When Philo Met Sophia (13)

Lebensphilosophie: ปรัชญาแห่งชีวิต

“เราต่างมีชีวิตมุ่งไปสู่อนาคต เพราะชีวิตนั้นประกอบขึ้นจากการกระทำที่ไม่มีหยุดสิ้น แต่ละปัจเจกชีวิตต่างสร้างขึ้นด้วยตัวเอง”[1]

โฮเซ ออร์เทกา อี กาสเซต (José Ortega y Gasset)

 

1

ในงาน Émile, ou De l’éducation (1762) ฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) กล่าวไว้ว่า “การมีชีวิตอยู่ไม่ใช่แค่การมีลมหายใจ แต่หมายรวมถึงการแสดงออก คือการใช้อวัยวะต่างๆ สัมผัสรับรู้ ความสามารถจากทุกส่วนของตัวเรา ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อการดำรงอยู่ มนุษย์ที่มีชีวิตชีวามากที่สุดไม่ใช่มนุษย์ที่มีอายุเป็นจำนวนปีมากที่สุด ทว่าคือคนที่สามารถรับรู้ถึงการมีชีวิต คนที่ถูกฝังตอนอายุได้ 100 ปีอาจเป็นเพียงคนที่ตายไปแล้วตั้งแต่เกิด”[2] ข้อความนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเค้าลางของแนวคิดที่เรียกว่า Lebensphilosophie ซึ่งเผยแพร่กว้างขวางในศตวรรษถัดมา

Lebensphilosophie ที่แปลในแบบลำลองว่า ‘ปรัชญาแห่งชีวิต’ เป็นความเคลื่อนไหวทางปัญญาที่เริ่มผลิบานงอกเงยในกลุ่มนักคิด-นักเขียนที่ใช้ภาษาเยอรมัน ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 จนไปถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือในช่วงระหว่างปี 1870-1920[3]

Lebensphilosophie ให้ความสำคัญกับ ‘ชีวิต’ ในแง่ที่มองว่า ‘ชีวิต’ เป็นความบังเอิญ ที่เราไม่สามารถเลือกหรือถูกไต่ถามความสมัครใจ คือ ‘สารัตถะ’ ของ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ประกอบสร้างขึ้นจากประสบการณ์ ความรับรู้ ความรู้สึก และความปรารถนาที่แต่ละคนมี นี่ไม่ใช่บทเสนอทางญาณวิทยา (Epistemological Thesis) หรือทฤษฎีความรู้ที่เน้นย้ำว่า อะไรก็ตามที่ ‘เรารู้’ หรือ ‘รับรู้’ ต่างก็มีส่วนในการกำหนด ‘ความหมาย’ และการก่อรูปร่างเป็น ‘ชีวิต’ ของเราแต่ละคน ดังนั้น ถึงจะมี ‘ความจริง’ อื่นใดที่อยู่เหนือการรู้ หรือมนุษย์เราไม่อาจรู้ได้ เช่น Thing-in-itself ของคานต์ (Kant) ก็จะไม่ใช่สิ่งที่ Lebensphilosophie ยึดถือเป็นสารัตถะ

      นักปรัชญา 3 คนที่เชื่อกันว่าถือมีบทบาทสำคัญมากที่สุดใน Lebensphilosophie ได้แก่ วิลเฮล์ม ดิลธีย์ (Wilhelm Dilthey), ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) และเกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) ซึ่งบางคนอาจนับรวมไปถึงนักคิดที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันอย่าง อ็องรี แบร์กซอง (Henri Bergson) ผู้เผยแพร่แนวคิดเรื่อง Elan Vital หรือ ‘พลังชีวิต’ ที่นำไปสู่การวิวัฒน์เปลี่ยนแปลง หรือโฮเซ ออร์เทกา อี กาสเซต (José Ortega y Gasset) ปัญญาชนนักเขียน-นักปรัชญาชาวสเปนผู้โด่งดังอีกด้วย

วิลเฮล์ม ดิลธีย์ (Wilhelm Dilthey) นักประวัติศาสตร์ และนักปรัชญาอรรถปริวรรตศาสตร์ (Hermeneutics) หนึ่งในบุคคลสำคัญของ Lebensphilosophie

      อย่างไรก็ตามจุดกำเนิดของ Lebensphilosophie ถือได้ว่ามีความพิสดาร เพราะแกนหลักสำคัญในการพิจารณา ‘ชีวิต’ มาจาก อาร์เทอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักคิดผู้ทรงอิทธิพล ที่บั้นปลายชีวิตชี้ให้เห็นความสำคัญของหลักแห่งปัจเจกภาวะ (Principium Individuationis

