิตใจ ความรู้ ความเข้าใจ ความมีอิสระ ความจริงใจ จนไปถึงคุณธรรมความดีถือเป็นบ่อเกิดของ ‘ความสุขสูงสุด’ เช่น อแน็กซากอรัส (Anaxagoras) ที่เห็นว่าการครุ่นคิดถึงเรื่องต่างๆ อย่างมีอิสระนำไปสู่ความรู้ที่น่าพึงใจ หรือในมุมมองของนักปรัชญาสโตอิกบางคนก็เห็นว่า ถ้าความสุข/ ความดีงามสูงสุดเกิดกับจิตใจแล้วไซร้ ร่างกายจะทุกข์ทรมาน หรือป่วยไข้ก็ไม่ใช่ปัญหา ความสุขสูงสุดของกลุ่มแรกผูกพันกับความรู้หรือการได้รู้ความจริงในสรรพสิ่ง

กลุ่มถัดมา เชื่อว่าความสุขสูงสุดขึ้นตรงกับร่างกาย เมื่อร่างกายเราแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ไม่หิว ไม่กระหาย ไม่ร้อน หรือเหน็บหนาวจนเกินไป เราก็สามารถจะมีความสุขได้ สำนักปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับร่างกาย ได้แก่ สำนักเอพิคูเรียน และสำนักซีเรนาอิกส์ (Cyrenaics) ของอริสทิปปัส (Aristippus) นักปรัชญาผู้มีชีวิตร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันกับโสเครติส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นลัทธิสุขนิยมดั้งเดิม ที่สอนให้เราแสวงหาและไขว่คว้าความสุขทุกรูปแบบที่เข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะความสุขทางกาย

และกลุ่มสุดท้าย ที่เห็นว่าความสุขสูงสุดเกิดมาจากการมีโชคลาภ ชื่อเสียง เงินทอง และปัจจัยต่างๆ ที่ถึงพร้อม แน่นอนว่านี่เป็นแนวคิดที่มีอยู่ในหมู่ชนคนทั่วไปที่ว่า ถ้าเราร่ำรวยมั่งคั่งแล้วเราก็จะมีความสุขสูงสุดได้เอง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน  

ปิแยร์ กาสซ็องดิ (Pierre Gassendi) พระนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตในช่วงต้นศตวรรษที่ 17

เป็นที่ทราบกันว่า กาแซงดีให้ความสำคัญกับปรัชญาของสำนักเอพิคูเรียนมากกว่าสำนักอื่นๆ ดังนั้น เขาจึงอุทิศพื้นที่ 1 ใน 3 ของชิ้นงาน เพื่อการอธิบายเปรียบเทียบจนถึงแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่สำนักเอพิคูเรียน ที่เป็นที่ชิงชังของสำนักปรัชญาอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า สำนักเอพิคูเรียนสอนให้คนหมกหมุ่นกับการแสวงหาความสุข ซึ่งกาแซงดีชี้ให้เห็นว่า ไม่มีหลักคำสอนใดของเอพิคูรัสที่บอกให้เรากินดื่มอย่างไม่ลืมหูลืมตา 

หากจะมีที่ใกล้เคียงก็คือการที่สำนักเอพิคูเรียนเน้นย้ำเรื่องของการใช้ชีวิตให้เหมือนว่า ‘วันนี้คือวันสุดท้าย’ และเราไม่ควรวิตกกังวลกับวันพรุ่งนี้มากเกินไป สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ ชั่วขณะที่เรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ และเอพิคูรัสก็ยังเน้นย้ำเรื่องของการรู้จักประมาณตน เป็นหลักคิดที่รับทอดมาจากเดโมไครตัส ซึ่งให้ความสำคัญกับการจำแนก ‘ความปรารถนาจำเป็น’ ออกจาก ‘ความปรารถนาที่ไม่จำเป็น’ ซึ่งไม่มีวันจะเติมเต็มได้

สิ่งที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไป หรือแม้แต่นักปรัชญาจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นสำนักเอพิคูเรียนด้วยความเหยียดหยาม นั่นก็คือเอพิคูรัสให้ความสำคัญกับการขบคิดเรื่อง ‘ความตาย’ ที่เขาเห็นต่างไปจากอริสโตเติลว่า มันไม่ใช่ ‘สิ่งเลวร้าย’ หาก ‘ความตาย’ คือจุดจบของทุกชีวิต การยอมรับว่าความตายเป็นสิ่งแน่นอน ในอีกทางคือการสร้างความคุ้นเคย และขจัดความหวาดกลัวความตายออกไป ความเข้าใจของสำนักเอพิคูเรียนในเรื่องนี้ส่งผลให้การมีชีวิตอยู่ในทุกวันของเรา อาจหมายถึงวันสุดท้าย เพราะความตายสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเวลานาที

และสุดท้ายข้อเสนอที่ทำให้สำนักเอพิคูเรียนถือว่าสอดคล้องกับสำนักคิดกรีก-โรมันโบราณอื่นๆ ก็คือการที่เอพิคูรัสเชื่อว่า ‘ปรัชญา’ คือความจำเป็น เพราะอาจหมายถึง ‘หนทางเดียว’ ในกระบวนการบำบัดรักษาอาการป่วยไข้ที่เรียกว่า ‘ชีวิต’

 

 

เชิงอรรถ

[1] สมุดที่วิทท์เกินชไตน์ใช้เขียนระหว่างปี 1930-32 และ 1936-37 เป็นทั้งสมุดต้นฉบับและบันทึกเรื่องราวส่วนตัว

[2] Citron, Gabriel (2018). ‘The Problem of Life’: Later Wittgenstein on the Difficulty of Honest Happiness. In Mikel Burley (ed.), Wittgenstein, Religion, and Ethics: New Perspectives from Philosophy and Theology. London, UK: pp. 33-47.

[3] “The world of the happy man is a different one from that of the unhappy man.”

[4] The first principles of the universe are atoms and empty space; everything else is merely thought to exist. (Diogenes Laërtius, Democritus, Vol. IX, 44)

[5] ด้วยเพราะข้อเขียนต่างๆ ของเดโมไครตัสถูกทำลาย หรือหายสาบสูญไปเกือบหมดสิ้น แนวคิดทางด้านจริยศาสตร์ของเขาจึงถูกมองว่า ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยนักเขียนในชั้นหลัง และความพยายามจะเชื่อมโยงแนวคิดทางฟิสิกส์ของเขาเข้ากับหลักจริยศาสตร์ยังเป็นปัญหา หรือไม่สามารถกระทำได้ ดู C. C. W. Taylor (1967). Pleasure, Knowledge and Sensation in Democritus. Phronesis, 12(1), 6–27.

[6] “Moderation multiplies pleasures, and increases pleasure.” ดู Tr. Kathleen Freeman, Ancilla to the Pre-Socratic Philosophers: A Complete Translation of the Fragments in Diels, Fragmente der Vorsokratiker, Harvard University Press, 1948

[7] ‘I burn, it is true, and I suffer, I sigh sometimes and let my tears flow, but I do not succumb. I am not vanquished and I do not let myself enter into a cowardly despair that would render my condition even more miserable.’

Tags: , , , , , , , ,