โชเพนเฮาเออร์อธิบายไว้ว่า ทั้งพื้นที่ (Space) และเวลา (Time) เป็นตัวกำหนดและพื้นฐานสำคัญของความเป็นสิ่งหนึ่งๆ เฉกเช่นเดียวกับ ‘ชีวิต’ ของแต่ละคนที่พูดได้ว่า มี ‘ลักษณะเฉพาะ’ และเป็นสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกลงไปได้ภายใต้กรอบคิดอันนี้ อย่างไรก็ตาม โชเพนเฮาเออร์ไม่ถูกนับเป็นหนึ่งในนักปรัชญาแห่งชีวิต เพราะเขาต่อต้านชีวิต หรือมองว่าชีวิตนั้นคือความทุกข์ทรมาน และนั่นทำให้เขาเป็นนักทุทรรศนนิยม (Pessimist) มากกว่านักปรัชญาแห่งชีวิต

  

2

หากพิจารณาจากคาบเวลาและบริบททางประวัติศาสตร์ Lebensphilosophie ถือว่ากำเนิดและเผยแพร่ไปพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนีสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในวันที่ 18 มกราคม 1871 เรียกได้ว่า ความฝันและความหวังสูงสุดของชาวเยอรมันกลายเป็นจริงในห้วงเวลานี้

      Lebensphilosophie จึงเป็นความเคลื่อนไหวทางปัญญาที่มาพร้อมกับความหวัง[4] ก่อนค่อยๆ เสื่อมคลายลง ภายหลังอาณาจักรเยอรมันเสื่อมสลายลง[5] ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1

      แต่หากเรามองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ความคิด ปี 1871 จนถึงประมาณปี 1918 คือห้วงเวลาที่นักคิดคนสำคัญในกลุ่ม Lebensphilosophie ได้แก่ นีตซ์เช, ดิลธีย์ และซิมเมลยังมีชีวิตอยู่ และทั้ง 3 คนกล่าวต่างนำเสนอปรัชญาในฐานะของ Weltanschauung หรือ ‘โลกทัศน์’ ที่เป็นเครื่องช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจโลกที่เป็นอยู่

      ความน่าสนใจ และเป็นความยอกย้อนอีกประการที่มักเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์ความคิดก็คือ ผู้ที่ทำให้คำว่า Weltanschauung เริ่มเป็นที่รู้จักกลับเป็น โยฮันน์ กอทไลบ์ ฟิชเตอ (Johann Gottlieb Fichte) นักปรัชญาจิตนิยมเยอรมัน (German Idealism) ที่เห็นว่าปรัชญาเป็น Wissenschaft หรือ ‘ศาสตร์’ ที่ไม่สามารถแสดงออกได้ ดังที่เขาประกาศไว้ในงานเล่มสำคัญ Wissenschaftslehre หรือ Foundations of the Science of Knowledge 

แต่ผู้ที่ทำให้ปรัชญาในฐานะของ ‘โลกทัศน์’ เผยแพร่ออกไปกลับเป็น อดอล์ฟ เทรนเดอเลนบูร์ก (Adolf Trendelenburg) ลูกศิษย์ของฟิชเตอ ผู้เป็นอาจารย์ของดิลธีย์นั่นเอง 

      การมองปรัชญาในฐานะของโลกทัศน์ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะก่อนหน้านั้น ปรัชญาถูกยกย่องให้ศาสตร์ที่เป็นความรู้เชิงภววิสัยไม่แปรผันตาม ‘ผู้มอง’ และ ‘โลก’ ในกรอบอธิบายของศาสตร์จะต้องวางอยู่บนความจริงอันเป็นสากล ไม่ว่าจะพื้นที่ไหนหรือเวลาใดก็ตาม การก้าวขึ้นมาของปรัชญาในฐานะของโลกทัศน์จึงถือเป็นจุดแตกหักขั้น ‘อุบัติการณ์’ สำหรับห้วงเวลานี้

โยฮันน์ กอทไลบ์ ฟิชเตอ (Johann Gottlieb Fichte) นักปรัชญาจิตนิยมเยอรมัน (German Idealism)

ปรัชญา Lebensphilosophie ในฐานะของ ‘โลกทัศน์’ ประกอบไปด้วยลักษณะร่วมสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความเป็นบุคคล (Personal) นำไปสู่การปฏิบัติ (Practical) มีฐานคิดทางอภิปรัชญา (Metaphysical)[6]

      แม้ Lebensphilosophie จะได้รับอิทธิพลหลายอย่างจากขบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญาในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดจากขบวนการโรแมนติก (Romanticism) แต่ถึงกระนั้นในความเป็นปรัชญาก็ต้องกล่าวว่า Lebensphilosophie มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไป

      หากปรัชญาจิตนิยมเยอรมันในยุคก่อนหน้าพยายามสร้างกรอบคิดทางอภิปรัชญาในฐานะขององค์ความรู้ที่สมบูรณ์ มีลักษณะสากลครอบคลุม ปรัชญา Lebensphilosophie จะมองว่ากรอบคิดทางอภิปรัชญาเป็นเพียง ‘มุมมอง’ หรือ ‘ทัศนคติ’ เฉพาะหนึ่งๆ ที่พวกเขามีต่อ ‘ชีวิต’ (โดยต้องไม่ลืมว่า ‘ชีวิต’ คือ ‘สารัตถะ’ หรือรากฐานสำคัญสูงสุดสำหรับนักปรัชญาแห่งชีวิต) อภิปรัชญาของพวกเขา ที่มีลักษณะสากลสถิต (Immanent) มักจะถูกจำกัดไว้ภายใต้กรอบประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ เช่น การรับรู้ ความรู้สึก ผลกระทบต่างๆ ที่เราแต่ละคนได้รับ รวมถึงการกระทำ และการแสดงออกของเรา ซึ่งทั้งหมดมีความแตกต่าง (Difference) และทบทวีคูณ (Mutiplity) 

ตรงนี้เองทำให้ Lebensphilosophie ต่างออกไปจากอภิปรัชญาแบบอุตรภาวะ (Transcendent) ที่เชื่อว่า Being หรือ ‘สัตตะ’ หมายถึงความเป็นอยู่/มีอยู่เป็นสิ่งสากล

      ส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญาในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 19-20 ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามว่า โดยตัวเองแล้ว ปรัชญาถือเป็นศาสตร์ หรือโลกทัศน์กันแน่? จะเห็นร่องรอยความคิดดังกล่าวในผลงานบางชิ้นของนีตซ์เช, ดิลธีย์ และซิมเมลหนึ่งในบิดาการของวิชาสังคมวิทยา (Sociology)

 

3

อาจกล่าวได้ด้วยว่า การก้าวขึ้นมาของ Lebensphilosophie เป็นปฏิกิริยาสำคัญต่อปรัชญาปฏิฐานนิยม (Positivism) ของออกุสต์ ก็องต์ (Auguste Comte) ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในเยอรมนีตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ทำให้องค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ปรัชญาที่เป็นศาสตร์ซึ่งไม่อาจตรวจวัดและพิสูจน์หาข้อเท็จจริงในเชิงกายภาพได้ดีเท่า 

ดังนั้น Lebensphilosophie ในฐานะของ ‘โลกทัศน์’ จึงเรียกได้ว่าเป็นการ ‘กอบกู้’ ชีวิตของปรัชญา ซึ่งที่สุดเป็นความจริงที่มีลักษณะเฉพาะตามแต่บุคคล ‘ความแตกต่าง’ นี้ต่างหากที่มี ‘ความเป็นสากล’ 

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ‘ความแตกต่าง’ และ ‘มีลักษณะเฉพาะตัว’ ของ Lebensphilosophie ก็ถูกวิจารณ์โดย วิลเฮล์ม วิลเดลบันด์ (Wilhelm Windelband) นักปรัชญานีโอ-คานเทียน (Neo-Kantian) ว่า เป็นการรู้โลกอย่างผิวเผิน โลกทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โลกก็ย่อมต้องการนักปรัชญาที่เข้าใจในเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งเห็นภาพรวมทั้งหมดอย่างแม่นยำกว่านักปรัชญาสมัครเล่น[7]

      อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 Lebensphilosophie กลายเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางปัญญาที่มีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นโดยลำดับ การปะทะกันระหว่างปรัชญาแห่งชีวิตกับแนวคิดแบบทุทรรศนนิยม (Pessimism) ของโชเพนเฮาเออร์ที่แพร่หลายในห้วงเวลาเดียวกันจึงต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิลเฮล์ม วิลเดลบันด์ (Wilhelm Windelband) นักปรัชญานีโอ-คานเทียน (Neo-Kantian) ผู้วิจารณ์ Lebensphilosophie

แม้นักคิดแห่งชีวิตเกือบทั้งหมดในกลุ่ม Lebensphilosophie จะเป็นอเทวนิยม (Atheist) ที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ หรืออำนาจของพระเจ้าอีกต่อไป แต่โลกที่ไม่มีสวรรค์ นรก หรือโลกหลังความตาย ก็ไม่ได้เลวร้าย 

ดังนั้น ‘ชีวิต’ ที่ไร้ ‘พระเจ้า’ ก็ยังถือว่ามีคุณค่าและความสำคัญอยู่ แม้ ‘ชีวิต’ จะเป็นเพียงความบังเอิญ (ที่ทำให้เราเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ โดยไม่ได้ถูกไต่ถามความสมัครใจ) แต่เราก็ยังสามารถ ‘เลือก’ หรือ ‘กำหนด’ ชีวิตที่เหลือผ่านการกระทำของเราเอง หรือต่อให้โลกจะเป็นความเป็นไปได้ของสิ่งที่เลวร้ายที่สุด หรือ ‘ชีวิตคือความทุกข์’ Lebensphilosophie ก็ยังเห็นว่า มันคุ้มค่ามากพอที่เราจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป

      สำหรับดิลธีย์ นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาอรรถปริวรรตศาสตร์ (Hermeneutics) หนึ่งในบุคคลสำคัญของ Lebensphilosophie พยายามหาหนทางในการต่อสู้กับแนวคิดแบบลัทธิทุทรรศนนิยมเกือบตลอดทั้งชีวิต นับจากการก้าวเดินออกมาจากความเชื่อทางศาสนา ดิลธีย์เห็นว่าชีวิตของเรามีลักษณะเป็นวงกต (Maze) ที่ประกอบรวมขึ้นจากประสบการณ์ ความรับรู้ ความรู้สึกของเราเอง มากกว่าจะเป็นละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) เหมือนดังที่โชเพนเฮาเออร์และสานุศิษย์เชื่อกัน

      Lebensphilosophie สำหรับดิลธีย์จึงเป็น ‘เครื่องมือ’ หรือหนทางในการหาทางออกจาก ‘วงกต’ นี้ ผ่านการ ‘อ่าน’ โลกในฐานะของ ‘ตัวบท’ เล่มมหึมา และ ‘ตีความ’ ตัวบทดังกล่าวนั้นผ่านการดำรงอยู่[8]

 

เชิงอรรถ

[1] “One lives toward the future, because to live consists inexorably in doing, in each individual life making itself.” José Ortega y Gasset, The Dehumanization of Art and Notes on the Novel, translated by Helene Weyl  (New Jersey: Princeton University Press, 2019) 134.

[2] “Vivre, ce n’est pas respirer, c’est agir; c’est faire usage de nos organes, de nos sens, de nos facultés, de toutes les parties de nous-mêmes, qui nous donnent le sentiment de notre existence. L’homme qui a le plus vécu n’ est pas celui qui a compté le plus d’années, mais celui qui a le plus senti la vie. Tel s’est fait enterrer à cent ans, qui mourut dès sa naissance.”

[3] Frederick C. Beiser, Philosophy of Life German Lebensphilosophie 1870–1920 (Oxford: Oxford University Press, 2023) vii.

[4] อาจตรงกันข้ามกับขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่าง Fin de siècle หรือ ‘สิ้นศตวรรษ’ ในฝรั่งเศสและอังกฤษที่มองการเปลี่ยนผ่านเป็นความเสื่อมทรามลง หรือไร้สิ้นความหวัง

[5] บ้างก็ว่าค่อยๆ กลายสภาพและถูกแทนที่โดยปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) แม้จะมีนักวิชาการบางคนอธิบายว่า Lebensphilosophie สูญสลายหายไปภายหลังจากการฉวยใช้แนวคิดของนิทเช่โดยเยอรมนีนาซี ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายและถกเถียงกันต่อไป ดู Frederick C. Beiser, Philosophy of Life German Lebensphilosophie 1870–1920 (Oxford: Oxford University Press, 2023) 2.

[6] Ibid., 16.

[7] Ibid., 20.

[8] IIse Nina Bulhof, Wilhelm Dilthey, a hermeneutic approach to the study of history and culture (Hague: Martinus Niihoff Publishers, 1980) 1.

Tags: , , , , , , , , , ,